xs
xsm
sm
md
lg

‘เจาะลึก’ ทำไม ‘ข่าวกรองสหรัฐฯ’ คาดว่ายูเครนจะล้มเหลวไม่บรรลุเป้าหมายสำคัญที่สุดของการรุกตอบโต้คราวนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: วอชิงตันโพสต์ ***


ทหารยูเครนยิงระบบจรวดหลายลำกล้องรุ่นเล็กเข้าใส่แนวป้องกันของทหารรัสเซีย ณ บริเวณใกล้ๆ แนวหน้าในแคว้นซาโปริซเซีย ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา
U.S. intelligence says Ukraine will fail to meet offensive’s key goal
By John Hudson and Alex Horton, The Washington Post
17/08/2023

ยูเครนได้เปิดการรุกตอบโต้ครั้งนี้ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถลอกเลียนความสำเร็จอย่างน่าตื่นตาตื่นใจที่พวกเขาทำเอาไว้ในฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ในการผลักดันข้าศึกให้ล่าถอยไปตลอดทั่วแคว้นคาร์คิฟ ทว่าในสัปดาห์แรกของการสู้รบในปีนี้ ยูเครนก็ประสบกับการบาดเจ็บล้มตายอย่างใหญ่โตเมื่อเผชิญแนวป้องกันที่มีการตระเตรียมมาอย่างดีของรัสเซีย ถึงแม้เคียฟมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เพิ่งได้รับจากฝ่ายตะวันตกมาใหม่ๆ หลายหลาก

ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ (U.S. intelligence community) กำลังประเมินว่า การรุกตอบโต้ของยูเครนจะประสบความล้มเหลวไม่สามารถตีฝ่าไปให้ถึงเมลิโตโปล (Melitopol) เมืองสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศได้ เหล่าผู้คนซึ่งคุ้นเคยกับการคาดการณ์ที่ถือเป็นความลับนี้บอกกับวอชิงตันโพสต์ มันเป็นการค้นพบซึ่งหากได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงแล้ว ก็หมายความว่ากรุงเคียฟจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ข้อสำคัญที่สุดของตนในการบุกใหญ่ปีนี้ ซึ่งก็คือการตัดรัสเซียให้ขาดออกจากแลนด์บริดจ์เชื่อมต่อกับคาบสมุทรไครเมีย

การประเมินผลที่ออกมาอย่างโหดๆ เช่นนี้ เป็นการพิจารณาโดยอิงอาศัยความมีประสิทธิภาพอย่างร้ายกาจของรัสเซียในการปกป้องดินแดนที่ยึดครองไว้ ทั้งด้วยสนามทุ่นระเบิดและคูสนามเพลาะที่จัดวางเอาไว้อย่างหนาแน่น รวมทั้งยังน่าจะเร่งให้เกิดการชี้นิ้วกล่าวโทษกันเองภายในกรุงเคียฟและตามเมืองหลวงต่างๆ ของฝ่ายตะวันตกว่าทำไมการรุกตอบโต้ซึ่งได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์จากฝ่ายตะวันตกเป็นมูลค่าถึงหลายหมื่นล้านดอลลาร์เช่นนี้ จึงยังไปไม่ถึงเป้าหมายที่กำหนดเอาไว้

กองกำลังของยูเครน ซึ่งกำลังผลักดันข้าศึกเพื่อมุ่งไปสู่เมืองเมลิโตโปล โดยรุกออกจากหมู่บ้านโรโบทีน (Robotyne) ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 50 ไมล์นั้น จะยังคงอยู่ที่นอกเมืองแห่งนั้นอีกหลายไมล์ทีเดียว เจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายรายบอก ทั้งนี้ พวกเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ของชาติตะวันตก และของยูเครน ได้ตกลงให้สัมภาษณ์เพื่อให้ข้อมูลสำหรับเขียนรายงานข่าวชิ้นนี้ ในเงื่อนไขที่ขอให้สงวนนามเนื่องจากมีการพูดจากันเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารที่มีความอ่อนไหว

สำหรับสำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ (Office of the Director of National Intelligence) ของสหรัฐฯ นั้นไม่ยินดีที่จะแสดงความคิดเห็นใดๆ

เมืองเมลิโตโปลมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการรุกตอบโต้ของยูเครน เนื่องจากเมืองนี้ถูกมองว่าเป็นปากประตูนำไปสู่คาบสมุทรไครเมีย นครแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงจุดตัดกันของทางหลวงสายสำคัญ 2 สาย และเส้นทางรถไฟอีก 1 สาย ซึ่งเปิดทางให้รัสเซียสามารถเคลื่อนย้ายบุคลากรทางทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์จากไครเมียไปดินแดนอื่นๆ ในภาคใต้ยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดครองเช่นกัน

ยูเครนได้เปิดการรุกตอบโต้ครั้งนี้ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยความคาดหวังว่าจะสามารถลอกเลียนความสำเร็จอย่างน่าตื่นตาตื่นใจที่พวกเขาทำเอาไว้ในฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว ในการผลักดันข้าศึกให้ล่าถอยไปตลอดทั่วแคว้นคาร์คิฟ (Kharkiv)

ทว่าในสัปดาห์แรกของการสู้รบในปีนี้ ยูเครนก็ประสบกับการบาดเจ็บล้มตายอย่างใหญ่โตเมื่อเผชิญแนวป้องกันที่มีการตระเตรียมมาอย่างดีของรัสเซีย ถึงแม้เคียฟมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เพิ่งได้รับจากฝ่ายตะวันตกมาใหม่ๆ หลายหลาก เป็นต้นว่า ยานสู้รบ “แบรดลีย์” (Bradley) จากสหรัฐฯ รถถัง “ลีโอพาร์ด 2” (Leopard 2) ที่ผลิตในเยอรมนี และพวกยานยนต์ที่ใช้สำหรับการเคลียร์ทุ่นระเบิดโดยเฉพาะ

พวกเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ และของชาติตะวันตกบอกว่า อันที่จริงเกมจำลองการสู้รบที่ฝ่ายทหารของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และยูเครน ร่วมกันเล่น ได้คาดการณ์การสูญเสียเช่นนี้เอาไว้ก่อนแล้ว แต่มองเห็นกันว่าเคียฟสามารถยอมรับการบาดเจ็บล้มตายเช่นนี้ได้ในฐานะเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียสำหรับการเจาะทะลวงผ่านแนวป้องกันหลักของรัสเซีย

ทว่ายูเครนกลับเลือกที่จะหยุดยั้งความสูญเสียในสนามรบรบเช่นนี้ และเปลี่ยนมาใช้ยุทธวิธีที่มุ่งอาศัยกำลังทหารหน่วยเล็กๆ ลงมาเพื่อผลักดันข้าศึกและบุกคืบหน้าไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งแนวหน้า การทำเช่นนี้ส่งผลให้ในฤดูร้อนปีนี้ยูเครนกำลังได้ชัยทีละเล็กละน้อยในพื้นที่ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง

เมื่อเร็วๆ นี้เอง เคียฟเพิ่งจัดส่งกองทหารที่เก็บสำรองเอาไว้เข้าสู่แนวหน้าเพิ่มมากขึ้น เป็นต้นว่า กองทหารที่ใช้ยานเกราะสไตรเกอร์ (Stryker) และกองทหารที่ใช้รถถังชาเลนเจอร์ (Challenger) ทว่ายังคงไม่สามารถทะลวงผ่านแนวป้องกันหลักของรัสเซียได้สำเร็จ

ร็อบ ลี (Rob Lee) นักวิเคราะห์ด้านการทหารที่ทำงานอยู่กับสถาบนวิจัยนโยบายการต่างประเทศ (Foreign Policy Research Institute) บอกว่า เส้นทางบุกไปเมลิโตโปลนั้น กำลังกลายเป็นเส้นทางที่มีความท้าทายอย่างสุดๆ และกระทั่งการยึดคืนพวกเมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ๆ กัน อย่างเช่นเมืองต็อกมัค (Tokmak) ก็จะทำได้อย่างลำบาก

