xs
xsm
sm
md
lg

‘ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ’ ฟันธงการรุกของ ‘ยูเครน’ ล้มเหลว จับตา ‘รัสเซีย’ ระดมทหารนับแสนทำท่าเตรียมบุกเพื่อชี้ขาดชัยชนะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


รถถังหลัก “ชาเลนเจอร์” ที่สหราชอาณาจักร จัดส่งให้เคียฟ ยังไม่สามารถสร้างความแตกต่างในสงครามยูเครนขึ้นมาได้ (ภาพจากกองทัพบกสหราชอาณาจักร)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

US intelligence says Ukraine’s offensive a failure
By STEPHEN BRYEN
19/08/2023

ยูเครนกำลังถูกประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ ประเมินว่า จะไม่สามารถตีฝ่าแนวป้องกันของรัสเซียเข้ายึดเมืองเมลิโตโปล ทางภาคใต้ได้สำเร็จ ทำให้มีผู้ตั้งคำถามกันมากขึ้น กระทั่งในหมู่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ ว่ายังสมควรทุ่มเทความช่วยเหลือให้แก่เคียฟต่อไปหรือไม่ ขณะเดียวกันนั้น มีสัญญาณว่ารัสเซียอาจจะเปิดการรุกของฝ่ายตนเพื่อตัดสินชี้ขาดสถานการณ์

ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ (๑) มีความเห็นว่า การรุกของยูเครนประสบความล้มเหลว โดยไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตนเองกำหนดเอาไว้ นั่นคือการยึดเมืองเมลิโตโปล (Melitopol)

ตามรายงานข่าวชิ้นหนึ่งในวอชิงตันโพสต์ [1] ยูเครนพยายามหาทางตัดกองทัพของรัสเซียที่อยู่ในภาคใต้ยูเครน ให้ขาดออกจากคาบสมุทรไครเมีย และในการดำเนินการคู่ขนานไปกับเรื่องนี้ ยูเครนที่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ก็หาทางโจมตีสะพานข้ามช่องแคบเคิร์ช (Kerch Strait bridge) ซึ่งเชื่อมรัสเซียกับไครเมียเข้าด้วยกันหลายต่อหลายครั้ง ขณะที่การโจมตีเหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายให้แก่ถนนบนสะพานแห่งนี้ ทว่ามันยังคงสามารถใช้งานได้ต่อไป

ในความเป็นจริงแล้ว การสู้รบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด คือการต่อสู้รอบๆ หมู่บ้านโรโบทีน (Robotyne) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเมลิโตโปลราว 80.5 กิโลเมตร ตรงจุดนี้ฝ่ายยูเครนได้ระดมกองกำลังที่เก็บสำรองเอาไว้ในทางยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นพวกหน่วยทหารที่ผ่านการฝึกมาอย่างดีเยี่ยมที่สุดของตน โดยรวมทั้งกองทหารส่งทางอากาศที่ 82 ของยูเครน (Ukrainian 82nd Airborne) [2] ด้วย เข้ามาใช้งาน

กองทหารชั้นนำเหล่านี้ประกอบอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ได้รับมาจากฝ่ายตะวันตกอย่างเต็มเพียบ เป็นต้นว่า รถถังหลัก ชาเลนเจอร์ 2 (Challenger II) [3] จากสหราชอาณาจักร ยานสู้รบทหารราบ มาร์เดอร์ (Marder หรือ Schützenpanzer Marder 1) จากเยอรมนี รถหุ้มเกราะ 8 ล้อ สไตรเกอร์ (Stryker) จากสหรัฐฯ ยานสู้รบทหารราบ แบรดลีย์ จากสหรัฐฯ และยานขนส่งทหารหุ้มเกราะต้านทานทุ่นระเบิดและป้องกันการซุ่มตี (Mine Resistant Ambush Protected heavily armed transports หรือ MRAPs) ผลิตในสหรัฐฯ วัตถุประสงค์ก็คือ เพื่อเจาะทะลวงผ่านแนวป้องกันของฝ่ายรัสเซีย และรุกอย่างรวดเร็วไปยังเมืองเมลิโตโปล

