xs
xsm
sm
md
lg

ความเสี่ยงสำหรับ ‘นาโต’ จากการที่ ‘โดรนยูเครน’ โจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของ ‘รัสเซีย’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


ภาพจากโซเชียลมีเดีย แสดงให้เห็นไฟไหม้ขนาดใหญ่และควันโขมงลอยขึ้นมาเหนือเมืองสคอฟ ทางภาคตะวันตกของรัสเซีย ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ชายแดนเอสโตเนีย แต่ห่างจากดินแดนของยูเครนราว 800 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2023 ภายหลังมีโดรนเข้าโจมตีสนามบินทหารแห่งหนึ่งที่เมืองนี้ (ภาพจากสื่อ ออสโตรอซโน โนวอสติ ผ่านสำนักข่าวเอพี)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Risks for NATO in Ukraine drone strikes on Russian territory
By STEPHEN BRYEN
31/08/2023

ความผิดพลาดสักครั้งหนึ่งอาจแปรเปลี่ยนสงครามยูเครนให้กลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับทั่วทั้งนาโตในทันที ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่พันธมิตรนาโตไม่ได้มีความพรักพร้อมสำหรับการรับมือ

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ยูเครนเปิดการโจมตีด้วยโดรนใส่ดินแดนรัสเซียครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยกระทำมา โดยในการนี้พวกเขายังได้โจมตีใส่สนามบินสคอฟ (Pskov) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ชายแดนเอสโตเนีย ทำให้เครื่องบินไอพ่นสำหรับการขนส่งแบบ อิล-76 (Il-76) อย่างน้อย 2 ลำ และบางทีอาจจะสูงถึง 4 ลำ ถูกทำลายเสียหาย



อิล-76 เป็นเครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ทางยุทธศาสตร์ (strategic airlifter) ที่ติดตั้งเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน (turbofan) จำนวน 4 เครื่อง และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แบบอเนกประสงค์ รวมทั้งสามารถที่จะนำมาดัดแปลงเพื่อให้ปฏิบัติภารกิจพิเศษเฉพาะได้ด้วย เครื่องบินแบบนี้ถือเป็นม้างานตัวหนึ่งของกองทัพอากาศรัสเซียซึ่งใช้สำหรับการขนส่งกองทหาร และยุทธสัมภาระต่างๆ

เครื่องบินแบบนี้เริ่มผลิตออกมาตั้งแต่เมื่อปี 1971 และเวลานี้ก็ยังคงมีการผลิตกันอยู่ แล้วไม่เพียงเฉพาะกองทัพเท่านั้น พวกองค์การฝ่ายพลเรือนทั้งในรัสเซียและในต่างแดนยังนำอิล-76 มาใช้งานกันด้วย โดยมีการทำออกมาในเวอร์ชันหลายหลากและจำหน่ายให้แก่ผู้ใช้งานชาวต่างประเทศมากกว่าสิบราย

ความสำคัญของการโจมตีที่สคอฟคราวนี้ อยู่ตรงสถานที่ตั้งของสนามบินแห่งนี้ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของรัสเซีย กล่าวคือ มันอยู่ห่าง 38.1 ไมล์ (61.3 กิโลเมตร) จากด่านลูฮามา (Luhamaa) ของเอสโตเนีย ทว่าไกลออกไปราวๆ 500 ไมล์ (800 กิโลเมตร) จากดินแดนยูเครน จึงทำให้เกิดคำถามอันสาหัสจริงจังขึ้นมาว่า โดรนซึ่งถูกใช้ในการโจมตี (ที่อาจจะมีลำเดียวหรือหลายลำก็ตามที) มันถูกปล่อยขึ้นมาจากที่ไหน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://t.me/geopolitics_live/4519)