“รัสเซียมีแนวป้องกันหลักๆ 3 แนวด้วยกันที่ตรงนั้น แล้วถัดจากนั้นไปก็เป็นพวกเมืองใหญ่ซึ่งมีป้อมปราการการป้องกันที่แข็งแรง” เขากล่าว “มันไม่ใช่เป็นคำถามเพียงแค่ว่ายูเครนสามารถที่จะเจาะฝ่าแนวป้องกันเหล่านี้ได้สักหนึ่งหรือสองแนวหรือไม่ แต่พวกเขาจะสามารถเจาะฝ่าเข้าไปทั้งสามแนว แล้วยังมีกำลังเหลือเพียงพอหรือเปล่า หลังจากต้องสู้รบแบบพร่ากำลังมาแล้ว เพื่อที่จะได้บรรลุผลซึ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปอีก อย่างเช่นการยึดต็อกมัค หรืออะไรที่อยู่ถัดจากนั้นไปอีก”

ทิศทางอนาคตที่ดูมืดมนเช่นนี้ ซึ่งได้มีการบรรยายสรุปให้สมาชิกรัฐสภาบางคนของรีพับลิกันและเดโมแครตได้ทราบกันแล้วนั้น ปรากฏว่าทำให้เกิดเกมการประณามกล่าวโทษกันขึ้นมาเรียบร้อยแล้วภายในห้องประชุมที่ปิดประตูไม่ให้คนนอกเข้าฟัง ชาวรีพับลิกันบางคนเวลานี้กำลังคัดค้านคำขอของประธานาธิบดีไบเดน ที่ต้องการให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนเพิ่มเติมขึ้นอีก 20,600 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากผลการรุกซึ่งออกมาแค่เรียบๆ ไม่น่าประทับใจ ยังมีชาวรีพับลิกันคนอื่นๆ และกระทั่งพวกเดโมแครตสายเหยี่ยว (ถึงแม้อยู่ในระดับที่บันยะบันยังลงมา) กล่าวโทษคณะบริหารไบเดนที่ไม่ได้จัดส่งพวกอาวุธทรงพลังไปให้ยูเครนเสียตั้งแต่เนิ่นๆ

อย่างไรก็ดี พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ปฏิเสธเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่บอกว่า เครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 หรือระบบขีปนาวุธที่มีพิสัยทำการไกลยิ่งขึ้น อย่างเช่น ATACMS จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปได้ “ปัญหายังคงอยู่ที่เรื่องการเจาะแนวป้องกันหลักของรัสเซีย และไม่มีหลักฐานใดๆ เลยว่าระบบอาวุธที่ว่ามาเหล่านี้จะกลายเป็นยาครอบจักรวาลรักษาสารพัดโรคขึ้นมาได้” เจ้าหน้าที่อาวุโสรายหนึ่งในคณะบริหารไบเดน กล่าว

พล.อ.มาร์ก เอ. มิลลีย์ (Gen. Mark A. Milley) ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม ขณะให้สัมภาษณ์ในสัปดาห์นี้ ได้กล่าวว่า สหรัฐฯ มีความชัดเจนอยู่แล้วเกี่ยวกับภารกิจอันยากลำบากที่ยูเครนกำลังเผชิญอยู่

“ผมเคยพูดตั้งแต่เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วว่า การรุกครั้งนี้จะใช้เวลานาน มันจะมีการนองเลือด มันจะคืบหน้าไปอย่างช้าๆ” มิลลีย์บอกกับวอชิงตันโพสต์ “แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ยาวนาน นองเลือด และเชื่องช้า และมันยังเป็นการสู้รบที่ยากลำบากมากๆ”

ขณะที่ยังไม่ได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ แต่เขาชี้ว่าเคียฟประสบความสำเร็จในการลดระดับคุณภาพของกองกำลังฝ่ายรัสเซีย “ฝ่ายรัสเซียตอนนี้มีรูปร่างหน้าตาที่ย่ำแย่จริงๆ” เขากล่าว “พวกเขาได้รับความเสียหายจากการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมหึมา ขวัญกำลังใจของพวกเขาก็ไม่ดีเลย”

