เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นรำลึกครบรอบ 78 ปี เหตุระเบิดนิวเคลียร์ถล่มฮิโรชิมา โดยไม่เอ่ยชื่อสหรัฐฯ ในฐานะประเทศผู้ต้องรับผิดชอบ แม้วอชิงตันเป็นผู้ลงมือใช้อาวุธนิวเคลียร์ 2 ลูกโจมตีพวกเขา ซึ่งถือเป็นการโจมตีทางนิวเคลียร์เพียง 2 ครั้งในประวัติศาสตร์ ยิ่งไปกว่านั้นโตเกียวยังเลือกที่จะหันมาประณามรัสเซียแทนต่อคำขู่ทางนิวเคลียร์ ตามรายงานของอาร์ทีนิวส์ สื่อมวลชนแดนหมีขาวในวันอาทิตย์ (6 ส.ค.)
"ญี่ปุ่นในฐานะชาติเดียวที่ทุกข์ทรมานกับระเบิดปรมาณูในสงคราม จะเดินหน้าความพยายามมุ่งหน้าสู่โลกปราศจากนิวเคลียร์" นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ กล่าวในคำปราศรัยเมื่อวันอาทิตย์ (6ส.ค.) เส้นทางมุ่งหน้าสู่โลกปราศจากนิวเคลียร์ "เริ่มยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าความแตกแยกอย่างรุนแรงในประชาคมนานาชาติเกี่ยวกับการรื้อถอนนิวเคลียร์และคำขู่นิวเคลียร์ของรัสเซีย"
แม้ คิชิดะ เน้นย้ำว่าหายนะจากอาวุธนิวเคลียร์ที่นำมาสู่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก แต่นายกรัฐมนตรีรายนี้ละไว้ซึ่งการเอ่ยชื่อพาดพิงประเทศที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีเหล่านั้น ตามรายงานของอาร์ทีนิวส์
อาร์ทีนิวส์ระบุว่า เครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลำหนึ่งทิ้งระเบิดปรมาณูเหนือฮิโรชิมา ในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 เข่นฆ่าประชาชนกว่า 126,000 คน ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ส่วนระเบิดปรมาณูอีกลูกถูกหย่อนลงใส่เมืองนิงาซากิ ในวันที่ 9 สิงหาคม เข่นฆ่าประชาชนไปกว่า 80,000 คน เกือบทั้งหมดเป็นพลเรือนเช่นกัน ส่งผลให้ญี่ปุ่นตัดสินใจยอมแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตรในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา และนำพาสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึงจุดจบ
สำนักข่าวอาร์ทีนิวส์รายงานว่าในถ้อยแถลงเมื่อวันอาทิตย์ (6 ส.ค.) คาซูมิ มัตซูอิ นายกเทศมนตรีฮิโรชิมา ก็หลีกเลี่ยงเอ่ยชื่อผู้ลงมือหย่อนระเบิดปรมาณูเช่นกัน โดยเขาหันไปเรียกร้องบรรดาผู้นำโลกให้เผชิญหน้ากับความจริงของภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ ซึ่งเวลานี้ส่งเสียงออกมาโดยสมาชิกรัฐสภาบางชาติ คำพูดที่ดูเหมือนเป็นการพาดพิงถึงรัสเซีย
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ กล่าวปราศรัยเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์เผาผลาญฮิโรชิมา โดยไม่พาดพิงว่าใครเป็นผู้หย่อนระเบิดนิวเคลียร์ดังกล่าวเช่นกัน และบอกต่อว่า "มีบางประเทศกำลังกวัดแกว่งสำแดงแสนยานุภาพนิวเคลียร์แบบขาดความยั้งคิดอีกครั้ง ขู่ใช้เครื่องมือแห่งการทำลายล้างนี้" เขากล่าว โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม
ญี่ปุ่นกลายมาเป็นพันธมิตรของอเมริกา นับตั้งแต่กองกำลังสหรัฐฯ รุกรานดินแดนของพวกเขาและเขียนรัฐธรรมนูญให้พวกเขา ตามหลังเหตุทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่ม 2 เมือง ทั้งนี้ คิชิดะ ร่วมกับตะวันตกกำหนดมาตรการคว่ำบาตรมอสโก และเช่นเดียวกับบรรดาผู้นำกลุ่มจี7 คนอื่นๆ เขากล่าวหาเครมลินใช้โวหารนิวเคลียร์ที่ขาดความรับผิดชอบและบ่อนทำลายระบบควบคุมอาวุธ
ต่างจากหลักการนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่อนุญาตให้โจมตีทางนิวเคลียร์ก่อน "เพื่อปกป้องผลประโยชน์อันไพศาลของสหรัฐฯหรือพันธมิตร รวมถึงคู่หู" สำนักข่าวอาร์ทีนิวส์ระบุว่ายุทธศาสตร์ทางนิวเคลียร์ของรัสเซีย อนุญาตให้ใช้อาวุธปรมาณูเฉพาะกรณีที่มีการโจมตีทางนิวเคลียร์ใส่ดินแดนของพวกเขาก่อน หรือความอยู่รอดของรัฐรัสเซียถูกคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์หรืออาวุธทั่วไป
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)