xs
xsm
sm
md
lg

ความท้าทาย "กฟผ." บาลานซ์ "ค่าไฟ-พลังงานสีเขียว-ความมั่นคง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พลังงานบนโลกใบนี้กำลังเปลี่ยนผ่านจากฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดเพื่อตอบโจทย์แนวทางการลดภาวะโลกร้อนที่นับวันยิ่งเห็นผลกระทบที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน...และปัจจุบันได้แปรสภาพสู่ภาวะโลกเดือด ปัจจัยดังกล่าวจึงผลักดันให้นวัตกรรมด้านพลังงานมีการพัฒนาในระดับสูงเพื่อเข้ามาตอบโจทย์การลดอุณหภูมิโลก...

การใช้ไฟฟ้าที่สูงตามภาวะเศรษฐกิจ การเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และการที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกต่างมุ่งเปลี่ยนไปสู่ "เมืองอัจฉริยะ" ที่ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อน เมื่อการใช้ไฟที่มีแนวโน้มเพิ่มแต่ยังต้องคำนึงถึงพลังงานที่สะอาดเพื่อลดโลกร้อนนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)” ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่จัดหาพลังงานไฟฟ้าแก่ประชาชนที่จะถูก Disrupt ดังนั้น กฟผ.จึงต้องเร่ง Disrupt ตัวเองก่อน

กฟผ.เริ่ม Transform องค์กรตั้งแต่การปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดเล็กลงด้วยการลดพนักงานจากเดิมที่มีสูง 2.18 หมื่นคนในปี 2561 โดยมีเป้าหมายให้เหลือ 1.5 หมื่นคนในช่วงปี 2564-65 ที่ผ่านมา โดยใช้วิธีไม่รับพนักงานเพิ่มจากการเกษียณอายุของพนักงาน ปรับระดับบริหารเหลือน้อยลงเพื่อลดความซ้ำซ้อน ฯลฯ พร้อมกันนี้ ในแง่ของการจัดหาไฟฟ้าได้มีการผสมผสานพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในกระบวนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยให้ความสำคัญต่อพลังงานไฟฟ้าที่ยั่งยืน โดยวางเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality ปี 2050 เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายประเทศ

“กฟผ.เราทำเพื่อคนอื่นไม่ใช่เพื่อตัวเอง EGAT for All ก็คือ กฟผ.เพื่อทุกคน และสิ่งที่พยายามปรับเปลี่ยนอีกอย่างคือคนในองค์กรที่เราพยายามเปลี่ยน Mindset ให้คน กฟผ.อ่อนน้อมถ่อมตน มีความเป็นมิตรเพราะเราอยู่ใน Comfort Zone มานานถึงเวลาที่เราจะต้องปรับเปลี่ยน” นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าฯ กฟผ.กล่าวระหว่างการพาสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานด้านเทคโนโลยีพลังงานที่ประเทศออสเตรเลียระหว่างวันที่ 1-7 ส.ค.ที่ผ่านมา


เขาได้ตอกย้ำให้เห็นถึงหัวใจสำคัญที่กฟผ.ยึดมั่นและผู้ว่าคนต่อๆ ไปจะสานต่อนั่นคือหลักการสร้างสมดุลหรือ Balance ระหว่างต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่จะทำให้ราคาเป็นธรรม ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องเน้นพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ เพื่อให้ กฟผ.ยังคงเป็นเสาหลักการจัดหาไฟฟ้าแบบยั่งยืนของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

กฟผ.วางกลยุทธ์ Triple S ขับเคลื่อนอนาคต
กฟผ.ได้กำหนดกลยุทธ์การดำเนินงานด้วย Triple S ปี พ.ศ. 2566-70 เพื่อบรรลุเป้าหมายหลักการสร้างสมดุลดังกล่าว ประกอบด้วย S-Sources Transformation คือการ Transform ไปสู่ RE Energy ผ่านการจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด โรงไฟฟ้า โดยกำหนดสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและมีเสถียรภาพผ่านโครงการหลัก อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Hydro-Floating Solar Hybrid) กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,325 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2037 (พ.ศ. 2580) พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าให้มีความทันสมัย (Grid Modernization) รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี 2044 (พ.ศ. 2587) โดยตั้งเป้าที่ 66,000 ล้านหน่วย ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593)

