(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Multiple failures hounding Ukraine’s counteroffensive
By DANIEL WILLIAMS
19/08/2023
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแรงจูงใจทางการเมืองที่จะไม่ยอมรับว่าสงครามในยูเครนกำลังเผชิญปัญหาหนักหน่วง และต้องพิจารณาทบทวนนโยบายในการทุ่มเทช่วยเหลือเคียฟโดยที่ไม่เปิดช่องให้มีการหาทางออกด้วยการเจรจากัน ทั้งนี้จวบจนกระทั่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2024 ที่เขาวาดหวังจะได้ครองตำแหน่งเป็นสมัยที่สอง ผ่านพ้นไปเสียก่อน
การที่ยูเครนจะสามารถเจาะทะลวงครั้งใหญ่ผ่านการต้านทานของกองทหารรัสเซีย ในการรุกตอบโต้ที่พวกเขากำลังปฏิบัติการอยู่อย่างต่อเนื่องในเวลานี้ ดูท่าจะเป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย พวกผู้สังเกตการณ์ที่เฝ้าติดตามสมรภูมินี้อย่างใกล้ชิดพากันคาดคะเนว่า สงครามซึ่งยังไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใดคราวนี้ กำลังเดินหน้าไปเรื่อยๆ โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตามแทบไม่อาจสร้างความคืบหน้าอย่างสำคัญอะไรจากสนามรบ
พวกนักวิเคราะห์ ตลอดจนผู้ไปเยี่ยมเยือนพื้นที่แนวหน้าของฝ่ายยูเครน พากันเสนอเหตุผลหลายๆ ประการที่ทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่ภาวะชะงักงันในเวลานี้ เรื่องที่รัสเซียวางทุ่นระเบิดเอาไว้อย่างกว้างขวางและน่าเกรงขามในบริเวณแนวหน้าความยาว 600 ไมล์ทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของยูเครน ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลครอบคลุมข้อใหญ่ที่สุดสำหรับการเดินหน้าไปได้อย่างเชื่องช้าเช่นนี้
แต่ผู้สังเกตการณ์ระดับผู้เชี่ยวชาญหลายรายชี้ว่า สนามทุ่นระเบิดเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งของภาวะชะงักงันในสมรภูมิเท่านั้น ความบกพร่องผิดพลาดทางยุทธวิธีในส่วนของฝ่ายยูเครนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งจำกัดขนาดขอบเขตที่พวกเขาสามารถเปิดการโจมตีอย่างประณีตซับซ้อนที่อาจสร้างความคืบหน้าขึ้นมาได้ ทั้งนี้ในแง่หนึ่งกองทหารยูเครนมีส่วนคล้ายคลึงกับกองทหารรัสเซียเป็นอย่างมาก ในเรื่องที่นิยมถอยไปรอคอยอยู่ด้านหลังพวกอาวุธพิสัยทำการไกลอย่างเช่น ปืนใหญ่ ปืนครก และระบบจรวดหลายลำกล้อง ซึ่งสาดกระสุนและลูกจรวดออกมาด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อโยกคลอนการป้องกันของข้าศึกให้รวนเรพับพาบโดยอาศัยเวลาเป็นเครื่องช่วย
ความอหังการก็อาจมีส่วนแสดงบทบาทอยู่เหมือนกันในการเดินหน้าได้อย่างชักช้าเหมือนหอยทากของการรุกตอบโต้ครั้งนี้ ทั้งนี้การที่รัสเซียประสบความล้มเหลวในความพยายามที่จะเข้ายึดเมืองสำคัญๆ เมื่อตอนเริ่มต้นสงคราม และส่งผลให้กองกำลังของมอสโกต้องล่าถอย อาจกลายเป็นการเพิ่มความคาดหวังว่าเมื่อฝ่ายยูเครนบุกพวกเขาก็จะกระทำซ้ำได้อีกครั้ง ทว่าในคราวนี้กองกำลังรัสเซียที่ตั้งมั่นคอยรักษาแนวป้องกันอยู่ไม่ได้ถอยไปไหน และการคืบหน้าของฝ่ายยูเครนก็ไม่ได้เกิดขึ้น
