xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนของนาโตและสหรัฐฯ ในยูเครน : ไม่พร้อมป้องกันยุโรป แถมกระทบแผนในเอเชีย-แปซิฟิก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


รถถังลีโอพาร์ด ผลิตจากเยอรมนี ถูกยิงใส่ในยูเครน ภาพ: YouTube Screengrab / Alpha Defense
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

NATO learning hard lessons about its future in Ukraine
By STEPHEN BRYEN
07/09/2023

สงครามยูเครนแสดงให้เห็นว่า นาโตไม่ได้มีความพร้อมเอาเลยแม้กระทั่งในการพิทักษ์ป้องกันดินแดนของตนเองในยุโรป ขณะที่การใช้จ่ายอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมหึมาของสงครามนี้ ก็กระทบกระเทือนแผนการของสหรัฐฯ ในเอเชีย-แปซิฟิก

ขณะที่สาเหตุสำหรับการทำสงครามมีแตกต่างออกไปหลายหลาก แต่มันเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่สงครามจะต้องกลายเป็นสนามทดสอบสำหรับเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในสมรภูมิ

สงครามในยูเครนก็ไม่ได้แตกต่างไปจากนี้ อันที่จริงในบางแง่บางมุม มันกลายเป็นตัวอย่างที่หนักแน่นชัดเจนของโลกแห่งความเป็นจริงสำหรับผลักดันให้ลงมือเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างในการทำสงครามสมัยใหม่เสียด้วยซ้ำ ยิ่งสำหรับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) แล้ว ต้องถือเป็นเคราะห์ร้ายที่สงครามนี้ยังกลายเป็นลางบอกเหตุล่วงหน้าของข่าวร้ายๆ ที่จะติดตามาอีกด้วย

ขณะที่มันเป็นเรื่องจริงอย่างสมบูรณ์แบบที่จะพูดว่า ยูเครนขาดไร้แสนยานุภาพทางอากาศที่สมควรจะต้องมี รวมทั้งไม่น่าเลยที่จะนำพาตัวเองเข้าไปอยู่ในตำแหน่งซึ่งจะถูกถล่มโจมตีจากฝ่ายรัสเซีย ทว่าพวกเขากระทำเช่นนี้ที่สำคัญที่สุดก็เนื่องด้วยอิงอยู่กับคำมั่นสัญญาจากนาโต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัฐสมาชิกผู้นำของนาโตอย่างสหรัฐฯ

สหรัฐฯ และนาโตเสนอให้ความช่วยเหลือทางทหารอย่างมหาศาลคิดเป็นมูลค่าจนถึงตอนนี้ก็อยู่ราวๆ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว แถมยังจะมีเพิ่มเติมต่อไปอีก หากคำนวณเฉลี่ยเป็นรายวันจะได้ตัวเลขอันน่าตื่นตะลึงที่ 100 ล้านดอลลาร์ต่อวัน แต่ถึงแม้มีการทุ่มเทให้กันอย่างใหญ่โตมโหฬารเช่นนี้ ยูเครนก็ยังคงแทบไม่สามารถช่วงชิงดินแดนซึ่งถูกฝ่ายรัสเซียแย่งยึดไปกลับคืนมาได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน และสิ่งที่ทำให้รู้สึกกังวลกันมากกว่านั้นอีกก็คือ เคียฟยังกำลังสูญเสียทั้งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมหึมา

ค่าใช้จ่ายที่ระบุเอาไว้ข้างต้นนี้ ยังไม่ได้รวมเอาการตัดสินใจเพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมของพวกรัฐสมาชิกนาโตเอง ตัวอย่างเช่น เมื่อเร็วๆ นี้โปแลนด์เพิ่งตัดสินใจสั่งซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ “แพทริออต” (Patriot) ใหม่ๆ จากสหรัฐฯ ในราคา 15,000 ล้านดอลลาร์ และอีก 12,000 ล้านดอลลาร์สำหรับเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบ “อาปาเช่” (Apache) จากโบอิ้ง ที่เป็นบริษัททำสัญญารับเหมารับจ้างกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เช่นกัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://substack.com/redirect/cf5fd995-fdd5-41c4-bdcc-d8872a159450?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw)

