กองทัพรัสเซียเปิดฉากยิงถล่มเมืองท่าโอเดซาของยูเครนอย่างหนักในสัปดาห์นี้ โดยเป็นการตอบโต้หลังจากที่สะพานไครเมียซึ่งเชื่อมคาบสมุทรชื่อเดียวกันเข้ากับแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียถูกโจมตี 2 ครั้งติดเมื่อวันจันทร์ (17 ก.ค.) ในปฏิบัติการโจมตีซึ่งเจ้าหน้าที่ความมั่นคงยูเครนยอมรับว่าเคียฟอยู่เบื้องหลัง
ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียได้เปิดแถลงข่าวภายหลังการประชุมเพื่อประเมินความเสียหายจากเหตุโจมตีสะพาน โดยระบุว่า นี่คือการกระทำที่ป่าเถื่อนและไร้เหตุผล พร้อมย้ำว่าสะพานแห่งนี้ “ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ในด้านการขนส่งทางทหารมานานมากแล้ว”
ทางการรัสเซียระบุว่า เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นส่งผลให้คู่สามีภรรยาที่ขับรถข้ามสะพานเพื่อจะไปพักผ่อนช่วงวันหยุดที่ไครเมียเสียชีวิต และบุตรสาววัย 14 ปีของทั้งคู่ได้รับบาดเจ็บ
แม้รัฐบาลเคียฟจะไม่ประกาศอ้างความรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ แต่มีรายงานจากสื่อยูเครนว่า หน่วยความมั่นคงได้ใช้โดรนทางทะเลเป็นอาวุธโจมตีสะพานดังกล่าว
ดมิตรี โปลยานสกี รองเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ แถลงเมื่อวันจันทร์ (17) ว่า หน่วยข่าวกรองของอังกฤษอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องในการโจมตีสะพานไครเมียด้วย ทว่ากระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้
สะพานไครเมีย หรือที่เรียกอีกชื่อว่า “สะพานเคิร์ช” ถือเป็นสะพานที่ยาวที่สุดในภูมิภาคยุโรป ใช้งบประมาณก่อสร้างสูงถึง 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะพานแห่งนี้ยังมีความสำคัญอย่างยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์เพราะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อภูมิภาคกราสโนดาร์ของรัสเซียเข้ากับแหลมไครเมีย และยังถือเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนเจตนารมณ์ของปูติน ที่จะผูกมัดยูเครนให้อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียไปตลอดกาล
สะพานแห่งนี้ถูกใช้เป็นเส้นทางในการส่งเชื้อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นเข้าไปยังแหลมไครเมีย รวมถึงใช้ขนส่งเสบียงอาวุธสำหรับกองทัพรัสเซียด้วย
เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว เกิดเหตุรถบรรทุกน้ำมันระเบิดจนทำให้สะพานพังเสียหายบางส่วน ซึ่งตอนนั้นมอสโกรีบออกมากล่าวโทษหน่วยความมั่นคงยูเครนว่าอยู่เบื้องหลังแผนวินาศกรรมสะพาน และได้ทำการซ่อมแซมอย่างรวดเร็วจนกระทั่งกลับมาเปิดใช้งานได้อีกครั้ง
หลังสะพานถูกโจมตีซ้ำถึง 2 ครั้ง ประธานาธิบดี ปูติน ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเสนอมาตรการปกป้องความปลอดภัยของสะพานแห่งนี้ ซึ่งถือเป็นโครงการระดับเมกะโปรเจกต์ที่เป็นหน้าเป็นตาของรัฐบาลปูติน ภายหลังจากที่ช่วงชิงคาบสมุทรไครเมียมาจากยูเครนได้เมื่อปี 2014
เหตุโจมตีครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงวันหยุดฤดูร้อน ซึ่งหมายความว่านักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่ต้องการขับรถข้ามไปและกลับจากแหลมไครเมียจะต้องหันไปต่อคิวใช้บริการเรือเฟอร์รีข้ามฟาก หรือไม่ก็ใช้ช่องทางบกผ่านดินแดนยูเครนที่รัสเซียยึดครองเอาไว้แทน
รองนายกรัฐมนตรี มารัต คุชนูลิน แห่งรัสเซียยืนยันว่า เสาตอม่อของสะพานซึ่งมีความยาว 19 กิโลเมตรแห่งนี้ไม่ได้รับความเสียหาย ทว่าถนนฝั่งหนึ่งถูกโจมตีจนพังยับเยินและจำเป็นที่จะต้องสร้างใหม่ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดใช้งานสะพานได้ 1 ฝั่งภายในวันที่ 15 ก.ย. และจะเปิดการจราจรทั้ง 2 ฝั่งได้ภายในวันที่ 1 พ.ย. ส่วนสะพานรถไฟนั้นไม่ได้รับความเสียหาย
