รอยเตอร์ - ทูตอังกฤษระบุกองทัพรัสเซียอาจเริ่มโจมตีเรือขนส่งสินค้าของพลเรือนในทะเลดำ รวมทั้งวางทุ่นระเบิดเพิ่มในเส้นทางสู่ท่าเรือยูเครน สอดคล้องกับคำเตือนของทำเนียบขาวก่อนหน้านี้ว่า มอสโกดำเนินการเหล่านั้นทั้งหมดเพื่อโยนบาปให้เคียฟ ขณะอียูรับปากช่วยยูเครนส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเกือบทั้งหมดทางรถยนต์และรถไฟ ตลอดทั้งแบกรับต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น
ราคาธัญพืชในตลาดโลกพุ่งโด่ง 15% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากรัสเซียถอนตัวจากข้อตกลงอนุญาตให้ยูเครนส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำอย่างปลอดภัยต่อไปอีก 1 ปี และเริ่มโจมตีท่าเรือยูเครน ตลอดจนถึงโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับธัญพืชในทะเลดำ และแม่น้ำดานูบ
บาร์บารา วูดเวิร์ด เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวเมื่อวันอังคาร (25 ก.ค.) ว่า อังกฤษได้รับข้อมูลที่บ่งชี้ว่า กองทัพรัสเซียอาจขยายเป้าหมายการโจมตีครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับธัญพืช ซึ่งรวมถึงการโจมตีเรือขนส่งสินค้าของพลเรือนในทะเลดำ
วูดเวิร์ดเสริมว่า นายกรัฐมนตรีริชี ซูนัค ของอังกฤษ ได้แจ้งข้อมูลนี้กับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครนระหว่างหารือทางโทรศัพท์ในวันอังคาร นอกจากนั้น อังกฤษยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่ารัสเซียวางทุ่นระเบิดเพิ่มในเส้นทางสู่ท่าเรือยูเครน
เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำยูเอ็นสำทับว่า อังกฤษเห็นด้วยกับการประเมินของอเมริกาว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นความพยายามสร้างความชอบธรรมและโยนความผิดว่า ยูเครนเป็นฝ่ายโจมตีเรือของพลเรือนในทะเลดำ ด้านคณะผู้แทนของรัสเซียประจำยูเอ็นในนิวยอร์กยังไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทำเนียบขาวเตือนคล้ายกันว่า รัสเซียอาจโจมตีเรือของพลเรือนและได้วางทุ่นระเบิดเพิ่ม
ข้อตกลงส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำมียูเอ็นและตุรกีเป็นตัวกลางซึ่งบรรลุผลเมื่อปีที่แล้ว เพื่อต่อสู้กับวิกฤตอาหารโลกที่รุนแรงขึ้นจากการที่รัสเซียยกทัพบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศต่างเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่
สัปดาห์ที่แล้วมอสโกถอนตัวจากข้อตกลงโดยระบุว่า ข้อเรียกร้องของตนในการปรับปรุงการส่งออกอาหารและปุ๋ยไม่ได้รับการตอบสนอง อีกทั้งยังร้องเรียนว่า ธัญพืชของยูเครนไม่ได้ส่งถึงประเทศยากจนตามที่ระบุในข้อตกลง
ยูเอ็นแย้งว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศยากจนจากการทำให้ราคาอาหารในตลาดโลกลดลงถึง 23% นับจากเดือนมีนาคม 2022
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกับผู้นำประเทศต่างๆ จากแอฟริกาที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในวันพฤหัสฯ และศุกร์ (27-28 ก.ค.) และให้สัญญาว่า รัสเซียจะส่งออกธัญพืชเพื่อชดเชยธัญพืชจากยูเครน
ถึงกระนั้น ยูเอ็นระบุว่าประเทศที่ยากจนที่สุดจะต้องจ่ายแพงที่สุดจากการที่รัสเซียตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงทะเลดำ
ยูริ อูชาคอฟ ที่ปรึกษาด้านนโยบายต่างประเทศของเครมลิน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนรัสเซียเมื่อวันอังคารว่า ผู้นำ 17 ชาติแอฟริกาจะร่วมแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้
ในวันเดียวกัน สหภาพยุโรป (อียู) แถลงว่า พร้อมส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเกือบทั้งหมดของยูเครนทางรถยนต์และรถไฟผ่านประเทศเพื่อนบ้านในอียู และช่วยแบกรับต้นทุนการขนส่ง
จานุซ วอยเชอโคสกี กรรมาธิการด้านการเกษตรของอียูเผยว่า แถลงการณ์ดังกล่าวครอบคลุมเมล็ดพืชน้ำมันและธัญพืชเดือนละราว 4 ล้านตัน โดยขณะนี้อียูกำลังพิจารณาแผนการร่วมเพื่อรองรับต้นทุนขนส่งที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การขยายการขนส่งธัญพืชผ่านอียูถือเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับโปแลนด์และบางประเทศที่มีพรมแดนติดกับยูเครน ซึ่งเกษตรกรถูกกดดันหนักจากการเพิ่มการนำเข้าจากยูเครน
เดือนพฤษภาคมอียูอนุญาตให้ 5 ประเทศที่อยู่ใกล้ยูเครน ได้แก่ บัลแกเรีย ฮังการี โปแลนด์ โรมาเนีย และสโลวะเกีย แบนการขายธัญพืช ข้าวโพด และเมล็ดพืชน้ำมันของยูเครนภายในประเทศจนถึงวันที่ 15 กันยายนที่จะถึง ควบคู่กับการอนุญาตให้ขนส่งสินค้าเหล่านั้นผ่านประเทศเพื่อส่งออก
อียูจะทบทวนคำสั่งแบนดังกล่าวหลังจากหลายประเทศผลักดันให้ขยายกำหนดเวลาออกไปหลังวันที่ 15 กันยายน
ในวันอังคาร โรเบิร์ต เทลุส รัฐมนตรีเกษตรโปแลนด์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เขาต้องการมาตรการแบนที่ยืดหยุ่น ตัวอย่างเช่น โปแลนด์ต้องการห้ามขายราสเบอร์รี่ แต่อนุญาตสำหรับเมล็ดทานตะวัน และเสริมว่า จะไม่อนุญาตให้ส่งธัญพืชยูเครนผ่านโปแลนด์หลังวันที่ 15 กันยายน เนื่องจากขณะนี้ราคาธัญพืชในประเทศตกต่ำลงและอาจทำให้ตลาดไร้เสถียรภาพโดยสิ้นเชิง
ด้านลิทัวเนีย สมาชิกอียูเช่นเดียวกันขอให้คณะกรรมาธิการยุโรปพัฒนาเส้นทางขนส่งธัญพืชยูเครนผ่านท่าเรือ 5 แห่งในประเทศแถบบอลติก ได้แก่ เอสโตเนีย แลตเวีย และลิทัวเนีย โดยท่าเรือทั้ง 5 สามารถรองรับการส่งออกธัญพืชได้รวมกัน 25 ล้านตัน
ขณะเดียวกัน ทางรถไฟในยูเครนและประเทศแถบบอลติกมีความกว้างของรางรถไฟตามมาตรฐานรัสเซีย ทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่อกับรางรถไฟในโปแลนด์ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศเหล่านี้