xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อแผนโค่น ‘ปูติน’ ล้มเหลว ยูเครนก็รุกตอบโต้ได้ไม่ถึงไหน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


ทหารยูเครนยิงปืนใหญ่เฮาวิตเซอร์อัตตาจร M109 ไปยังที่มั่นของฝ่ายรัสเซีย ในแคว้นโดเนตสก์ ทางภาคตะวันออกของยูเครน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2023
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Saudi Arabia’s Ukraine peace talks agree on nothing
By STEPHEN BRYEN
08/08/2023

ทั้งจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตาย จำนวนความสูญเสียด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนขวัญกำลังใจที่กำลังถดถอยหดหายของฝ่ายยูเครน เหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่าวันเวลาแห่งการตัดสินชี้ขาดกันกำลังอยู่ไม่ไกลนักแล้ว

“การหารือเรื่องสันติภาพ” ที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นผู้อุปถัมภ์ และจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ประสบความล้มเหลวไม่สามารถบรรลุอะไรได้เลย ยูเครนนั้นวาดหวังว่าจะสามารถดึงเอาพวกประเทศ “เป็นกลาง” จำนวนมากขึ้นเข้ามาสนับสนุนนโยบายของตน ทว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น และไม่ต้องสงสัยเลยว่าฝ่ายยูเครนมีความรู้สึกผิดหวังที่งานรณรงค์ประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่ที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าภาพคราวนี้ประสบความล้มเหลวไม่อาจทำอะไรที่เป็นการช่วยเหลือให้ยูเครนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ต้องการเลย

สำหรับรัสเซีย แน่นอนทีเดียวว่าไม่ได้เข้าร่วมงานนี้ด้วย เนื่องจากรัสเซียไม่ได้รับเชิญ ทั้งนี้ถ้ารัสเซียได้รับเชิญ ยูเครนก็จะไม่เข้าร่วม ดังนั้น บทสรุปของกระบวนการนี้จึงดูจะถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว นั่นคือ ถ้าหากไม่มีรัสเซียเข้าร่วม สันติภาพก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อยู่ดี

ทั้ง 40 ประเทศที่เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ไม่สามารถตกลงเห็นพ้องกันได้เกี่ยวกับเนื้อหาของคำแถลงร่วม ด้วยเหตุนี้ “การประชุมสันติภาพ” คราวนี้จึงปิดลงโดยไม่ได้มีการออกคำแถลงใดๆ ซึ่งจะใช้อ้างอิงได้ว่างานนี้บรรลุความสำเร็จ หรือมีคำประกาศใดๆ เกี่ยวกับวหนทางที่จะเดินหน้ากันต่อไป

การประชุมในเมืองเจดดาห์ ซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวางแผนขึ้นโดยสหรัฐฯ เพื่อพยายามหาทางเกลี้ยกล่อมไม่ให้พวกประเทศบริกส์ (BRICS) รายอื่นๆ สนับสนุนรัสเซียในเรื่องยูเครน ทั้งนี้ บริกส์ประกอบด้วยรัสเซีย บราซิล อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยที่ยังมีประเทศอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่งแสดงความสนใจขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกด้วย

ทั้งบราซิล อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ต่างเข้าร่วมการประชุมสันติภาพคราวนี้ นอกจากนั้น ยังมีอิหร่านอีกด้วย จีนแถลงว่าการประชุมคราวนี้มีประโยชน์และแสดงความหวังว่าจะได้เห็นการประชุมเช่นนี้อีกครั้งหนึ่งในอนาคต จีนนั้นวางฐานะตนเองเป็นคนกลางรายหนึ่งในกรณีพิพาทระหว่างยูเครน-รัสเซียนี้

จีนสามารถถือได้ว่าเป็นประเทศที่อาจทำให้น้ำหนักเทไปทางใดทางหนึ่งได้ทีเดียว ถ้าเกิดมีการทำความตกลงกันในเรื่องสันติภาพขึ้นมาอย่างเป็นฉันทมติโดยที่ไม่มีรัสเซียเข้าร่วมด้วย ทว่านี่ย่อมเป็นหัวข้ออภิปรายที่ห่างไกลเกินความเป็นจริงไปอย่างมากมาย และอันที่จริงแล้ว จีนกำลังเล่นเกมที่จะป้องกันไม่ให้สหรัฐฯ บีบบังคับตนเพิ่มเติมขึ้นอีกด้วยมาตรการแซงก์ชันต่างๆ

เศรษฐกิจจีนในปัจจุบันอยู่ในภาวะย่ำแย่สาหัส แล้วยังมีการกำจัดกวาดล้างกันในคณะผู้นำของจีน โดยนี่ก็รวมไปถึงการถอดรัฐมนตรีต่างประเทศฉิน กัง ออกจากตำแหน่ง และการปลดคณะผู้นำระดับท็อปของกองกำลังจรวดของประเทศจีน ทั้งหมดเหล่านี้บ่งชี้ให้เห็นว่าคณะผู้นำจีนนำโดย สี จิ้นผิง กำลังถูกทำลายชื่อเสียงอย่างรุนแรง

