(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Is the ATACMS tactical missile already in Ukraine?
By STEPHEN BRYEN
23/09/2023
ถ้าหากยูเครนเป็นฝ่ายที่ได้รับระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธี “ATACMS” ซึ่งเวลานี้กำลังกลายเป็นของหายาก ไต้หวันก็คือผู้ที่จะต้องรอคอยยาวนานยิ่งกว่าเดิม ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ และนาโตยังต้องเฝ้าจับตาว่ารัสเซียจะตอบโต้เรื่องนี้อย่างไร หลังจากประกาศเอาไว้แล้วว่า การส่งอาวุธซึ่งสามารถยิงทะลวงลึกเข้าไปในแดนหมีขาวให้แก่เคียฟเช่นนี้ คือการล่วงละเมิด “เส้นสีแดงอันตราย” ที่มอสโกไม่อาจยินยอมให้ล่วงละเมิด
แหล่งข่าวด้านกลาโหมของรัสเซียหลายรายบอกว่า มีขีปนาวุธทิ้งตัวทางยุทธวิธี (tactical ballistic missile) ของระบบอะแทคซิมส์ (ATACMS) ลูกหนึ่งถูกยิงขึ้นมาจากสนามบินคุลบากิโน (Kulbakino Air Field) ในยูเครน ถ้าหากรายงานของฝ่ายรัสเซียนี้มีความถูกต้อง การอภิปรายกันในวอชิงตันเวลานี้เกี่ยวกับการจัดส่งระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธี อะแทคซิมส์ ไปให้ยูเครนก็จะกลายเป็นข่าวปลอมๆ เนื่องจากมันถูกจัดส่งไปที่นั่นเรียบร้อยแล้ว
(ระบบอะแทคซิมส์ ATACMS ย่อมาจากชื่อเต็มว่า MGM-140 Army Tactical Missile System ระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีกองทัพบก เอ็มจีเอ็ม-140
ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบอะแทคซิมส์ ได้ที่ https://asc.army.mil/web/portfolio-item/atacms/)
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับสนามบินคุลบากิโน ได้ที่ https://scramble.nl/planning/orbats/ukraine/ukraine-air-force#UKON487)
รายงานของฝ่ายรัสเซียนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่เรื่องหนึ่งที่ชัดเจนก็คือว่าฝ่ายยูเครนได้ใช้ขีปนาวุธยิงโจมตีเข้าไปที่เมืองเซวาสโตโปล (Sevastopol) เมื่อวันที่ 21 กันยายน โดยพุ่งเป้าหมายถล่มกองบัญชาการของกองเรือทะเลดำของรัสเซีย ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองท่าสำคัญแห่งนั้น และข่าวระบุว่าอาคารกองบัญชาการที่เป็นอาคารประวัติศาสตร์มีการใช้งานกันมายาวนาน เป็นเป้าหมายถูกเล่นงาน
ในอีกด้านหนึ่ง มีรายงานข่าวหลายกระแสระบุว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้บอกกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ซึ่งเดินทางมาเยือนกรุงวอชิงตันเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เขาเห็นชอบที่จะให้จัดส่งขีปนาวุธอะแทคซิมส์ “จำนวนน้อย” จำนวนหนึ่งไปให้ยูเครนแล้ว ทั้งนี้ ดูเหมือนว่าไบเดนทำเช่นนี้ โดยที่เป็นการขัดแย้งกับข้อเสนอแนะของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ไบเดนยังได้รับคำเตือนว่า อะแทคซิมส์ อาจจะเป็นตัวการทำให้สงครามบานปลายขยายตัว นอกจากนั้น เขายังได้รับรายงานด้วยว่า มีระบบอะแทคซิมส์ เหลืออยู่ในคลังเก็บไม่มากนัก
(ดูเพิ่มเติมเรื่องไบเดนแจ้งเซเลนสกีจะจัดส่ง อะแทคซิมส์ ไปให้ ได้ที่ https://www.brecorder.com/news/40264595)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องไบเดนดูเหมือนจะกระทำสิ่งที่ขัดแย้งกับข้อเสนอแนะของเพนตากอน ได้ที่ https://mil.in.ua/en/news/u-s-prioritizes-gmlrs-over-atacms-for-ukraine-pentagon/#:~:text=The%20Pentagon%20believes%20that%20ATACMS%20tactical%20ballistic%20missiles,with%20a%20range%20of%20up%20to%2084%20kilometers.)