แผนที่จากยูโรนิวส์ (ภาพ Facebook Screengrab)
ขณะที่ฝ่ายยูเครนสามารถสร้างผลงานชั่วคราวบางอย่างบางประการขึ้นมาได้ แต่การโจมตีเหล่านี้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงลิบลิ่วทั้งในรูปของกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ และฝ่ายรัสเซียก็สามารถขับไล่กำลังทหารรุกโจมตีเหล่านี้ให้ล่าถอยกลับไปได้เป็นส่วนใหญ่

(ถ้าหากคุณเกิดนึกสนุกต้องการหาความบันเทิงใจให้ตัวเอง มันมีเรื่องราวนับไม่ถ้วนทีเดียวโพสต์ทางออนไลน์ซึ่งพูดโอ่อวดบอกว่ารถถังชาเลนเจอร์สามารถบุกตะลุยฝ่าแนวของฝ่ายรัสเซียเข้าไป ทว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นในความเป็นจริงเลย)

การตัดสินใจนำเอากองทหารที่เก็บสำรองไว้เข้ามาใช้งานในสมรภูมิ ถือได้ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่มีความเสี่ยงสูงยิ่งของกองทัพยูเครน หากกองทหารเหล่านี้ได้รับความเสียหายหนัก อย่างที่เวลานี้ดูเหมือนจะเป็นเช่นนี้จริงๆ มันก็จะไม่อาจรักษาความเป็นหน่วยทหารที่สู้รบได้อย่างมีประสิทธิภาพเอาไว้ได้อีกต่อไป เรื่องนี้อาจส่งผลร้ายแก่แผนการของฝ่ายยูเครนที่ต้องการจะทำสงครามต่อไปอีก

ยูเครนนั้นไม่ได้มีกำลังคนที่จะนำมาแทนที่กองกำลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของตน พวกเยาวชนคนหนุ่มสาวที่มีการศึกษาดีซึ่งอาจจะเกณฑ์เข้ามาฝึกเป็นทหารชั้นเยี่ยมได้นั้น ส่วนใหญ่ที่สุดหากไม่ใช้วิธีติดสินบนเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกเกณฑ์ ก็หลบหลีกออกไปอยู่ต่างประเทศกันแล้ว

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์) เซเลนสกี ได้สั่งปลดพวกผู้รับผิดชอบการเกณฑ์ทหารในทุกๆ ท้องที่ทั่วประเทศ [4] เวลานี้เขากำลังพยายามหาทางให้กองทัพเป็นผู้รับผิดชอบการขับดันดำเนินการเกณฑ์ทหารในทั่วประเทศแทนที่ โดยใช้หนทางและวิธีการต่างๆ ทุกอย่างที่เห็นว่าจำเป็น เวลานี้กำลังมีการพูดจากันเกี่ยวกับการนำเอาชายที่อยู่ในวัย 40 ปีขึ้นไปเข้ามารับราชการทหารรับใช้เครื่องจักรแห่งสงคราม อันที่จริงทหารจำนวนมากที่พบเห็นกันอยู่ในสนามรบในเวลานี้ ก็ดูเป็นพวกที่อายุมากเกินไปกันอยู่แล้ว

แต่กระทั่งถ้ายูเครนลงเรี่ยวลงแรงอย่างหนักจนประสบความสำเร็จในการจัดหาคนเข้าสู่กองทัพ หากปราศจากการฝึกอบรมพวกเขาก็จะยังคงเป็นภาระยิ่งกว่าจะเป็นประโยชน์อะไรอื่น ยิ่งไปกว่านั้น การดิ้นรนเที่ยวดึงผู้คนแม้กระทั่งพวกมีคุณภาพต่ำเตี้ยที่สุด ย่อมเป็นการนำเอาทหารที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้เข้ามาในกองทัพ เป็นทหารซึ่งอาจจะไม่ได้ต้องการเข้าสู้รบเลย