เยอรมนีก็กำลังสั่งซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ “แอร์โรว์” (Arrow) ของอิสราเอลในราคา 3,500 ล้านดอลลาร์ โปแลนด์นั้นยังบอกด้วยว่าจะตั้งงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมให้อยู่ในระดับเท่ากับ 4% ของจีดีพีของประเทศตัวเอง ถือเป็นอัตราส่วนที่สูงเกินกว่าชาติสมาชิกนาโตรายอื่นๆ มากยกเว้นเฉพาะสหรัฐฯ เท่านั้น ในความเป็นจริงแล้วมีเพียงแค่ 8 ชาติจากรัฐสมาชิกนาโตทั้งหมด 30 ราย ซึ่งใช้จ่ายในด้านนี้ถึงระดับ 2% ของจีดีพีตามที่เป้าหมายซึ่งนาโตกำหนดเรียกร้องเอาไว้
(เรื่องเยอรมนีซื้อระบบของอิสราเอล ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://substack.com/redirect/d8a2ed06-7dad-407e-aab5-a6629101f759?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw)
(เรื่องงบกลาโหมโปแลนด์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://substack.com/redirect/21d87109-9c78-4da7-ac76-87b52c02cdbf?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw)
(เรื่องงบกลาโหมของพวกรัฐสมาชิกนาโต ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://substack.com/redirect/7dac435a-358b-4ec6-b642-efa3d0315445?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw)

อย่างไรก็ตาม จุดสดใสจุดหนึ่งสำหรับนาโต ได้แก่การที่นาโต้กำลังจัดหาจัดส่งข้อมูลข่าวสารซึ่งได้จากการสอดแนมในระดับเหนือศีรษะ (overhead surveillance) รวมทั้งข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายต่างๆ ให้แก่ยูเครน โดยที่ข้อมูลข่าวสารเหล่านี้บางส่วนได้มาจากโดรนและอากาศยานอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งกำลังปฏิบัติการเหนือทะเลดำในพื้นที่น่านฟ้าระหว่างประเทศ

การเสนอให้ความช่วยเหลือชนิดนี้ –ซึ่งยังต้องขอบคุณระบบดาวเทียมสื่อสาร “สตาร์ลิงค์” (Starlink) ของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่มีความสามารถในการถ่ายทอดข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายต่างๆ โดยติดต่อตรงไปถึงเครื่องสมาร์ทโฟนของพวกผู้บังคับบัญชาทหาร— สามารถที่จะยกระดับพวกอาวุธที่มีความเฉลียวฉลาด หรือ “อัจฉริยะ” ทั้งหลาย อย่างเช่น ระบบ HIMAS ที่เป็นระบบจรวดหลายลำกล้องติดตั้งบนรถบรรทุกเคลื่อนที่ได้รวดเร็ว-- ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างใหญ่หลวง ในเวลาเดียวกัน การสอดแนมจากระดับเหนือศีรษะก็ทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวของกองกำลังฝ่ายรัสเซีย และคาดการณ์เกี่ยวกับจุดร้อนแห่งต่างๆ ในวิถีทางซึ่งกระทำไม่ได้เลยในอดีตที่ผ่านมา

โชคร้ายที่นาโตจะต้องสูญเสียความได้เปรียบเช่นนี้ไป ถ้าหากเป็นการทำสงครามในขนาดขอบเขตที่ใหญ่โตกว้างขวางกว่านี้ โดยในสถานการณ์เช่นนั้น ฝ่ายรัสเซีย หรือข้าศึกรายสำคัญอื่นๆ ไม่ว่ารายไหน ย่อมไม่ลังเลที่จะเดินหน้าเข้าทำลายทรัพย์สินใช้ในการสอดแนมทั้งหลาย แม้กระทั่งพวกที่อยู่ในเขตน่านฟ้าระหว่างประเทศ