S-Sink Co-creation การดักจับและกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วมผ่านโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ โดยกำหนดดำเนินการปีละ 1 แสนไร่เป็นเวลา 10 ปีหรือบรรลุเป้าหมายปี 2031 (พ.ศ. 2574) ทั้งยังวางแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage : CCUS) ในปี 2045 (พ.ศ. 2588) เพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5-7 ล้านตัน

S-Support Measures Mechanism เป็นกลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม เช่น โครงการฉลากเบอร์ 5 ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง การให้คำปรึกษาด้านพลังงาน การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การเสริมสร้างทัศนคติภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวกว่า 400 โรงเรียนทั่วประเทศ ฯลฯ โดยแนวทางทั้งหมดจะช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 8 ล้านตัน ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593)


ส่องนวัตกรรม "ไฮโดรเจน"-แบตเตอรี่ออสเตรเลีย

เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นอีกส่วนที่อยู่ในแผนดังกล่าวของ "กฟผ." เพื่อนำมาเป็นตัวเลือกผลิตไฟฟ้า จึงเป็นเหตุผลให้ กฟผ.นำสื่อมวลชนมาดูเทคโนโลยีที่แหล่งผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน Latrobe Valley Hydrogen Facility โครงการระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ Victorian Big Battery และนวัตกรรมพลังงานจากองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (CSIRO) ที่ประเทศออสเตรเลีย

Latrobe Valley Hydrogen Facility เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Hydrogen Energy Supply Chain (HESC) ที่พัฒนาโดยกลุ่มพันธมิตรในอุตสาหกรรมที่มีประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่นและประเทศออสเตรเลีย และได้รับการสนับสนุนจากรัฐวิกตอเรีย รัฐบาลออสเตรเลีย และรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหิน พร้อมกับการใช้เทคโนโลยี Carbon Capture and Storage (CCS) เพื่อดักจับคาร์บอนนำไปเก็บไว้ใต้ดิน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการประเมินผลโครงการนำร่องเพื่อเตรียมการพัฒนาโครงการระยะที่ 2 ต่อไป คาดว่าเมื่อดำเนินการในระดับเชิงพาณิชย์จะสามารถผลิตไฮโดรเจนได้ 225,000 ตัน ส่งผลให้ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 1.8 ล้านตันต่อปี

การผลิตไฮโดรเจนจากถ่านหินและสารชีวมวลเป็นการแปรสภาพเป็นก๊าซ (Gasification) และการกลั่นให้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ (Refining) ก่อนส่งไปยังโรงแปลงสภาพให้เป็นของเหลวที่ท่าเรือ Hastings ทำให้ลดปริมาตรลงได้ 800 เท่าเพื่อการโหลดลงเรือขนส่ง Suiso Frontier ไปยังเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้โครงการ HESC เป็นโครงการแรกของโลกที่ผลิตก๊าซไฮโดรเจน เปลี่ยนก๊าซเป็นของเหลว และขนส่งไฮโดรเจนเหลวทางทะเลไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งต้นทุนนั้นยังคงแพงมากในปัจจุบัน


อย่างไรก็ตาม กฟผ.สามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวสำเร็จและใช้งานได้จริงตั้งแต่ปี 2559 โดยได้กักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจน (Wind Hydrogen Hybrid System) จับคู่กับเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) กำลังผลิต 300 กิโลวัตต์ เปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นพลังงานไฟฟ้าจ่ายให้ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง ซึ่งมีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากโครงการโรงไฟฟ้ากังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติ ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก คาดนำร่องใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนผสมกับก๊าซธรรมชาติสัดส่วน 5% ในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องระหว่างปี 2574-2583 และมีแผนศึกษาการนำถ่านหินมาผลิตไฮโดรเจน (Brown Hydrogen) พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization & Storage : CCUS) ในพื้นที่ กฟผ. คือ โรงไฟฟ้าน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

 