นี่คือปัญหาสำคัญยิ่งยวดสำหรับพวกนายทหารชั้นสัญญาบัตรและนายทหารชั้นประทวนของยูเครน ผู้ซึ่งไม่เพียงจำเป็นต้องนำเอาทหารเกณฑ์เข้ามาเร่งรัดฝึกอบรมเพื่อให้ทันกับความต้องการเท่านั้น แต่ยังต้องเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้พวกเขาก้าวเดินเข้าไปใน “เครื่องบดเนื้อ” [5] และเสี่ยงชีวิตของพวกเขา แม้กระทั่งในเวลานี้ก็มีตัวอย่างของหน่วยทหารที่ปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมในการปะทะสู้รบกันซึ่งพวกเขามองว่าอยู่ในสภาพเหมือนกับการฆ่าตัวตาย

ยุทธศาสตร์ของฝ่ายรัสเซียคือยุทธศาสตร์ของการมุ่งป้องกันอย่างกระตือรือร้นในแทบจะทุกๆ ภาคส่วน จะมีข้อยกเว้นก็คือในแคว้นคาร์คิฟ [6] ที่ซึ่งฝ่ายรัสเซียกำลังบุกคืบหน้าอย่างรวดเร็ว และอีกไม่ช้าไม่นานจะเข้าโจมตีเมืองคูเปียนสก์ (Kupiansk หรือ Kupyansk) ชุมทางรถไฟแห่งสำคัญซึ่งยูเครนจำเป็นต้องใช้สำหรับการจัดส่งเครื่องกระสุนและยุทธสัมภาระต่างๆ ให้แก่กองทหารของตนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากคิดว่า คูเปียนสก์คงจะแตกในสัปดาห์ที่จะถึงนี้หรือราวๆ นั้น

รัสเซียบอกว่าพวกเขายังไม่ได้เริ่มการรุกของพวกเขาเองเลย แต่กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมตัวเพื่อกระทำเช่นนั้น ทั้งนี้รัสเซียได้ชุมนุมทหารราว 100,000 คนเอาไว้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอาจถูกนำมาใช้ในการรุกที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เวลาเดียวกันขบวนลำเลียงยุทโธปกรณ์ของฝ่ายรัสเซียก็ได้ถูกพบเห็นและถูกบันทึกภาพนำออกมาโพสต์เผยแพร่กัน ดังนั้น สิ่งที่กำลังดำเนินอยู่เวลานี้จึงเป็นขั้นตอนของการสั่งสมกำลัง ทว่าสิ่งที่มีความชัดเจนน้อยกว่านักหนา คือเรื่องที่ว่ารัสเซียกำลังจะบุกในทิศทางไหน

บางคนบางฝ่ายคิดว่ารัสเซียจะเล็งเป้าหมายเข้ายึดเมืองคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ในยูเครน อย่างไรก็ดี กองทัพรัสเซียยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกหลายทาง เป็นต้นว่า พวกเขาอาจลองพยายามหาทางล่อให้กองทหารหน่วยหลักๆ ของกองทัพยูเครนจากทางเหนือและทางใต้ เคลื่อนเข้าสู่พื้นที่กับดัก ในทันทีที่การรุกของฝ่ายยูเครนค่อยๆ ซาลงไป เรื่องนี้จะเป็นภัยอันตรายมากต่อยูเครน และสามารถจุดชนวนวิกฤตการณ์แห่งการดำรงคงอยู่สำหรับเคียฟขึ้นมาได้ทีเดียว

รายงานของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ ส่วนที่เผยแพร่แก่สาธารณชน จริงๆ แล้วไม่ได้มีการมองสถานการณ์ล่วงหน้าไกลออกไป แต่มันน่าที่จะปรากฏอยู่ในการประเมินผลที่ถูกจัดชั้นให้เป็นเอกสารลับ ซึ่งจะกระทำอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้นมากมายนัก จริงๆ แล้วประชาคมข่าวกรองกำลังรายงานอะไรให้ทำเนียบขาวและสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวรับทราบ? และพวกเขามีความสามารถที่จะให้ความใส่ใจรับฟังกันหรือไม่?