โดรนโกลบอล ฮอว์ก (Global Hawk) หนึ่งในอาวุธสอดแนมสำคัญของสหรัฐฯ ที่กำลังปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ทะเลดำ
ถึงแม้นาโตมีส่วนร่วมพัวพันเกี่ยวข้องอยู่อย่างมหาศาลในยูเครน โดยรวมไปถึงกองทหารปฏิบัติการพิเศษทางภาคพื้นดินซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา (ตลอดจนถูกกล่าวหาว่า ยังมีส่วนหนึ่งอยู่ในฐานะทหารรับจ้าง โดยพวกเขาในส่วนนี้จำนวนมากทีเดียวเป็นทหารนาโตที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี) แต่เท่าที่ผ่านมารัสเซียก็แสดงถึงความอดทนอดกลั้นอย่างมากมายที่จะไม่ตอบโต้ภัยคุกคามจากระดับเหนือศีรษะเหล่านี้ อาจจะเนื่องจากไม่ต้องการเห็นสงครามคราวนี้กระเซ็นซ่านแผ่ลามออกไปนอกเขตแดนของยูเครนหรือของรัสเซีย

ความเสี่ยงอย่างสูงลิ่วเช่นนี้ ยิ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีของพวกดาวเทียมสอดแนมที่ประณีตละเอียดอ่อนทั้งหลาย ซึ่งอันที่จริงก็อยู่ในสภาพเหมือนเป็นเป้าลอยอยู่นิ่งๆ บนท้องฟ้า หากต้องเผชิญกับอาวุธสังหารดาวเทียมของจีนหรือของรัสเซีย

สันนิษฐานเอาไว้ก่อนได้ว่า สหรัฐฯ ก็จะพยายามและกระทำอย่างเดียวกันกับพวกดาวเทียมของรัสเซียหรือของจีน แต่เมื่อเป็นเช่นนี้มันจึงหมายความว่า การสอดแนมและการชี้เป้าระดับท้องถิ่น ซึ่งที่สำคัญแล้วก็คือด้วยการพึ่งพาอาศัยโดรน จะกลายเป็นตัวที่มีบทบาทสำคัญที่สุด ตรงนี้เป็นส่วนที่ฝ่ายรัสเซียสามารถปรับตัวได้ค่อนข้างดีหลังจากที่ในตอนเริ่มต้นสงครามพวกเขามีสมรรถนะทางด้านโดรนในระดับย่ำแย่เอามากๆ

รัสเซียมีการวิวัฒนาการโดรน “ออร์ลัน” (Orlan) ที่พวกเขาใช้อยู่ รวมทั้งนำเอามาประกอบเข้าเป็นเครือข่าย โดรนเหล่านี้ของรัสเซียไม่เพียงแค่สามารถมองเห็นเป้าหมายต่างๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถส่งสัญญาณรบกวนเป้าหมายเหล่านั้นได้ด้วย และรัสเซียก็ได้นำเอาสมรรถนะการก่อกวนสัญญาณที่ปรับปรุงยกระดับขึ้นแล้วนี้เข้าสู่สมรภูมิ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://rusi.org/explore-our-research/publications/special-resources/orlan-complex-tracking-supply-chains-russias-most-successful-uav/interactive-summary)

ขณะที่ยูเครนก็มีระบบการส่งสัญญาณรบกวนที่ใช้งานได้ดีอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ฝ่ายรัสเซียดูเหมือนจะมีการฝึกปฏิบัติและความชำนิชำนาญมากกว่าในแวดวงนี้ รวมทั้งมีระบบใหม่ๆ บางระบบที่นำมาใช้ในสนามรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดูเหมือนว่าฝ่ายรัสเซียเรียนรู้มาอย่างมากมายทีเดียวจากสงครามนากอร์โน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh war) ซึ่งอุปกรณ์ส่งสัญญาณรบกวนของพวกเขาเจอกับอุปกรณ์ที่เหนือกว่า แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็พยายามปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยมา
(หมายเหตุผู้แปล: สงครามนากอร์โน-คาราบัค ปี 2020 เป็นความขัดแย้งทางอาวุธในภูมิภาคนากอร์โน-คาราบัค ระหว่างอาเซอร์ไบจาน ซึ่งได้รับความสนับสนุนจากตุรกี กับสาธารณรัฐนากอร์โน-คาราบัค (อาร์ทซัค) ซึ่งประกาศตัวเองเป็นเอกราช ไม่ยอมอยู่กับอาเซอร์ไบจาน โดยที่ประชากรส่วนใหญ่ของนากอร์โน-คาราบัคนั้น เป็นชาวอาร์มีเนีย และการต่อสู้ของพวกเขาก็ได้รับความสนับสนุนจากอาร์มีเนีย อย่างไรก็ดี การสู้รบคราวนี้ดำเนินอยู่เดือนเศษก็สิ้นสุดลงด้วยชัยชนะของอาร์เซอร์ไบจาน และมีการทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกัน โดยที่รัสเซียเป็นคนกลาง รวมทั้งยังส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปดูแลการปฏิบัติตามข้อกลง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%82%E0%B8%99-%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B1%E0%B8%84_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2563)

