xs
xsm
sm
md
lg

สายเกินไปแล้วที่สหรัฐฯ จะคิดสกัดอุตสาหกรรมชิปจีน โดยเพิ่มการปิดล้อมไม่ให้ผู้ผลิตแดนมังกรเข้าถึงเทคโนโลยีอเมริกันอย่างเด็ดขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สกอตต์ ฟอสเตอร์ ***


สมาร์ทโฟนหัวเว่ย รุ่นเมต 60 โปร ที่ใช้ชิป CPU 7 นาโนเมตร ซึ่งผลิตโดย SMIC ตั้งแสดงอยู่ที่ร้านหัวเว่ยแห่งหนึ่งในนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ในภาพที่ถ่ายเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2023 ที่ผ่านมา
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Too late for ‘full blocking sanctions’ on China chip makers
By SCOTT FOSTER
16/09/2023

พวกนักการเมืองพรรครีพับลิกันในสหรัฐฯ กำลังฮึ่มฮั่มเรียกร้องให้ใช้ความดุดันขึ้นอีกในการจำกัดเข้มงวดเอากับหัวเว่ย และ SMIC เมื่อมาตรการที่ผ่านๆ มาลัมเหลวไม่สามารถสกัดกั้นการผลิตชิปซีพียูใหม่ระดับ 7 นาโนเมตรได้ อย่างไรก็ตาม หากสำรวจสถานการณ์ความตื่นตัวรับมือของแดนมังกร ที่มีกิจการใหญ่น้อยจำนวนมากเร่งพัฒนาเพื่อให้จีนสามารถพึ่งตนเองในแขนงต่างๆ ของเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ บางทีเวลานี้มันอาจจะสายเกินกว่าที่อเมริกาจะทำอะไรได้เสียแล้ว

การที่หัวเว่ย เปิดตัวสมาร์ทโฟนระดับ 5จี รุ่นเมต60 โปร ได้จุดประกายให้เกิดการคาดเดากันว่า คณะบริหารไบเดนจะขันนอตปิดกั้นการพัฒนาทางเทคโนโลยีของประเทศจีนให้แน่นหนามากขึ้นไปอีกด้วยมาตรการแซงก์ชันต่างๆ ที่ดุเดือดเข้มข้นยิ่งขึ้น ทว่าสหรัฐฯ ยังจะสามารถทำอะไรได้หลังจากการบีบคั้นทั้งหลายที่ประกาศใช้ในก่อนหน้านี้ต่างดูเหมือนประสบความล้มเหลว นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องติดตามสนใจกันก็คือ จีนน่าจะต้องตอบโต้เอาคืน ซึ่งมันจะเป็นอะไรบ้าง?

“ถึงเวลาแล้วที่จะต้องยุติการส่งออกเทคโนโลยีสหรัฐฯ ทั้งหมดไปให้แก่ทั้งหัวเว่ย และ SMIC เพื่อทำให้เป็นที่ชัดเจนว่ากิจการใดๆ ก็ตามที่ดูถูกดูหมิ่นกฎหมายสหรัฐฯ และบ่อนทำลายความมั่นคงแห่งชาติของเราจะต้องถูกตัดขาดจากเทคโนโลยีของเรา” เป็นคำกล่าวของ ส.ส. ไมค์ แกลลาเกอร์ (Mike Gallagher) ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญว่าด้วยจีนของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (House Select Committee on China) โดยเขาหมายถึงหัวเว่ย และเซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์เปอร์เรชั่น (Semiconductor Manufacturing International Corporation หรือ SMIC) ที่เป็นผู้ผลิตชิปเซ็ต CPU ให้แก่สมาร์ทโฟนหัวเว่ยรุ่นนี้

ขณะที่ประธานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (House Foreign Affairs Committee) ไมเคิล แมคคอล (Michael McCaul) และเพื่อนร่วมงานของเขาออีกหลายคน รวมทั้ง ประธานคณะกรรมาธิการการทหาร (Armed Services Committee) ไมค์ โรเจอร์ส (Mike Rogers) ประธานคณะกรรมาธิการพลังงานและการพาณิชย์ (Energy and Commerce Committee) แคธี แมคมอร์ริส ร็อดเจอร์ส (Cathy McMorris Rodgers) ตลอดจน แกลลาเกอร์ ได้ร่วมกันทำหนังสือลงวันที่ 14 กันยายน ส่งไปถึง อลัน เอสเตเวซ (Alan Estevez) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ (Under Secretary of Commerce) ผู้ดูแลรับผิดชอบสำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง (Bureau of Industry and Security หรือ BIS) เพื่อแสดงความวิตกกังวลร่วมกันของพวกเขาเกี่ยวกับรายงานข่าวชิปขนาด 7 นาโนเมตรตัวนี้ในสมาร์ทโฟนของหัวเว่ย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://foreignaffairs.house.gov/press-release/mccaul-leads-house-chairs-urging-action-against-huawei-and-smic/)

