รอยเตอร์ - นักการทูตและนักวิเคราะห์ชี้การหายหน้าไปของรัฐมนตรีกลาโหมจีน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตำแหน่งระดับสูงของจีนครั้งล่าสุด และทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของระบอบสี จิ้นผิง อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศอื่นที่มีต่อผู้นำประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้
ก่อนหน้านี้ รอยเตอร์ได้รายงานเมื่อวันศุกร์ (15 ก.ย.) ว่ารัฐมนตรีกลาโหมจีน หลี่ ฉางฟู่ ที่ไม่ได้ร่วมประชุมกับรัฐมนตรีกลาโหมอย่างน้อย 1 ชาตินับตั้งแต่ปรากฏตัวครั้งสุดท้ายเมื่อปลายเดือนสิงหาคม กำลังถูกสอบสวนข้อหาทุจริตในการจัดซื้อของกองทัพ
แถมในช่วงก่อนหน้านั้น ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งสดๆ ร้อนๆ หายหน้าไปโดยแทบไม่มีคำอธิบายใดๆ เมื่อเดือนกรกฎาคม เดือนเดียวกับที่มีการยกเครื่องกองกำลังจรวด (Rocket Force) ที่รับผิดชอบคลังแสงนิวเคลียร์ของจีน
ขณะโฟกัสที่กิจการภายในประเทศ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำให้นักการทูตต่างชาติพากันกังวลที่เขางดเข้าร่วมประชุมสุดยอดจี20 ที่อินเดีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประมุขแดนมังกรไม่ร่วมประชุมกับผู้นำโลกในรอบหนึ่งทศวรรษที่ครองอำนาจ
ท่ามกลางความไม่แน่นอนมากขึ้น นักการทูตและนักวิเคราะห์บางคนเรียกร้องให้พิจารณาลักษณะที่แท้จริงของระบอบของสี
ดรูว์ ธอมป์สัน อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันเป็นนักวิชาการของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ชี้ว่า จำเป็นต้องประเมินเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งเพราะนี่ไม่ใช่คำถามว่า จีนเป็นหุ้นส่วนหรือคู่แข่งเท่านั้น แต่จีนยังอาจเป็นที่มาของความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การเมือง และการทหารอีกด้วย
ธอมป์สันเสริมว่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างไม่มีความโปร่งใส ดังนั้น คำอธิบายต่างๆ จึงเป็นไปได้ทั้งนั้น และสถานการณ์นี้จะทำให้เกิดวิกฤตศรัทธากับจีน
สำหรับการหายหน้าไปและการตรวจสอบรัฐมนตรีกลาโหมนั้น เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โฆษกหญิงของกระทรวงฯ บอกผู้สื่อข่าวว่า ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้
นับจากได้รับแต่งตั้งในเดือนมีนาคม หลี่กลายเป็นตัวแทนการทูตทางการทหารของจีนที่แสดงความกังวลกับปฏิบัติการทางทหารของอเมริการะหว่างการประชุมเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงในเดือนมิถุนายน และระหว่างเยือนรัสเซียและเบลารุสในเดือนสิงหาคม
หลี่ถูกคาดหมายว่า จะเป็นเจ้าภาพการประชุมความมั่นคงระหว่างประเทศที่จะจัดขึ้นที่ปักกิ่งในเดือนหน้า และเป็นตัวแทนกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ในการประชุมผู้นำทางทหารในภูมิภาคเดือนพฤศจิกายนที่จาการ์ตา
นักวิเคราะห์และนักการทูตบางคนเชื่อว่า การปราบปรามการทุจริตที่แทรกซึมอยู่ในกองทัพและสถาบันต่างๆ ของรัฐบาลจีนมายาวนานของสีอาจเป็นการกวาดล้างทางการเมืองภายในพรรคคอมมิวนิสต์
เฮเลนา เลการ์ดา หัวหน้านักวิเคราะห์ของสถาบันเมอร์เคเตอร์เพื่อการศึกษาจีนในเบอร์ลิน กล่าวว่า ความรู้สึกที่ว่า การดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้นต่อไปอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของต่างชาติในการปฏิสังสรรค์กับจีน
อเล็กซานเดอร์ นีล นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในสิงคโปร์และนักวิชาการเสริมของกลุ่มคลังสมองแปซิฟิก ฟอรัมในฮาวาย ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับหลี่ทั้งกะทันหันและคลุมเครือ และความใกล้ชิดไม่ได้หมายถึงการสนับสนุนในโลกของสี
แม้ไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาโดยตรง แต่หลี่เป็น 1 ใน 7 สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางการทหารแห่งรัฐของสี และ 1 ใน 5 สมาชิกสภาแห่งรัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากกว่ารัฐมนตรีปกติ
นักวิชาการบางคนเชื่อว่า หลี่ใกล้ชิดกับพลเอกจาง โหย่วเซี่ย ที่มีตำแหน่งสูงกว่าหลี่ในคณะกรรมาธิการกลางทางทหาร และเป็นพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของสีในพีแอลเอ
หลี่ที่ถูกวอชิงตันแซงก์ชันในปี 2018 จากการทำข้อตกลงอาวุธกับรัสเซีย เลี่ยงที่จะพบกับลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ในการประชุมความมั่นคงแชงกรี-ลา ไดอะล็อกที่สิงคโปร์เดือนมิถุนายน
ออสติน และเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนอื่นๆ ต้องการฟื้นการเจรจาระดับสูงกับจีน แต่ปักกิ่งคัดค้านโดยเรียกร้องให้วอชิงตันลดการแทรกแซงในเอเชีย-แปซิฟิก
เจ้าหน้าที่ในภูมิภาคระบุว่า การกระชับความสัมพันธ์ทางการทูตเชิงการทหารกับจีนมีความสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอเมริกา ขณะที่จีนประจำการทางทหารรอบไต้หวันมากขึ้น รวมทั้งในน่านน้ำที่มีข้อพิพาทด้านดินแดนในทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก
นักการทูตเอเชียคนหนึ่งชี้ว่า ชะตากรรมของหลี่สะท้อนว่า สีกำลังโฟกัสกิจการในประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีสำหรับประเทศที่ต้องการการสื่อสารที่เปิดกว้างมากขึ้นกับกองทัพจีน
ชอง จา ลัน นักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ชี้ว่า การที่พีแอลเอมีส่วนร่วมทางการทหารกับกองทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในปีนี้ รวมทั้งมีกิจกรรมใกล้ไต้หวันและทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้มากขึ้น ทำให้การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปักกิ่งเมื่อเร็วๆ นี้กระตุ้นการคาดเดาและความกังวลเกี่ยวกับความต่อเนื่องของนโยบาย อีกทั้งยังวิตกกันว่า กิจกรรมทางทหารดังกล่าวอาจเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ สถานการณ์ลุกลาม และวิกฤตการณ์