ในสงครามที่ยูเครน ฝ่ายรัสเซียยังได้เรียนรู้ถึงวิธีการในการเอาชนะพวกอาวุธ “อัจฉริยะ” บางประเภทอีกด้วย ตัวอย่างเช่น กระทรวงกลาโหมรัสเซียรายงานอย่างสม่ำเสมอในเรื่องสามารถสอยจรวดของระบบ HIMARS และเอาชนะพวกอาวุธฉลาดๆ ตลอดจนโดรน โดยบ่อยครั้งทีเดียวด้วยวิธีการส่งสัญญาณรบกวนการทำงานของพวกมัน

ทุกวันนี้ นาโตอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มากเมื่อต้องรับมือกับฝูงโดรนที่ถูกส่งมาทีละมากๆ หรือกระทั่งในการป้องกันตัวเมื่อถูกยิงใส่ด้วยขีปนาวุธพิสัยกลางและพิสัยไกล ส่วนหนึ่งของเรื่องนี้สืบเนื่องจากมีการใช้จ่ายงบประมาณไปในทิศทางที่ผิดพลาด โดยที่พวกการป้องกันภัยทางอากาศถูกละเลย หรือเอาแต่โฟกัสที่ภัยคุกคามทางนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์เป็นสำคัญ

ทว่าแม้กระทั่งในเรื่องภัยคุกคามทางนิวเคลียร์เชิงยุทธศาสตร์นี่แหละ ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีอยู่ในยุโรป ก็ยังมีปัญหาเรื่องการครอบคลุมพื้นที่ให้ทั่วถึงเพียงพอ โดยอยู่ในระดับที่ยังห่างไกลจากสิ่งที่สมควรจะเป็นมากมายนัก ยิ่งไปกว่านั้น การป้องกันภัยทางอากาศที่มีอยู่ในนาโตยังไม่มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย และไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ในการเสาะแสวงหาสิ่งที่เป็นภัยคุกคาม และรับมือกับสิ่งคุกคามที่มีอันตรายร้ายแรงมากที่สุด

ในอีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ ถือเป็นประเทศหนึ่งที่ย่ำแย่มากๆ ในเรื่องการป้องกันภัยทางอากาศ มันไม่เพียงพอเป็นอย่างยิ่งไม่แต่เฉพาะในเรื่องการครอบคลุมให้ทั่วถึงในการป้องกันขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) เท่านั้น แต่ในการป้องกันขีปนาวุธทางยุทธวิธีก็เช่นเดียวกัน มิหนำซ้ำสหรัฐฯ ยังนำเอากองทหารของตนไปตั้งประจำในวิถีทางที่เสี่ยงอันตรายครั้งแล้วครั้งเล่า โดยที่มีแค่ยุทโธปกรณ์ล้าสมัยสำหรับใช้เพื่อการป้องกันการถูกโจมตีจากพวกขีปนาวุธหยาบๆ โบราณ ตลอดจนอากาศยานไร้นักบินที่อยู่ในมือของพวกกลุ่มผู้ก่อการร้ายเท่านั้น

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ คือการที่กองทัพบกสหรัฐฯ ตัดสินใจปฏิเสธไม่เอาระบบป้องกันภัยทางอากาศที่มีประสิทธิภาพมากจากอิสราเอล นั่นคือระบบ ไอออน โดม (Iron Dome) ซึ่งสมควรที่จะถูกนำไปประจำการในอิรัก เพื่อใช้คุ้มครองป้องกันพวกฐานทัพและสถานที่ต่างๆ ของสหรัฐฯ