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่า เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) เสนอแนะมาหลายครั้งแล้วให้ยูเครนรวมศูนย์กำลังขนาดใหญ่ๆ เพื่อเจาะทะลุทะลวงที่จุดใดจุดหนึ่งเพียงจุดเดียว แต่ถึงแม้ยูเครนเลือกที่จะใช้ยุทธศาสตร์ที่แตกต่างออกไป พวกเจ้าหน้าที่ก็กล่าวว่าต้องให้เคียฟเป็นฝ่ายเลือกว่าจะทำอย่างไรเมื่อคำนึงถึงความเสียสละอย่างมหาศาลที่กองทหารยูเครนกำลังกระทำอยู่ในสมรภูมิ

รัฐมนตรีต่างประเทาศ ดมีโตร คูเลบา (Dmytro Kuleba) ของยูเครน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (17 ส.ค.) โดยขณะที่ยอมรับว่าการรุกตอบโต้ของยูเครนดำเนินไปอย่างเชื่องช้า แต่ก็บอกว่าเคียฟจะไม่หยุดสู้รบจนกว่าจะสามารถช่วงชิงดินแดนทั้งหมดของตนกลับคืนมา “เราไม่สนใจหรอกว่ามันจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน” เขาบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพี

คูเลบา ยังเรียกร้องส่งเสริมให้พวกที่วิพากษ์วิจารณ์การรุกคราวนี้ ให้ “ไปเข้าร่วมกองทหารอาสาสมัครต่างชาติ” ถ้าหากพวกเขาต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็วยิ่งกว่านี้ “มันเป็นเรื่องง่ายที่จะพูดว่าคุณต้องการให้ทุกสิ่งทุกอย่างเร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อตัวคุณไม่ได้อยู่ตรงนั้น” เขากล่าว

พวกเจ้าหน้าที่ยูเครนพูดกันเป็นการส่วนตัวว่า ต้องใช้เวลานานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับว่ากองกำลังของยูเครนสามารถบุกผ่านสนามทุ่นระเบิดได้รวดเร็วเพียงใด –โดยที่เรื่องนี้กำลังเป็นกระบวนการที่ยากลำบากซึ่งทำให้พวกทรัพยากรในการเคลียร์ทุ่นระเบิดของฝ่ายทหารอยู่ในสภาพตึงตัว เมื่อต้องทำงานเคลียร์พื้นที่ผืนกว้างใหญ่

พวกนักวิเคราะห์บอกว่า ยูเครนต้องเผชิญความท้าทายที่ซับซ้อนมีหลายแง่หลายมุม แต่เกือบทั้งหมดต่างเห็นพ้องกันว่ารัสเซียทำได้เกินกว่าคาดหมายจากการที่พวกเขามีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันดินแดนที่พวกเขายึดครองอยู่

“ปัจจัยที่มีผลตัดสินอย่างสำคัญที่สุดต่อการรุกคราวนี้เท่าที่ดำเนินมาจนถึงเวลานี้ ก็คือคุณภาพในการป้องกันของฝ่ายรัสเซีย” ลี กล่าวโดยชี้ให้เห็นว่ารัสเซียใช้ทั้งคูสนามเพลาะ ทุ่นระเบิด และอากาศยาน “พวกเขามีเวลาเยอะแยะ และพวกเขาก็ตระเตรียมมาเป็นอย่างดี ... ทำให้มันเป็นเรื่องลำบากมากๆ ที่ยูเครนจะรุกคืบหน้า”

ยังมีการหยิบยกคำถามเกี่ยวกับเรื่องวิธีการที่ยูเครนใช้กำลังทหารของตน และใช้ในพื้นที่บริเวณไหนอีกด้วย

เป็นเวลาหลายเดือนมาแล้ว ฝ่ายยูเครนทุ่มเททรัพยากรจำนวนมโหฬารเข้าไปที่เมืองบัคมุต ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของยูเครน ไม่ว่าจะเป็นกำลังทหาร เครื่องกระสุน และเวลา แต่พวกเขาก็ยังคงสูญเสียอำนาจควบคุมเมืองนี้อยู่ดี และความพยายามในการยึดพื้นที่รอบๆ เมืองกลับคืนมาก็มีผลเพียงเล็กน้อยเท่าน้อย และขณะที่การสู้รบแบบประชิดตามแนวคันคูสนามเพลาะในบัคมุต มีความแตกต่างไปจากปัญหาสนามทุ่นระเบิดในภาคใต้ แต่การมุ่งโฟกัสอยู่ที่นี่ก็ทำให้บางคนในคณะบริหารไบเดนมีความกังวลว่า การมัวแต่มุ่งมั่นอยู่ในภาคตะวันออกมากเกินไป อาจเป็นการกัดกร่อนบ่อนทำลายศักยภาพความสามารถของการรุกตอบโต้ในภาคใต้