ส.ส.แอนดี แฮร์ริส (Andy Harris) (๒) จากรัฐแมริแลนด์สังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นประธานร่วมของกลุ่มสมาชิกสภาโปรยูเครน ได้ไปถึงบทสรุป [7] แล้วว่าสงครามยูเครนนั้นเป็นสงครามที่ไม่สามารถเอาชนะรัสเซียได้ แล้วก็เหมือนกับคนอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง เขากำลังพูดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดสถานการณ์ยันกันเอาชนะกันไม่ได้ จนกระทั่งเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ทว่ามันไม่น่าเป็นไปได้หรอกที่รัสเซียจะยอมยุติปล่อยให้เกิดการชะงักงันดังกล่าวลากยาวไปเรื่อยๆ หากแต่จะสู้รบไปจนกระทั่งสามารถนำความขัดแย้งคราวนี้เข้าไปถึงบทสรุปนั่นแหละ

รัสเซียนั้นไม่เหมือนกับยูเครน พวกเขาไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนกำลังคน เวลาเดียวกันนั้นอุตสาหกรรมสงครามของพวกเขาในปัจจุบันก็สามารถทำงานกันแบบสัปดาห์ละ 7 วันๆ ละ 24 ชั่วโมง และผลิตยุทโธปกรณ์ทั้งหลายที่จำเป็นสำหรับการทำสงครามครั้งนี้ เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสหรัฐฯ หรือยุโรป ซึ่งกำลังประสบภาวะขาดแคลนคนงานมีฝีมืออย่างร้ายแรงยิ่ง แล้วยังเผชิญปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานที่ฉกาจฉกรรจ์อีกด้วย

ทั้งนี้ พวกบริษัทด้านกลาโหมแห่งหลักๆ ของอเมริกัน อย่างเช่น เรย์ธีออน (Raytheon) แถลงยอมรับว่าพวกเขาต้องพึ่งพาอาศัยซัปพลายสำคัญยิ่งยวดหลายๆ อย่างจากประเทศจีน และมันคงจะอีกไม่นานนักหรอกก่อนที่ฝ่ายจีนจะปิดสายท่อส่งนั้นไป [8] ไบเดนกำลังต้องการได้งบประมาณความช่วยเหลือยูเครนอีกก้อนหนึ่งเป็นจำนวนเงินสูงถึง 20,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ [9] ทว่าต้องผ่านการอนุมัติจากรัฐสภาเสียก่อน ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐสภายังปรารถนาที่จะอัดฉีดเงินก้อนมหึมาขนาดนั้นให้แก่โครงการที่กำลังพ่ายแพ้ปราชัยอยู่แล้วหรือไม่

คณะบริหารสหรัฐฯ ชุดปัจจุบันต้องการให้สงครามคราวนี้ยืดขยายยาวออกไปจนกระทั่ง โจ ไบเดน ได้รับการเลือกตั้งอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 พวกเขาจึงกำลังส่งเสริมสนับสนุนแนวความคิดเรื่องสงครามยูเครนกำลังเข้าสู่ภาวะชะงักงัน เพื่อพยายามรักษาไฟสงครามให้ยังคงคุกรุ่นเผาไหม้ไปก่อน อย่างไรก็ตาม กระแสลมกำลังพัดแรงขึ้นเรื่อยๆ และอีกไม่ช้าไม่นานฝนก็จะเริ่มเทลงมาแล้ว กระนั้นก็ดูเหมือนว่าไม่มีใครเลยในวอชิงตัน ซึ่งมีความสนอกสนใจแม้กระทั่งสักน้อยนิดในเรื่องการเจรจากับฝ่ายรัสเซียและตกลงกันยุติการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ในบล็อก Substack, Weapons and Strategy ของผู้เขียน

เชิงอรรถ


[1] https://link.sbstck.com/redirect/0e80ee3c-fdb3-4a65-9d2d-aa2ea7130603?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[2] https://link.sbstck.com/redirect/b9a3a422-e3f8-4fd4-a6c8-c54b3c6a9db1?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[3] https://link.sbstck.com/redirect/edc1d389-f978-4806-9060-17accf7dbdec?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[4] https://link.sbstck.com/redirect/87e6ca7f-2c5b-49c3-adc2-cf5c5d79ddca?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[5] https://link.sbstck.com/redirect/7d15b70b-0bb1-4d86-8e86-bec9f4aea24e?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[6] https://link.sbstck.com/redirect/e5c82140-856e-4639-898c-18c6d3ff6b5e?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[7] https://link.sbstck.com/redirect/9fa31597-461d-475a-8afd-4dadf73c9d44?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[8] https://link.sbstck.com/redirect/bc0d1f3f-3170-4919-a20d-0eb623d5aa1c?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw
[9] https://link.sbstck.com/redirect/d72a8287-f1b1-4232-b4be-96a90f55339d?j=eyJ1IjoiNTQ1NTUifQ.qYFYx5kfGiWo9cjGcAInbSEGFimskGW0kn2G2WyOBFw

ตราของสำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ
หมายเหตุผู้แปล

(๑) ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ (United States Intelligence Community หรือ IC) หมายถึงองค์รวมของสำนักงานข่าวกรองแห่งต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ ตลอดจนองค์การในเครือ ซึ่งมีทั้งที่ปฏิบัติงานแยกเป็นอิสระจากกันและปฏิบัติงานแบบรวมหมู่กันเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางด้านการข่าวกรอง ในการสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศและผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา องค์การหน่วยงานซึ่งเป็นสมาชิกของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ มีทั้งสำนักข่าวข่าวกรอง หน่วยงานข่าวกรองทางทหาร และหน่วยงานข่าวกรองพลเรือน ตลอดจนสำนักงานวิเคราะห์ภายในกระทรวงทบวงกรมของฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ

ประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ (Office of the Director of National Intelligence หรือ ODNI) ซึ่งมีผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ (director of national intelligence หรือ DNI) เป็นผู้บังคับบัญชา โดยที่ DNI รายงานตรงต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ

สำหรับองค์การที่อยู่ในประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯ นอกจากสำนักงานผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ ที่มีผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติเป็นผู้นำแล้ว หน่วยงานสมาชิกรายอื่นๆ ได้แก่

-- สำนักงานข่าวกรองทหารเรือ (Office of Naval Intelligence หรือ ONI)

-- ข่าวกรองหน่วยยามฝั่ง (Coast Guard Intelligence หรือ CGI)

-- กรมข่าวกรองและการวิจัย (Bureau of Intelligence and Research หรือ INR) ซึ่งเป็นสำนักงานข่าวกรองในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ

-- สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (Central Intelligence Agency หรือ CIA)

-- หน่วยที่ 16 กองทัพอากาศ หรือไซเบอร์กองทัพอากาศ (Sixteenth Air Force หรือ Air Forces Cyber หรือ16 AF) เป็นองค์กรของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ที่รับผิดชอบด้านสงครามข้อมูลข่าวสาร

-- สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Agency หรือ NSA) / หน่วยงานความมั่นคงส่วนกลาง (Central Security Service หรือ CSS) NSA ที่เป็นสำนักงานข่าวกรองระดับชาติของกระทรวงกลาโหม ขณะที่ CSS เป็นหน่วยงานสนับสนุนการสู้รบของกระทรวงกลาโหม

-- สำนักงานการลาดตระเวนแห่งชาติ (National Reconnaissance Office หรือ NRO) หน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่ออกแบบ สร้าง ปล่อย และใช้งานพวกดาวเทียมลาดตระเวน หรือก็คือดาวเทียมสอดแนม ของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ

-- หน่วยงานข่าวกรองกลาโหม (Defense Intelligence Agency หรือ DIA) เป็นหน่วยงานข่าวกรองและหน่วยงานสนับสนุนการสู้รบของกระทรวงกลาโหม ที่มีความชำนาญพิเศษในเรื่องการป้องกันและข่าวกรองการทหาร

-- เหล่าการข่าวกรองทหาร (Military Intelligence Corps) เหล่าการข่าวกรองของกองทัพบกสหรัฐฯ

-- สำนักงานข่าวกรองและต่อต้านข่าวกรอง (Office of Intelligence and Counterintelligence หรือ OICI) เป็นหน่วยงานของกระทรวงพลังงาน (Department of Energy หรือ DOE)

-- ข่าวกรองเหล่านาวิกโยธิน (Marine Corps Intelligence)