ถ้าหากเศรษฐกิจจีนยังคงแหลกเละเป็นเสี่ยงๆ ต่อไปอีก และมีพวกนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากขึ้นทุกทีหย่าร้างแยกขาดจากจีนแล้ว อนาคตของ สี ก็จะไม่แน่ไม่นอน และระบอบปกครองจีนคอมมิวนิสต์ที่อยู่ในอาการโซซัดโซเซก็จะมีเมฆหมอกดำทะมึนลอยวนอยู่

แม้กระทั่งก่อนที่รัสเซียรุกรานยูเครนแล้ว สหรัฐฯ ก็คัดค้านการเจรจาใดๆ กับรัสเซียในเรื่องยูเครนมาโดยตลอด ความพยายามทั้งของฝรั่งเศสและเยอรมนี ตุรกีและอิสราเอล ล้วนแล้วแต่ถูกทำลายไปหมดสิ้นจากการที่สหรัฐฯ คัดค้านไม่ยอมทำดีลใดๆ ทั้งนั้น นโยบายของสหรัฐฯ โดยสรุป เมื่อวินิจฉัยตัดสินกันจากการกระทำของวอชิงตันจวบจนถึงเวลานี้ คือการช่วยเหลือยูเครนให้เอาชนะสงครามที่ต่อสู้กับรัสเซีย ในเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ เองก็กระทำการให้มากที่สุดเพื่อกระตุ้นยุยงให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม เวลานี้มี 2 สิ่งที่ค่อนข้างกระจ่างชัดเจนแล้ว ได้แก่ ความพยายามที่จะโค่นล้มรัฐบาลปูตินในรัสเซียนั้นดูเหมือนประสบความล้มเหลว โดยที่ปูตินเวลานี้ทำท่ากลับคืนมามีอำนาจควบคุมได้อย่างมั่นคงอีกครั้งแล้ว ขณะเดียวกัน การรุกตอบโต้ของยูเครนเพื่อเล่นงานกองกำลังรัสเซียในภาคตะวันออกและภาคใต้ของยูเครนก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นความล้มเหลวที่มีราคาแพง และจากความล้มเหลวนี้เองยังส่งผลสะท้อนกลับคืนสู่นาโตอีกด้วย

ถึงแม้นาโตดำเนินการฝึกอบรมอย่างหนักแน่นจริงจังให้แก่พวกกองพลน้อยระดับท็อปของยูเครน – และยังมีอาวุธของสหรัฐฯ และยุโรปจัดส่งไปให้ โดยรวมถึงพวกระบบอาวุธยานหุ้มเกราะอย่างเช่น รถถังลีโอพาร์ด และยานสู้รบทหารราบแบรดลีย์ สมทบด้วยการที่ฝ่ายทหารสหรัฐฯ มาวางแผนและจัดองค์กรให้ ยังไม่ต้องพูดถึงการสนับสนุนอย่างมหาศาลทางด้านการข่าวกรองทางยุทธวิธี— แต่กองกำลังของยูเครนก็ยังคงถูกเล่นงานอย่างหนักหน่วง ยูเครนไม่ประสบความสำเร็จในการเจาะทะลุทะลวงที่สำคัญใดๆ เลย

เรื่องนี้ส่งผลสะท้อนอย่างไรบ้างในนาโต? เป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้วมีความเข้าใจกันว่า นาโตจะต้องประสบความยากลำบากอย่างสาหัสในการป้องกันพื้นที่สำคัญๆ หลายส่วนของคาบสมุทรบอลติกและยุโรปตะวันออกจากการโจมตีของรัสเซีย การขยายตัวของนาโตนั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงทางทหารเสมอมา

แนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังความพยายามในการนำเอายูเครนเข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอของนาโต และริบเอาตลาดของรัสเซียในตลอดทั่วทั้งยุโรปไปเสียเลย เอาเข้าจริงก็สร้างความเสียหายให้แก่ยุโรปเองอย่างน้อยก็พอๆ กับที่ก่อให้เกิดขึ้นกับรัสเซีย – บางทีอาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น ยุคพลังงานราคาถูกสำหรับเยอรมนี ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ขับดันแสนยานุภาพทางอุตสาหกรรมของแดนดอยช์ เวลานี้เป็นอันยุติปิดฉากลงแล้ว และสายท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม (Nordstream pipeline) ที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งยวดนั้นก็ได้ถูกทำลายไป อย่างน้อยที่สุดก็ในช่วงระยะเวลาใกล้ๆ นี้

มีผู้เชี่ยวชาญบางรายถึงขนาดพูดกันเกี่ยวกับกระบวนการเสื่อมสลายทางอุตสาหกรรมของเยอรมนี เท่าที่ผ่านมาเยอรมนีสามารถสร้างความมั่นคงของตนในราคาถูกมากๆ มาโดยตลอด ด้วยการปล่อยให้สหรัฐฯ เป็นผู้ที่คอยจัดหาจัดการด้านความมั่นคงให้ ในเวลาเดียวกับที่พวกบริษัทเยอรมนีสามารถทำเงินทำทองได้มากมายเยอะแยะ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้พวกบริษัทเยอรมนีไม่ได้กำลังทำเงินทำทองได้เยอะแยะอีกต่อไปแล้ว และสหรัฐฯ ก็ตกอยู่ในภาวะที่ยุทธสัมภาระต่างๆ ร่อยหรอขาดแคลนจนยากที่จะหนุนหลังเยอรมนีอย่างแข็งแรงได้