“สืบเนื่องจากเทคโนโลยีที่มีต้นกำเนิดจากสหรัฐฯ นั้นปรากฏครอบคลุมตลอดทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ รายงานข่าวเหล่านี้จึงเป็นสิ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงการละเมิดกฎระเบียบควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ” หนังสือฉบับนี้กล่าวอ้าง “พวกเรารู้สึกวิตกกังวลและงุนงงสงสัยเป็นอย่างยิ่ง” หนังสือฉบับนี้พูดต่อ “เกี่ยวกับการไร้ความสามารถของสำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง ในการจัดทำและบังคับใช้กฎระเบียบควบคุมการส่งออกให้มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการกับพวกผู้ล่วงละเมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน”

หนังสือฉบับนี้ไล่เรียงต่อไปว่า “เป็นเวลากว่า 2 ปีมาแล้ว คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของพวกเรา และสมาชิกรัฐสภาจำนวนมากได้ทำหนังสือถึงท่านเกี่ยวกับรูรั่วต่างๆ ในความพยายามเพื่อบังคับใช้กฎระเบียบของ BIS ทว่าไม่ประสบความสำเร็จในการจำกัดเทคโนโลยีไม่ให้ไปถึงหัวเว่ย และ SMIC นอกเหนือจากรายอื่นๆ แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีความรู้เช่นนี้ รวมทั้งทางรัฐสภาก็ออกแรงกดดันอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาเพื่อให้แก้ไขหันมาใช้นโยบายต่างๆ ที่เคร่งครัดยิ่งขึ้น ทว่า BIS กลับยังคงอนุมัติออกใบอนุญาตต่างๆ แก่พวกบริษัทที่ถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน (พคจ.) อย่างเช่น SMIC คิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ บริษัทเหล่านี้ให้ความสนับสนุนแก่การทหารของ พคจ. และกำลังเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นตัวให้พลังแก่อุปกรณ์ 5จี ของหัวเว่ย ในลักษณะที่เป็นการละเมิดการควบคุมการส่งออกของ BIS”

แมคคอล และผู้ลงนามในหนังสือฉบับนี้คนอื่นๆ เสนอแนะให้ “ดำเนินการแซงก์ชันปิดกั้นอย่างเต็มพิกัด” ต่อหัวเว่ย และ SMIC ตลอดจนตั้งข้อหาความผิดทางอาญาต่อพวกผู้บริหารของบริษัทเหล่านี้ –แม้กระทั่งในกรณีที่พวกเขามีฐานะเป็นผู้นำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ใช่เป็นผู้ส่งออกจากสหรัฐฯ ทั้งนี้ผู้ลงนามในหนังสือฉบับนี้ล้วนแต่เป็นสมาชิกพรรครีพับลิกัน พวกเขาทุกๆ คนต่างมีผลประโยชน์ในการทำให้พรรคเดโมแครตของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แลดูอ่อนแอปวกเปียกในเรื่องเกี่ยวกับจีน เมื่อฤดูกาลการเลือกตั้งกำลังใกล้เวียนมาถึงอย่างเช่นในเวลานี้

สำหรับ ไดแลน ปาเตล (Dylan Patel) แห่งเซมิอะนาไลซิส (SemiAnalysis) กิจการด้านที่ปรึกษาและการวิจัยในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ เขียนเสนอความเห็นเอาไว้ดังนี้: “ขณะที่เราเข้าใกล้วาระครบรอบ 1 ปีแรกของการแซงก์ชันจีนที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มันก็มีความชัดเจนอย่างเหลือล้นว่าการควบคุมการส่งออกกำลังล้มเหลว ... มาตรฐานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์ถูกกำหนดจัดวางขึ้นมาในระดับที่จะไม่สามารถยับยั้งขัดขวางอย่างถึงที่สุด ไม่ให้จีนสามารถเจาะทะลุทะลวงกำแพงขวางกั้นทั้งหลายที่สหรัฐฯ ได้จัดทำขึ้นมาในฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว”

ปาเตล เสนอแนะ “แพกเกจมาตรการที่ฝ่ายตะวันตกสามารถนำมาใช้ตอบโต้จีน ซึ่งเกี่ยวข้องกับพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ในการแปรรูปแผ่นเวเฟอร์ให้เป็นแผ่นชิป (front-end equipment) เคมีภัณฑ์ packaging ระดับก้าวหน้า และการควบคุมการอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะเป็นการสกัดกั้นปิดตาย พคจ. อย่างสิ้นเชิง”

