xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าเงินบาทเปิดที่ระดับ 35.01 ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (1 ก.ย.) ที่ระดับ 35.01 บาทต่อดอลลาร์ ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า และมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.90-35.10 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ และประเมินกรอบเงินบาท ในช่วง 34.80-35.30 บาท/ดอลลาร์ หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวน sideway (แกว่งตัวในช่วง 34.92-35.04 บาทต่อดอลลาร์) ตามทิศทางของเงินดอลลาร์และราคาทองคำ โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ก่อนรับรู้รายงานยอดการจ้างงานของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่าในช่วงก่อนที่ตลาดจะทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ เงินบาทอาจเคลื่อนไหว sideway ในกรอบไม่ต่างจากช่วงวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี เราเห็นว่าทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดหุ้นยังมีความไม่แน่นอน (มีการซื้อสุทธิ สลับกับการขายสุทธิในช่วงที่ผ่านมา) ทำให้เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง หากนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทย หลังดัชนี SET และ SET50 ได้รีบาวนด์ขึ้นใกล้โซนแนวต้านสำคัญ แม้ว่าเงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง แต่เรามองว่าเงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่อยากปรับสถานะถือครองไปมากนักก่อนรับรู้ข้อมูลดังกล่าว โดยเราประเมินว่า โซนแนวต้านของเงินบาทอาจยังอยู่ในช่วง 35.10-35.20 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เรามองว่าควรระมัดระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงก่อนและหลังทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยเราคาดว่า ธีมหลักของตลาดในช่วงนี้ยังคงเป็น “Bad data is Good news for the market” หรือรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด หรือสะท้อนภาพเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้น จะส่งผลให้ตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงได้ เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวอาจลดโอกาสเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย หรือคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานขึ้น ดังนั้น หากยอดการจ้างงานสหรัฐฯ และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง รวมถึงดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตสหรัฐฯ ชะลอลงตามที่ตลาดคาด หรือออกมาแย่กว่าคาด อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นพร้อมกับการรีบาวนด์ขึ้นของราคาทองคำ ในทางกลับกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด เงินดอลลาร์มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นแรง เช่น ดัชนีเงินดอลลาร์ DXY อาจปรับตัวขึ้นกลับไปสู่ระดับสูงกว่า 104 จุด ได้ไม่ยาก ซึ่งสามารถกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ได้

ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเพิ่มเติม เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในวันนี้ อย่างไรก็ดี รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ล่าสุดที่ชะลอลงตามคาดและสอดคล้องกับรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ก่อนหน้าพอช่วยพยุงบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมได้ ทำให้ดัชนี S&P500 ปิดตลาดลดลงเพียง -0.16%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ปรับตัวลงต่อ -0.20% หลังรายงานอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของยูโรโซนออกมาอยู่ในระดับที่สูงถึง 5.3% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ไปมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมองว่า ECB มีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ไม่ยาก นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงเดินหน้าขายทำกำไรการรีบาวนด์ขึ้นของหุ้นที่เกี่ยวกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (LVMH -2.7% Hermes -1.6%)

ในฝั่งตลาดบอนด์ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ส่งผลให้บอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัว sideway ใกล้ระดับ 4.12% ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนอีกครั้งหลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในวันนี้ และมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ทั้งนี้ เรายังคงมุมมองเดิมว่า แม้บอนด์ยิลด์ระยะยาวอาจพลิกกลับมาปรับตัวขึ้น แต่จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถทยอยเข้าซื้อสะสมบอนด์ระยะยาวได้

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดอาจมีการปรับสถานะบางส่วนก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในวันนี้ นอกจากนี้ ภาพตลาดการเงินสหรัฐฯ ที่อยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมีส่วนทำให้เงินดอลลาร์ยังมีความน่าสนใจในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 103.6 จุด (กรอบ 103.4-103.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แรงขายทำกำไรของผู้เล่นบางส่วน ก่อนที่จะรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ รวมถึงจังหวะปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยิลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ย่อตัวลงสู่ระดับ 1,966 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่าผู้เล่นบางส่วนในตลาดอาจรอทยอยซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวลงบ้าง ทำให้โฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวมีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง

สำหรับวันนี้ ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทั้งรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน (ทยอยรับรู้ในช่วง 19.30 น. ตามเวลาในประเทศไทย) และรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) ในช่วงเวลา 21.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย โดยในส่วนของข้อมูลตลาดแรงงานในเดือนสิงหาคมนั้น นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจเพิ่มขึ้น 168,000 ราย ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ส่วนอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) อาจชะลอลงสู่ระดับ +0.3%m/m หรือ +4.3%y/y ขณะที่อัตราการว่างงานอาจทรงตัวที่ระดับ 3.5% เรามองว่า หากข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาตามที่นักวิเคราะห์ประเมิน อาจไม่ได้หนุนให้เฟดจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แต่อาจทำให้เฟดสามารถคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงได้นานจนกว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงมากขึ้น (เรายังคงมองว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปลายปี-ต้นปีหน้า) และในส่วนของรายงานดัชนี ISM Manufacturing PMI เดือนสิงหาคม นักวิเคราะห์ต่างมองว่า ดัชนี ISM PMI ภาคการผลิตอาจอยู่ที่ระดับ 47 จุด สะท้อนว่าภาคการผลิตสหรัฐฯ ยังคงหดตัวอยู่ (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) และเป็นการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนตุลาคมในปีก่อนหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น