ตรงกันข้าม กองทัพบกสหรัฐฯ กลับต้องการที่จะพัฒนาระบบ “ของตัวเอง” ด้วยเหตุนี้กองทหารที่ตกอยู่ในความเสี่ยงก็จะต้องรอคอยกันไปก่อน ขณะที่ระบบของกองทัพบกซึ่งผ่านการพัฒนาจนสามารถนำมาใช้ในการปฏิบัติการได้ในอีกสักสองสามปีข้างหน้า จะสามารถทำงานได้ดีแค่ไหนในการสู้รบ ยังคงเป็นสิ่งที่ยังไม่มีใครอาจหยั่งรู้ได้

แต่แน่ใจได้เลยว่า มันจะต้องมีราคาแพงลิบลิ่วกว่าการหยิบเอาระบบซึ่งสาธิตให้เห็นกันแล้วว่าใช้งานได้ออกมาจากหิ้ง แถมเรื่องนี้ยังกลายเป็นสิ่งบ่งบอกให้เห็นว่า ความมือเติบใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของเพนตากอนนั้น ไม่ได้เนื่องมาจากมีการสนอกสนใจสวัสดิภาพของทหารอย่างแท้จริงอะไรหรอก (ยังควรต้องชี้ให้เห็นด้วยว่า ที่จริงแล้วสหรัฐฯ ได้มีส่วนให้ความช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการวิจัยและพัฒนาระบบไอออนโดม รวมทั้งชิ้นส่วนจำนวนมากทีเดียวของระบบนี้ก็ผลิตออกมาจากโรงงานในสหรัฐฯ)

สหรัฐฯ เวลานี้ยังคงกำลังหลบเลี่ยงไม่ต้องการรับมือกับปัญหาโดรนที่ถูกปล่อยออกมาเป็นจำนวนมากๆ ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องเผชิญอยู่ดีในท้ายที่สุด ขณะที่ฝ่ายรัสเซียกลับแสดงให้เห็นในยูเครนถึงความพรักพร้อมแล้วในการใช้โดรนเข้าโจมตีเป็นจำนวนมากๆ โดยมีการผสมผสานโดรนกับพวกขีปนาวุธร่อน และระเบิดร่อน (glide bomb) รวมทั้งพวกเป้าหลอกจำนวนมาก กลายเป็นการสร้างปัญหามหึมาให้แก่การป้องกันภัยทางอากาศที่ใช้ภาคพื้นดินเป็นฐาน

ยิ่งเมื่ออาวุธมีความเป็นอิสระเพิ่มมากขึ้นๆ (และดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะใช้วิธีส่งสัญญาณไปรบกวนได้) ภัยคุกคามที่จะเกิดจากการโจมตีด้วยปล่อยโดรนและอาวุธอื่นๆ ผสมผสานกันเป็นจำนวนมากๆ ก็จะยิ่งเพิ่มทวีคูณ ในอนาคตมันจะกลายเป็นงานสำหรับระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ แต่สำหรับเวลานี้พวกเรายังต้องเฝ้ารอคอยวันนั้นกันอยู่

กรณีทำนองเดียวกันนี้ยังสามารถที่จะนำมาใช้พูดถึงรถถังได้เช่นกัน รถถัง “ลีโอพาร์ด” ของเยอรมนีที่ได้รับการประโคมข่าวอย่างเกรียวกราวนั้น เอาเข้าจริงก็ถูกฝ่ายรัสเซียทำลายอย่างยับเยินในยูเครน ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? สำหรับท่านผู้เริ่มต้นศึกษา ก่อนอื่นเลยควรต้องทำความเข้าใจว่า ถึงแม้ ลีโอพาร์ด ใช้เกราะหุ้มแบบสมัยใหม่ ทว่ายังคงขาดไร้การป้องกันที่ทรงประสิทธิภาพอยู่นั่นเอง

ทางยูเครนซึ่งหวาดกลัวว่ารถถังเหล่านี้จะอ่อนเปราะเกินไป ได้เริ่มนำเอาเกราะต้านแรงปฏิกิริยา (reactive armor) จากรถถังรัสเซียซึ่งยึดมาได้มาติดตั้งบนลีโอพาร์ด พร้อมกันนั้นก็ติดตั้งคอกเหล็กกล้าเอาไว้ที่ด้านบนของรถถังเพื่อป้องกันการถูกโจมตีด้วยพวกอาวุธระดับเหนือศีรษะ