ส่วนการดูงานโครงการ Victorian Big Battery (VBB) ของบริษัทผลิตไฟฟ้าสัญชาติฝรั่งเศส Neoen ตั้งอยู่ในเมือง Moorabool รัฐวิกตอเรีย (ห่างจากเมืองเมลเบิร์น 70 กม.) เป็นระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ที่ใหญ่สุดในประเทศออสเตรเลีย จ่ายไฟฟ้าได้ 300 เมกะวัตต์ และเก็บพลังงานไฟฟ้าได้ 450 เมกะวัตต์-ชั่วโมง โดยสามารถจ่ายไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์ได้นาน 1 ชั่วโมงครึ่ง หรือเท่ากับการจ่ายไฟฟ้าให้บ้านเรือนได้กว่า 5 แสนหลังคาเรือน โครงการดังกล่าวก่อสร้างในเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 และเริ่มจ่ายไฟตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2564

ระบบแบตเตอรี่ของ VBB เป็นเทคโนโลยี Tesla Megapack รุ่นแรก มีจุดเด่นคือติดตั้งได้ง่าย มีอายุใช้งานนาน 20 ปี โดยมีจำนวน Megapack ที่มีลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งหมด 212 ตู้ (1 Megapack จ่ายไฟฟ้าได้ 1.5 เมกะวัตต์ เก็บพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 3 เมกะวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่ง VBB มีสัญญาสำรองไฟ 250 เมกะวัตต์กับหน่วยงานกำกับตลาดพลังงานของออสเตรเลีย (AEMO) เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบส่งเชื่อมระหว่างรัฐวิกตอเรีย-นิวเซาท์เวลส์ ในช่วงเวลาที่เกิดความขัดข้องของระบบส่งเชื่อมระหว่างรัฐวิกตอเรียกับรัฐนิวเซาท์เวลส์ จึงช่วยลดโอกาสการเกิดไฟฟ้าดับในรัฐวิกตอเรียในช่วงหน้าร้อนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ส่งผลให้ระบบไฟฟ้ามั่นคงขึ้น


พร้อมกันนี้ยังได้เยี่ยมชมองค์การวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมแห่งเครือจักรภพ (Commonwealth Scientific & Industrial Research Organisation : CSIRO) หน่วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติออสเตรเลียที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่ง กฟผ.ได้ร่วมมือกับ CSIRO ผ่านบันทึกข้อตกลงความเป็นไปได้ทางธุรกิจด้านระบบกักเก็บพลังงานในประเทศไทย โดยจะร่วมกันศึกษาระบบกักเก็บพลังงานเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับพลังงานหมุนเวียน ครอบคลุมการออกแบบและความปลอดภัยของระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการศึกษาถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของระบบกักเก็บพลังงาน นอกจากนี้ยังจะร่วมกันศึกษาเกี่ยวกับเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ทั้งด้านการผลิต การกักเก็บ การขนส่ง รวมถึงการนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ภายในระยะเวลา 1 ปี เป็นต้น

"เราเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีไม่ใช่คิดค้น การศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็จะเป็นอีกทางเลือกในอนาคตเหมือนกับโซลาร์เซลล์ในอดีตที่เริ่มแรกต้นทุนสูงมากรัฐต้องอุดหนุนค่าไฟเพื่อส่งเสริมให้เกิดขึ้นแต่วันนี้ราคาต่ำมาก อีก 10-20 ปีเทคโนโลยีอย่างก๊าซไฮโดรเจนก็อาจ Disrupt ก็ได้" นายบุญญนิตย์กล่าว

บทสรุปสุดท้ายที่เขาตอกย้ำคือ พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแต่มีข้อจำกัดที่ไม่มีความแน่นอนไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ การเปลี่ยนพลังงานหมุนเวียนเป็นหลักต้องพึ่งพาระบบกักเก็บเข้ามาเสริม
ปัญหาใหญ่คือยังมีต้นทุนที่สูงแปลว่า
จะส่งผลกระทบต่อ “ค่าไฟฟ้า” ที่จะสูงขึ้นตามมาด้วยการผสมผสานการผลิตที่หลากหลายของ กฟผ. นอกจากช่วยให้ไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้งานของประเทศ ยังคงดูแลค่าไฟให้แข่งขันได้และสำคัญเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะบาลานซ์ทั้งหมดนี้ไม่ง่ายนัก แต่กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบต้องทำประโยชน์สูงสุดให้แก่คนไทยทั้งประเทศ

กำลังโหลดความคิดเห็น