เมื่อพูดกันอย่างเฉพาะเจาะจง แพกเกจมาตรการที่ ปาเตล เสนอแนะเหล่านี้ครอบคลุมทั้งการจำกัดการส่งออกพวกเครื่องมือทางด้าน EDA (Electronic Design Automation ซอฟต์แวร์สำหรับช่วยการออกแบบชิป) ระบบการพิมพ์ลายบนแผ่นชิปแบบ ArF immersion (ArF immersion lithography systems) แผ่นโฟโต้มาร์สก์ (photomasks), mask blanks และ mask writers เอพิแทกซี (epitaxy), etch, deposition, ion implant, CMP (Chemical Mechanical Planarization การขัดผิวด้วยเครื่องกลทางเคมี) อุปกรณ์ในการชั่งตวงวัด (metrology equipment) และอุปกรณ์ packaging ไอซีสามมิติ (3D IC packaging equipment) photoresists, etching gas และเคมีภัณฑ์อื่นๆ และการให้บริการแก่บรรดาเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้กันอยู่แล้ว

แต่มาตรการจำกัดควบคุมอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้นเหล่านี้จะประสบความสำเร็จแน่หรือในทำให้จีนไม่สามารถผลิตพวกชิประดับก้าวหน้า อย่างเช่น ชิปประมวลผล ซีรีส์ คิริน 9000 ขนาด 7 นาโนเมตร ซึ่งออกแบบโดยไฮซิลิคอน (HiSilicon) ที่เป็นกิจการในเครือของ หัวเว่ย และผลิตโดย SMIC สำหรับใช้เป็นตัวให้พลังแก่สมาร์ทโฟน เมต60 โปร ตลอดจนพวกชิปประมวลผลด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ระดับก้าวหน้าตัวอื่นๆ?

การส่งออกพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ ArF immersion lithography ให้แก่จีน เวลานี้ก็ถูกจำกัดเข้มงวดโดยเนเธอร์แลนด์และญี่ปุ่น 2 ประเทศที่เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์เหล่านี้อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าทางจีนนั้นได้มีการซื้อหาเครื่องจักรอุปกรณ์เหล่านี้ตุนเอาไว้เป็นจำนวนมากเรียบร้อยแล้ว และอย่างที่ชิปโปรเซสเซอร์ของเมต60 โปร สาธิตให้เห็นกัน พวกวิศวกรของ SMIC รู้จักวิธีใช้เครื่องจักรอุปกรณ์เหล่านี้เป็นอย่างดี
(กรณีมาตรการจำกัดควบคุมของญี่ปุ่น ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://asiatimes.com/2023/07/japan-enacts-chip-export-controls-at-us-behest/)

การส่งออกระบบพิมพ์ลายบนแผ่นเวเฟอร์ (lithography) ด้วยเทคโนโลยีเอ็กซ์ตรีมอัลตราไวโอเลต (EUV) ซึ่งเป็นเครื่อง lithography รุ่นก้าวหน้าที่สุด และจำเป็นต้องใช้สำหรับการผลิตชิปขนาด 5 นาโนเมตรและขนาดเล็กจิ๋วกว่านั้นอีก ก็มีการจำกัดควบคุมมาตั้งแต่ปี 2019 แล้ว ขณะที่ ArF immersion ถือเป็นแบบที่ก้าวหน้าที่สุดของเครื่อง lithography รุ่นก่อนหน้า นั่นคือรุ่นใช้เทคโนโลยีดีฟอัลตราไวโอเลต (DUV)

การส่งออกพวกแผ่นเวเฟอร์ epitaxial wafers และ etch, cleaning, deposition, annealing อุปกรณ์ในการชั่งตวงวัด ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ไปยังจีน ก็มีการจำกัดควบคุมกันอยู่แล้วเช่นกัน

แต่ตรงนี้ก็เหมือนกัน ฝ่ายจีนได้มีการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์เหล่านี้เอาไว้เป็นจำนวนมากแล้ว และยังเริ่มต้นผลิตแผ่น epitaxial wafers ของตนเองแล้วด้วย ในกรณีของ SMIC ตลอดจนบริษัทอื่นๆ ที่มีการเตรียมการเอาไว้อย่างถี่ถ้วนเหมาะสม มาตรการแซงก์ชันล่าสุดเหล่านี้ดูเหมือนจะไม่สามารถหยุดยั้งพวกเขาจากการยกระดับการผลิตได้อย่างน้อยก็อีก 2 ถึง 3 ปีทีเดียว