ภาพถ่ายจากคลิป: YouTube / Defense TV
ถ้าหากรถถังเยอรมนีเหล่านี้ยอดเยี่ยมอย่างที่มีคนคุยเอาไว้ ทำไมจึงไม่ดำเนินการป้องกันที่บริเวณด้านหน้า ด้านข้าง และด้านบนล่ะ? เอาเข้าจริงแล้ว ประดารถถังของนาโต นอกเหนือจากอะบรามส์ (Abrams) ของสหรัฐฯ บางรุ่นบางแบบ ต่างก็ไม่มีเครื่องป้องกันเช่นเดียวกัน เวลานี้รถถังอะบรามส์ที่เป็นรุ่นเก่าๆ ซึ่งไม่ได้มีการหุ้มเกราะระดับก้าวหน้าที่สุด กำลังเริ่มถูกจัดส่งไปให้แก่ยูเครนแล้ว พวกมันก็ไม่น่าที่จะอยู่รอดได้เช่นเดียวกัน

กองทัพบกสหรัฐฯ ทราบดีว่า คำตอบส่วนหนึ่งของเรื่องนี้คือจะต้องมีการติดตั้งการป้องกันเชิงรุก (active defenses) ให้แก่รถถัง การป้องกันเชิงรุถกนี้จะไม่สามารถคุ้มครองป้องกันรถถังได้เมื่อเจอทุ่นระเบิดหรือถูกโจมตีด้วยปืนใหญ่และจรวดอย่างหนักหน่วง แต่มันสามารถช่วยได้ในการเผชิญกับพวกอาวุธต่อสู้รถถัง ปืนครก และลูกปืน

กองทัพบกสหรัฐฯ ได้ซื้อระบบ “โทรฟี” (Trophy) ที่ผ่านการพิสูจน์มาแล้วของอิสราเอล จำนวน 100 ชุดพอดิบพอดี จากนั้นก็ตัดสินใจที่จะพัฒนาทางเลือกของตนเองขึ้นมาแทนที่ ปล่อยให้เวลาผ่านไปเปล่าๆ หลายๆ ปี และทิ้งให้รถถังสหรัฐฯ ปราศจากการปกป้องคุ้มครองพิเศษเพิ่มเติมนี้ อย่างที่ โยกิ เบอร์รา (Yogi Berra) พูดเอาไว้นั่นแหละ เหตุการณ์ที่ดูเหมือนเคยเกิดขึ้นมาก่อน หวนย้อนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง
(ลอว์เรนซ์ ปีเตอร์ “โยกิ” เบอร์รา Lawrence Peter "Yogi" Berra มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1925-2015 เป็นนักเบสบอลอาชีพชาวอเมริกันที่มีผลงานและชื่อเสียงโด่งดังมาก ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Yogi_Berra)

ตรงนี้ขอพูดเอาไว้เพื่อบันทึกเป็นหลักฐานว่า ถึงแม้ฝ่ายรัสเซียอ้างว่าพวกเขามีระบบป้องกันเชิงรุก แต่รถถังของพวกเขาในยูเครนนั้นยังไม่มีหรอก อย่างไรก็ดี รถถังเหล่านี้ทั้งหมดต่างมีเกราะต้านแรงปฏิกิริยา ถึงแม้ส่วนใหญ่ทีเดียวเป็นเวอร์ชันรุ่นที่หนึ่ง หรือ (อย่างเก่งที่สุดก็เป็น) เวอร์ชันรุ่นที่สอง

ฝ่ายรัสเซียมีระบบเกราะต้านแรงปฏิกิริยารุ่นใหม่ๆ ทว่ายังไม่ได้นำออกมาอวดในสนามรบ บางทีพวกเขาอาจจะดึงๆ เอาไว้ก่อน เผื่อสำหรับสงครามในอนาคตก็เป็นได้

ส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ และกับนาโตก็คือว่า พวกเขามีความเชื่อแบบฝังลึกอยู่ภายในว่าฝ่ายรัสเซียจะต้องไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการสงครามรูปแบบใหม่ๆ ได้ แต่ปรากฏว่าไม่เพียงฝ่ายรัสเซียสามารถปรับตัวได้เท่านั้น พวกเขายังนำเอาอาวุธยุทโธปกรณ์เจเนอเรชันใหม่ๆ ที่ดูเหมือนมีประสิทธิภาพเข้าสู่สนามรบหรือใช้เล่นงานพวกเป้าหมายที่ทรงคุณค่าสูงอีกด้วย