ระบบอะแทคซิมส์ มีพิสัยทำการราวๆ 300 กิโลเมตร มันเป็นขีปนาวุธที่ยิงจากภาคพื้นดิน
ขณะที่สนามบินคุลบากิโน เป็นที่ตั้งของกองพลน้อยการบินทางยุทธวิธีที่ 299 ของยูเครน (299th Ukrainian Tactical Aviation Brigade) ตั้งอยู่ใกล้ๆ เมืองมิโคลาอิฟ (Mykolaiv) เมืองเอกของแคว้นชื่อเดียวกัน สนามบินแห่งนี้ให้ความสนับสนุนเครื่องบินหลายแบบ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเครื่องบินขับไล่ทิ้งระบิด ซู-24เอ็ม (Su-24M fighter-bomber) ซึ่งได้รับการดัดแปลงให้สามารถยิงขีปนาวุธร่อน “สตอร์มแชโดว์” (Stormshadow cruise missile) ที่ยูเครนได้รับจากสหราชอาณาจักรก่อนหน้านี้
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Su-24M ได้ที่ https://www.airforce-technology.com/projects/su24/)
ปกติแล้ว อะแทคซิมส์ยิงออกมาจากเครื่องยิง M270 MLRS (M270 Multiple Launch Rocket System ระบบยิงจรวดหลายลำกล้องแบบเอ็ม270) และก็สามารถยิงจากแพลตฟอร์มไฮมาร์ส (HIMARS ย่อมาจากชื่อเต็มว่า M142 High Mobility Artillery Rocket System ระบบจรวดหลายลำกล้องเคลื่อนที่ได้สูงแบบ M 142) ได้เช่นกัน
(ข้อมูลเกี่ยวกับ M270 MLRS ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.lockheedmartin.com/content/dam/lockheed-martin/mfc/documents/mlrs-m270/mfc-m270-fact-sheet.pdf)
(ข้อมูลเกี่ยวกับ ไฮมาร์ส ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://lockheedmartin.com/en-us/products/himars.html)
เครื่องยิง M270 มีลักษณะเป็นยานสายพานหุ้มเกราะซึ่งรองรับส่วนท่อยิงขีปนาวุธที่ตั้งอยู่ด้านบนของยาน โครงช่วงล่างของมันถอดแบบมาจากแชสซีส์ของยานสู้รบทหารราบ “แบรดลีย์” (Bradley fighting vehicle) M270 สามารถยิงขีปนาวุธอะแทคซิมส์ได้ 1 ลูก จากนั้นก็จำเป็นต้องดำเนินการบรรจุใหม่
ส่วนการยิงจากระบบไฮมาร์สนั้น ยาน M142 HIMARS ซึ่งใช้ยิงถอดแบบมาจากโครงรถบรรทุก MTV (Medium Tactical Vehicle) ของกองทัพบกสหรัฐฯ และก็เหมือนกับ M270 MLRS มันสามารถยิงขีปนาวุธอะแทคซิมส์ได้ครั้งละลูก
ระบบไฮมาร์สนั้นมีอยู่แล้วในยูเครน ดังนั้นการจัดส่งขีปนาวุธอะแทคซิมส์ไปให้คราวนี้ จะไม่ต้องมีการดัดแปลงในทางภาคสนามที่สำคัญใดๆ เลย
เรื่องซึ่งต้องคำนึงถึงกันมากกว่าคือ สหรัฐฯ มีสต๊อกของไฮมาร์ส เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่สามารถนำเอามาใช้งานได้เวลานี้ กองทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯ ที่เป็นหน่วยซึ่งใช้ไฮมาร์สอยู่ จำเป็นจะต้องมีอะแทคซิมส์เตรียมเอาไว้ เพื่อรับมือในกรณีที่จีนเกิดเปิดการโจมตีอย่างอุกอาจใดๆ ขึ้นมา ไม่ว่าต่อหมู่เกาะเซงกากุ (Senkaku islands) ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งญี่ปุ่นและจีนต่างอ้างกรรมสิทธิ์กันอยู่ หรือว่าเล็งตรงไปที่เกาะไต้หวัน เมื่อเร็วๆ นี้ นาวิกโยธินอเมริกันได้จัดการซ้อมรบร่วมกับญี่ปุ่น โดยที่ญี่ปุ่นได้ทดสอบการยิงจากเครื่องยิง M270 ในระหว่างการสาธิตด้วย อย่างไรก็ดี เนื่องจากขีปนาวุธอะแทคซิมส์ มีเหลืออยู่น้อย นาวิกโยธินสหรัฐฯ จึงเพียงแค่เปิดเครื่องควบคุมเครื่องยิง และจำลองการยิงขีปนาวุธเท่านั้น
ไต้หวันก็ร้องขอระบบไฮมาร์ส จากสหรัฐฯ ชนิดประกอบติดตั้งกับขีปนาวุธอะแทคซิมส์ที่มีความแม่นยำสูง เพื่อใช้ป้องกันไต้หวันจากการรุกรานของจีน โดยที่ไต้หวันได้สั่งซื้อเครื่องยิงไป 28 ชุด และขีปนาวุธอีก 864 ลูก อาวุธเหล่านี้แต่เดิมคาดหมายกันว่าจะมีการจัดส่งให้ในช่วงระหว่างปี 2024 ถึง 2027 อย่างไรก็ดี ถ้ายูเครนเป็นฝ่ายที่ได้ซัปพลายเหล่านี้ไปแทน ไต้หวันก็จะถูกบังคับให้ต้องรอคอยกันนานกว่านั้น