ฝ่ายยูเครนนั้นต้องการที่จะทำแต้มสร้างชัยชนะสำคัญๆ ขึ้นมาก่อนที่อากาศจะย่างเข้าฤดูหนาวตอนประมาณปลายเดือนตุลาคมนี้ มาถึงเวลานี้เรื่องเช่นนี้ดูจะเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว กองทหารตรงแนวหน้าเล่าถึงความพยายามในการบุกขึ้นหน้าอย่างเห็นภาพว่า มันเป็นการเคลื่อนที่จาก “ต้นไม้ต้นหนึ่งไปยังอีกต้นหนึ่ง” คำว่า “การสู้รบแบบพร่ากำลัง” (attrition) กำลังปรากฏขึ้นมาในฐานะถ้อยคำที่เหมาะเหม็งสำหรับการบรรยายถึงสงครามนี้ [1]
“ผลลัพธ์ที่อาจเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ สงครามพร่ากำลังที่ปราศจากผลลัพธ์หรือกรอบเวลาที่ชัดเจน” แอนโธนี คอร์เดสแมน (Anthony Cordesman) นักวิจัยชั้นนำคนหนึ่ง ณ ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) หน่วยงานคลังสมองชื่อดังที่ตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน เขียนเอาไว้เช่นนี้
เขาชี้ว่า มันเป็น “สงครามที่ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันในสมรภูมิที่ค่อนข้างเสถียรแห่งต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นชุดยาวเหยียด ด้วยระดับของการพร่ากำลังที่สูงมาก เวลาเดียวกันพวกเขาก็เสริมสร้างที่มั่นให้แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ในตลอดทั่วทั้งแนวรบ”
เจฟฟรีย์ แซคส์ (Jeffrey Sachs) ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้วิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรื่อยมา เสนอแนะว่าวอชิงตันนั้นมีแรงจูงใจแบบสนใจผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้นกระทั่งไม่ไยดีกับระเบียบหรือมาตรฐานใดๆ ทั้งสิ้น และเวลานี้ต้องการให้สงครามคราวนี้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ
“ยูเครนกำลังถูกทำลายอย่างยับเยิน” แซคส์ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เมื่อไม่นานมานี้ “ไม่มียุทธศาสตร์อะไรทั้งนั้น ... หรือกระทั่งเลวร้ายกว่านั้นอีก มีความพยายามแบบมุ่งสนใจแต่ผลประโยชน์ของตนเองเพียงถ่ายเดียว จึงมีการแสดงบทบาทว่าตนเองไม่ได้รู้สึกผิดหวังท้อถอยต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เป็นที่แน่ใจได้ว่าจะไม่มีเรื่องประเภทซึ่งต้องยอมรับความพ่ายแพ้บางอย่างบางประการ โผล่เข้ามาขัดขวางเส้นทางแห่งความพยายามที่จะให้ได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งในปี 2024 ของไบเดน”
แต่จากการที่กองทหารรัสเซียยังคงปักหลักอยู่ในยูเครน หลายรัฐบาลของตะวันตกที่สนับสนุนเคียฟก็ได้เริ่มพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องหาทางทำความตกลงแก้ไขการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้ด้วยการเจรจากัน แม้ว่าต่อหน้าสาธารณชนแล้ว พวกเขาจะประกาศให้สัญญาว่ายังคงให้ความสนับสนุนยูเครนเรื่อยไปแบบไม่มีกำหนดเวลา
ตัวประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนนั้น ยังคงยืนกรานว่าก่อนอื่นเลยรัสเซียต้องถอยออกไปจากดินแดนของยูเครน ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศ ดมีโตร คูเลบา (Dmytro Kuleba) ทำนายว่า ยูเครนจะต้องเผชิญกับ “ฤดูใบไม้ร่วงที่ยากลำบาก” ทางการทูต (ซึ่งก็หมายถึงช่วงเวลาตอนนี้) ในการต่อสู้เพื่อปฏิเสธไม่ยอมรับเสียงเรียกร้องให้เข้าเจรจาสันติภาพ