นี่เป็นการคาดเดาโดยอิงอยู่กับข้อเท็จจริงที่ทางจีนมีการนำเข้าพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตเซมิคอนดักเตอร์เป็นปริมาณสูงมากๆ คิดคร่าวๆ ก็อยู่ในราวๆ 25% ยอดขายทั้งหมดทั่วโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทีเดียว

อย่างไรก็ดี ไม่มีความกระจ่างชัดเจนว่า สต๊อกคงคลังของพวกเขานั้นจริงๆ แล้วใหญ่โตมากน้อยขนาดไหน หรือว่ามันมีอะไรอยู่ในนั้นกันบ้าง โดยที่บางทีพวกเขาคงจะไม่เปิดเผยเรื่องนี้ให้สาธารณชนทราบกันในเร็ววันนี้หรอก เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว SMIC ได้ลบทุกสิ่งทุกอย่างที่พาดพิงถึงกระบวนการผลิตชิป 14 นาโนเมตรของตนออกจากเว็บไซต์ของบริษัท ทำให้เกิดการคาดเดากันว่ามาตรการแซงก์ชันของสหรัฐฯได้สร้างความชะงักงันให้แก่การผลิตของบริษัทแล้ว แต่แล้วในตอนนี้ บริษัทกลับทำชิประดับ 7 นาโนเมตรออกมาในแบบผลิตกันเป็นจำนวนมากระดับแมสโปรดักชันเสียด้วย

ฝ่ายจีนดูมีความตระหนักเป็นอย่างดีถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการแซงก์ชัน และมีการเคลื่อนไหวในเชิงรุกเพื่อบรรเทาความเสี่ยงเหล่านี้ โดยขณะที่กำลังนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และวัสดุระดับก้าวหน้าให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ พวกบริษัทจีนก็ยังกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่และรวดเร็วเพื่อที่จะผลิตสิ่งเหล่านี้ด้วยตนเองอีกด้วย

บทเรียนที่ถูกหยิบยกขึ้นมาให้จดจำเป็นตัวอย่างเอาไว้ให้ดีก็คือกรณีของ YMTC (Yangtze Memory Technologies Corp แยงซี เมโมรี เทคโนโลจีส์ คอร์ป) ผู้ผลิตชิปความจำแฟลชชนิดแนนด์ (NAND flash memory) ระดับท็อปของจีน ซึ่งไม่สามารถที่จะสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ของตนให้เสร็จสิ้นได้ ภายหลังการแซงก์ชันได้ตัดหนทางของบริษัทในการเข้าถึงเครื่องจักรอุปกรณ์ตลอดจนบริการด้านวิศวกรรมของสหรัฐฯ เมื่อตอนสิ้นปีที่แล้ว YMTC เวลานี้กำลังเปลี่ยนมาใช้พวกซัปพลายเออร์ภายในประเทศ ตลอดจนซัปพลายเออร์ต่างประเทศรายอื่นๆ ที่อาจใช้เป็นทางเลือกได้ ทว่ามีรายงานว่าบริษัทต้องเผชิญกับงานที่ยุ่งยากและยาวนานมาก

ในเรื่อง photoresists เวลานี้มีบริษัทจีนหลายแห่งผลิตกันออกมาขายกันอยู่แล้ว เป็นต้นว่า เจียงซู นาตา ออปโต-อิเล็กทรอนิก แมตทีเรียล (Jiangsu Nata Opto-electronic Material) เรด อะเวนู (Red Avenue) จิงรุ่ย (Jingrui) ซั่งไห่ ซินหยาง (Shanghai Sinyang) และสีว์โจว ปั๋วกัง อินฟอร์เมชั่น เคมิคอลส์ (Xuzhou Bokang Information Chemicals) แหล่งข่าวหลายรายในแวดวงอุตสาหกรรมบอกว่า จวบจนถึงเวลานี้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเหล่านี้ยังคงสามารถใช้ได้เพียงแค่กับชิปในระดับต่ำกว่า 28 นาโนเมตร แต่ photoresists สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตที่ก้าวหน้ายิ่งกว่านั้น กระทั่งไปจนถึงระดับ 5 นาโนเมตร เป็นเรื่องที่กำลังพัฒนากันอยู่ ทั้งนี้ Kaimeite Gases ของจีนเวลานี้ได้เป็นซัปพลายเออร์ที่ผ่านการรับรองของ ASML แล้วด้วยซ้ำไป

