xs
xsm
sm
md
lg

ไม่สนเสียงวิจารณ์! ยูเครนเริ่มใช้ 'คลัสเตอร์บอมบ์' แล้ว มะกันคุยเล่นงานทหารรัสเซียอยู่หมัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระสุนคลัสเตอร์ที่จัดหาให้โดยสหรัฐฯ ถูกยูเครนนำไปใช้งานในสนามรบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากการเปิดเผยของจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาวยืนยันเมื่อวันพฤหัสบดี (20 ก.ค.) และตามการประเมินเบื้องต้นจากยูเครน บ่งชี้ว่าอาวุธชนิดนี้สามารถเล่นงานกองกำลังรัสเซียได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก

วอชิงตันแถลงเกี่ยวกับการส่งมอบกระสุนคลัสเตอร์ อาวุธซึ่งเป็นที่ถกเถียงเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา โดยมันซึ่งเป็นที่รู้จักกันในฐานะกระสุนระเบิดทวิประสงค์ (dual-purpose improved conventional munitions หรือ DPICMs) ในรูปแบบกระสุนขนาด 155 มิลลิเมตร ตามมาตรฐานของนาโต

"เบื้องต้น เราได้รับปฏิกิริยาสะท้อนกลับ (feedback) บางอย่างมาจากยูเครน และพวกเขากำลังใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพอย่างมาก" เคอร์บีกล่าว พร้อมระบุกระสุนคลัสเตอร์ได้ส่งผลกระทบกับรูปแบบการป้องกันและแผนการของรัสเซีย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ให้คำจำกัดความการตัดสินใจจัดหากระสุนคลัสเตอร์แก่ยูเครน ว่า เป็นมาตรการอุดช่องโหว่ พร้อมอ้างว่าสหรัฐฯ และพันธมิตรกำลังขาดแคลนกระสุนปกติทั่วไป

วอชิงตันยอมรับว่ากระสุนก่อความเสี่ยงเพิ่มขึ้นแก่พลเรือน แต่อ้างว่าเคียฟรับปากว่าจะใช้อาวุธนี้ด้วยความรับผิดชอบ และใช้มันห่างจากพื้นที่ที่ทีพลเรือนพักอาศัยอยู่หนาแน่น

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอาร์ทีนิวส์ ระบุว่ากองทัพยูเครนมีประวัติมาช้านานเกี่ยบกับการใช้อาวุธที่เป็นที่ถกเถียงแบบสุ่มๆ ไล่ตั้งแต่กระสุนปืนใหญ่บรรจุลูกปรายแบบลูกดอก ไปจนถึงจรวดคลัสเตอร์ ที่อัดแน่นด้วยระเบิดต่อต้านบุคคล PFM

กระนั้นสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าทั้งรัสเซียและยูเครน ต่างกล่าวหาอีกฝ่ายได้ใช้ระเบิดคลัสเตอร์ไปแล้วก่อนหน้านี้ ในความขัดแย้งที่ระเบิดขึ้นนับตั้งแต่มอสโกเปิดฉากรุกรานในเดือนกุมภาพันธ์ 2022

กระสุนคลัสเตอร์ถูกห้ามโดยประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ชาติทั่วโลก แต่ทั้งยูเครน สหรัฐฯ และรัสเซีย ต่างไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย (Convention on Cluster Munitions: CCM) ปี 2008

มอสโกประณามสหรัฐฯ ต่อการตัดสินใจจัดหากระสุนคลัสเตอร์ให้แก่ยูเครน พร้อมสัญญาว่าจะตอบโต้อย่างสาสมและใช้กระสุนดังกล่าวในคลังแสงของตนเองเช่นกัน ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของวอชิงตันยังถูกประณามอย่างรุนแรงแม้กระทั่งจากพันธมิตรใกล้ชิดของพวกเขา ในนั้นรวมถึงสหราชอาณาจักร ส่วนสประชาชาติแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อพลเรือน จากการใช้กระสุนลักษณะนี้

คลัสเตอร์บอมบ์ถูกห้ามโดยประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ชาติทั่วโลก สืบเนื่องจากมันเสี่ยงก่ออันตรายแก่พลเรือน ปกติแล้วมันปลดปล่อยระเบิดขนาดเล็กกว่าที่สามารถเข่นฆ่าชีวิตโดยไม่เลือกหน้าในพื้นที่หนึ่งเป็นบริเวณกว้าง ส่วนกระสุนลูกที่ไม่ระเบิดนั้นก็เสี่ยงก่ออันตรายเป็นเวลานานหลายทศวรรษหลังความขัดแย้งสิ้นสุดลง

(ที่มา : รอยเตอร์/อาร์ทีนิวส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น