xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมนตรีต่างประเทศจีนแซะ ‘มะกัน’ ประกาศคัดค้านการขยายพันธมิตรทางทหารอย่างมุ่งร้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัฐมนตรีต่างประเทศ หวัง อี้ ของจีน ถือเอกสารสมุดปกขาว “ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน : ข้อเสนอและการดำเนินการของจีน” ขณะแถลงข่าวที่กรุงปักกิ่ง ในวันอังคาร (26 ก.ย.)
หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนประกาศคัดค้านการขยายพันธมิตรทางทหารอย่างมุ่งร้าย ถือเป็นครั้งล่าสุดของการส่งสัญญาณเตือนต่อเนื่องเป็นชุด ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างสหรัฐฯ กำลังสาละวนเร่งผูกสัมพันธ์ด้านความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก แต่ในอีกด้านหนึ่ง แม้ไม่ยืนยันว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเข้าร่วมซัมมิตเอเปกที่อเมริกาในเดือนหน้าหรือไม่ เขาก็ย้ำว่าจีนยินดีรับบทบาทที่สร้างสรรค์เพื่อความสำเร็จของงานประชุมดังกล่าว

ระหว่างการแถลงข่าวที่ปักกิ่งเมื่อวันอังคาร (26 ก.ย.) หวังกล่าวโดยไม่ได้ระบุพาดพิงชื่อประเทศหนึ่งประเทศใดโดยเฉพาะว่า จีนคัดค้านการขยายพันธมิตรทางทหารอย่างมุ่งร้าย และการบีบเค้นด้านความมั่นคงของประเทศอื่นๆ

เขาสำทับว่า ปักกิ่งจะพยายามแก้ไขความคิดเห็นที่แตกต่างและความขัดแย้งในบรรดาประเทศต่างๆ ด้วยการเจรจาและหารือ

ทั้งนี้ จีนเตือนมานานแล้วว่า ความพยายามก่อตั้งพันธมิตรทางทหารในรูปแบบเดียวกับองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิกรังแต่ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้ง รวมทั้งชี้ว่าการที่นาโตขยายตัวอย่างรวดเร็วในยุโรปตะวันออก เป็นต้นเหตุที่รัสเซียตัดสินใจรุกรานยูเครน

นอกจากนั้น ปักกิ่งยังวิจารณ์ความพยายามอย่างต่อเนื่องของวอชิงตันในการกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรทางการทหารและความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคว็อด (สหรัฐฯ-ญี่ปุ่น-ออสเตรเลีย-อินเดีย) หรือกลุ่มออคัส (สหรัฐฯ-สหราชอาณาจักร-ออสเตรเลีย) และคัดค้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่สหรัฐฯ กำลังสถาปนาที่มั่นทางทหารตอนเหนือของฟิลิปปินส์ที่หันหน้าเข้าหาไต้หวัน ซึ่งจีนถือเป็นดินแดนของตน

ที่ผ่านมา จีนสนับสนุนการเป็นหุ้นส่วนกันมากกว่าการจับมือเป็นพันธมิตร และไม่เคยเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือทางทหารกับประเทศใดๆ พันธมิตรหนึ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่หลังสหภาพโซเวียตล่มในปี 1991 คือเกาหลีเหนือที่จีนมีข้อผูกพันตามสนธิสัญญาปี 1961 ในการช่วยปกป้องหากเปียงยางถูกโจมตี

เมื่อถูกผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ประธานาธิบดีสีจะเดินทางไปร่วมการประชุมซัมมิตกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นที่อเมริกา และพบหารือกับโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ หรือไม่ หวัง ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธ โดยกล่าวว่าจีนกำลังหารือกับทุกฝ่ายและจะประกาศอย่างเป็นทางการในเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ซัมมิตเอเปกกำหนดจัดขึ้นที่เมืองซานฟรานซิสโก ระหว่างวันที่ 14-16 พฤศจิกายน

ระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดน แสดงความกระตือรือร้นอย่างออกหน้าออกตาว่าต้องการประชุมซัมมิตกับสี และจากการที่ สี ไม่ไปร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มจี20 ที่นิวเดลีช่วงต้นเดือนนี้ โดยส่งนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงไปแทน ทำให้อเมริกากล่าวหาว่า จีนทอดทิ้งจี20 และมุ่งสร้างระเบียบโลกใหม่

ขณะที่ปักกิ่งดูจะมองว่าไบเดนไม่ได้มีความจริงใจที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดที่มีอยู่กับจีน โดยแม้ในเวลาพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เจรจากับฝ่ายจีน มีการให้คำมั่นต่างๆ ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันกระเตื้องขึ้น แต่ถัดจากนั้นวอชิงตันก็จะดำเนินการบีบคั้นกดดันจีนเพิ่มขึ้นทั้งทางเศรษฐกิจและด้านความมั่นคงอย่างไม่หยุดหย่อน