รัฐบาลยูเครนประกาศกร้าวว่าคาบสมุทรไครเมียคือดินแดนในอธิปไตยของยูเครนที่ถูกรัสเซียยึดไป และชาวรัสเซียไม่สมควรมีสิทธิเข้าไปท่องเที่ยวพักผ่อนที่นั่น ในขณะที่มอสโกยังคงทิ้งระเบิดถล่มดินแดนของยูเครนอยู่
ทำเนียบเครมลินออกมาประณามชาติตะวันตกว่าทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับ “การก่อการร้าย” ที่ยูเครนกระทำต่อดินแดนของรัสเซีย โดย ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลหมีขาวให้สัมภาษณ์ในวันพุธ (19) ว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ยุโรปและสหรัฐฯ จงใจมองข้ามพฤติกรรมที่เข้าข่ายก่อการร้ายของเคียฟ
“กลุ่มชาติตะวันตกพร้อมที่จะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับการโจมตีก่อการร้ายที่ระบอบเคียฟทำต่อประเทศของเรา พวกเขาไม่ละอายที่จะนิ่งเฉย นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ มันเคยเป็นเช่นนี้มาแล้ว และก็จะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป รัสเซียเข้าใจซาบซึ้งดี” เปสคอฟ กล่าว
กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงในวันอังคาร (18) ว่าได้โจมตีเป้าหมายทางทหารหลายแห่งใน 2 เมืองท่าสำคัญของยูเครนช่วงคืนวันจันทร์ (17) ในฐานะเป็นการโจมตีแก้เผ็ดครั้งใหญ่ตอบโต้เหตุการณ์เล่นงานสะพานเชื่อมระหว่างคาบสมุทรไครเมียกับดินแดนรัสเซีย
กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า 2 เมืองท่าของยูเครนที่ถูกโจมตีคือ โอเดซา (Odesa) ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญที่เคียฟใช้ในการส่งออกธัญพืช และยังเป็นที่ตั้งกองบัญชาการทัพเรือยูเครนด้วย ส่วนอีกเมืองคือมิโคลาอิฟ (Mykolaiv) ซึ่งอยู่ใกล้ชายฝั่งริมทะเลดำ
“กองทัพของสหพันธรัฐรัสเซียได้ดำเนินการโจมตีแก้เผ็ดครั้งใหญ่ในคืนที่ผ่านมา โดยใช้อาวุธความแม่นยำสูงที่ยิงจากทะเลเข้าถล่มใส่สถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นที่เตรียมการสำหรับการใช้เรือที่ปราศจากคนมาปฏิบัติการก่อการร้ายต่อสหพันธรัฐรัสเซีย” ทางกระทรวงระบุในคำแถลง
- รัสเซียยุติข้อตกลงส่งออกธัญพืชยูเครน
รัสเซียยังประกาศยุติการเจรจาต่ออายุข้อตกลงอนุญาตให้เคียฟส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำที่หมดอายุลงในวันจันทร์ (17) แต่บอกว่าอาจจะยอมกลับมาเจรจาอีกครั้ง ถ้าข้อเรียกร้องให้ผ่อนคลายกฎในการส่งออกอาหารและปุ๋ยของรัสเซียได้รับการตอบสนอง
มอสโกแถลงในวันพุธ (19) ว่าจะให้เวลากับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) 3 เดือนในการปฏิบัติตามเงื่อนไขของบันทึกความเข้าใจที่กำหนดให้ยูเอ็นต้องช่วยอำนวยความสะดวกแก่รัสเซียในการส่งออกผลิตผลทางการเกษตร หากต้องการให้มอสโกยอมฟื้นเจรจาเปิดทางยูเครนส่งออกธัญพืช
ยูเอ็น และตุรกีรับหน้าที่เป็นโบรกเกอร์ผลักดันข้อตกลงส่งออกธัญพืชระหว่างรัสเซียกับยูเครนเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2022 เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตขาดแคลนอาหารที่อาจเกิดขึ้นจากการปิดท่าเรือของยูเครนซึ่งเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่อันดับ 4 ของโลก
เพื่อโน้มน้าวให้รัสเซียยอมรับข้อตกลงดังกล่าว ยูเอ็นได้จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งระบุว่าเจ้าหน้าที่ยูเอ็นจะช่วยสนับสนุนให้รัสเซียสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและปุ๋ยไปตลาดต่างประเทศได้
แม้สินค้าประเภทอาหารและปุ๋ยจากรัสเซียจะไม่ถูกคว่ำบาตรโดยชาติตะวันตก แต่มอสโกชี้ว่าข้อจำกัดในด้านธุรกรรมการเงิน โลจิสติกส์ และการประกันภัยมีผลเทียบเท่ากับการแบนสินค้าโดยปริยาย
รอยเตอร์รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น ได้ยื่นข้อเสนอต่อ ปูติน ว่าจะอนุญาตให้สถาบันการเงินแห่งหนึ่งของรัสเซียเชื่อมต่อกับเครือข่ายชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT ได้อีกครั้ง แลกกับการที่มอสโกขยายข้อตกลงส่งออกธัญพืชยูเครนผ่านทะเลดำต่อไปอีกหลายเดือน