xs
xsm
sm
md
lg

ยุโรปถังแตกไม่มีทั้งเงินทองและเครื่องกระสุน ขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการให้สงครามขยายตัว จึงไม่ปรารถนาจัดส่งแสนยานุภาพทางอากาศไปให้ยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สตีเฟน ไบรเอน ***


การประชุมซัมมิตขององค์การนาโตปีนี้ ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นที่กรุงวิลนีอุส ประเทศลิทัวเนีย บรรดาชาติพันธมิตรจะพบว่าลำบากเหลือเกินที่จะแสวงหาความคิดเห็นร่วมในเรื่องยูเครน ตลอดจนเรื่องก้าวเดินต่อไปข้างหน้า สำหรับภาพนี้เป็นการชักธงชาติลิทัวเนียและธงนาโต ณ ด้านนอกของทำเนียบประธานาธิบดีลิทัวเนีย
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Vilnius NATO summit will likely be a flop
By STEPHEN BRYEN
07/07/2023

ยุโรปกำลังตกอยู่ในสภาพขาดไร้เงินทองและเครื่องกระสุนก็ร่อยหรอ รวมทั้งไม่ปรารถนาที่จะทำให้สงครามบานปลายขยายตัว ด้วยการจัดหาจัดส่งแสนยานุภาพทางอากาศไปให้แก่ยูเครน ถึงแม้นี่เป็นสิ่งที่เคียฟเรียกร้องว่าตนจำเป็นต้องได้มาเพื่อชนะสงครามคราวนี้

การตัดสินใจใดๆ ก็ตามในเรื่องเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกนาโต คือการตัดสินใจในระหว่างชาติพันธมิตรนาโต 31 ราย กับทางประเทศผู้ต้องการเข้าเป็นสมาชิก และดังนั้น สำหรับในกรณีนี้ เมื่อมันเป็นเรื่องของยูเครน เราก็กำลังหารือกับเหล่าชาติพันธมิตรนาโตของเราและกับยูเครนว่าเราสามารถแสดงความสนับสนุนร่วมกันอย่างไรได้บ้างเกี่ยวกับความมุ่งมาดปรารถนาของยูเครนในเรื่องการบูรณาการเข้ากับยุโรป-แอตแลนติกนี้ ยูเครนจะต้องดำเนินการปฏิรูปต่างๆ เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานเดียวกันกับประเทศนาโตใดๆ ก็ตามทีก่อนที่พวกเขาจะเข้ามาร่วม ท่านประธานาธิบดีไบเดนคิดว่ายูเครนสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้

--คารีน ฌอง-ปีแอร์ เลขานุการด้านสื่อมวลชนของทำเนียบขาว (Karine Jean-Pierre, White House press secretary)
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://euromaidanpress.com/2023/07/06/us-supports-ukraines-accession-in-nato-when-ukraine-meets-all-requirements-wh/)

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะใช้เวลา 3 วันในยุโรป เพื่อเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของนาโต (องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ) ที่กรุงวิลนีอุส (เมืองหลวงของลิทัวเนีย) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 11-12 กรกฎาคมนี้ โดยที่หัวข้อสำคัญของการประชุมจะเป็นเรื่องยูเครน และเรื่องนาโตจะเดินหน้ากันอย่างไรต่อไป

ยูเครนนั้นกำลังผลักดันอย่างหนักเพื่อให้นาโตยอมรับตนเองเข้าเป็นสมาชิกในทันที หรือไม่เช่นนั้นก็จะขอนาโตให้หลักประกันความมั่นคงชนิดที่สามารถลงมือปฏิบัติการกันได้อย่างแท้จริง ทว่าจุดยืนเช่นนี้ของยูเครนกลับกำลังอยู่ในอาการสั่นคลอนหวั่นไหว สืบเนื่องจากความล้มเหลวของพวกเขาในการรุกโจมตีตอบโต้กลับใส่ฝ่ายรัสเซีย ตลอดจนจากความล้มเหลวของพวกเขาในความพยายามต่างๆ เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน –ทั้งด้วยวิธีก่อวินาศกรรม การลอบสังหาร และการส่งโดรนล่าสังหารที่มุ่งหมายเข้าโจมตีทำเนียบเครมลิน ครั้นเมื่อมาถึงเวลานี้ ยูเครนกำลังป่าวร้องว่าตนจำเป็นต้องได้แสนยานุภาพทางอากาศของนาโตจึงจะสามารถชนะสงครามของตนคราวนี้ได้

