พันธมิตรหลายชาติของสหรัฐฯ แสดงความไม่สบายใจต่อการตัดสินใจของวอชิงตัน ในการจัดหาระเบิดพวง (cluster bomb) ให้แก่ยูเครน แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวอ้างว่ามีความจำเป็น เนื่องจากเคียฟกำลังขาดแคลนกระสุน
เมื่อวันศุกร์ (7 ก.ค.) สหรัฐฯ ยืนยันกำลังส่งอาวุธที่เป็นที่ถกเถียงไปยังยูเครน ในขณะที่ประธานาธิบดีไบเดน เรียกมันว่า "เป็นการที่ยากลำบากอย่างมาก" ความเคลื่อนไหวที่กระตุ้นให้บรรดาพันธมิตรอย่างสหราชอาณาจักร แคนาดา และสเปน ในวันเสาร์ (8 ก.ค.) ออกมาแสดงจุดยืนว่าพวกเขาคัดค้านการใช้กระสุนดังกล่าว
คลัสเตอร์บอมบ์ถูกห้ามโดยประเทศต่างๆ มากกว่า 100 ชาติทั่วโลก สืบเนื่องจากมันเสี่ยงก่ออันตรายแก่พลเรือน ปกติแล้วมันปลดปล่อยระเบิดขนาดเล็กกว่าที่สามารถเข่นฆ่าชีวิตโดยไม่เลือกหน้าในพื้นที่หนึ่งๆ เป็นบริเวณกว้าง ส่วนกระสุนลูกที่ไม่ระเบิดนั้นก็เสี่ยงก่ออันตรายเป็นเวลานานหลายทศวรรษ หลังความขัดแย้งสิ้นสุดลง
ไบเดน ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น เมื่อวันศุกร์ (7 ก.ค.) เขาได้พูดคุยกับบรรดาพันธมิตรเกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพกเกจความช่วยเหลือด้านการทหารรอบใหม่มูลค่า 800 ล้านดอลลาร์
ประธานาธิบดีรายนี้กล่าวว่าเขาได้คิดพิจารณาสักพักหนึ่ง แต่ตัดสินใจทำ เพราะว่า "ยูเครนกำลังขาดแคลนกระสุน"
การตัดสินใจถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย ในนั้นรวมถึงองค์การนิรโทษกรรมสากล ที่ระบุว่ากระสุนคลัสเตอร์ "เสี่ยงเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อชีวิตพลเรือน แม้กระทั่งหลังจากความขัดแย้งหยุดลงเป็นเวลานานแล้ว"
ในวันเสาร์ (8 ก.ค.) พันธมิตรตะวันตกบางชาติของสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนการตัดสินใจของอเมริกา
ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เน้นย้ำว่า สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งใน 123 ประเทศ ที่ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions: CCM) ซึ่งห้ามผลิตหรือใช้กระสุนคลัสเตอร์และไม่สนับสนุนให้ใช้มัน
มาร์การิตา โรเบิลส์ รัฐมนตรีกลาโหมสเปน บอกกับผู้สื่อข่าว ประเทศของเขามีความมุ่งมั่นอย่างหนักแน่นว่าอาวุธและระเบิดบางอย่าง ไม่ควรถูกส่งไปยูเครน "ไม่เอาคลัสเตอร์บอมบ์ และเอาการป้องกันตนเองที่ชอบด้วยกฎหมายของยูเครน ซึ่งเราตระหนักว่าไม่ควรดำเนินการด้วยระเบิดคลัสเตอร์"
รัฐบาลแคนาดา กล่าวว่าพวกเขามีความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับผลกระทบของระเบิดที่มีต่อเด็กๆ เนื่องจากบางครั้งระเบิดไม่ทำงานเป็นเวลาหลายปีมาก นอกจากนี้ ยังคัดค้านการใช้คลัสเตอร์บอมบ์ และยืนยันว่าแคนาดายังคงดำเนินการสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงโดยสมบูรณ์
สหรัฐฯ ยูเครน และรัสเซีย ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาดังกล่าว ในขณะที่มอสโกและเคียฟต่างก็ใช้ระเบิดคลัสเตอร์ระหว่างสงคราม
ขณะเดียวกัน เยอรมนีซึ่งลงนามในสนธิสัญญา กล่าวว่าแม้พวกเขาจะไม่จัดหาอาวุธดังกล่าวแก่ยูเครน แต่พวกเขาก็เข้าใจถึงจุดยืนของอเมริกา "เราแน่ใจว่าสหรัฐฯ เพื่อนของเราไม่ได้ตัดสินใจแบบลวกๆ เกี่ยวกับการจัดหากระสุนดังกล่าว" โฆษกของรัฐบาลเยอรมนีบอกกับผู้สื่อข่าวในเบอร์ลิน
กระทรวงกลาโหมยูเครน ให้คำรับประกันว่าระเบิดคลัสเตอร์จะไม่ถูกใช้ในพื้นที่ตัวเมือง และจะถูกใช้เฉพาะสำหรับทะลวงแนวป้องกันของฝ่ายศัตรู
(ที่มา : บีบีซี)