“เสียงเหล่านี้ซึ่งกำลังเริ่มได้ยินในประเทศต่างๆ หลายหลากของโลก กำลังบอกว่ามีปัญหาหลายอย่างและมีความจำเป็นที่จะต้องเปิดการเจรจากัน เสียงเหล่านี้กำลังดังขึ้นเรื่อยๆ” คูเลบา บอกกับสำนักข่าวแห่งหนึ่งของยูเครน
วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้หนึ่งขององค์การนาโตออกมาเสนอแนวความคิดอย่างเปิดเผยว่ายูเครนควรที่จะเปิดการเจรจา “ผมคิดว่าหนทางออกทางหนึ่งอาจจะเป็นว่ายูเครนต้องยอมเสียสละดินแดนบางส่วนแต่ได้เข้าเป็นสมาชิกของนาโตเป็นการตอบแทน” เป็นคำกล่าวของ สเตียน เจนส์เซน (Stian Jenssen) ผู้ช่วยคนสำคัญของเลขาธิการนาโต เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เขากล่าวต่อไปด้วยว่าพวกนักการทูตของฝ่ายตะวันตกกำลังมีการหารือกันอยู่แล้วเกี่ยวกับสถานะความมั่นคงภายหลังสงครามของยูเครน
ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ยูเครนแสดงปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างโกรธเกรี้ยว ทั้งนี้พวกเขาบอกว่า ทหารของยูเครนกำลังต้องบาดเจ็บล้มตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันในนามของความพยายามที่จะกอบกู้ดินแดนที่ถูกยึดครองทั้งหมดกลับคืนมา ลงท้ายแล้วเจนส์เซนต้องยอมถอนคำพูดและกล่าวขออภัย โดยบอกว่าข้อเสนอเช่นนั้น “มันเป็นความผิดพลาด”
สำหรับ ไบเดน เขาให้คำมั่นต่อสาธารณชนที่จะสนับสนุนยูเครนสู้รบกับรัสเซียเรื่อยไปแบบ “เท่าไหร่เท่ากัน” กระนั้นภายในคณะบริหารของเขาก็เช่นเดียวกัน บางครั้งปรากฏให้เห็นว่ามีความกำกวมคลุมเครืออยู่เหมือนกัน
เมื่อฤดูหนาวที่แล้ว ตอนที่ฝ่ายยูเครนดูเหมือนกำลังจะเป็นฝ่ายชนะและกองกำลังฝ่ายรัสเซียต้องถอยร่น พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ (Mark Milley) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ได้เสนอแนะว่า “คุณย่อมต้องการที่จะให้มีการเจรจากัน ในเวลาที่คุณมีความเข้มแข็ง และปรปักษ์ของคุณอยู่ในฐานะที่อ่อนแอ”
“เป็นที่รับรู้ร่วมกันประการหนึ่งว่า ชัยชนะทางการทหาร ในความหมายที่แท้จริงเลยของคำๆ นี้นั้น บางทีอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบรรลุถึง” เขาพูดด้วยน้ำเสียงเรียบๆ “ด้วยเหตุนี้ คุณจึงจำเป็นต้องหันไปหาวิธีทางอื่นๆ” ปรากฏว่า มิลลีย์ ก็เช่นกัน ต้องออกมากล่าวขอถอนข้อเสนอแนะของเขาเมื่อเจอการร้องทุกข์อย่างกราดเกรี้ยวจากฝ่ายยูเครน
แต่ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็ตาม ช่วงเวลาที่ยูเครนเข้มแข็งและรัสเซียอ่อนแอ ประเภทที่ มิลลีย์ กล่าวถึงในตอนนั้น ได้ผ่านเลยไปหมดแล้ว ฝ่ายยูเครนในระยะหลังๆ นี้สามารถสร้างความคืบหน้าได้แค่น้อยนิดในสถานที่ไม่กี่แห่งตามพื้นที่เส้นแนวหน้าอันยาวเหยียด โดยในการสู้รบระหว่างช่วงการรุกตอบโต้ที่กินเวลาราวๆ 2 เดือนที่ผ่านมา พวกเขาสร้างผลงานได้เพียงแค่บุกคืบหน้าไปสัก 10 ไมล์ ทั้งนี้ตามการประมาณการของบางสำนัก