ตัวอย่างที่ต้องพูดถึง ได้แก่ พวกกับระเบิดชนิดปล่อยลงมาจากทางอากาศ ซี่งทำให้ยูเครนประสบความยากลำบากในการเคลียร์เส้นทางผ่านสำหรับกองทหารของตน พวกระเบิดร่อนที่มีความแม่นยำสูง และขีปนาวุธความเร็วสูงระดับไฮเปอร์โซนิก (hypersonic เร็วกว่าเสียง 5 เท่าตัวขึ้นไป) ซึ่งเล็งเป้าหมายโจมตีพวกโครงสร้างพื้นฐานทั้งของฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน

บางทีอาวุธรุ่นใหม่ที่มีความสำคัญที่สุดก็คือ รัสเซียได้พัฒนาโดรนพิฆาต (killer drone) ที่มีชื่อเรียกขานกันว่า แลนเสต (Lancet) โดรนแบบนี้สามารถโจมตีและสังหารพวกรถถังและยานเกราะซึ่งกำลังเคลื่อนที่ และกระทั่งเคยเอาชนะระบบป้องกันภัยทางอากาศ “บุค” (BUK) ของฝ่ายยูเครนมาแล้ว จนกระทั่งถึงเวลานี้ ดูเหมือนไม่ว่ายูเครนหรือนาโตต่างยัง ไม่มีคำตอบสำหรับการตอบโต้กับแลนเสต ซึ่งกำลังได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องโดรนพิฆาต “แลนเสต” ได้ที่ https://substack.com/redirect/d5f379df-6534-4f1c-abf2-5e78979c3f37?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw)

โดรนพิฆาต “แลนเสต” (Lancet)
ในสงครามใดๆ ก็ตามที ย่อมจะมีความต้องการอย่างใหญ่โตมหึมาในเรื่องเครื่องกระสุนและอาวุธสำหรับใช้สับเปลี่ยนแทนที่อาวุธที่เสียหายสึกหรอ สงครามยูเครนได้เขมือบกลืนกินคลังแสงของนาโตให้ร่อยหรอลงอย่างมหาศาล รวมทั้งยังเบียดบังอาวุธในสต๊อกซึ่งที่จริงเตรียมเอาไว้เผื่อรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดหมายอย่างอื่นๆ

เมื่อสงครามยูเครนผ่านไปได้ 1 ปี สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรของตนก็เริ่มต้นทำสัญญากับพวกบริษัทรับเหมารับจ้างด้านกลาโหมที่แสนตะกละตะกราม เพื่อให้พวกเขาผลิตเครื่องกระสุนและอาวุธอัจฉริยะทั้งหลายเพิ่มมากขึ้นอีก ทว่ามันก็ทำให้เกิดปัญหาหลายๆ ประการขึ้นมาในทันที

โรงงานสถานที่ผลิตหลายแห่งได้ปิดตัวลงไปนานแล้ว และจะต้องจัดตั้งแห่งใหม่ๆ ขึ้นมา ห่วงโซ่อุปทานก็จำเป็นที่จะต้องสร้างกันขึ้นมาใหม่ แต่สำหรับพวกอาวุธรุ่นเก่าๆ ห่วงโซ่อุปทานอาจจะไม่ได้ดำรงคงอยู่อีกต่อไปแล้ว การเสาะหาพวกคนงานและนายช่างวิศวกรที่มีประสบการณ์ก็กลายเป็นความท้าทาย เนื่องจากไม่มีอาสาสมัครจำนวนมากพอที่ยินดียอมรับสัญญาจ้างงานแค่ระยะสั้นๆ

ในที่สุดแล้ว ชิ้นส่วนและวัสดุที่จะต้องใช้จำนวนมากก็ต้องพึ่งพาการจัดหาจัดส่งจากประเทศจีน อย่างที่ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเรย์ธีออนได้แถลงเอาไว้อย่างชัดเจน แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ ฝ่ายจีนก็ได้เริ่มต้นจำกัดควบคุมพวกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และข้าวของอื่นๆ (รวมทั้งแร่แรร์เอิร์ธด้วย) ของพวกเขาที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรป
(ดูเพิ่มเติมคำพูดของผู้บริหารเรย์ธีออน ได้ที่ https://substack.com/redirect/ca8697fc-6cb4-47ba-aa8e-df02d274ea30?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw)

