xs
xsm
sm
md
lg

สงครามยูเครนเริ่มเข้าสู่ระยะใหม่หลังการรุกตอบโต้ล้มเหลว ตะวันตกช่วยเคียฟน้อยลง ขณะรัสเซียตั้งท่าอาจจะบุกใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม.เค. ภัทรกุมาร ***


กองเรือทะเลดำของรัสเซีย ที่กองบัญชาการในเมืองเซวาสโตโปล ซึ่งตั้งอยู่บนคาบสมุทรไครเมีย ถูกโจมตีได้รับความเสียหายเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2023 โดยถูกเล่นงานด้วยขีปนาวุธ ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นขีปนาวุธร่อน “แชโดว์ สตอร์ม” ที่ยูเครนได้รับมาจากสหราชอาณาจักร
‘Biden’s phase’ of Ukraine war is beginning
BY M. K. BHADRAKUMAR
17/09/2023

มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ว่า ในทันทีที่ “การรุกตอบโต้” ของฝ่ายยูเครนค่อยๆ มอดดับลงในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ในสภาพของความล้มเหลวครั้งมโหฬาร กองกำลังฝ่ายรัสเซียอาจจะเริ่มการรุกอย่างขนานใหญ่ของตนเองบ้าง เป็นไปได้ที่กองกำลังรัสเซียกระทั่งอาจจะยกพลข้ามแม่น้ำดนิเปอร์ และเข้าควบคุมเมืองโอเดสซา ตลอดจนแนวชายฝั่งที่ทอดยาวไปจนจดพรมแดนโรมาเนีย

สงครามภาคพื้นดินในยูเครนได้ดำเนินมาจนสิ้นสุดทางของมันแล้ว และระยะใหม่กำลังเริ่มต้นขึ้น แม้กระทั่งพวกผู้สนับสนุนยูเครนอย่างหัวชนฝาในสื่อมวลชนตะวันตกและประดาหน่วยงานคลังสมองของฝ่ายตะวันตก เวลานี้ต่างกำลังยอมรับกันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีชัยชนะทางทหารเหนือรัสเซีย และการพักผ่อนฉลองชัยในดินแดนซึ่งสามารถช่วงชิงกลับคืนจากการควบคุมของรัสเซีย ก็กลายเป็นฝันหวานซึ่งเกินเลยขีดความสามารถของกรุงเคียฟ

ต่อจากนี้ไปย่อมขึ้นอยู่กับความเฉลียวฉลาดคล่องแคล่วของคณะบริหารไบเดน ที่จะสำรวจลู่ทางความเป็นไปได้ของแผนบี ในการให้คำปรึกษาแนะนำแก่เคียฟให้มองสถานการณ์อย่างสอดคล้องกับความเป็นจริงเกี่ยวกับดินแดนที่สูญเสียไป และแสวงหาทางพูดจากับมอสโกโดยมุ่งถึงผลในทางปฏิบัติเป็นสำคัญ นี่คือข้อความแสนขมขื่นที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน ถ่ายทอดไปถึงพวกผู้นำยูเครน ระหว่างที่เขาเดินทางไปเยือนกรุงเคียฟด้วยตัวเองเมื่อเร็วๆ นี้

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน (ซ้าย) ต้อนรับทักทายรัฐมนตรีต่างประเทศ แอนโทนี บลิงเคน ของสหรัฐฯ ก่อนที่จะเจรจาหารือกันในกรุงเคียฟ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2023 ทั้งนี้เห็นกันว่า บลิงเคนไปเคียฟครั้งนี้เพื่อกล่อมให้เซเลนสกีใช้ท่าทีที่อ่อนลง และเปิดทางสำหรับการเจรจากับรัสเซีย ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ
ทว่าปฏิกิริยาแบบถากถางเหน็บแนมของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ในการให้สัมภาษณ์นิตยสาร “อีโคโนมิสต์” (Economis) ที่เกิดขึ้นตามหลังการไปเยือนของบลิงเคน กลับแสดงให้เห็นว่าเรื่องยังไม่สามารถที่จะลงตัวกันได้ง่ายๆ เซเลนสกี เสียดสีเอาคืนพวกผู้นำตะวันตกที่ยังคงพูดจาต่อหน้าสาธารณชนด้วยน้ำเสียงขึงขัง ให้คำมั่นสัญญาว่าพวกเขาจะยืนหยัดอยู่กับยูเครน “ไม่ว่ามันจะยาวนานแค่ไหน” (นี่คือถ้อยคำที่ ไบเดน ชอบพูดนัก) แต่ตัวเขา คือเซเลนสกี กลับตรวจจับได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้วในหมู่หุ้นส่วนบางคนของเขา เขาพูดเอาไว้อย่างนี้: “ผมเกิดความหยั่งรู้แบบนี้ขึ้นมา ขณะกำลังอ่าน กำลังฟัง และกำลังมองตาของพวกเขา (เมื่อตอนที่พวกเขาพูดว่า) ‘เราจะยืนหยัดอยู่กับพวกคุณเสมอ’ แต่ผมมองเห็นว่าเขาหรือเธอนั้นไม่ได้อยู่ตรงนี้หรอก ไม่ได้อยู่กับพวกเราหรอก” แน่นอนทีเดียว เซเลนสกีอ่านภาษากายของพวกผู้นำเหล่านี้ได้อย่างถูกต้องทีเดียว ในเมื่อเวลานี้มันปราศจากความสำเร็จทางการทหารอย่างยิ่งใหญ่เอิกเกริกแม้แค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ความสนับสนุนของฝ่ายตะวันตกที่ให้แก่ยูเครนนั้นเป็นสิ่งที่มีกรอบเวลาอันจำกัด
(ดูเพิ่มเติมการให้สัมภาษณ์นี้ได้ที่ https://www.economist.com/europe/2023/09/10/donald-trump-will-never-support-putin-says-volodymyr-zelensky)

เซเลนสกี ทราบดีว่าการประคับประคองความสนับสนุนของฝ่ายตะวันตกเอาไว้ให้ได้นั้นจะเป็นเรื่องลำบากยากเย็น กระนั้นเขายังคงวาดหวังว่าหากไม่ได้อเมริกัน อย่างน้อยที่สุดสหภาพยุโรปก็น่าจะจัดหาจัดส่งความช่วยเหลือให้ต่อไปอีก รวมทั้งยังอาจจะยอมเปิดการเจรจาเกี่ยวกับกระบวนการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกอียู โดยเป็นไปได้กระทั่งว่าอาจจะเริ่มต้นกันในการประชุมซัมมิตผู้นำสหภาพยุโรปเดือนธันวาคมนี้เลยด้วยซ้ำ อย่างไรก็ดี เขายังคงถือไพ่แห่งการคุกคามเอาไว้อย่างซ่อนเร้น เป็นการคุกคามเกี่ยวกับภัยผู้ก่อการร้ายต่อยุโรป --โดยเขากล่าวเตือนเพียงอ้อมๆ ว่ามันไม่ใช่ “เรื่องที่ดี” สำหรับยุโรปเป็นแน่ ถ้าหากมีการ “ผลักดันผู้คนเหล่านี้ (ของยูเครน) ให้ตกอยู่ในสภาพจนมุม” จวบจนถึงเวลานี้ การคุกคามอย่างไม่เป็นมงคลเช่นนี้ ซึ่งมีต้นตอมาจากพวกนักเคลื่อนไหวระดับล่างๆ ของขบวนการฝักใฝ่เผด็จการฟาสซิสต์ขวาจัด “บันเด-รา” (Bandera) ยังคงไม่ค่อยดังเปรี้ยงป้างอะไรนัก

อย่างไรก็ตาม ยุโรปก็มีขีดจำกัดของพวกเขาเหมือนกัน คลังสต๊อกอาวุธของฝ่ายตะวันตกกำลังเหือดแห้งลงไปเรื่อยๆ ขณะที่ยูเครนเปรียบเหมือนกับหลุมสุดลึกซึ่งมองไม่เห็นก้น จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า มันไม่สามารถก่อให้เกิดความมั่นใจขึ้นมาได้ว่า การจัดหาจัดส่งความช่วยเหลือต่อไปเรื่อยๆ จะสามารถสร้างความแตกต่างให้แก่สงครามตัวแทนคราวนี้ที่ดูเหมือนกับไม่มีทางประสบชัยชนะได้ นอกจากนั้นแล้ว เศรษฐกิจของชาติยุโรปต่างกำลังอยู่ในอาการเฉื่อยชา ภาวะเศรษฐกิจซบเซาในเยอรมนีอาจจะไหลรูดลงอีกจนกลายเป็นภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ด้วยผลพวงต่อเนื่องอันลึกซึ้งของ “กระบวนการสูญเสียฐานะความเป็นชาติอุตสาหกรรม” (deindustrialisation) ที่กำลังคุกคามเมืองเบียร์

สามารถที่จะกล่าวได้ว่า การเยือนทำเนียบขาวของ เซเลนสกี ในวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) [1] ควรที่จะมีผลในทางตัดสินชี้ชะตาอยู่พอสมควร คณะบริหารไบเดนนั้นกำลังอยู่ในอารมณ์หม่นหมองจากการที่สงครามสู้รัสเซียที่ใช้ยูเครนเป็นตัวแทนของพวกเขา กลับทำท่ากลายเป็นตัวกีดขวางไม่ให้ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกมุ่งต่อต้านคัดค้านจีนของพวกเขาสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่ กระนั้น ระหว่างปรากฏตัวให้สัมภาษณ์ในรายการ “ดีส วีก” (This Week) ของเครือข่ายโทรทัศน์เอบีซีนิวส์ บลิงเคนก็ได้กล่าวย้ำอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกว่า สหรัฐฯ จะไม่คัดค้านถ้ายูเครนจะนำเอาพวกขีปนาวุธที่มีพิสัยทำการไกลยิ่งขึ้นซึ่งเพิ่งได้รับจากสหรัฐฯ ไปใช้ในการโจมตีดินแดนที่อยู่ลึกเข้าไปของรัสเซีย ถึงแม้มอสโกเคยเรียกความเคลื่อนไหวเช่นนี้ว่าจะเท่ากับเป็นการเหยียบข้าม “เส้นสีแดงที่ห้ามล่วงละเมิด” ซึ่งจะทำให้วอชิงตันกลายเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงในการสู้รบขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/secretary-antony-j-blinken-with-jonathan-karl-of-abc-this-week-2/)

พันเอก (เกษียณอายุ) ดักลาส แมคเกรเกอร์ (Douglas MacGregor) ชาวอเมริกันซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ทั้งในฐานะนักประวัติศาสตร์การทหาร นักคิดเชิงยุทธศาสตร์ และทหารผ่านศึกที่เคยผ่านการสู้รบ (รวมทั้งยังเคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในช่วงคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์) พูดคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้า เมื่อตอนที่เขาบอกว่า “สงครามในระยะใหม่ของไบเดน” กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยลักษณะที่สำคัญของระยะใหม่นี้ก็คือ สืบเนื่องจากตกอยู่ในภาวะขาดแคลนกองกำลังภาคพื้นดิน จุดโฟกัสในเวลานี้จึงต้องปรับเปลี่ยนไปเน้นที่พวกอาวุธโจมตีที่มีพิสัยทำการไกลยิ่งขึ้น อย่างเช่นพวกขีปนาวุธสตรอมแชโดว์ (Storm Shadow) ทอรัส (Taurus) และอะแทคซิมส์ (ATACMS)

สหรัฐฯ กำลังพิจารณาที่จะจัดส่งขีปนาวุธ อะแทคซิมส์ให้แก่ยูเครน หลังจากที่เคียฟร้องขอมานาน ด้วยพิสัยทำการ 300 กิโลเมตรของมันย่อมหมายความว่า อะแทคซิมส์ มีสมรรถนะที่จะยิงจากยูเครนโจมตีลึกเข้าไปในดินแดนของรัสเซีย แต่ส่วนที่ถือว่ายั่วยุสูงที่สุดก็คือ พวกแพลตฟอร์มเพื่อการสอดแนมของนาโต ทั้งชนิดที่ต้องใช้กำลังคนและที่ไม่ต้องใช้ จะต้องถูกใช้ในการปฏิบัติการเช่นนี้ด้วยอย่างแน่นอน ทำให้ในความเป็นจริงแล้วสหรัฐฯ ตกอยู่ในฐานะเป็นปรปักษ์ร่วมของรัสเซีย

เท่าที่ผ่านมา รัสเซียใช้ความอดทนอดกลั้นไม่ตอบโต้โจมตีไปจนถึงแหล่งที่มาของสมรรถนะดังกล่าวนี้ของข้าศึก ทว่าพวกเขาจะยอมอดกลั้นไปอีกนานแค่ไหนเป็นเรื่องที่แต่ละฝ่ายจะต้องประเมินและคาดเดากันเอาเอง เมื่อถูกถามอย่างเจาะจงว่า แล้ววอชิงตันจะมีมุมมองอย่างไรกับการโจมตีใส่ดินแดนรัสเซียด้วยอาวุธและเทคโนโลยีอเมริกัน บลิงเคนตอบโดยอ้างเหตุผลว่า การที่โดรนยูเครนกำลังโจมตีใส่ดินแดนรัสเซียเพิ่มมากขึ้น “เป็นเรื่องของการที่พวกเขา (ฝ่ายยูเครน) กำลังปกป้องดินแดนองพวกเขา และของการที่พวกเขาพยายามช่วงชิงสิ่งที่ถูกยึดเอาไปจากพวกเขากลับคืนมา บทบาทของเรา (สหรัฐฯ) บทบาทของประเทศอื่นๆ หลายสิบประเทศทั่วโลกก็คือการให้ความสนับสนุนพวกเขา เพื่อช่วยเหลือพวกเขากระทำเรื่องดังกล่าวนี้”