มันจะเป็นเรื่องยากลำบากเอามากๆ ที่จะทำให้นาโตมีฉันทมติออกมาในเรื่องว่าด้วยหนทางเดินต่อไปข้างหน้า ไม่ว่าวอชิงตันจะพยายามใช้วิธีบิดแขนบีบคั้นพวกหุ้นส่วนชาวยุโรปของตนมากมายขนาดไหนก็ตามที

ยุโรปนั้นเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องขอบคุณทั้งความหายนะจากโรคระบาดใหญ่โควิด การใช้มาตรการแซงก์ชันน้ำมันและก๊าซรัสเซีย (ที่ส่งผลร้ายต่อพวกเขาเอง) และการมีอัตราการว่างงานในระดับสูงลิ่ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรับผู้อพยพใหม่ๆ ในระยะหลังๆ นี้ ผลลัพธ์ของปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้คือเกิดความไม่สงบทางสังคมขึ้นมาทั่วทั้งยุโรป ฝรั่งเศสกำลังประสบกับการลุกฮือไม่พอใจขั้นร้ายแรงอยู่แล้ว และขณะที่สถานการณ์ในฝรั่งเศสมีการผ่อนคลายลงบ้างในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มันก็จะหวนกลับคืนมาอีก

เวลาเดียวกัน คณะรัฐบาลผสมของเยอรมนีกำลังสูญเสียความสนับสนุนในหมู่ประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ และเวลานี้พรรค AfD ที่เป็นพรรคแนวทางขวาจัดของเยอรมนีกำลังกลายเป็นพรรคที่ได้รับความนิยมจากประชาชนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไปแล้ว โดยที่นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ช็อลซ์ ตลอดจนพวกหุ้นส่วนในคณะรัฐบาลผสมของเขายังไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจจะหาทางสั่งแบนพรรค AfD เสียเลย โดยถือเป็นความพยายามแบบจนตรอกของพวกเขา
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://rmx.news/germany/afd-party-should-be-banned-argues-german-human-rights-group-funded-by-german-government/)

อิตาลี ก็ไม่ได้ห่างไกลจากความปั่นป่วนวุ่นวายเลย ประเทศนี้มีคณะผู้นำที่จริงๆ แล้วมีแนวทางอนุรักษนิยม ทว่ากำลังถูกตีกระหน่ำด้วยกระแสคลื่นของพวกผู้อพยพที่ไหลบ่าเข้ามาจากตะวันออกกลางอย่างมากมายชนิดไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน

ยุโรปอยู่ในสภาพถังแตกไม่มีทั้งเงินทอง และก็ไม่มีทั้งเครื่องกระสุนอาวุธยุทโธปกรณ์ ยุโรปจึงไม่ได้อยู่ในอารมณ์พร้อมที่จะเซ็นเช็คเปล่าให้ยูเครนไปกรอกตัวเลขจำนวนเงินเอาเองตามสบาย หรือพร้อมที่จะเสี่ยงให้เกิดสงครามที่บานปลายใหญ่โตมากขึ้นอีก ซึ่งอาจจะลามขยายเข้าไปในยุโรป ประธานาธิบดีไบเดน จะต้องประสบความลำบากทีเดียวในความพยายามที่จะบีบเค้นให้ได้อะไรออกมามากขึ้นจากฝั่งยุโรป

ไบเดนทราบดีว่าเขาไม่สามารถที่จะใช้กำลังแสนยานุภาพของสหรัฐฯ โดยลำพังตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแสนยานุภาพทางอากาศ โดยที่ไม่มีฐานทัพอากาศและศูนย์ส่งกำลังบำรุงในยุโรปคอยรองรับตอบสนอง ทั้งนี้ ณ ขณะปัจจุบัน วอชิงตันยังมีอิสระอย่างมาก ก็เป็นเพราะเครื่องบินรบสหรัฐฯ ยังไม่ได้เข้าถล่มโจมตีที่มั่นต่างๆ ของรัสเซียในยูเครนโดยตรง อย่างไรก็ตาม ถ้าหากสหรัฐฯ ถล่มโจมตีที่มั่นเหล่านั้นเมื่อใด ก็มีหวังจะต้องก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงแข็งกล้าจากฝ่ายยุโรป และทำให้นาโตแตกแยกเป็นเสี่ยงๆ

โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ผู้นำของยูเครน กำลังพยายามกดดันวอชิงตันให้จัดหาจัดส่งเครื่องบินรบรุ่นก้าวหน้าไปให้ โดยกล่าวว่าแสนยานุภาพทางอากาศจะทำให้มีความเป็นไปได้ที่ยูเครนจะชนะสงคราม ทว่าหนทางที่ดูปฏิบัติได้จริงเพียงหนทางเดียวในช่วงระยะเวลา 1 ปีข้างหน้านี้คือ การปฏิบัติการจากฐานทัพต่างๆ ที่ตั้งอยู่นอกยูเครนโดยใช้เครื่องบินของสหรัฐฯ รวมทั้งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการใช้เครื่องบินของชาตินาโตอื่นๆ ด้วย

เรื่องนี้แน่นอนทีเดียวว่าย่อมจะหมายถึงการเกิดสงครามในยุโรป และพวกรัฐบาลที่เป็นผู้ปกครองในยุโรปปัจจุบันถ้าหากไม่พูดปฏิเสธออกมา ก็มีหวังจะถูกถอดถอนเปลี่ยนตัวโดยใช้กำลัง ด้วยเหตุนี้หนทางนี้จึงเป็นฉากทัศน์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นมาได้และมีอันตรายสูงมากๆ

วอชิงตันนั้นส่งสัญญาณออกมาเรียบร้อยแล้วว่า ตนไม่สามารถที่จะเกลี้ยกล่อมให้พวกหุ้นส่วนของตนเห็นดีเห็นงามในเรื่องการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโตในทันที ทว่ามีความเป็นไปได้อยู่มากที่วอชิงตันจะยังคงใช้ความพยายามอยู่หลังฉากเพื่อหาทางสร้างหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยบางอย่างบางประการให้แก่ยูเครน กระนั้น หลักประกันที่มีความหมายอย่างแท้จริงใดๆ บางทียังอาจจะยากลำบากเกินกว่าที่จะผลักดันออกมาได้สำเร็จ

สำหรับรัสเซีย อยู่ในภาวะปั่นป่วนวุ่นวายเหมือนกัน ภายหลังความพยายามก่อการรัฐประหารที่นำโดย เยฟเกนี ปรีโกจิน (Yevgeny Prigozhin) ปูตินจึงต้องการได้รับชัยชนะทางทหารในเร็ววันนี้ เช่นเดียวกับกองทัพรัสเซียซึ่งถูกบีบเค้นหนักหน่วงจากการถูกกล่าวหาอย่างฉกาจฉกรรจ์จากปรีโกจิน