นาโตจะต้องเผชิญกับปัญหาอย่างเดียวกันเหล่านี้แหละ ในกรณีที่เกิดสงครามระดับวงกว้างขึ้นมา เว้นแต่ว่าการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ของยุโรปในหลายๆ ส่วนอาจจะต้องชะงักงันอยู่ดี สืบเนื่องจากถูกข้าศึกโจมตี

สิ่งที่มองเห็นกันได้อย่างชัดเจนก็คือว่า คลังสต๊อกของนาโต้นั้นมันไม่เพียงพอเลยสำหรับรองรับยูเครน แล้วมันย่อมจะยิ่งไม่มีความเหมาะสมอย่างสิ้นเชิงสำหรับรองรับความมั่นคงปลอดภัยของนาโต เรื่องนี้จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ทำไมสหรัฐฯ และนาโตถึงมีความยินดีที่จะจู่โจมขนเอาสต๊อกซึ่งมีอยู่น้อยจนน่าหัวเราะเยาะอยู่แล้วไปให้แก่ยูเครน ทั้งๆ ที่ทราบว่ามันทำให้นาโตตกอยู่ในสภาพหมดตัวล่อนจ้อนในยุโรป และทำให้การป้องกันส่วนหน้าของสหรัฐฯ ในแปซิฟิกอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://substack.com/redirect/8f38009b-a96f-4fa1-b1e8-14ef2d01870c?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw)

ไม่มีใครเลยในรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งต้องการพูดถึงเรื่องความสะเพร่าประมาทเลินเล่อเช่นนี้ หรือถ้าพวกเขาพูด พวกเขาก็จะเอาแต่บอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างโอเค ทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อยดี แต่พูดอย่างนี้มันเป็นการพูดเหลวไหล คุณไม่สามารถที่จะผลาญเงินทองในรูปของอาวุธและเครื่องกระสุนต่างๆ เป็นมูลค่าถึงราวๆ 100,000 ล้านดอลลาร์ แล้วยังมาบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างโอเคได้หรอก

ถ้าหากสงครามยูเครนจบสิ้นลงในวันพรุ่งนี้ สหรัฐฯ และนาโตมีความยินดีมีความปรารถนาอย่างแท้จริงหรือไม่ที่จะยังคงงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหมในระดับสูงเอาไว้อย่างต่อเนื่อง และสร้างสต๊อกอาวุธ-เครื่องกระสุนขึ้นมาใหม่ ตลอดจนปรับปรุงอาวุธต่างๆ ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น? สหรัฐฯ พร้อมหรือไม่ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการจัดซื้อของตน โดยยอมรับพวกอาวุธต่างประเทศซึ่งอยู่ในสภาพพรักพร้อมให้ไปจัดซื้อจัดหามาใช้งานได้อยู่แล้ว และเริ่มต้นนำเอาพวกมาตรการทางเศรษฐกิจที่สมเหตุสมผลมาปรับใช้กับการจัดซื้อจัดจ้างทางด้านกลาโหมของตน?

หนึ่งในผลลัพธ์ของสงครามยูเครนได้แก่ผลพิสูจน์ซึ่งออกมาในทางยืนยัน ในเรื่องที่ว่านาโตไม่ได้มีความพร้อมเอาเลยแม้กระทั่งในการพิทักษ์ป้องกันดินแดนของตนเอง เรื่องนี้จะต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ในเรื่องแนวพินิจการเมืองและยุทธศาสตร์ของยุโรปใช่หรือไม่?

ขณะที่ยูเครนยังคงอ่อนแอลงเรื่อยๆ และการผจญภัยในยูเครนก็สิ้นสุดลง มั่นใจได้เลยว่าทัศนคติต่างๆ จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง พวกผู้นำรุ่นปัจจุบันในยุโรปและในสหรัฐฯ จะต้องถอยหลบออกมาอยู่ข้างๆ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะเป็นอย่างไร? สัญญาณบอกเหตุที่ปรากฏให้เห็นแล้ว ดูจะไม่ใช่เรื่องสดใสเอาเสียเลย

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ใน Weapons and Strategy ที่เป็นบล็อกบนแพลตฟอร์ม Substack ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น