-- สำนักงานข่าวกรองข้อมูลเชิงพื้นที่แห่งชาติ (National Geospatial-Intelligence Agency หรือ NGA) เป็นหน่วยงานสนับสนุนการสู้รบหน่วยหนึ่งของกระทรวงกลาโหม ซึ่งภารกิจสำคัญที่สุดคือการรวบรวม วิเคราะห์ และกระจายแจกจ่ายข่าวกรองข้อมูลเชิงพื้นที่ เพื่อสนับสนุนความมั่นคงแห่งชาติ หน่วยงานนี้มีอยู่ช่วงหนึ่งเคยรู้จักกันในชื่อว่า หน่วยงานภาพถ่ายและการแผนที่แห่งชาติ (National Imagery and Mapping Agency หรือ NIMA)

-- สำนักงานข่าวกรองและการวิเคราะห์ (Office of Intelligence and Analysis หรือ OIA) เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการคลัง

-- กองข่าวกรอง (Intelligence Branch หรือ IB) เป็นหน่วยงานของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ (Federal Bureau of Investigation หรือ FBI)

-- สำนักงานข่าวกรองความมั่นคงแห่งชาติของสำนักงานบริหารการปราบปรามยาเสพติดสหรัฐฯ (Office of National Security Intelligence (ONSI) of the United States Drug Enforcement Administration หรือ DEA)

-- สำนักงานข่าวกรองและการวิเคราะห์ (Office of Intelligence and Analysis หรือ I&A) เป็นหน่วยงานข่าวกรองระดับชาติฝ่ายพลเรือนของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Department of Homeland Security หรือ DHS)

-- ศูนย์ข่าวกรองอวกาศแห่งชาติ (National Space Intelligence Center หรือ NSIC) ผู้ทำหน้าที่นี้ในเวลานี้คือ หน่วยงานของกองกำลังอวกาศสหรัฐฯ (United States Space Force) ที่ใช้ชื่อว่า สเปซ เดลตา 18 (Space Delta 18 หรือ DEL 18)

(ที่มา : วิกิพีเดีย https://en.wikipedia.org/wiki/United_States_Intelligence_Community)

แอนดี แฮร์ริส ส.ส.พรรครีพับลิกัน จากรัฐแมริแลนด์
(๒) เว็บไซต์ข่าว “โพลิติโค” เสนอรายงานข่าว กลุ่มสมาชิกรัฐสภาโปรยูเครนในสหรัฐฯ เวลานี้หลายๆ คนกำลังปรับเปลี่ยนจุดยืน หันมาตั้งคำถามเอากับการทุ่มเทความช่วยเหลือให้แก่เคียฟ เป็นต้นว่า ส.ส.แอนดี แฮร์ริส ซึ่งเป็นแกนนำคนหนึ่งของกลุ่มนี้ จึงขอเก็บความนำมาเสนอเพิ่มเติมในที่นี้

กระทั่งผู้นำของ‘กลุ่ม ส.ส.โปรยูเครน’ ของสหรัฐฯ ก็เห็นว่าช่วย ‘เคียฟ’ ต่อไปไม่ไหวแล้ว
โดย เว็บไซต์ข่าว “โพลิติโค”

Ukraine’s top Freedom Caucus ally gets cold feet
By SARAH FERRIS, ANTHONY ADRAGNA and DANIELLA DIAZ, POLITICO
17/08/2023

เมืองอาบิงดอน, รัฐแมริแลนด์, สหรัฐอเมริกา- ขณะใช้โปรแกรมเพาเวอร์พอยต์ นำเสนอปัญหาภาระหนี้สินแห่งชาติของสหรัฐฯ ส.ส.แอนดี แฮร์ริส (Andy Harris) บอกกับพวกผู้มีสิทธิออกเสียงในเขตเลือกตั้งของเขาว่า มันถึงเวลาแล้วที่สหรัฐฯ จะต้องค่อยๆ ยุติการให้ช่วยเหลือโดยตรงแก่ยูเครน