(ดูเพิ่มเติมเรื่องไต้หวันสั่งซื้อ ไฮมาร์ส ได้ที่ https://www.newsweek.com/taiwan-military-army-china-defense-himars-rocket-systems-1738437)
จากการที่ ไบเดน ตัดสินใจเช่นนี้จะทำให้ฝ่ายเยอรมนีไม่สามารถหลบซ่อนอยู่ข้างหลังและใช้สหรัฐฯ เป็นเหตุผลแก้ตัวสำหรับการที่ยังไม่จัดส่งระบบขีปนาวุธทอรัส เคอีพีดี 350 (Taurus KEPD 350) ที่เยอรมนีและสวีเดนร่วมกันผลิตไปให้แก่เคียฟ ทอรัส ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมของ เอ็มบีดีเอ ดอยช์ลันด์ (MBDA Deutschland) กับซาบ โบฟอร์ส (Saab Bofors) เป็นขีปนาวุธร่อนที่มีพิสัยทำการไปได้ไกล 500 กิโลเมตร และใช้ยิงออกมาจากเครื่องบิน มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่า ถ้าหากทอรัสถูกจัดส่งให้แก่ยูเครน ทางฝ่ายเคียฟจะนำเอาไปติดตั้งและยิงจากเครื่องบิน ซู-24 ของตน ซึ่งก็อยู่ในภาวะขาดแคลนมีเหลืออยู่ไม่มากเหมือนกัน ทั้งนี้ระบบต่างๆ บนเครื่องบินซู-25 ในยูเครนอาจจะไม่ทันสมัยเพียงพอที่จะสนับสนุน ทอรัส
(ดูเพิ่มเติมเรื่องยูเครนอยากได้ทอรัส ที่ https://www.dw.com/en/why-ukraine-wants-germanys-taurus-missile/a-66505534)
ทอรัส มีพิสัยทำการ 500 กิโลเมตรหลังจากยิงออกไปแล้ว โดยมีหัวรบ MEPHISTO (multi-effect penetrator highly sophisticated and target optimized) น้ำหนัก 481 กิโลกรัม
ระบบอะแทคซิมส์นั้นมีหัวรบหลายหลากประเภท และยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าหัวรบที่จะจัดส่งไปให้ยูเครนจะเป็นประเภทไหน แต่เดิมขีปนาวุธนี้มีหัวรบแบบอาวุธลูกปราย (cluster munition warheads) ทว่าตอนหลังๆ ถูกเปลี่ยนมาเป็นหัวรบที่เรียกกันว่าหัวรบเดี่ยว (unitary warheads)
ฝ่ายรัสเซียเข้าใจดีว่าทั้งทอรัส และอะแทคซิมส์ เป็นภัยคุกคามดินแดนของรัสเซีย ทำให้เมืองใหญ่ๆ ฐานทัพอากาศ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และสิ่งปลูกสร้างด้านกลาโหมของตนอาจตกเป็นเป้าถูกโจมตีอย่างหนักหน่วงได้
จนกระทั่งถึงเวลานี้ สิ่งที่ยูเครนยิงเข้าไปในดินแดนรัสเซียส่วนใหญ่แล้วคือโดรนขนาดเล็กๆ ขณะที่โดรนสามารถสร้างความเสียหายได้บ้างเหมือนกัน แต่พวกมันจำนวนมากทีเดียวถูกสอยร่วง รัสเซียนั้นมีการป้องกันภัยทางอากาศหลายๆ ชั้นซ้อนกันอยู่ ถึงแม้ชั้นต่างๆ เหล่านี้ดูเหมือนไม่ได้บูรณาการเข้าด้วยกันอย่างดีนัก โดยยังคงมีช่องว่างใหญ่ๆ ที่ยังครอบคลุมได้ไม่ทั่วถึง
ขณะที่ให้สัมภาษณ์กับเครือข่ายโทรทัศน์ เอบีซี นิวส์ ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน แอนโทนี บลิงเคน ถูกถามว่า “คุณโอเคไหมถ้ายูเครนใช้ขีปนาวุธพวกนี้ (อะแทคซิมส์) โจมตีลึกเข้าไปในรัสเซีย?” เขาตอบแบบปัดป้องว่า “เป็นการตัดสินใจของพวกเขา ไม่ใช่ของเรา” ทว่าบลิงเคนทราบดีว่ายูเครนจะดำเนินการโจมตีในระยะไกลๆ ได้ จำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนด้านข่าวกรองระดับเหนือศีรษะ (overhead intelligence) จากสหรัฐฯ นี่เป็นอะไรที่ฝ่ายรัสเซียก็เข้าใจเป็นอย่างดีมากๆ เช่นกัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/i/status/1703674532374974478)
ฝ่ายรัสเซียบอกออกมาอย่างชัดเจนแล้วว่า การจัดส่งขีปนาวุธพวกนี้ไปให้ยูเครน คือการที่นาโตและสหรัฐฯ ทำให้สถานการณ์บานปลายขยายตัวออกไปอย่างสำคัญ เวลานี้ยังต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่ารัสเซียจะตอบโต้กับเรื่องนี้อย่างไรแน่ๆ และในหนทางไหนบ้าง
สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute