ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เปิดเผยในวันพุธ (12 ก.ค.) ว่า ได้พบอองซานซูจี เมื่อวันอาทิตย์ (9) ที่ผ่านมา ถือเป็นเจ้าหน้าที่ต่างชาติคนแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงอดีตผู้นำพม่าผู้นี้ หลังจากที่เธอถูกกองทัพยึดอำนาจเมื่อ 2 ปีก่อน ทั้งนี้ เขาระบุว่า ซูจี แข็งแรงดีและพร้อมมีส่วนร่วมในการหารือเพื่อแก้ไขวิกฤตในประเทศ ขณะเดียวกัน ทางด้านการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน มีมติเรียกร้องความเป็นเอกภาพของสมาคมในการจัดการกับความขัดแย้งในพม่า
ซูจี เวลานี้ถูกคุมขังอยู่ที่ส่วนต่อขยายของเรือนจำแห่งหนึ่งในเมืองหลวงเนปีดอ โดยที่เธอถูกคณะทหารผู้ปกครองประเทศฟ้องร้องในคดีต่างๆ หลายคดีซึ่งอาจทำให้เธอต้องติดคุกยาวนานถึง 33 ปี โดยที่เธอถูกปฏิเสธไม่ให้ใครเข้าเยี่ยม รวมทั้งจากทีมทนายความของเธอเองด้วย
รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกล่าวว่า ซูจี มีสุขภาพดี และเธอสนับสนุนให้มีการสนทนากันเพื่อช่วยแก้ไขคลี่คลายวิกฤตในพม่า ซึ่งตกอยู่ในภาวะอลหม่านวุ่นวายทางการเมืองและทางสังคมเรื่อยมาตั้งแต่การก่อรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหารเมื่อต้นปี 2021
“(การได้เข้าเยี่ยมซูจีคราวนี้) เป็นการติดต่อของเพื่อนๆ ในพม่า ซึ่งปรารถนาที่จะได้เห็นการตกลงรอมชอมกันอย่างสันติ” รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกล่าว ขณะเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา
เขากล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการเข้าเยี่ยมซูจีคราวนี้ สอดคล้องกับแผนการของอาเซียนที่ต้องการทำให้เกิดสันติภาพขึ้นในพม่า
ด้านอธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย กาญจนา ภัทรโชค แถลงกับพวกผู้สื่อข่าวว่า การเข้าเยี่ยมเป็นการส่วนตัวคราวนี้มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ (9) และกินเวลาราว 1 ชั่วโมง พร้อมกับบอกว่า นายดอนได้เล่าสรุปให้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทราบในตอนเช้าวันพุธแล้ว โดยแจ้งว่า ซูจีมีสุขภาพดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ซูจี ยัง “แสดงความกังวลของเธอเกี่ยวกับการบาดเจ็บล้มตายที่เกิดกับประชาชนพม่าและเศรษฐกิจพม่าในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา” โฆษกผู้นี้บอก
ด้านรัฐมนตรีต่างประเทศ เอนริเก มานาโล ของฟิลิปปินส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า นายดอนได้เล่าสรุปเรื่องการเข้าเยี่ยม ซูจี ให้บรรดารัฐมนตรีอาเซียนฟังแล้ว แต่ มานาโลย้ำว่า ความพยายามอย่างเป็นอิสระใดๆ เพื่อเริ่มต้นกระบวนการสันติภาพขึ้นมาใหม่ ควรสอดคล้องกับแผนการที่เน้นหลักการ 5 ประการซึ่งอาเซียนได้ตกลงไว้กับคณะผู้นำทางทหารของพม่าเมื่อ 2 ปีก่อน
สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนนั้น ได้ออกคำแถลงในวันพุธ เรียกร้องให้อาเซียนมีความสามัคคีเป็นเอกภาพกันในการรับมือกับการสู้รบขัดแย้งที่ดุเดือดตึงเครียมมากขึ้นเรื่อยๆ ในพม่า
มีรายงานว่า หลายชาติอาเซียนใกล้หมดความอดทนกับกรณีที่รัฐบาลทหารพม่ายังไม่ยอมยุติการปราบปรามพลเรือนและเริ่มต้นการเจรจาที่รวมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตามที่ผู้นำทหารตกลงไว้เมื่อเดือนเมษายน 2021
เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียที่เป็นประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน กล่าวในวันพุธว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามฉันทมติ 5 ข้อ ซึ่งเป็นกระบวนการทางการทูตเดียวที่มีบทบาทในการทำให้เกิดสันติภาพในพม่า ซึ่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดว่ามีประชาชนพลัดถิ่นฐานถึงราว 1.5 ล้านคน
เร็ตโนเสริมว่า สมาชิกทุกชาติย้ำความเป็นเอกภาพในการจัดการประเด็นนี้ และกล่าวว่า หากความรุนแรงยังไม่ยุติลง บรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเริ่มต้นเจรจาและส่งมอบความช่วยเหลือคงไม่มีทางเกิดขึ้นได้
การแสดงความคิดเห็นของเร็ตโนมีขึ้นหลังจากเดือนที่แล้ว ประเทศไทยได้จัดการประชุมโดยเชิญผู้นำทางทหารของพม่าที่ถูกแบนจากการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอาเซียนเข้าร่วม ส่งผลให้สมาชิกส่วนใหญ่งดเข้าร่วมประชุม ขณะที่รองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย อธิบายว่า ไทยได้รับผลกระทบในแง่ปัญหาชายแดน การค้า และผู้อพยพ
ไรซาล สุคมา ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของศูนย์เพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศในจาการ์ตา กล่าวว่า อาเซียนจำเป็นต้องยึดมั่นกับแผนการดังกล่าว เนื่องจากหากปราศจากฉันทมติ 5 ข้อ กลุ่มความร่วมมือนี้จะขาดความชอบธรรมในการจัดการประเด็นความขัดแย้งในพม่า
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)