xs
xsm
sm
md
lg

อินโดนีเซียเรียกร้องเอกภาพอาเซียน สมาชิกยังงัดข้อแนวทางจัดการพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - อินโดนีเซียย้ำความสำคัญของความเป็นเอกภาพของอาเซียนเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือ ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเริ่มการหารือที่คาดว่าจะพาดพิงถึงประเด็นซับซ้อนในการมีส่วนร่วมของรัฐบาลทหารพม่าที่ถูกแบนในขณะนี้

การประชุมของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่เริ่มต้นขึ้นในวันอังคาร (11 ก.ค.) ในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย เกิดขึ้นท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยมากขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของอาเซียน โดยบางส่วนมีความเห็นไม่ลงรอยเกี่ยวกับวิธีจัดการความขัดแย้งนองเลือดในพม่าและความล้มเหลวของรัฐบาลทหารพม่าในการดำเนินการแผนสันติภาพที่ตกลงกับสมาชิกอื่นๆ ของอาเซียน

เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียที่เป็นประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน กล่าวเปิดการประชุมเต็มคณะโดยไม่ได้พาดพิงโดยตรงถึงพม่า แต่บอกว่า อาเซียนจะมีความสำคัญหากยังคงมีความน่าเชื่อถือเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากแสดงให้เห็นว่าอาเซียนสามารถผ่านพ้นการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก และยังคงปลูกฝังกระบวนทัศน์ของการร่วมมือต่อไป ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายได้ถ้าอาเซียนยังคงมีเอกภาพ

ปัจจุบัน พม่ายังคงมีการสู้รบภายในประเทศที่เริ่มต้นขึ้นนับจากที่กองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อต้นปี 2021 ก่อนที่จะเริ่มปราบปรามฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างโหดร้าย และฝ่ายต่อต้านเหล่านี้ได้ร่วมกันก่อตั้งขบวนการเคลื่อนไหวติดอาวุธ ขณะที่ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น

อาเซียนห้ามเจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมระดับสูงเพื่อตอบโต้ที่พม่าไม่รักษาพันธะสัญญาในฉันทมติ 5 ข้อที่ตกลงกันเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งรวมถึงการยุติความรุนแรง

อินโดนีเซียพยายามริเริ่มกระบวนการสันติภาพอยู่หลังฉากด้วยการดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญเข้าร่วม แต่ความพยายามเหล่านั้นถูกบ่อนทำลายอย่างรุนแรงหลังจากไทยจัดการประชุมเพื่อหารือกับนายทหารใหญ่ของพม่า

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศชาติสมาชิกสำคัญของอาเซียนไม่เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว จึงมีเพียงรัฐมนตรีต่างประเทศไทย พม่า ลาว ร่วมหารือกับตัวแทนจากสมาชิกบางชาติเท่านั้น

แหล่งข่าววงในที่มีส่วนร่วมในความพยายามผลักดันสันติภาพของอินโดนีเซียเผยว่า การที่ทุกฝ่ายกำหนดเงื่อนไขล่วงหน้าก่อนเริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการด้วยซ้ำทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งสัปดาห์ที่แล้ว เร็ตโนระบุว่า “แนวทางผลรวมเป็นศูนย์” ที่อาจช่วยให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืน “ไม่มีวันบรรลุผล”

กลุ่มสิทธิมนุษยชนและผู้เชี่ยวชาญบางคนของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวหากองทัพพม่าปราบปรามพลเรือนอย่างโหดร้ายและกว้างขวางโดยอ้างว่า เป็นการต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย

โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นนำประเด็นความรุนแรงในพม่าเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยุติการจัดหาอาวุธให้รัฐบาลทหารพม่า

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันอังคารจัดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกและการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ซึ่งแอนโทนี บลิงเคน และเซียร์เก ราฟลอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และรัสเซียตามลำดับ มีกำหนดเดินทางเข้าร่วม
กำลังโหลดความคิดเห็น