การช่วงชิงดินแดนของพวกเขาในบางจุดบางที่ถูกวัดกันเป็นเมตรเป็นหลา (1 หลาเท่ากับประมาณ 0.9 เมตร) อย่างเช่น บุกไปได้ประมาณ 1,500 หลาบริเวณรอบๆ เมืองโอริคิฟ (Orikhiv) ที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย (Zaporizhzhya nuclear plant) รุกไปได้น้อยกว่านั้นนิดหน่อยตรงบริเวณรอบๆ เมืองฮูลีอายโปล (Hulyaypole) ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน และที่ชุมชนเวลีกา โนโวซิลกา (Velyka Novosilka) ซึ่งอยู่ถัดไปทางตะวันออก
ใกล้ๆ กับเมืองบัคมุต ที่ยูเครนสูญเสียให้แก่พวกนักรบรับจ้างรัสเซียระหว่างการสู้รบอย่างดุเดือดในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา กองกำลังฝ่ายยูเครนช่วงชิงพื้นที่สูงกลับคืนมาได้สักสองสามร้อยหลา
พวกผู้เชี่ยวชาญทางการทหารพูดกันว่า การที่ยูเครนไม่มีความสามารถที่จะเคลื่อนพลออกปฏิบัติการสู้รบในลักษณะประสานกองกำลังส่วนต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างเหมาะเหม็ง ซึ่งเป็นที่รู้จักเรียกขานกันว่า “การปฏิบัติการสู้รบด้วยกำลังอาวุธส่วนต่างๆ ผสมผสานกันอย่างซับซ้อน” (complex combined arms operations) ทำให้ฝ่ายนี้ประสบความยากลำบากในการเจาะทะลุแนวป้องกันของฝ่ายรัสเซีย
ในการปฏิบัติการสู้รบอย่างผสมผสานกันนี้ หน่วยสู้รบต่างเหล่ากันจะประสานงานอย่างสอดคล้องกันในเวลาที่เข้าโจมตีพร้อมๆ กัน ตัวอย่างเช่น ขบวนรถถังจะระดมยิงใส่ที่มั่นของข้าศึก และยิงขีปนาวุธนำวิถีเพื่อคุ้มกันให้แก่หน่วยทหารราบที่บุกไปข้างหน้า
ยุทธวิธีนี้ต้องอาศัยการร่วมมือประสานงานกันในระดับที่กองทหารยูเครนยังไม่สามารถทำได้อย่างช่ำชอง นี่เป็นความเห็นของ ฟรานซ์-สเตฟาน แกดี้ (Franz-Stefan Gady) ผุ้เป็นนักวิจัยที่ปรึกษา อยู่ที่สถาบันระหว่างประเทศเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษา (International Institute for Strategic Studies หรือ IISS) สถาบันวิจัยชื่อดังของสหราชอาณาจักร
แกดี้ และเพื่อนร่วมงานกลุ่มหนึ่งได้ใช้เวลาหลายวันอยู่ที่บริเวณแนวหน้าของฝ่ายยูเครนใกล้ๆ ซาโปริซเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ เขาวาดภาพให้เห็นสถานการณ์ที่เลวร้ายซึ่งพวกทหารแนวหน้ากำลังเผชิญอยู่ “ในหมู่ทหารผ่านศึกที่มีอาการบอบช้ำทางจิตใจ ปรากฏว่ามีสาระสำคัญร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างมหาศาล นั่นคือ พวกเขาคิดว่าคนอื่นๆ ไม่สามารถที่จะเข้าใจความทุกข์ทรมานของพวกเขาได้” เขาเขียนเช่นนี้ทางทวิตเตอร์ (แพลตฟอร์มสื่อสังคมซึ่งเวลานี้รู้จักกันในชื่อ X)
ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งก็แล้วแต่ ถึงแม้มีการปฏิบัติงานทางด้านข่าวกรองอย่างน่าเกรงขาม ทว่าเหล่าพันธมิตรยังคงล้มเหลวไม่ได้จัดส่งเครื่องมืออุปกรณ์ต่อสู้กับระเบิดมาให้ยูเครนอย่างเพียงพอ ซึ่งหากไม่เกิดจุดโหว่เช่นนี้แล้ว มันอาจจะมีคุณูปการถึงขั้นทำให้สามารถเกิดการเจาะทะลวงในสนามรบได้ทีเดียว
นับตั้งแต่ที่รัสเซียต้องล่าถอยอย่างรวดเร็วในตอนต้นของสงคราม ซึ่งเดิมทีทั้งมอสโกและพวกเจ้าหน้าที่ตะวันตกต่างเคยทำนายเอาไว้เหมือนๆ กันว่าน่าจะยืดเยื้อไปได้ไม่กี่วันเท่านั้น หลังจากนั้นแล้วกองกำลังของรัสเซียก็สาละวนอยู่กับการป้องกันตนเองจากอาวุธค่อนข้างซับซ้อนทันสมัยที่สหรัฐฯ และพวกชาติพันธมิตรนาโตส่งให้แก่ยูเครน
