xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ส.ชัยภูมิ” โวย พ.ร.บ.ที่ดินฯฉบับใหม่ เอื้อเอกชนเบี้ยวจ่ายภาษีท้องถิ่น เผย เทศบาล-อบต.จ่อร้องศาล ปค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์
“สัมฤทธิ์” ส.ส.ชัยภูมิ ฉะ พ.ร.บ.ที่ดินฯ ฉบับใหม่ เปิดช่องเอกชนสร้างกังหันลม เบี้ยวจ่ายภาษีให้ท้องถิ่น เผย ผู้บริหารท้องถิ่นหลายพื้นที่ รวมตัวจ่อยื่นศาลปกครองวินิจฉัย ปมใช้มติประชาคมเดิมก่อน กม.ฉบับใหม่บังคับใช้ ทำได้หรือไม่

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม เพื่อรับทราบรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคภูมิใจไทย ได้อภิปรายตอนหนึ่งว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการผลิตพลังงานทดแทนที่สำคัญ คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลม กระบวนการขั้นตอนไม่ได้ซับซ้อนอะไร เริ่มจากผู้ประกอบกิจการเอกชนต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล ที่ผ่านมา มีการอนุญาตอยู่ 3-4 บริษัท ขั้นตอนต่อมา ให้ผู้ประกอบการทำสัญญาซื้อขายกระแสไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ที่ผ่านมา ทราบว่า มีการทำสัญญาในระยะยาว 10 ปี 20 ปี หรือมากกว่านั้น

นายสัมฤทธิ์ กล่าวต่อว่า จากนั้นผู้ประกอบการจะนำโครงการต่างๆ ไปยื่นกู้เงินกับสถาบันการเงิน หรือธนาคาร โครงการหนึ่งมีกังหนลมประมาณ 30 ต้น กู้กันได้ 5-6 พันล้านบาท ตกเฉลี่ยต้นละ 200 ล้านบาท ซึ่งธนาคารให้กู้ง่ายมาก เพราะโครงการนี้มีรายได้สม่ำเสมอ มั่นคง เพราะทำสัญญากับรัฐบาลโดยตรง ใน จ.ชัยภูมิ มีกังหันลมจำนวนมาก ในพื้นที่ อ.เทพสถิต อ.บำเหน็จณรงค์ อ.ซับใหญ่ มีการก่อสร้างไปแล้วมากกว่า 100 ต้น และกำลังจะก่อสร้างอีกหลายสิบต้น โดยก่อนก่อสร้างจะมีขั้นตอนสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม คือ จะต้องมีการทำประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่เพื่อให้เขายกมืออนุญาตให้ก่อสร้างได้ เนื่องจากกังหันลมจะมีมลพิษทางเสียง

“ในการทำประชาคมทุกครั้งที่ผ่านมา จะได้รับความราบรื่น ประชาชนจะยกมืออนุญาตทุกครั้ง เพราะทุกครั้งที่ทำประชาคมจะมีเจ้าหน้าที่จากบริษัทเอกชน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปแจ้งต่อที่ประชุมประชาคมว่า หากมีการก่อสร้างกังหันลม ท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล จะสามารถจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 1 แสนบาทต่อต้น/ต่อปี ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน” ส.ส.ชัยภูมิ ระบุ


นายสัมฤทธิ์ กล่าวต่อว่า แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ได้ถูกยกเลิกจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 โดยกฎหมายฉบับนี้มีช่องว่างทางกฎหมาย คือ มีคู่มือการจัดเก็บภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ออกโดยกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ไประบุว่า กังหันลมเป็นสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในข่ายไม่ต้องชำระภาษี ทำให้วันนี้เทศบาล อบต. ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้อีกต่อไป ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นมีรายได้น้อยอยู่แล้ว เขามีความหวังว่าจะได้รับภาษีจากการก่อสร้างกังหันลม แต่วันนี้จัดเก็บไม่ได้

นายสัมฤทธิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีใบอนุญาตให้ดำเนินการก่อสร้างกังหันลมใน จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา และพื้นที่ใกล้เคียงอีกหลายจังหวัด ซึ่งมีการอนุญาตกันในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ผู้ที่ได้รับอนุญาตเป็นรายเดิมๆ ไม่มีรายใหม่ อีกทั้งการดำเนินการครั้งนี้ไม่มีการทำประชาคมแต่อย่างใด แต่ไปใช้มติประชาคมในการดำเนินการที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จะบังคับใช้ ย้ำว่า ที่ประชาชนยกมือให้สร้างกังหันลม เพราะรับทราบข้อมูลว่าเมื่อสร้างแล้วจะได้รับภาษีเข้าสู่ท้องถิ่นของเขา แต่วันนี้เขาเก็บไม่ได้ จึงขอสอบถามคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการพลังงานว่า ทางคณะกรรมการได้รับทราบเรื่องนี้หรือไม่ และมติของประชาคมที่ได้ดำเนินการไปซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างของกังหันลมเป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

“วันนี้ นายกเทศมนตรี และ นายก อบต. ได้มาปรึกษาผมว่า เตรียมการที่จะนำเรื่องนี้ส่งให้ศาลปกครองวินิจฉัยว่า มติประชาคมที่ได้ดำเนินการเกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 บังคับใช้ สามารถมาใช้ได้หรือไม่ และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” นายสัมฤทธิ์ กล่าว.


กำลังโหลดความคิดเห็น