ในเอกสารการประเมินของประชาคมข่าวกรองฉบับใหม่คราวนี้ ยังแนบเอาไว้ด้วยเอกสารลับเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของสหรัฐฯ ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเสนอแนะว่าการขาดแคลนในเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์และความเข้มแข็งทางกำลังทหาร อาจหมายความว่าการรุกตอบโต้จะ “ไม่เพียงพอ” สำหรับการบรรลุเป้าหมายของยูเครนในการตัดขาดแลนด์บริดจ์ติดต่อกับไครเมียให้สำเร็จภายในเดือนสิงหาคม เอกสารการประเมินนี้ ที่มีการให้รายละเอียดเอาไว้ในเอกสารลับฉบับหนึ่งซึ่งรั่วไหลออกมาก่อนหน้านี้แล้วผ่านทางแอปสื่อสังคม “ดิสคอร์ด” (Discord) ได้ระบุเมืองเมลิโตโปล หรือไม่ก็เมืองมาริอูโปล ว่าเป็นจุดมุ่งหมาย ซึ่งจะใช้ “เพื่อปฏิเสธไม่ให้ฝ่ายรัสเซียสามารถใช้ทางข้ามทางบกในการเข้าถึงไครเมีย”

พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กล่าวว่า วอชิงตันยังคงเปิดกว้างเผื่อเอาไว้สำหรับการที่กรุงเคียฟจะสามารถสร้างเซอร์ไพรส์ให้แก่พวกที่มีความระแวงสงสัย และเอาชนะคว้าเดิมพันที่แต้มต่อรองแยะมากไปได้สำเร็จ เจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมรายหนึ่งกล่าวว่า เป็นไปได้ที่ยูเครนอาจทอดทิ้งธรรมเนียมการปฏิบัติที่เคยทำมาในอดีต และยังคงดำเนินการรุกตอบโต้ต่อไปจนตลอดทั้งฤดูหนาวปีนี้ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งเรื่องการที่ต้องคอยประคับประคองให้พวกทหารได้รับความอบอุ่น และเก็บสะสมอาหารและเครื่องกระสุนให้พอเพียง จะกลายเป็นปัญหายากลำบากยิ่งขึ้นมากมายนัก

ทว่านั่นจะต้องขึ้นต่อปัจจัยสำคัญๆ หลายๆ ประการ เป็นต้นว่า จำนวนทหารที่ยังเหลืออยู่ซึ่งจำเป็นต้องนำมาใช้ ภายหลังเพิ่งผ่านฤดูการสู้รบอย่างดุเดือดรุนแรง นอกจากนั้นแล้วยังต้องยึดโยงอยู่กับว่าพวกเขามีอุปกรณ์พิเศษเฉพาะสำหรับฤดูหนาวตลอดจนเสื้อผ้าสำหรับใช้ในเวลาอากาศเย็นยะเยือกอยู่ในมือมากน้อยเพียงใด เจ้าหน้าที่ด้านกลาโหมผู้นี้แจกแจง ทั้งนี้สิ่งที่ต้องคำนึงอีกอย่างหนึ่งก็คือ มอสโกยังอาจจะสู้รบได้ถนัดถนี่มากกว่าอยู่ดีในระหว่างการปฏิบัติการทางทหารช่วงฤดูหนาว

“พวกรัสเซียนั้นขึ้นชื่อลือชาอยู่แล้วในเรื่องความสามารถในการสู้รบในอากาศหนาว” เจ้าหน้าที่ผู้นี้บอก

(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษของข้อเขียนชิ้นนี้ได้ที่ https://www.washingtonpost.com/national-security/2023/08/17/ukraine-counteroffensive-melitopol/)
กำลังโหลดความคิดเห็น