อาวุธสำคัญอย่างหนึ่งที่สหรัฐฯ จัดส่งให้ ได้แก่เครื่องยิงจรวดหลายลำกล้องขนาดเบาเคลื่อนที่ได้ HIMAR ซึ่งทำให้ยูเครนมีความสามารถที่จะยิงไปถึงเป้าหมายที่อยู่ไกลออกไป 72 กิโลเมตร
อย่างไรก็ดี เมื่อถึงปลายฤดูหนาวของปี 2023 ทางรัสเซียก็สามารถประดิษฐ์คิดค้นวิธีการในการรบกวนสัญญาณระบบนำวิถีของ HIMAR ทำให้ลูกจรวดที่ยิงออกมามีประสิทธิภาพลดน้อยลงมามาก “ผมคิดว่าเป็นเรื่องยุติธรรมที่จะพูดว่า สิ่งซึ่งเรียกกันว่า ฤทธิ์เดชของ HIMAR ที่ปรากฏให้เห็นกันว่าตั้งแต่ฤดูร้อนปีที่แล้วนั้น ได้จบสิ้นไปอย่างแน่นอนชัดเจนแล้ว” แกดี้ กล่าว เขายังบอกต่อไปว่าความสามารถของฝ่ายรัสเซียในการรบกวนสัญญาณระบบนำวิถีของลูกจรวด HIMAR อาจกลายเป็นตัวขวางกั้นไม่ให้ฝ่ายตะวันตกจัดส่งอาวุธที่ทันสมัยล้ำยุคประเภทอื่นๆ มาให้แก่ยูเครนมากขึ้น
“ผมคิดว่าเราควรต้องตระหนักอยู่แก่ใจว่า เมื่อเราขบคิดเกี่ยวกับเครื่องกระสุนที่เป็นระบบนำวิถีซึ่งมีความแม่นยำและมีพิสัยทำการได้ไกลชนิดอื่นๆ ... ในไม่ช้าก็เร็ว รัสเซียก็จะหาวิธีมาต่อสู้กับมันจนได้” เขากล่าว
อันที่จริงแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้เองแทนที่คณะบริหารไบเดนจะจัดส่งอาวุธที่ซับซ้อนไฮเทคมากขึ้นให้แก่ยูเครน พวกเขากลับจัดส่งพวกระเบิดลูกปราย (คลัสเตอร์บอมบ์) ไปให้เป็นจำนวนมาก ระเบิดประเภทนี้เป็นพวกอาวุธไม่นำวิถีที่แตกออกมาเป็นลูกย่อยๆ จำนวนมากจากลูกกระสุนปืนใหญ่ แล้วจะกระจายไปทั่วในพื้นที่กว้างๆ อย่างไม่มีระเบียบแบบแผน
มีผู้สังเกตการณ์บางคนเสนอแนะว่า ผลรวมของปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมา – ยุทธวิธีการสู้รบที่ขาดความประณีตซับซ้อน การป้องกันที่ปรับปรุงกระเตื้องขึ้นของฝ่ายรัสเซีย ความล้มเหลวที่จะคาดคะเนได้ล่วงหน้าถึงอิทธิฤทธิ์ของสนามทุ่นระเบิด และการคาดหวังอย่างสำคัญผิดเรื่องจะสามารถเจาะทะลวงฝ่าผ่านแนวป้องกันรัสเซียไปได้อย่างรวดเร็ว— หมายความว่าความหวังที่จะทำให้รัสเซียต้องยอมจำนนนั้นกำลังเป็นเรื่องเพ้อฝันเท่านั้น
ทั้งหมดเหล่านี้เกิดขึ้นมาในขณะที่ฝ่ายรัสเซีย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ก็เผชิญกับเคราะห์ร้ายครั้งแล้วครั้งเล่าของพวกเขาเอง เป็นต้นว่า ความล้มเหลวในสมรภูมิโดยเฉพาะช่วงแรกๆ การกำจัดกวาดล้างพวกนายพลระดับท็อป กระแสคัดค้านภายในประเทศที่ระเบิดออกมาเป็นครั้งคราวซึ่งติดตามมาด้วยการฟ้องร้องกล่าวโทษพวกที่ไม่พอใจรัฐบาล และพฤติการณ์ที่ดูเหมือนเป็นการก่อกบฏของพวกนักรบรับจ้างกลุ่มวากเนอร์ หลังจากไปสู้รบอยู่เป็นเดือนๆ ในยูเครน
รัสเซียเวลานี้เอาแต่หันไปถล่มพื้นที่เขตชั้นในของยูเครนเป็นการใหญ่ โดยใช้จรวดและโดรนเข้าโจมตีแบบมุ่งสร้างความเสียหายให้แก่โครงสร้างพื้นฐานและขวัญกำลังใจของฝ่ายยูเครน
ดังนั้น ถ้าหากไม่ว่าฝ่ายใดก็ดูไม่น่าที่จะทำอะไรที่เป็นการผ่าทางตันบนภาคพื้นดินได้แล้วเช่นนี้ แล้วมันจะเป็นยังไงกันต่อไป? บางที อาจจะเป็นสงครามสนามเพลาะที่อยู่ในภาวะชะงักงันและเคลื่อนย้ายไปไหนไม่ได้ ในสไตล์ของเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่หนึ่งละกระมัง