สำหรับโดรนที่ออกปฏิบัติการเป็นระยะทางไกลๆ นั้น จำเป็นต้องมีสมรรถนะพิเศษในด้านการติดต่อสื่อสาร โดรนรุ่นต่างๆ ของสหรัฐฯ เป็นต้นว่า อาร์คิว-4 โกลบอล ฮอว์ก (RQ-4 Global Hawk) อาร์คิว-1/เอ็มคิว-1 รีปเปอร์ (RQ-1/MQ-1 Reaper) และอาร์คิว-170 เซนทิเนล (RQ-170 Sentinel) ต่างใช้การติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมและการรีเลย์สัญญาณวิทยุ (satellite communications and radio relays)

พวกโดรนอย่างเช่น รีปเปอร์ นั้น บรรทุกขีปนาวุธยิงจากอากาศสู่พื้นดินกันหลายๆ ลูก และก็ติดตั้งด้วยเรดาร์ที่มีความสลับซับซ้อนมาก ตลอดจนอุปกรณ์ไฟฟ้า-แสง (electro-optical gear) ไม่เป็นที่ทราบกันมาก่อนเลยว่ายูเครนมีโดรนเช่นนี้อยู่ในครอบครอง

ฝ่ายรัสเซียคิดว่า โดรนที่ถูกปล่อยขึ้นมาโจมตีสนามบินในสคอฟ ถ้าหากไม่ใช่ขึ้นจากสถานที่ลับๆ ในดินแดนรัสเซียหรือเบลารุส ก็ต้องมาจากเอสโตเนีย ทั้งนี้จากเหตุโจมตีครั้งอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นลึกเข้าไปในดินแดนรัสเซีย ย่อมเป็นเครื่องบ่งบอกว่ามีการลักลอบนำโดรนเข้าไปในรัสเซีย กระทั่งใกล้ๆ กรุงมอสโกด้วย

ฝ่ายยูเครนยังมีการปฏิบัติการก่อวินาศกรรมในดินแดนรัสเซียมาแล้วหลายครั้งเช่นกัน บ่อยครั้งเกี่ยวข้องพัวพันกับพลเมืองรัสเซีย ทำนองเดียวกับที่ฝ่ายนี้กระทำอยู่ในดินแดนซึ่งรัสเซียยึดครองเอาไว้ในยูเครน

พวกสื่อมวลชนรัสเซียแทบไม่ได้ให้ข้อมูลข่าวสารอะไรเลยเกี่ยวกับการโจมตีเข้าไปภายในรัสเซีย ยกเว้นแต่เมื่อสามารถจับตัวพวกผู้ก่อเหตุได้ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เป็นครั้งคราว อย่างไรก็ดี พวกช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็มีการโพสต์เผยแพร่ภาพและคลิปวิดีโอของสถานที่ในรัสเซียซึ่งถูกโจมตีกันอยู่เป็นประจำ

การก่อวินาศกรรมบางครั้งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเล่นงานพวกเป้าหมายทางทหาร ทว่าเป้าหมายจำนวนมากเลยเป็นพวกอาคารสำนักงาน ศูนย์การค้า และคลังสินค้า ระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศของรัสเซียดูเหมือนไม่สามารถที่จะหยุดยั้งหรือกระทั่งลดทอนความถี่ของการปฏิบัติการก่อวินาศกรรมในลักษณะนี้ได้

การโจมตีด้วยโดรนและการก่อวินาศกรรมเช่นนี้ ไม่ใช่ว่ากำลังจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญในทิศทางของสงครามในดินแดนยูเครนแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ดูเหมือนวัตถุประสงค์ของฝ่ายยูเครนคือการมุ่งหว่านโปรยความไม่พอใจขึ้นในรัสเซีย ด้วยการสาธิตให้เห็นว่าระบบการป้องกันของรัสเซียนั้นมีช่องโหว่มากมาย และพวกผู้กุมอำนาจในรัสเซียไม่ได้มีความสามารถในการพิทักษ์ป้องกันทรัพย์สินสำคัญๆ ทั้งหลายที่ตั้งอยู่ภายในประเทศ