การรักษาแนวป้องกันเอาไว้จนสามารถยันการรุกตอบโต้ครั้งใหญ่ของฝ่ายยูเครนได้ ยังไม่อาจถือเป็นชัยชนะอย่างแท้จริงสำหรับฝ่ายรัสเซีย เนื่องจากภาพลักษณ์ของพวกเขายังคงถูกแปดเปื้อนอยู่ดีในสายตาของผู้คนภายในแดนหมีขาวเอง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะคาดหมายว่า ในทันทีที่ความสูญเสียของฝ่ายยูเครนเพิ่มพูนขึ้นจนอยู่ในระดับสูงเพียงพอในช่วงหลายๆ สัปดาห์ต่อจากนี้ไป กองทัพรัสเซียจะมีความเคลื่อนไหวเปิดการรุกอย่างน่าตื่นตาตื่นใจใส่ยูเครน

เรื่องใหญ่ที่ยังไม่ทราบกันชัดเจนอยู่ตรงที่ว่า กองทัพรัสเซียจะทำอะไรบ้างในการนี้ พวกเขาจะเปิดการรุกโจมตีครั้งใหญ่ใส่กรุงเคียฟ เมืองคาร์คิฟ (เมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน) หรือเมืองโอเดสซา (เมืองท่าสำคัญริมทะเลดำทางภาคใต้ของยูเครน) หรือไม่? หรือว่าภายหลังการประชุมซัมมิตนาโตที่วิลนีอุสแล้ว รัสเซียมองเห็นว่า เซเลเนสกี อยู่ในสภาพปราศจากความคาดหวังใดๆ ที่นาโตจะมาช่วยเหลือเขาให้อยู่รอดปลอดภัยต่อไป ดังนั้นมอสโกจะพยายามเข้าฉวยใช้ประโยชน์จากสถานการณ์เช่นนี้อย่างรวดเร็ว

รากฐานส่วนหนึ่งที่ฝ่ายตะวันตกพยายามจัดวางไว้ให้แก่การรุกตอบโต้ใหญ่คราวนี้ของยูเครน ได้แก่ การนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ของตะวันตกเข้าสู่สมรภูมิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่ถือเป็นตัวแทนสำคัญที่สุดก็ได้แก่รถถังลีโอพาร์ด (Leopard tank) แต่ถือเป็นกรรมสำหรับนาโต พวกรถถังลีโอพาร์ดยังคงไม่สามารถช่วยเหลืออะไรยูเครนได้เลย

จวบจนถึงเวลานี้ มีลีโอพาร์ดระหว่าง 16 ถึง 20 คันแล้วที่ถูกน็อกเอาต์ในสมรภูมิ เคียงข้างพวกยานเกราะประเภทอื่นๆ ที่ทางนาโตจัดหาจัดส่งไปให้เป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมทั้งพวกยานสู้รบทหารราบอย่างเช่น แบรดลีย์ (Bradley) ของสหรัฐฯ ตลอดจนพวกยานระบบกวาดทุ่นระเบิดอย่างเช่น ลีโอพาร์ด 2อาร์ เอชเอ็มบีวี (Leopard 2R HMBV) ของฟินแลนด์ และวีเซนต์ 1 (Wisent 1) ของเยอรมนี
(ดูเพิ่มเติมการปฏิบัติงานที่ไม่ประสบความสำเร็จของลีโอพาร์ด 2อาร์ เอชเอ็มบีวี ได้ที่ https://twitter.com/i/status/1676331782625538049)

ขณะที่สหรัฐฯ และเหล่าพันธมิตรของสหรัฐฯ มีแสนยานุภาพทางอากาศที่เหนือชั้นกว่ามาก แต่พวกเขากลับมีการป้องกันภัยทางอากาศที่เบาบางและไม่เหมาะสมเอาเสียเลย เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่รัสเซียสามารถงัดเอาออกมาใช้ได้ นี่จึงหมายความว่าการป้องกันทางภาคพื้นดินจำเป็นต้องยืนหยัดรับมือกับทั้งพวกเฮลิคอปเตอร์โจมตีของรัสเซียซึ่งติดตั้งขีปนาวุธ บรรดาโดรนที่สามารถเล่นงานถึงชีวิต และยุทโธปกรณ์โปรยปรายทุ่นระเบิดจากฟากฟ้า นอกเหนือจากพวกปืนใหญ่และระบบจรวดหลายลำกล้องแล้ว