“ปัญหาทางยุทธศาสตร์ข้อใหญ่เลยก็คือ แนวหน้าจะอยู่ในอาการหยุดนิ่ง และท้ายที่สุดก็เปลี่ยนสงครามให้กลับเป็นการสู้รบขัดแย้งกันที่ถูกแช่แข็งเอาไว้ใช่หรือไม่” ราฟาเอล โคเฮน (Raphael Cohen) นักรัฐศาสตร์ที่ทำงานอยู่กับบริษัทแรนด์ คอร์เปอเรชั่น (Rand Corporation) องค์กรคลังสมองของสหรัฐฯ ที่ทำงานใกล้ชิดกับเพนตากอน ตั้งคำถามเอาไว้เช่นนี้ เขาเขียนต่อไปว่า “คำตอบสำหรับคำถามนี้ ในท้ายที่แล้วจะชี้ขาดกันตรงที่ว่า ความช่วยเหลือทางทหารของฝ่ายตะวันตก หรือการระดมเกณฑ์ทหารของรัสเซีย อะไรจะเป็นฝ่ายเหนือกว่า”
แดเนียล วิลเลียมส์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้แก่วอชิงตันโพสต์ ลอสแองเจลิสไทมส์ และไมอามี่เฮรัลด์ รวมทั้งเป็นอดีตนักวิจัยให้แก่องค์การฮิวแมน ไรต์ วอตช์ ผลงานหนังสือเล่มของเขาเรื่อง Forsaken : The Persecution of Christians in Today’s Middle East จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ O/R Books ปัจจุบันเขาพำนักอยู่ในกรุงโรม
หมายเหตุผู้แปล
[1]ความยากลำบากของกองทหารฝ่ายยูเครนในการเจาะทะลวงฝ่าแนวป้องกันของทางรัสเซีย ในช่วงการรุกตอบโต้คราวนี้ ยังทำให้กองทัพเคียฟต้องเผชิญกับจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายที่สูงมาก ถึงแม้ยูเครนเองไม่เคยเผยแพร่ตัวเลขนี้ออกมาอย่างเป็นทางการเลย แต่ก็ปรากฏร่องรอยต่างๆ ที่ชี้ให้เห็นเช่นนั้น เป็นต้นว่ารายงานข่าวเรื่อง Ukraine taking heavy casualties 10 weeks into its counteroffensive ของฝ่ายข่าวแห่งเครือข่ายโทรทัศน์เอบีซีของสหรัฐฯ (ABC New) จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้
‘ยูเครน’ ประสบกับการบาดเจ็บล้มตายสูงลิ่วในช่วง 10 สัปดาห์ที่เปิดการรุกตอบโต้ใส่รัสเซีย
โดย เอบีซีนิวส์
Ukraine taking heavy casualties 10 weeks into its counteroffensive
ByTom Soufi Burridge, ABC News
18/08/2023
มีหลักฐานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ว่า กองทัพยูเครนกำลังเผชิญกับจำนวนการบาดเจ็บล้มตายอย่างหนักในการรุกตอบโต้ของตน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา
เอบีซีนิวส์ ได้พูดคุยกับอดีตทหารสหรัฐฯ 2 คนที่เวลานี้ทำสัญญาไปร่วมสู้รบอยู่ในกองพลทหารปฏิบัติการพิเศษของกองทัพยูเครน โดยที่ทั้งคู่ต่างได้รับบาดเจ็บระหว่างการปฏิบัติการในภาคตะวันออกของยูเครนในช่วง 2 สัปดาห์มานี้
ทหาร 2 คนนี้ในปัจจุบันรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเคียฟ แต่พวกเขาบอกว่าคาดหวังที่จะได้โยกย้ายไปยังเยอรมนีในสัปดาห์นี้เพื่อจะได้ให้แพทย์ที่นั่นผ่าตัดเอาสะเก็ดระเบิดซึ่งฝังอยู่ในร่างกายของพวกเขาออกมา
ทั้ง 2 คนเล่าว่าทีมของพวกเขาได้รับภารกิจให้เข้ายึดหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ตรงนอกเมืองโดเนตสก์ (Donetsk) ซึ่งถูกกองกำลังอาวุธท้องถิ่นที่ควบคุมโดยฝ่ายรัสเซีย เข้ายึดครองเอาไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2014