มาถึงเวลานี้พวกประเทศนาโตกำลังเริ่มมีความเข้าใจขึ้นมาแล้วว่า ยุทโธปกรณ์ชั้นเยี่ยมที่สุดของพวกเขายังไม่เพียงพอที่จะพิทักษ์คุ้มครองพวกเขาหรอกในกรณีที่เกิดสงครามขึ้นมา

เมื่อไปถึงจุดใดจุดหนึ่งในอนาคตอันไม่ไกลจากนี้เท่าใดนัก พวกประเทศยุโรปรายสำคัญๆ จะพากันถอยห่างออกจากการให้ความสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นแก่ยูเครนและแก่การขยายตัวของนาโต ตลอดจนถอยห่างออกจากการทุ่มเทจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ส่งเข้าไปให้ใช้ในสงครามครั้งนี้ หลังจากได้จัดส่งไปแล้วคิดเป็นมูลค่าระดับหลักหมื่นๆ แสนๆ ล้านดอลลาร์ และหันมาพิจารณาเสาะแสวงหนทางรอมชอมกับฝ่ายรัสเซีย ถึงแม้มีความเป็นไปได้ที่วอชิงตันยังอาจจะพยายามข่มขู่คุกคาม (นายกรัฐมนตรี โอลาฟ) ชอลซ์ (Olaf Scholz) ในเยอรมนี หรือ (ประธานาธิบดี เอมมานูเอล) มาครง (Emmanuel Macron) ในฝรั่งเศส ทว่าการข่มขู่คุกคามทั้งหลายย่อมมีข้อจำกัดของมัน

สถานการณ์ในสนามรบที่ยูเครนอยู่ในภาวะซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่ออนาคตของยูเครน พวกผู้นำกองทัพของยูเครนต่างทราบเรื่องนี้ดี ถึงแม้พวกเขายังคงวาดหวังว่าจะเกิดปาฏิหาริย์บางอย่างบางประการขึ้นมาก็ตามที บางทียูเครนอาจจะยังคงพยายามรักษาแนวปะทะที่เป็นอยู่เวลานี้ให้มีเสถียรภาพเอาไว้ในระดับหนึ่ง โดยเพิ่มการโจมตีขนาดเล็กๆ (แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงลิ่ว) อย่างที่พวกเขาเพิ่งพยายามทำ (และประสบความล้มเหลว) ที่หมู่บ้านโรโบทีน (Robotyne) อย่างไรก็ดี คำถามยังคงมีอยู่ว่ากองทัพยูเครนสามารถที่จะเผาผลาญอาวุธยุทโธปกรณ์และกำลังพลไปได้อีกยาวนานแค่ไหน หรือกระทั่งว่าพวกเขายังคงมีความต้องการที่จะทำเช่นนั้นต่อไปอีกหรือ

หากพวกผู้นำทางทหารระดับท็อปของยูเครน อย่างเช่น ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วม วาเลรี ซาลูนี (Valerii Zaluzhny) หรือผู้บัญชาการทหารบก โอเลคซานดร์ ซีร์สะกะยี (Oleksandr Syrskyi) ตัดสินใจว่าพวกเขาต้องการหลีกเลี่ยงการพังพินาศลงไปอย่างสมบูรณ์แบบ พวกเขาก็อาจจะค้นหาหนทางในการบังคับให้พวกผู้นำทางการเมืองของยูเครนต้องโยนแนวทางแข็งกร้าวของพวกเขาทิ้งไป และเข้าเจรจากับรัสเซีย

ไม่เป็นที่กระจ่างชัดเจนว่าเราอยู่ใกล้ๆ กับสภาวการณ์พังทลายลงอย่างสมบูรณ์แบบในยูเครนมากน้อยแค่ไหน แต่จากตัวเลขจำนวนที่ใหญ่โตของผู้บาดเจ็บล้มตาย ตลอดจนของการสูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์ และขวัญกำลังใจที่ตกต่ำ ทำให้เกิดความประทับใจขึ้นมาว่า วันแห่งการตัดสินชี้ขาดกันกำลังอยู่ไม่ไกลแล้ว

ความล้มเหลวของ “การประชุมสันติภาพ” ที่ซาอุดีอาระเบีย เป็นเครื่องบ่งชี้ชั้นดีอีกประการหนึ่งให้เห็นถึงการติดแหง็กอยู่ตรงทางตันของวอชิงตัน และฝ่ายยูเครนอาจจำเป็นต้องค้นหาหนทางใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีพวกเขามีอยู่กับรัสเซีย

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ในบล็อก Substack, Weapons and Strategy ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น