มีรายงานว่า ซั่งไห่ ไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ อีควิปเมนต์ (Shanghai Micro Electronics Equipment หรือ SMEE) วางแผนการจะเริ่มจัดส่งระบบ lithography ใช้เทคโนโลยี DUV ที่สามารถใช้ทำชิปขนาด 28 นาโมเมตรเครื่องแรกของตนภายในสิ้นปีนี้

บริษัทด้านเครื่องมืออุปกรณ์ของจีนรายอื่นๆ ที่ดำเนินการผลิตข้าวของที่ใช้ในแวดวงการทำเซมิคอนดักเตอร์กันอยู่แล้ว ยังมี เช่น AMEC (ด้าน epitaxy, etch และ deposition) เนารา (Naura) (ด้าน etch, cleaning และ deposition) ซีอีซี อิเล็กทรอนิกส์ (CEC Electronics) (ด้าน ion implant) ซีโซน (Sizone) (ด้าน CMP) และคินโคโต (Kincoto) (ด้านอุปกรณ์ packaging)

พวกบริษัทจีนดูเหมือนกำลังผลิต –หรืออย่างน้อยที่สุดก็กำลังพยายามที่จะผลิต— ทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในการทำเซมิคอนดักเตอร์ ตั้งแต่ EDA (ซอฟต์แวร์สำหรับช่วยการออกแบบชิป) ไปจนถึงเวเฟอร์ซิลิคอนและแผ่นเวเฟอร์ประเภทอื่นๆ เคมีภัณฑ์ และวัสดุอื่นๆ รวมทั้งพวกเครื่องจักรอุปกรณ์ในการทำชิปอย่างทั่วถ้วนทุกแขนงตลอดจนพวกชิ้นส่วนอะไหล่ ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเวลานี้ยังคงมีคุณภาพต่ำชั้นกว่าสิ่งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และยังคงสามารถสนองความต้องการได้เพียงแค่ส่วนเสี้ยว ทว่าทั้งคุณภาพและปริมาณก็กำลังกระเตื้องดีขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี

งานการประชุมประจำปีเครื่องจักรอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์จีนและนิทรรศการเครื่องจักรอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และชิ้นส่วนหลักๆ (China Semiconductor Equipment Annual Conference and Semiconductor Equipment and Core Components Exhibition) ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองอู่ซี มณฑลเจียงซู เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีพวกผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของจีนเข้าร่วมมากกว่า 600 ราย

ตามรายงานของสื่อเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ในงานดงกล่าว แจ๊กกี้ หลิน (Jacky Lin) ซีอีโอของ หงหู ซูโจว เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยี (Honghu Suzhou Semiconductor Technology) กล่าวว่า “ถ้าหากไม่มีการแซงก์ชันของสหรัฐฯ บางทีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนอาจจะยังคงเดินไปตามเส้นทางเก่าของตน นั่นคืออยู่ในฐานะเป็นผู้ซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ผลิตชิปแท้ๆ บริสุทธิ์ผุดผ่อง คอยเป็นโรงงานผลิตชิปออกมาให้แก่คนอื่นๆ”

ถึงเวลานี้ ถ้าหากมีการบังคับใช้ “การดำเนินการแซงก์ชันปิดกั้นอย่างเต็มพิกัด” แล้ว ในท้ายที่สุดพวกซัปพลายเออร์ต่างประเทศอาจจะลงเอยด้วยการต้องสูญเสียตลาดจีนไปทั้งหมด พวกนักการเมืองสหรัฐฯ บางรายอาจจะไม่รู้สึกวิตกกังวลอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทว่าพวกบริษัทเทคสหรัฐฯ นั้นรู้สึกวิตกกังวลอย่างแน่นอน และบางทีมันอาจจะแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะโน้มน้าวเกลี้ยกล่อมให้ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ยอมสละละทิ้งจากตลาดชิปในจีนอย่างสมบูรณ์

เจนเสน ฮวง (Jensen Huang) ซีอีโอของอินวิเดีย (Nvidia) และปีเตอร์ เวนนิงค์ (Peter Wennink) ซีอีโอของ ASML ต่างออกมาเตือนรัฐบาลสหรัฐฯ และพวกรัฐบาลของยุโรปว่า อะไรก็ตามทีที่ทางจีนไม่สามารถซื้อได้ พวกเขาก็จะทำมันออกมาด้วยตัวเอง ในการให้สัมภาษณ์แก่ดิจิไทมส์ (DigiTimes) เวนนิงค์บอกว่า นโยบายจำกัดปิดกั้นทั้งหลายแหล่ของพวกรัฐบาลตะวันตกกำลังบังคับให้จีนกลายเป็นผู้ที่สามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้อย่างสูงลิ่ว
กำลังโหลดความคิดเห็น