“ตอนนี้มันอยู่ในสภาพที่มากกว่าแค่ภาวะชะงักงันใช่ไหม? พวกเราควรต้องพูดกันถึงความเป็นจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่? ผมคิดว่าบางทีพวกเราสมควรต้องทำเช่นนั้นนะครับ” แฮร์ริส (ส.ส.พรรครีพับลิกัน จากรัฐแมริแลนด์) พูดเช่นนี้ระหว่างรายการชี้แจงไขข้อข้องใจด้วยรูปลักษณ์การประชุมประชาชนที่ศาลาประชาคม (town hall meeting) เมื่อคืนวันอังคาร (15 ส.ค.) ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องสมุดประชาชนแห่งหนึ่งในเมืองอาบิงดอน ห่างจากกรุงวอชิงตันไปทางเหนือราว 75 ไมล์ (ราว 120.7 กิโลเมตร)

สิ่งที่เขากำลังพูดถึง คือการรุกตอบโต้ในช่วงฤดูร้อน/ฤดูใบไม้ร่วงของยูเครน ซึ่งมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพลิกผันกระแสคลื่นของสงครามคราวนี้ “ผมจะขอพูดตรงๆ นะครับ มันล้มเหลวครับ” แล้วเขายังพูดตรงๆ เช่นกันเกี่ยวกับลู่ทางโอกาสที่จะไปสู่ชัยชนะในอนาคตข้างหน้า “ผมไม่มีความแน่ใจอีกต่อไปแล้วที่จะพูดว่ามันเป็นเรื่องที่เราจะเป็นฝ่ายชนะ”

ทำไมคำพูดในเรื่องนี้ของเขาจึงสมควรได้รับความสนอกสนใจมากเป็นพิเศษ? เพราะคำพูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นความคิดเห็นตามแบบแผนปกติสำหรับสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มเฮาส์ ฟรีดอม คอคัส (House Freedom Caucus) ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่ม ส.ส.ที่มีแนวคิดแบบขวาเข้มข้น โดยที่ แฮร์ริส เป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มนี้มาอย่างยาวนาน แต่ไม่เพียงเท่านั้น แฮร์ริส ยังเป็นประธานร่วมของกลุ่มคองเกรสชั่นนัล ยูเครน คอคัส (Congressional Ukraine Caucus) อันเป็นกลุ่ม ส.ส.ที่มุ่งมั่นช่วยเหลือยูเครน โดยที่คุณแม่ของเขาก็เป็นชาวยูเครนที่หลบหนีพวกคอมมิวนิต์ยุโรปตะวันออกมาอยู่ในอเมริกาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

(ตามรายงานของ อาร์ที สื่อของทางการรัสเซีย แฮร์ริสเป็นบุตรชายของคุณพ่อคุณแม่ที่อพยพมาจากยุโรปตะวันออกทั้งคู่ โดยที่ โซลตัน Zoltan คุณพ่อของเขาเกิดในฮังการี แล้วมาแต่งงานกับคุณแม่ของเขา ไอรีน โคชเซอร์ซุค Irene Koczerzuk ผู้ลี้ภัยชาวโปแลนด์ที่อพยพมาจากดินแดนซึ่งในทุกวันนี้เป็นของยูเครน จากนั้นจึงเดินทางต่อมาพำนักอาศัยในสหรัฐฯ ในปี 1950 -ผู้แปล)

แฮร์ริสเหนียวแน่นมั่นคงในการให้ความสนับสนุนประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนเรื่อยมา ไม่ว่าในช่วงเดือนแรกๆ ของสงคราม รวมทั้งการออกเสียงหนุนร่างกฎหมายแพกเกจความช่วยเหลือยูเครนแบบเดี่ยวๆ ก้อนโตทีเดียวในปีที่แล้ว ตลอดจนการเห็นชอบงบประมาณความช่วยเหลือทั้งทางทหารและทางมนุษยธรรมแก่ชาติเล็กๆ แห่งนี้ในการสู้รบกับยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซีย

แฮร์ริสยังเป็นสมาชิกอาวุโสอยู่ในคณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณ ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (House Appropriations Committee) ทำให้เขามีเสียงดังกว่าธรรมดาในพรรคของเขา เกี่ยวกับเรื่องการจัดลำดับความสำคัญของงบประมาณรายจ่ายของประเทศ