นอกจากนั้น ยูเครนยังต้องการสาธิตให้เห็นว่าเบื้องลึกลงไปในรัสเซียนั้นมีพลังต่อต้านคัดค้านรัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน อย่างจริงจัง ดังนั้นจึงพยายามที่จะใช้พลเมืองชาวรัสเซียเพื่อยั่วยุให้เรื่องนี้ขยายตัว

การที่ยูเครนโจมตีใส่ดินแดนรัสเซีย ยังมีเจตนาที่จะเป็นการตอบโต้เอาคืนต่อการที่รัสเซียโจมตีใส่โครงสร้างพื้นฐานฝ่ายพลเรือนของยูเครน อันที่จริงในขณะที่ฝ่ายยูเครนเปิดการโจมตีด้วยโดรนเล่นงานรัสเซียครั้งหนักหน่วงที่สุดของฝ่ายตนในวันที่ 29 สิงหาคมคราวนี้ ฝ่ายรัสเซียก็ได้เปิดการถล่มโจมตีทางอากาศอย่างหนักใส่กรุงเคียฟ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.msn.com/en-us/news/world/kyiv-hit-in-biggest-blitz-in-months-as-russia-airbase-struck/ar-AA1fY5ko)

ในการปฏิบัติการด้วยโดรนและการก่อวินาศกรรมของยูเครน มีความเสี่ยงอยู่หลายๆ ประการที่อาจสร้างความวิตกกังวลให้แก่พวกชาตินาโตที่เป็นหุ้นส่วนของยูเครน ประการสำคัญที่สุดคือ การโจมตีในบริเวณใกล้ๆ กับประเทศนาโตที่อยู่ในสภาพเปราะบางอยู่แล้ว อย่างเช่นกรณีที่สคอฟ อาจจุดชนวนให้เกิดการตอบโต้ข้ามพรมแดน ซึ่งกลายเป็นประกายไฟที่ลุกลามขยายตัวเป็นการสู้รบขัดแย้งขนาดใหญ่โตยิ่งขึ้นอีก เนื่องจากจะมีนาโตเข้าเกี่ยวข้องด้วย

รัสเซียเดิมพันด้วยความเสี่ยงสูงทีเดียวเมื่อเร็วๆ นี้ จากการที่พวกเขาเข้าถล่มคลังเก็บสินค้าและท่าเรือขนส่งธัญพืชของยูเครนที่อิซมาอิล (Izmail หรืออิซมายิล Izmayil) ริมฝั่งแม่น้ำดานูบ เพราะโรมาเนียอยู่ใกล้มากๆ ตรงอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเท่านั้น

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าฝ่ายรัสเซียจะต้องเพิ่มทวีความพยายามของพวกเขาในการปรับปรุงยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศ และเพิ่มระบบป้องกันมากขึ้นอีกเพื่อรับมือกับการถูกโจมตีจากโดรน

อย่างไรก็ตาม ยูเครนก็ต้องระมัดระวังตัวในการเลือกเป้าหมายต่างๆ ภายในรัสเซียที่จะเข้าโจมตี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยูเครนต้องอยู่ห่างจากพวกสถานที่ซึ่งเก็บอาวุธนิวเคลียร์ หรืออากาศยานทางยุทธศาสตร์ของฝ่ายรัสเซีย

และยูเครนจะต้องระมัดระวังให้มากเกี่ยวกับการโจมตีรัสเซียซึ่งอาจถูกตีความได้ว่า เป็นการโจมตีที่ออกมาโดยตรงจากพวกชาติสมาชิกนาโต ความผิดพลาดสักครั้งหนึ่งอาจแปรเปลี่ยนสงครามยูเครนให้กลายเป็นสงครามระหว่างรัสเซียกับทั่วทั้งนาโตขึ้นมาในทันที ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นาโตไม่ได้มีความพรักพร้อมสำหรับการรับมือ

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น