หนึ่งใน 2 คนนี้ ซึ่งเป็นอดีตทหารสหรัฐฯ จากรัฐเทกซัส และขอให้เรียกเขาตามชื่อเรียกขานทางวิทยุสื่อสารว่า “แทงโก้” (Tango) เล่าว่า หน่วยของเขาซึ่งประกอบด้วยทหารชาย “หลายสิบคน” “ได้รับบาดเจ็บไปประมาณ 85%” โดยที่มีมิตรร่วมรบของพวกเขา 2 คนถูกสังหารเมื่อตอนที่ทีมถูกซุ่มตีขณะกำลังบุกเข้าไปในดินแดนซึ่งฝ่ายรัสเซียยึดครองอยู่ เขาบอกอีกว่า หน่วยของเขาราวๆ 40% ได้รับบาดเจ็บอย่างเลวร้ายจนกระทั่งได้รับการพิจารณาว่า “ไร้ประสิทธิภาพในการสู้รบ”
อดีตทหารผ่านศึกจากกองทัพบกสหรัฐฯ อีกผู้หนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อเรียกขานทางวิทยุสื่อสารว่า “โกลด์ฟิช” (Goldfish) บอกว่า มันดูเหมือนกับว่าจู่ๆ พวกเขาก็ต้องเผชิญหน้าต่อสู้กับ “การต้านทานที่มีการจัดระเบียบอย่างดีมาก” จากกองทหารรัสเซีย
“กองกำลังที่เรากำลังสู้รบด้วย ต้องเป็นกองกำลังที่เป็นมืออาชีพมากๆ อย่างแน่นอน” อดีตทหารสหรัฐฯ ซึ่งมาจากรัฐอะแลสกาผู้นี้กล่าว
เขาพูดกับ เอบีซีนิวส์ จากห้องพักของเขาในโรงพยาบาลในกรุงเคียฟ ซึ่งเขานอนพักรักษาตัวโดยที่มีเพื่อนร่วมห้องเป็นทหารยูเครนที่ได้รับบาดเจ็บอีก 3 คน
เอบีซีนิวส์ ยังได้ติดต่อสัมภาษณ์ทหารที่รบให้แก่ยูเครนอีก 2 คนตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของสงครามรุกตอบโต้ครั้งนี้ โดยที่พวกเขาบอกว่าพวกเขาก็ได้รับบาดเจ็บในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเช่นกัน
ชายชาวตะวันตกผู้หนึ่งซึ่งมีประสบการณ์เป็นทหารมาหลายปี และเวลานี้ก็ได้เซ็นสัญญาเข้าร่วมรบให้แก่กองทัพยูเครน เล่าว่าเขาได้รับบาดเจ็บสาหัสตั้งแต่ระยะต้นๆ ของการรุกตอบโต้ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน
ทหารชาวตะวันตกผู้นี้ซึ่งพูดกับเอบีซีนิวส์โดยขอให้สงวนนามของเขา เล่าว่าการปฏิบัติการรุกที่เขาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งด้วยนั้น อยู่ในลักษณะที่ไร้ระเบียบ นอกจากนั้นเขายังวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจทางยุทธวิธีบางอย่างบางประการอีกด้วย
“เราเสียลีโอพาร์ด (รถถังทันสมัยที่ผลิตในเยอรมนี) ไปถึง 3 คันภายในวันเดียว เพราะพวกเขาถูกสั่งให้ขับมุ่งหน้าเข้าไปในสนามทุ่นระเบิด” เขากล่าว
เขาบอกอีกว่า พวกทหารยูเครนที่เพิ่งถูกเกณฑ์เข้ามาใหม่ มักดูเหมือนอยู่ในสภาพไม่ได้รับการฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับการปฏิบัติการรุกแบบสลับซับซ้อนในสนามรบ
ทหารผู้นี้ซึ่งเข้าร่วมกองทัพยูเครนมากว่า 1 ปีแล้ว เล่าว่า มีทหารหลายสิบคนจากกองพันของเขาเข้าร่วมมีส่วนในการปฏิบัติการรุกตั้งแต่ตอนที่มันเริ่มต้นขึ้นมาในเดือนมิถุนายน และถึงเวลานี้ราวๆ 80% ของคนเหล่านี้ต่างได้รับบาดเจ็บ อย่างไรก็ดี เขากล่าวต่อไปว่า ยังไม่มีใครเสียชีวิต
เขาอ้างว่า พวกยุทโธปกรณ์จากชาติตะวันตก เป็นต้นว่า ยานสู้รบทหารราบแบบ “แบรดลีย์” (Bradley infantry fighting vehicle) ที่สหรัฐฯ จัดส่งมาให้นั้น ไม่ได้ถูกนำมาใช้จนเต็มตามศักยภาพของมัน เนื่องจากทหารยูเครนบางส่วนไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมหรือมีประสบการณ์ที่จำเป็น