เมื่อถูกถามในการสัมภาษณ์ภายหลังรายการชี้แจงแบบทาวน์ ฮอลล์ คราวนี้ ว่าเขาจะยังคงให้ความสนับสนุนความช่วยเหลือแก่ยูเครนอีกก้อนหนึ่งหรือไม่ เขาตอบด้วยน้ำเสียงมุ่งป้องกันตัวเองอย่างแรง โดยบอกว่า “ถ้าเป็นเงินช่วยเพื่อมนุษยธรรม เงินช่วยที่อยู่นอกเหนือเรื่องการทหาร หรือเป็นเรื่องการทหารที่ไม่มีการแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่คอยตรวจสอบ ผมก็จะไม่ให้ความสนับสนุนหรอก”

นี่คือความรู้สึกหวั่นไหวของพวกอนุรักษนิยมในรัฐสภาสหรัฐฯ น้ำเสียงใหม่ๆ ของแฮร์ริสในเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน เป็นสัญญาณเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งของการที่รีพับลิกันกำลังปรับเปลี่ยนจุดยืนในประเด็นนี้ และมันเสมือนเป็นอารัมภบทที่ส่อแสดงให้เห็นว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร เควิน แมคคาร์ธี (Kevin McCarthy) จะต้องเจอกับความปวดเศียรเวียนเกล้าขนาดไหน เมื่อพวก ส.ส.กลับมาประชุมกันอีกในเดือนหน้าภายหลังการหยุดพัก โดยที่เวลานี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังหาทางของบประมาณฉุกเฉินเพิ่มขึ้นอีก 24,000 ล้านดอลลาร์สำหรับช่วยยูเครนในฤดูใบไม้ร่วงนี้ –ซึ่งเป็นคำขอที่จะต้องผ่านด่านพวกอนุรักษนิยมรีพับลิกัน ที่จุดยืนเกี่ยวกับความช่วยเหลือนี้กำลังมีความคล้ายคลึงกับของแฮร์ริสเป็นอย่างมาก

ในบรรดาข้อกังวลใจจำนวนมากที่ แฮร์ริส พูดออกมา มีเช่น ลู่ทางความเป็นไปได้ที่ความช่วยเหลือเช่นนี้จะนำไปสู่การทุจริตหรือการใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลืองไร้ประโยชน์ การที่มันจะทำให้ราคาอาหารในสหรัฐฯ เพิ่มสูง ความเป็นไปได้ที่จะเป็นการเริ่มต้น “สงครามโลกครั้งที่สาม” ขึ้นมา จากการนำเอายูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต แต่ข้อที่สำคัญที่สุดยิ่งกว่าเพื่อนก็คือ เรื่องค่าใช้จ่าย

“ผมต้องขอโทษนะครับ แต่เราไม่ได้มีเงินทองอะไรแบบนั้น” แฮร์ริสบอก ขณะชี้ไปที่การขาดดุลของสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงหลังจากโรคระบาดใหญ่โควิด อยู่ในระดับหลักล้านล้านดอลลาร์ต่อปี

แล้วเวลานี้ เขายังประสานเสียงกับพวกรีพับลิกันแนวทางแข็งกร้าวในทั้งสองสภา ผู้ซึ่งกำลังผลักดันให้ยุติสงครามนี้โดยผ่านการเจรจากัน

“ผมคิดว่าเวลามาถึงแล้วที่จะเรียกร้องกันอย่างสอดคล้องกับความเป็นจริง ให้เปิดการพูดจาเพื่อไปสู่สันติภาพ ผมทราบดีว่าประธานาธิบดีเซเลนสกีไม่ต้องการมันหรอก” แฮร์ริส บอกกับฝูงชนในการประชุมแบบทาวน์ ฮอลล์ ของเขา “ทว่าประธานาธิบดีเซเลนสกีนะ เมื่อปราศจากความช่วยเหลือของเรา เขาก็จะพ่ายแพ้สงครามอย่างน่าสังเวช แต่ถึงมีความช่วยเหลือของเรา เขาก็จะไม่ชนะอยู่ดี มันกำลังอยู่ในภาวะชะงักงันแล้วในเวลานี้”

(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.politico.com/newsletters/huddle/2023/08/17/ukraines-top-freedom-caucus-ally-gets-cold-feet-00111608)
กำลังโหลดความคิดเห็น