อย่างไรก็ตาม ในการแถลงวันอังคาร (26) รัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวว่า ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกและสมาชิกสำคัญ จีนยินดีตอบสนองความคาดหวังของนานาชาติและรับบทบาทที่สร้างสรรค์เพื่อความสำเร็จของซัมมิตเอเปกปีนี้

หวังเสริมว่า จีนและทุกฝ่ายหวังว่าอเมริกาจะตระหนักถึงความรับผิดชอบของตนเองในฐานะเจ้าภาพ ใช้แนวทางที่เปิดกว้าง เป็นธรรม ครอบคลุม และรับผิดชอบ รวมทั้งสร้างเงื่อนไขที่ดีขึ้นเพื่อให้การจัดการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น


สำหรับการแถลงข่าวที่ปักกิ่งครั้งนี้ จัดขึ้นในโอกาสที่ หวัง เปิดตัวเอกสารนโยบายที่ใช้ชื่อว่า “ประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน : ข้อเสนอและการดำเนินการของจีน” ซึ่งมุ่งแนะนำพื้นฐานทางทฤษฎี การปฏิบัติ และพัฒนาการ ของการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน อันเป็นวิสัยทัศน์ของจีนเกี่ยวกับพัฒนาการของมนุษย์ และมุ่งตอบโต้แนวความคิดแบบมุ่งวางตัวเป็นเจ้าเหนือใครของบางประเทศ ซึ่งมุ่งแสวงหาทางเป็นเจ้าเป็นใหญ่และครอบงำคนอื่น

เอกสารสมุดปกขาวฉบับนี้ ระบุว่า โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดไม่เคยพบเห็นกันมาก่อนในรอบร้อยปี โดยมีปัญหาต่างๆ หลายหลากซึ่งกลายเป็นความท้าทายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในสภาวการณ์เช่นนี้ แนวความคิดอย่างเก่าๆ เช่น ใครชนะกินรวบไปทั้งหมด (zero-sum game) เป็นสิ่งที่มีแต่จะต้องประสบความล้มเหลว กระนั้นบางประเทศก็ยังคงยึดมั่นอยู่กับความคิดจิตใจเช่นนี้ พยายามหาหนทางให้ตนเองเกิดความมั่นคงอย่างสัมบูรณ์และมีความได้เปรียบแบบผูกขาด ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีสำหรับการพัฒนาของพวกเขาในระยะยาว รวมทั้งเป็นภัยคุกคามต่อโลกอีกด้วย

เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การหลงใหลอยู่กับเรื่องการมีความเข้มแข็งเหนือกว่าใครๆ และความคิดจิตใจแบบต้องการเป็นผู้ชนะและกินรวบทั้งหมดนั้น เป็นสิ่งที่ขดแย้งกับความจำเป็นของยุคสมัยของเรา เอกสารฉบับนี้บอก

เพื่อที่จะสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันขึ้นมา เอกสารนี้กล่าวว่าจะต้องเน้นย้ำเรื่อง การเปิดกว้าง การต้อนรับฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วม การก่อให้เกิดผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียมและความยุติธรรม เป้าหมายของการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกันไม่ใช่เพื่อนำเอาระบบหนึ่งๆ หรืออารยธรรมหนึ่งๆ เข้าแทนที่ระบบหรืออารยธรรมอีกอันหนึ่ง ตรงกันข้าม มันเป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆ ซึ่งมีความแตกต่างกันในทางระบบสังคม อุดมการณ์ ประวัติศาสตร์ มาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกันในเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบในกิจการของโลก

เอกสารนี้ยังชี้ว่าทิศทางและแผนการสำหรับการสร้างประชาคมโลกที่มีอนาคตร่วมกัน ยังจะต้องรวมถึงการผลักดันเดินหน้าสู่โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งประเทศต่างๆ จำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่เปิดกว้าง รวมทั้งคัดค้านลัทธิกีดกันการค้า การตั้งกำแพงกีดกันการค้า การแซง์ชันตามอำเภอใจฝ่ายเดียว ตลอดจนการใช้ยุทธวิธีสร้างแรงกดดันสูงสุด ทั้งนี้ เพื่อที่จะได้เชื่อมต่อระบบเศรษฐกิจต่างๆ ของโลกเข้าด้วยกัน และร่วมกันสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปิดกว้าง

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, โกลบอลไทมส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น