“มันดูเหมือนกับว่าพวกเขา (ทหารยูเครน) ได้รับการสอนให้ใช้มัน แต่ไม่ใช่ใช้สอยมัน (อย่างมีประสิทธิภาพ) ในแง่ของยุทธวิธี (ในสนามรบ)” เขาบอก
อย่างไรก็ตาม อดีตทหารอเมริกัน 2 คนที่ให้สัมภาษณ์แก่เอบีซีนิวส์ แสดงความไม่เห็นด้วยกับการประเมินผลเช่นนี้
ถึงแม้พวกเขาได้รับบาดเจ็บระหว่างการทำภารกิจที่ล้มเหลวของพวกเขาเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน แต่พวกเขาก็โต้แย้งว่า การรุกตอบโต้ของฝ่ายยูเครนกำลังดำเนินการไปอย่างดี และการบาดเจ็บกันมากในการรุกใหญ่ทางทหารลักษณะนี้โดยที่ต้องสู้รบฝ่าแนวป้องกันของรัสเซียที่คอยตั้งรับกันอย่างเหนียวแน่น ก็เป็นสิ่งที่สามารถคาดหมายกันได้อยู่แล้ว
“มันจะไม่ใช่การสู้รบที่รู้ผลอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดหรอก” ทหารที่ใช้ชื่อเรียกขานทางวิทยุสื่อสารว่า “แทงโก้” กล่าว
“การรุกตอบโต้ไม่ได้ดำเนินไปแบบนั้น พวกเขา (ฝ่ายยูเครน) กำลังมีคนบาดเจ็บล้มตาย มันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว” เขากล่าวต่อไปว่า “ผมคิดว่ามันกำลังไปได้ดีและอยู่ในจังหวะเวลาที่ดี”
“โกลด์ฟิช” สหายของเขา กล่าวเสริมว่า การรุกตอบโต้ครั้งนี้ถือเป็น “การสู้รบที่ยากลำบากมาก” สำหรับยูเครน
“แต่มันก็เป็นการสู้รบที่ฝ่ายยูเครนกำลังต่อสู้ได้ดีมาก” เขาบอก
ยูเครนไม่ได้เผยแพร่ตัวเลขผู้บาดเจ็บล้มตายเลยตั้งแต่ที่รัสเซียเปิดฉากการรุกรานอย่างเต็มขั้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่อาวุโสของฝ่ายยูเครนผู้หนึ่งบรรยายถึงสถานการณ์ในเวลานี้ว่า “ลำบากและตึงไม้ตึงมือจริงๆ” โดยที่มี “การสู้รบอย่างดุเดือดมากในสนามรบ”
เขากล่าวต่อไปว่า 80% ของการบาดเจ็บล้มตายมีสาเหตุจากปืนใหญ่และจรวดหลายลำกล้องของฝ่ายรัสเซีย
เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่า สงครามในเวลานี้กำลังอยู่ใน “ระยะตัดสินชี้ขาด” และยืนยันว่ายูเครนจำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนทางทหารเพิ่มมากขึ้นอีกจากสหรัฐฯ และหุ้นส่วนของสหรัฐฯ รวมทั้งพวกขีปนาวุธ ATACMS ของฝ่ายอเมริกัน ที่มีพิสัยทำการไกลขึ้นไปอีก นั่นคือไปได้ถึง 190 ไมล์ (ราว 305.7 กิโลเมตร)
ยูเครนให้สัญญากับสหรัฐฯ ว่า จะใช้ขีปนาวุธนี้เฉพาะในการโจมตีพวกทรัพย์สินของฝ่ายรัสเซียซึ่งอยู่ในดินแดนของยูเครนที่ถูกพวกเขายึดครอง และไม่ใช้โจมตีพวกเป้าหมายที่อยู่ภายในรัสเซีย อย่างไรก็ตาม จวบจนถึงเวลานี้คณะบริหารไบเดนยังคงปฏิเสธไม่จัดส่งขีปนาวุธที่มีพิสัยทำการไกลๆ เช่นนี้ไปให้
เจ้าหน้าที่อาวุโสของฝ่ายยูเครนผู้นั้นยืนยันว่า ยูเครนจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายต่างๆ ในสนามรบตามที่กำหนดไว้ พร้อมกับโต้แย้งว่าการจัดส่งความสนับสนุนให้มากขึ้นกันตั้งแต่ตอนนี้จะเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพคุ้มค่าใช้จ่ายมากกว่าในการดึงรั้งรัสเซียเอาไว้ และยังมีผลเป็นการรับประกันความมั่นคงในยุโรปอีกด้วย
(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://abcnews.go.com/International/ukraine-taking-heavy-casualties-counteroffensive-soldiers/story?id=102347740)