แน่นอนทีเดียว รัสเซียไม่มีทางยอมรับการทำให้สถานการณ์บานปลายขยายตัวออกไปอย่างหน้าด้านๆ ไร้ยางอายเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อระบบอาวุธก้าวหน้าที่ถูกนำมาใช้โจมตีรัสเซียเหล่านี้ แท้ที่จริงแล้วมีบุคลากรของนาโต หรือผู้ทำสัญญารับจ้างนาโต พวกอดีตทหารที่ผ่านการฝึกมาอย่างดี หรือกระทั่งพวกทหารที่ยังรับราชการอยู่เป็นผู้ดำเนินการ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน บอกกับสื่อมวลชนในวันศุกร์ (15 ก.ย.) ว่า “เราตรวจจับพบทหารรับจ้างชาวต่างชาติ และครูฝึกชาวต่างชาติ ทั้งที่อยู่ในสนามรบและทั้งที่ประจำอยู่ในหน่วยต่างๆ ซึ่งกำลังมีการฝึกอบรมกันอยู่ ผมคิดว่าเมื่อวานนี้หรือวานซืนนี้เอง ก็มีการจับกุมผู้คนเหล่านี้ได้อีกแล้ว”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/72277)

สหรัฐฯ คาดคำนวณเอาไว้ว่าเมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่ง รัสเซียจะถูกบีบบังคับให้ต้องยอมเจรจา และมีการแช่แข็งการสู้รบขัดแย้งคราวนี้เอาไว้ และติดตามมาด้วยการที่พวกชาติพันธมิตรนาโตยังคงสามารถรักษาทางเลือกสำหรับการสร้างสมกำลังทหารของยูเครนต่อไปอีก ขณะเดียวกัน ก็รักษากระบวนการที่จะนำยูเครนไปสู่การเข้าเป็นสมาชิกนาโตในที่สุด พร้อมกันนั้น มันก็จะเปิดทางให้คณะบริหารไบเดนสามารถผ่อนเพลาภาระในยุโรป และมุ่งโฟกัสไปที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม รัสเซียจะไม่ยอมตกลงรอมชอมชนิดที่มี “การแช่แข็งการสู้รบขัดแย้งกัน” เอาไว้ ซึ่งอยู่ห่างไกลนักจากกระบวนการปลดกำลังทหารของยูเครน และจากกระบวนการเพิกถอนความเป็นนาซีของยูเครน ที่รัสเซียถือเป็นวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของการปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครนของตน

เมื่อเผชิญกับระยะใหม่ของสงครามตัวแทนเช่นนี้ ฝ่ายรัสเซียจะดำเนินการตอบโต้เอาคืนในรูปแบบใดบ้างยังเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้ารอชมกันต่อไป มันมีหนทางอยู่หลากหลายโดยที่รัสเซียยังไม่ต้องเข้าโจมตีดินแดนนาโตโดยตรง หรือใช้อาวุธนิวเคลียร์ (ยกเว้นแต่สหรัฐฯ เปิดการโจมตีด้วยนิวเคลียร์ขึ้นมาก่อน –ซึ่ง ณ ขณะนี้โอกาสเช่นนี้ยังถือว่าเท่ากับศูนย์)

คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ (กลางขวา) และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย (กลางซ้าย) เยี่ยมชมศูนย์อวกาศวอสตอชนีย์ คอสโมโดรม ในแคว้นอามูร์ ทางภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2023  โดยที่ผู้นำทั้งสองใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ประชุมซัมมิตกันด้วย  ถึงแม้ปูตินบอกว่าในการมาเยือนของคิมคราวนี้ ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการทำข้อตกลงใดๆ แต่ฝ่ายตะวันตกก็เชื่อว่ารัสเซียน่าจะรับปากช่วยเหลือถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านจรวดให้แก่เกาหลีเหนือ เพื่อแลกเปลี่ยนกับอาวุธเครื่องกระสุนของโสมแดง ซึ่งเป็นที่ต้องการของรัสเซียเพื่อใช้ในการทำสงครามยูเครน
หนึ่งในการตอบโต้เอาคืนที่สามารถมองเห็นกันได้อยู่แล้ว ก็คือความเป็นไปได้ที่จะมีการรื้อฟื้นความร่วมมือกันในทางการทหาร-ทางเทคนิคระหว่างรัสเซียกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง (โดยที่ความเป็นไปได้ประการหนึ่งของความร่วมมือกันเช่นว่านี้ ได้แก่ด้านเทคโนโลยีขีปนาวุธแบบทิ้งตัวระดับข้ามทวีป (ICBM) ในฐานะที่เป็นผลพวงต่อเนื่องตามธรรมชาติจากการที่สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายรุกรานก้าวร้าวต่อรัสเซีย รวมทั้งให้ความสนับสนุนแก่ยูเครน –ตลอดจนยังเนื่องมาจากสถานการณ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน ประเด็นอยู่ตรงที่ว่า วันนี้เป็นความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี วันพรุ่งนี้มันอาจจะเป็นความร่วมมือระหว่างรัสเซียกับอิหร่าน คิวบา หรือเวเนซุเอลา –แบบที่พันเอกแมคเกรเกอร์เรียกว่า “การบานปลายขยายตัวตามแนวนอน” (horizontal escalation) สถานการณ์ในยูเครนจึงมีการติดต่อเชื่อมโยงกับปัญหาของคาบสมุทรเกาหลีและไต้หวันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เซียร์เก ชอยกู (Sergey Shoigu) พูดเอาไว้ทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐเมื่อวันพุธ (13 ก.ย.) ว่า รัสเซียนั้น “ไม่มีทางเลือกอื่นใดอีก” นอกจากจะต้องได้รับชัยชนะในการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของตนเท่านั้น และก็จะเดินหน้าต่อไปในภารกิจหลักของตนที่จะต้องทำลายอาวุธยุทโธปกรณ์และบุคลากรของข้าศึก คำพูดเช่นนี้ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าสงครามพร่ากำลัง (attritional war) จะยังคงดำเนินต่อไปด้วยความดุเดือดยิ่งขึ้น เวลาเดียวกันนั้นยุทธศาสตร์โดยรวมก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปเป็นการบรรลุชัยชนะทางทหารอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://tass.com/politics/1674313)

ฝ่ายทหารของยูเครนเวลานี้กำลังอยู่ในอาการสิ้นหวังในเรื่องกำลังคน เฉพาะในห้วงเวลา 15 สัปดาห์ของ “การรุกตอบโต้” ก็มีทหารยูเครนถูกสังหารไปมากกว่า 71,000 คน เวลานี้มีการพูดจากันในกรุงเคียฟเกี่ยวกับการหาทางเรียกให้คนสัญชาติยูเครนที่อยู่ในวัยเป็นทหารแต่ได้ออกไปเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศยุโรปต่างๆ ต้องกลับประเทศเพื่อมารับราชการทหาร ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ท่ามกลางความคาดหมายที่ว่าการสู้รบขัดแย้งจะยืดเยื้ออกไป ทางฝ่ายรัสเซียก็กำลังดำเนินการเรียกระดมคนเข้าเป็นทหารอยู่เช่นกัน

ปูติน เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (15 ก.ย.) ว่า มีผู้คน 300,000 คนแล้วที่อาสาสมัครเป็นทหารและลงนามข้อตกลงเพื่อเข้าร่วมกองทัพแล้ว รวมทั้งกำลังมีการจัดตั้งหน่วยทหารหน่วยใหม่ๆ ตลอดจนประกอบอาวุธและยุทโธปกรณ์ประเภทนำสมัยทั้งหลายให้แก่พวกเขา โดยที่เวลานี้ “พวกเขาบางส่วนได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์ 85-90% แล้ว”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://en.kremlin.ru/events/president/news/72277)

มีความเป็นไปได้อย่างสูงที่ว่า ในทันทีที่ “การรุกตอบโต้” ของฝ่ายยูเครนค่อยๆ มอดดับลงในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า ในสภาพของความล้มเหลวครั้งมโหฬาร กองกำลังฝ่ายรัสเซียอาจจะเริ่มการรุกอย่างขนานใหญ่ของตนเองบ้าง เป็นไปได้ที่กองกำลังรัสเซียกระทั่งอาจจะยกพลข้ามแม่น้ำดนิเปอร์ (Dnieper river) และเข้าควบคุมเมืองโอเดสซา (Odessa) ตลอดจนแนวชายฝั่งที่ทอดยาวไปจนจดพรมแดนโรมาเนีย ซึ่งจากตรงนั้นที่เองที่นาโตกำลังเพิ่มทวีการโจมตีใส่ไครเมียอยู่ในเวลานี้ อย่าได้เข้าใจผิดไป สำหรับแกนอักษะอังกฤษ-อเมริกันแล้ว การปิดล้อมรัสเซียในทะเลดำยังคงเป็นเรื่องสำคัญลำดับสูงสุดประการหนึ่งของพวกเขาเสมอมา

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/bidens-phase-of-ukraine-war-is-beginning/

ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน (กลาง) ภาพถ่ายร่วมกับประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เควิน แมคคาร์ธี ที่เป็น ส.ส.พรรครีพับลิกัน (ซ้าย) และ ส.ส.ฮาคีม เจฟฟรีส์ ของพรรคเดโมแครตที่เป็นผู้นำฝ่ายเสียงข้างน้อยในสภา ณ การประชุมหารือแบบปิดประตูคุยกันกับพวก ส.ส.สหรัฐฯ ที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตันเมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.)  ทั้งนี้ในการเยือนวอชิงตันของเขาคราวนี้ เซเลนสกีไม่ได้รับเกียรติให้กล่าวปราศรัยต่อสภา ไม่เหมือนกับการมาครั้งก่อนของเขา
หมายเหตุผู้แปล

นิวยอร์กไทมส์ได้รายงานสรุปการเยือนกรุงวอชิงตันของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน เมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) เอาไว้ในแง่มุมที่น่าสนใจ จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้


เซเลนสกีเยือนวอชิงตัน เผยให้เห็นความแตกแยกทางยุทธศาสตร์ระหว่างยูเครนกับสหรัฐฯ

โดย นิวยอร์กไทมส์

Zelensky’s Visit Reveals Strategy Divide Between Ukraine and U.S.
By Helene Cooper and Julian E. Barnes, The New York Times
22/09/2023

ขณะที่ฝ่ายทหารของยูเครนยังคงมุ่งโฟกัสไปที่การยึดดินแดนในภาคตะวันออกกลับคืนมาจากรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองบัคมุต พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันก็กำลังผลักดันให้เปลี่ยนมาใส่ใจกับการรุกทางภาคใต้

ยูเครนจะยึดบัคมุต เมืองทางภาคตะวันออกของยูเครนที่มีการสู้รบช่วงชิงกันอย่างดุเดือด คืนมาจากรัสเซียให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี กล่าวทำนายเช่นนี้ระหว่างที่เขาเดินทางมาเยือนกรุงวอชิงตันช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว อันเป็นการยืนกรานซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดที่ถ่างกว้าง ระหว่างกรุงเคียฟกับพวกนักวางแผนสงครามชาวอเมริกันผู้ซึ่งเชื่อว่ายูเครนควรรวมศูนย์โฟกัสที่ภาคใต้ให้มากขึ้น

เซเลนสกี ซึ่งพูดเรื่องนี้ระหว่างการพบปะกับพวกบรรณาธิการสื่อชาวอเมริกันเมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ที่ผ่านมา ยังพยากรณ์ด้วยว่ากองทหารยูเครนจะขับไล่รัสเซียออกจากเมืองใหญ่ที่พวกเขาเข้ายึดครองเอาไว้อีก 2 เมือง แต่ไม่ได้ระบุว่าคือเมืองใดบ้าง

และตรงกันข้ามกับความคาดหมายของพวกนักวิเคราะห์ทางการทหารในประเทศตะวันตก เซเลนสกีกล่าวว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ยูเครนก็จะสู้รบต่อไปจนตลอดหน้าหนาว โดยไม่มีการหยุดพัก

“เราจะทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจะได้ไม่ต้องหยุด ในระหว่างวันเวลาอันยากลำบากในฤดูใบไม้ร่วง ที่อากาศไม่ดีเลย” เขากล่าว “แล้วก็ในฤดูหนาวด้วย”

ตรงกันข้าม เขาทำนายแบบให้ร้ายประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียว่า ปูตินจะต้องหยุดพักการปฏิบัติการเนื่องจากเขาสูญเสียกำลังทหารไปอย่างมากมาย “ทหารของพวกเขาตายหมดแล้ว” เซเลนสกี บอก

เซเลนสกียังร้องขออีกคำรบหนึ่งถึงความต้องการที่จะได้พวกขีปนาวุธซึ่งมีพิสัยทำการไกลขึ้น คณะบริหารไบเดนซึ่งได้จัดส่งความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนคิดเป็นมูลค่าราวแสนล้านดอลลาร์แล้ว กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเจียดเอาระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก (Army Tactical Missile Syste) –หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อระบบอะแทคซิมส์ (ATACMS) ซึ่งเหลืออยู่อย่างจำกัดในคลังแสงของตน ไปให้แก่ยูเครนเป็นบางส่วนหรือไม่ ทั้งนี้เซเลนสกีบอกว่ายูเครนจำเป็นต้องมีสมรรถนะทางขีปนาวุธเพิ่มมากขึ้น

“เราไม่มีทางออกอย่างอื่น” เขาบอก

พวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองและเจ้าหน้าที่ทางทหารของสหรัฐฯ พากันตั้งคำถามมานานแล้วว่า ทำไมยูเครนจึงเทน้ำหนักให้แก่การสู้รบเพื่อชิงเมืองบัคมุต ซึ่งเป็นสถานที่เกิดยุทธการครั้งนองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งของสงครามคราวนี้ ถึงแม้เมื่อเดือนมีนาคม รัฐมนตรีกลาโหม ลอยด์ ออสติน ของสหรัฐฯ เคยพูดเอาไว้ว่า เมืองนี้ “มีคุณค่าในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าที่มันจะมีคุณค่าทางยุทธศาสตร์และทางยุทธการ”

