xs
xsm
sm
md
lg

เลือดขึ้นหน้า! สหรัฐฯ ใกล้จัดใหญ่ให้ยูเครน 'ขีปนาวุธพิสัยไกลติดอาวุธระเบิดคลัสเตอร์'

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ใกล้อนุมัติจัดหาขีปนาวุธพิสัยไกลบรรจุระเบิดคลัสเตอร์แก่ยูเครน มอบศักยภาพแก่เคียฟในด้านสร้างความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ ลึกเข้าไปในดินแดนที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย ตามรายงานของรอยเตอร์อ้างอิงเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 4 ราย

หลังพบเห็นความสำเร็จของกระสุนคลัสเตอร์สำหรับปืนใหญ่ 155 มม. ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สหรัฐฯ กำลังพิจารณาจัดหาระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธี (Army Tactical Missile System หรือ ATACMS) ที่พุ่งได้ไกลสูงสุด 306 กิโลเมตร และระบบจรวดหลายลำกล้องแบบนำวิถี (guided multiple-launch rocket systems หรือ GMLRS) พิสัยทำการสูงสุด 72 กิโลเมตร แก่ยูเครน อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้ง 2 อย่าง

ถ้าได้รับการอนุมัติ ทั้ง 2 ตัวเลือกจะพร้อมสำหรับส่งมอบแก่ยูเครนอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน ยูเครนครอบครองปืนใหญ่ 155 มม. ที่มีพิสัยทำการราว 29 กิโลเมตร บรรจุระเบิดลูกปรายได้สูงสุด 48 ลูก ส่วน ATACMS ที่อยู่ภายใต้การพิจารณา จะบรรลุกระสุนคลัสเตอร์ไปราว 300 ลูก หรือมากกว่านั้น ในขณะที่ระบบจรวด GMLR เวอร์ชันที่ยูเครนมีในคลังแสงมานานหลายเดือน จะสามารถกระจายกระสุนคลัสเตอร์ได้สูงสุด 404 ลูก

แหล่งข่าว 2 คนเปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า ด้วยที่ปฏิบัติการโจมตีตอบโต้กองกำลังรัสเซียของยูเครน ส่งสัญญาณว่ามีความคืบหน้า ทางรัฐบาลจึงกระตือรือร้นที่จะเสริมความเข้มแข็งแก่กองทัพยูเครนในช่วงเวลาที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม ทำเนียบขาวปฏิเสธแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานของรอยเตอร์

รอยเตอร์อ้างแหล่งข่าว 4 คน ระบุว่าการตัดสินใจส่งมอบ ATACMS หรือ GMLRS อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้ง 2 อย่าง ยังไม่ได้ข้อสรุปสุดท้ายและอาจไม่ผ่านความเห็นชอบ ในขณะที่เป็นเวลานานหลายเดือนแล้วที่รัฐบาลของไบเดนมีปัญหากับการตัดสินใจจัดหา ATACMS แก่ยูเครน ด้วยเกรงว่ามันจะถูกมองว่าเป็นความเคลื่อนไหวต่อต้านรัสเซียที่ก้าวร้าวเลยเถิดเกินไป

ATACMS ถูกออกแบบมาเพื่อโจมตีลึกเข้าใส่กองกำลังด่าน 2 ของศัตรู อ้างอิงจากเว็บไซต์ของกองทัพสหรัฐฯ และมันสามารถใช้โจมตีกองบัญชาการและศูนย์ควบคุมต่างๆ รวมถึงระบบป้องกันภัยทางอากาศและที่ตั้งทางโลจิสติกส์ทั้งหลาย เช่นเดียวกับแนวหลังของแนวหน้า

เคียฟส่งเสียงวิงวอนซ้ำๆ ร้องขอ ATACMS จากรัฐบาลไบเดน เพื่อช่วยในการโจมตีและสร้างความปั่นป่วนแก่เส้นทางเสบียง ฐานทัพอากาศและเครือข่ายทางราง ในดินแดนต่างๆที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดมีทรี คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศของยูเครน บอกว่าเขา และแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้หารือกันเกี่ยวกับการที่อเมริกาจะจัดหาขีปนาวุธพิสัยไกล และหวังว่าการตัดสินใจจะออกมาในแง่บวก

"ตอนนี้มันถึงเวลาแล้ว" เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งกล่าว ในขณะที่กองกำลังยูเครนพยายามเจาะทะลวงแนวของรัสเซียทางใต้ของเมืองโอริคิฟ ในความพยายามแบ่งแยกกองกำลังรัสเซีย และทำให้เส้นทางเสบียงหลักของรัสเซียตกอยู่ในความเสี่ยง ทั้งนี้แสนยานุภาพของ ATACMS และ GMLRS ไม่ใช่แค่ช่วยเพิ่มกำลังใจแก่ยูเครนเท่านั้น แต่มันยังเป็นการส่งมอบเครื่องเจาะทะลวงทางเทคนิคในการสู้รบด้วย

ATACMS ซึ่งผลิตโดยล็อคฮีด มาร์ติน มีหลากหลายเวอร์ชัน บางส่วนสามารถพุ่งได้ไกลกว่าพิสัยทำการของ GMLRS ถึง 4 เท่า และมันอาจช่วยเปลี่ยนกระแสในสมรภูมิรบ

มีความเป็นไปได้ว่าการส่งมอบครั้งนี้จะเป็นการจัดหาผ่านอำนาจของประธานาธิบดีตามกฎหมายส่งมอบสิ่งของและบริการยามฉุกเฉิน (Presidential Drawdown Authority หรือ PDA) ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีอนุมัติการส่งมอบสิ่งของและบริการของสหรัฐฯ โดยไม่ต้องผ่านการอนุมัติของรัฐสภาในยามฉุกเฉิน ซึ่งเปิดทางให้รัฐบาลนำอาวุธจากคลังแสงปัจจุบันของสหรัฐฯ ส่งมอบแก่ยูเครนในหนทางที่รวดเร็วที่สุด ภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากยังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย มันจึงไม่ชัดเจนว่าอาวุธนี้จะอยู่ในการใช้อำนาจผ่าน PDA รอบต่อไปหรือไม่ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่ามันจะอยู่ในรูปแบบของ PDA หนึ่งๆ อย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้ ในช่วงที่กลุ่มพันธมิตรกลาโหมสำหรับมอบความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน (Ukraine Defense Contact Group) จะประชุมกันที่ฐานทัพอากาศรัมสไตน์ ในเยอรมนี วันที่ 19 กันยายน

กระนั้นก็ตาม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายคัดค้านหรือเลื่อนการตัดสินใจส่งมอบออกไป

กระสุนคลัสเตอร์เป็นอาวุธต้องห้ามในประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ชาติทั่วโลก แต่ทั้งรัสเซีย ยูเครน และสหรัฐฯ ไม่ได้ลงนามใน อนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions หรือ CCM) ซึ่งห้ามผลิต กักเก็บ ใช้และถ่ายโอนอาวุธดังกล่าว

โดยปกติแล้ว กระสุนคลัสเตอร์จะปลดปล่อยระเบิดขนาดเล็กกว่าที่สามารถเข่นฆ่าชีวิตโดยไม่เลือกหน้าในพื้นที่หนึ่งเป็นบริเวณกว้าง ส่วนกระสุนลูกที่ไม่ระเบิดนั้นเสี่ยงก่ออันตรายเป็นเวลานานหลายทศวรรษหลังความขัดแย้งสิ้นสุดลง

วอชิงตัน รับปากมอบความช่วยเหลือทางทหารแก่เคียฟแล้วมากกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น