xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 35.47 ผันผวนในทางอ่อนค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (6 ก.ย.) ที่ระดับ 35.47 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.40-35.60 บาท/ดอลลาร์ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideway (แกว่งตัวในช่วง 35.43-35.49 บาทต่อดอลลาร์) ตามทิศทางของเงินดอลลาร์และราคาทองคำ โดยเรามองว่า เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาทผ่านแนวโน้มดุลการค้าที่อาจขาดดุลมากขึ้น หากการส่งออกของไทยยังคงซบเซา ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทยังคงจำกัดอยู่ในโซนแนวต้าน 35.50 บาทต่อดอลลาร์ จากแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.50 บาทต่อดอลลาร์ จากทั้งการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งในช่วงนี้ได้แรงหนุนจากทั้งความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน และการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ขณะเดียวกัน โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวมีส่วนยิ่งกดดันเงินบาทในระยะนี้ นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องกลับมากดดันเงินบาทผ่านความกังวลแนวโน้มการขาดดุลการค้าของไทยในช่วงที่การส่งออกยังคงซบเซา รวมถึงความกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศ โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ อาจชะลอลงยาก จนทำให้เฟดต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หรือคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน

หากเงินบาทอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านสำคัญดังกล่าวจะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านแถว 35.60-35.75 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก ซึ่งเราคงมุมมองเดิมตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน ว่า โซนดังกล่าว ควรเป็นจุดที่เริ่มเห็นการชะลอตัวอ่อนค่าของเงินบาท และเงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซน 35.85-36.00 บาทต่อดอลลาร์ จากการประเมิน Valuation ของเงินบาท ทั้งนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะทยอยกลับเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทยบ้างหรือไม่ โดยเฉพาะในฝั่งหุ้น หลังดัชนี SET ได้ย่อตัวลงมาพอสมควร ขณะที่หุ้นกลุ่มพลังงานซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ตามแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ โดยหากนักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นไทยบ้าง (Buy on Dip) อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทในระยะสั้นได้เช่นกัน

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความกังวลว่าการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้และแนวโน้มที่ราคาน้ำมันดิบอาจปรับตัวสูงขึ้นจะทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงยาก ซึ่งอาจส่งผลให้เฟดยังจำเป็นต้องเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้สะท้อนผ่านการปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยและโอกาสเฟดคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นาน ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบดังกล่าวยังได้หนุนให้ราคาหุ้นกลุ่มพลังงานต่างปรับตัวขึ้น (Chevron +1.3%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดราว -0.42%

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงต่อเนื่อง -0.23% ท่ามกลางความกังวลภาวะ Stagflation ในฝั่งยุโรป หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนล่าสุดต่างออกมาแย่กว่าคาด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อ นอกจากนี้ ความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนยังได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดเดินหน้าขายหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมและกลุ่มเหมืองแร่ (Dior -3.1% Anglo American -1.6%) ทั้งนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของหุ้นกลุ่มพลังงาน (BP +2.0% Shell +1.0%) ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบในระยะนี้

ในฝั่งตลาดบอนด์ การปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบจนกลับมาเท่ากับระดับในปีก่อนหน้า จากความกังวลภาวะอุปทานตึงตัวในตลาดน้ำมันได้ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลว่า บรรดาธนาคารกลางอาจเผชิญปัญหาในการควบคุมเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางอาจจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น หรือนานขึ้นกว่าคาด ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ระยะยาวต่างปรับตัวสูงขึ้น โดยบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 4.26% อีกครั้ง ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่าการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ระยะยาวถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจในการทยอยซื้อสะสมบอนด์ระยะยาว เนื่องจากระดับยิลด์ที่สูงขึ้นมี risk/reward ที่น่าสนใจและคุ้มค่าความเสี่ยง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นตามความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวนและการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 104.8 จุด (กรอบ 104.5-104.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยิลด์ในตลาด และการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ในบางช่วงยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทยอยย่อตัวลงสู่ระดับ 1,952 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญฝั่งสหรัฐฯ อย่างดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ซึ่งตลาดจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยนักวิเคราะห์ต่างมองว่า ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 52.5 จุด สะท้อนว่าภาคการบริการสหรัฐฯ ยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องได้ (ดัชนีสูงกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว) อย่างไรก็ดี โมเมนตัมการขยายตัวของภาคการบริการนั้นชะลอลงต่อเนื่อง กดดันโดยผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงภาวะการจ้างงานที่เริ่มชะลอตัวลง

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด รวมถึงรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยเฟด หรือ Fed’s Beige Book (ตลาดทยอยรับรู้ในช่วง 01.00 น. ของเช้าวันพฤหัสฯ ตามเวลาในประเทศไทย) โดยเรามองว่า ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจดังกล่าวอาจชี้ว่าภาคธุรกิจในหลายพื้นที่ของเฟดอาจมีความกังวลต่อแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจมากขึ้น และอาจได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงภาวะสินเชื่อที่ตึงตัว ซึ่งเรามองว่าภาพดังกล่าว กอปรกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งอัตราเงินเฟ้อและข้อมูลตลาดแรงงานที่ชะลอตัวลง อาจทำให้เฟด “คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย” ไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ และเราคงมุมมองเดิมว่าเฟดได้ถึงจุดยุติการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ไปแล้วและอาจเป็นเรื่องยากที่เฟดจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน หากทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อมีทิศทางชะลอตัวลงมากยิ่งขึ้นในช่วงดังกล่าว

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของยูโรโซน รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของ ECB
กำลังโหลดความคิดเห็น