แต่เซเลนสกียังคงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพยายามยึดเมืองที่สูญเสียไปนี้กลับคืนมา และยูเครนก็ได้ระดมทั้งกำลังทหารและอาวุธจำนวนมากเพื่อชิงบัคมุตคืน ตลอดจนทำการพิทักษ์รักษาภูมิภาคดอนบาสที่อยู่รายล้อมเมืองนี้

เจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันบางคนกล่าวว่า การสู้รบในบัคมุตได้กลายเป็นอะไรบางอย่างที่ถือเป็นความคลั่งไคล้ใหลหลงของ เซเลนสกี และพวกผู้นำทางทหารของเขาไปเสียแล้ว การที่ฝ่ายยูเครนโฟกัสรวมศูนย์อยู่ที่เมืองนี้แบบหลงลืมละเลยพื้นที่อื่นๆ ทำให้พวกเขาเกิดความเชื่อขึ้นมาว่า ชัยชนะกำลังอยู่แค่เอื้อม ถึงแม้พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันได้ให้คำปรึกษาแก่พวกเขามานานแล้ว ให้เดินหน้าไปสนใจเป้าหมายอื่นๆ ดีกว่า เนื่องจากไม่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะที่บัคมุต ก็ล้วนแต่ต้องแลกมาด้วยความเสียหายอย่างหนักหน่วง

อย่างไรก็ดี เซเลนสกีสามารถที่จะถือเป็นข้อได้เปรียบประการหนึ่ง จากการที่กลุ่มทหารรับจ้าง “วากเนอร์” อยู่ในสภาพที่ไม่ปกติในการทำหน้าที่ หลังจากการถึงแก่ความตายของ เยฟเกนี ปริโกจิน ผู้นำของทหารรับจ้างกลุ่มนี้ ในเหตุการณ์เครื่องบินตกเมื่อเดือนที่แล้ว ทั้งนี้กองกำลังวากเนอร์คือหน่วยทหารของรัสเซียซึ่งสามารถยึดเมืองบัคมุตเอาไว้ได้ ภายหลังสู้รบทำศึกอย่างนองเลือดมาเป็นเวลาหลายเดือน เวลานี้เมื่อ ปรีโกจิน จากไปแล้ว และอนาคตของกลุ่มวากเนอร์ก็ไม่มีความแน่นอน กองทหารยูเครนก็น่าจะมีโอกาสมากขึ้นในเมืองบัคมุต เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งกล่าวให้ความเห็นเช่นนี้เมื่อวันศุกร์ (22 ก.ย.)

สำหรับในส่วนของเขาเอง เซเลนสกีโต้แย้งไม่ยอมรับทัศนะใดๆ ที่ระบุว่ายูเครนไม่ได้จัดทำแผนการทำสงครามของตนอย่างพินิจพิเคราะห์เพียงพอ โดยเขายืนยันว่ากำลังทหารของเขากำลังเดินตาม “แผนการที่ละเอียดรอบด้าน”

แต่แผนการที่ว่านี้แหละ หลายๆ ครั้งก็ทำให้วอชิงตันและเคียฟเกิดมีความคิดเห็นแตกแยกกัน

พวกเจ้าหน้าที่ทางทหารของอเมริกันต้องการให้ยูเครนผลักดันเดินหน้าเพื่อปลดแอกเมืองเมลิโตโปล (Melitopol) ซึ่งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศ ขณะที่ตรงนั้นได้กลับมาเป็นจุดโฟกัสของการรุกในช่วงหลังๆ มานี้ ทว่าเวลาสำหรับยูเครนในการเจาะทะลวงแนวป้องกันของรัสเซียก็กำลังเหลือน้อยลงเรื่อยๆ พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันบอกว่า การยึดเมลิโตโปลกลับคืนมา จะเปิดทางให้ยูเครนสามารถใช้ปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้องพิสัยทำการสั้นๆ ตัดเส้นทางลำเลียงเข้าสู่ไครเมียของรัสเซีย เป็นการสร้างแรงกดดันต่อที่มั่นทางทหารอันแข็งแกร่งของรัสเซียซึ่งอยู่บริเวณนั้น

พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันบางรายบอกว่า การรุกตอบโต้ของฝ่ายยูเครนดูเหมือนน่าที่จะล้มเหลวไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ อันได้แก่การตัดขาดเส้นทางแลนด์บริดจ์ระหว่างไครเมียกับชายแดนรัสเซีย หรืออย่างน้อยก็ทำให้เส้นทางดังกล่าวนี้หดแคบลง

ทั้งนี้ สนามทุ่มระเบิดของรัสเซียพิสูจน์ตนเองให้เห็นว่าเป็นแนวป้องกันที่มีประสิทธิภาพมาก และรัฐบาลยูเครนก็มีความวิตกกังวลเป็นพิเศษในเรื่องอัตราการบาดเจ็บล้มตายสูงๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นมาได้เมื่อมีการใช้ความพยายามใดๆ เพื่อเจาะทะลวงให้ผ่านเครื่องขวางกั้นเหล่านี้

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่า อีกไม่ช้าไม่นานเมื่อฤดูกาลเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง กองกำลังฝ่ายยูเครนจะต้องประสบความยากลำบากมากขึ้นอีกในการประคับประคองพลังขับดันให้รุกต่อไปข้างหน้า เนื่องจากพื้นดินจะอ่อนตัวลงและกลายเป็นดินโคลน ขณะที่เจ้าหน้าที่บางรายชี้ว่าภายในเวลา 2-3 สัปดาห์นี้ กองทัพยูเครนยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีเวลาในการสร้างสต๊อกยุทโธปกรณ์ของพวกตนขึ้นมาใหม่ รวมทั้งให้กองทหารที่เหนื่อยอ่อนจากการสู้รบช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ได้มีเวลาพักผ่อน

แต่เซเลนสกีคัดค้านไม่เห็นด้วยกับเหตุผลเหล่านี้ โดยยืนกรานว่าเนื่องจากกองกำลังฝ่ายรัสเซียกำลังมองหาช่วงเวลาสำหรับการหยุดพัก ดังนั้น กองกำลังของเขาจึงหยุดนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้

“ผมไม่ใช่คนที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับเรื่องการทหารในโลกนี้หรอก แต่ผมนะรู้ดีว่าปูตินต้องการอะไร” เซเลนสกี บอก “ผมรู้ดีว่าเขาต้องการให้มีการหยุดพัก”

ระหว่างการพบปะหารือกันเมื่อวันพฤหัสบดี (21 ก.ย.) ประธานาธิบดีไบเดนบอกกับประธานาธิบดีเซเลนสกีว่า สหรัฐฯ จะ “อยู่เคียงข้างคุณ” ในสงครามคราวนี้

ทว่าภายในพรรครีพับลิกันกำลังมีสมาชิกรัฐสภากลุ่มหนึ่งซึ่งทำท่าเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้แสดงท่าทีคุกคามขัดขวางงบประมาณให้ความช่วยเหลือก้อนใหม่ๆ แก่ยูเครน อันเป็นความเคลื่อนไหวที่เซเลนสกีบอกว่า สามารถทำให้ประเทศของเขาแพ้สงครามได้ทีเดียว

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองในช่วงเกิดสงคราม ที่เซเลนสกีเดินทางมาเยือนกรุงวอชิงตัน โดยเขาได้ไปปรากฏตัวทั้งที่รัฐสภาสหรัฐฯ เพนตากอน และทำเนียบขาว เซเลนสกีกล่าวว่า ประธานสภาผู้แทนราษฎร เควิน แมคคาร์ธี (Kevin McCarthy) ซึ่งเป็น ส.ส.พรรครีพับลิกันจากรัฐแคลิฟอร์เนีย บอกกับเขาว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะยังคง “อยู่ข้างพวกเรา” ต่อไป ทว่าเรื่องนี้ “มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ”

หลังจากเขาพบปะหารือกับฝ่ายต่างๆ ที่กรุงวอชิงตันแล้ว เซเลนสกีได้เดินทางต่อไปยังกรุงออตตาวา และไปกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาแคนาดาเมื่อวันศุกร์ (22 ก.ย.)

เซเลนสกี กล่าวเตือนพวกนักการเมืองทั้งในสหรัฐฯ และที่อื่นๆ ผู้ซึ่งมีความลังเลใจในเรื่องการจัดหาจัดส่งความสนับสนุนเพิ่มเติมให้แก่ความพยายามทำสงครามของประเทศของเขา

“ผมเชื่อว่าถ้าหากคุณไม่ได้กำลังสนับสนุนยูเครนก็ต้องกำลังสนับสนุนรัสเซีย” เซเลนสกีกล่าวในการประชุมแถงข่าว ไม่นานนักหลังจากไปกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาแคนาดาแล้ว “การทำให้แรงสนับสนุนยูเครนเกิดอ่อนแอลง ย่อมหมายความว่าคุณกำลังเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่รัสเซีย”
กำลังโหลดความคิดเห็น