ความล้มเหลวของลีโอพาร์ดในยูเครน เป็นตัวแทนความท้าทายข้อใหญ่โตมหึมาที่นาโตจะต้องแสวงหาคำตอบ รวมทั้งเป็นสัญญาณเครื่องบ่งชี้ว่า ยุทธศาสตร์ “ขึงเส้นลวดเตือนภัย” (“tripwire” strategy) ของนาโตในปัจจุบันอาจจะใช้ไม่ได้ผล

ตามกระบวนความคิดในเรื่องการขึงเส้นลวดเพื่อการเตือนภัยนั้น ไอเดียก็คือว่าเมื่อรัสเซียเปิดฉากการโจมตีใส่นาโตตอนแรกสุด (เห็นกันว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุดที่รัสเซียจะโจมตีใส่พวกรัฐริมทะเลบอลติก เนื่องจากมีกองทหารรัสเซียตั้งอยู่ใกล้ๆ เอสโตเนีย และ ลัตเวีย เอามากๆ) กองกำลังของฝ่ายนาโตที่มีอยู่แล้วตรงนั้นจะสามารถยันเอาไว้ได้สักไม่กี่วันก็ยังดี ขณะที่สหรัฐฯ จะเร่งรีบลำเลียงกองกำลังขนาดหนักเข้าสู่ยุโรป แต่ถ้าหากเรื่องการขึงลวดเพื่อเตือนภัยกลายเป็นเพียงมายาภาพ เพราะถึงอย่างไรก็ตรึงรัสเซียเอาไว้ไม่อยู่ นาโตก็จะถูกกองกำลังเคลื่อนที่เร็วของรัสเซียบุกตีตะลุยเข้าไปในยุโรปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ถ้าหากมอสโกต้องการเปิดฉากการโจมตีขนาดใหญ่โตขึ้นมาจริงๆ

ประเด็นสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า ยุทธศาสตร์นี้ของนาโตจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนแก้ไข หรือทางเลือกอีกทางหนึ่งก็คือ ฝ่ายยุโรปและฝ่ายรัสเซียจำเป็นที่จะต้องทำความตกลงจัดทำข้อกำหนดด้านความมั่นคงซึ่งเป็นที่ยอมรับกันได้ร่วมกันขึ้นมา ทางเลือกที่ว่านี้จริงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่รัสเซียเสนอแก่นาโตในเดือนธันวาคม 2021 และถูกปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยชนิดไม่ต้องมาพูดจาต่อรองกันอีกด้วยซ้ำไป (จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 รัสเซียจึงเปิด “การปฏิบัติการพิเศษทางการทหาร” ของตนในยูเครน -ผู้แปล)

เวลานี้เมื่อบรรดาชั้นจัดวางเครื่องกระสุนของนาโตกำลังร่อยหรอลงจนแทบว่างเปล่า แม้กระทั่งในสหรัฐฯ เอง ขณะที่ฝ่ายรัสเซียกำลังเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงวิธีการในการตอบโต้ระบบอาวุธที่ก้าวหน้าไฮเทคต่างๆ ของฝ่ายตะวันตก ซึ่งถือได้ว่าเป็นพัฒนาการในทางลบสำหรับความมั่นคงปลอดภัยของนาโต มันคงไม่มีช่วงเวลาไหนที่เลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้วที่ความมั่นคงปลอดภัยของยุโรปต้องตกอยู่ในความเสี่ยงภัยบนพื้นฐานที่ว่าไม่มีความมั่นใจว่ามันจะสามารถหยุดยั้งการโจมตีของฝ่ายรัสเซียได้หรือไม่

มันอาจจะเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับพวกนักการเมืองสหราชอาณาจักรที่จะเที่ยวร้องแรกแหกกระเชอว่า พวกเขาต้องการให้นาโตเข้าไปสู้รบในยูเครน ทว่ามันไม่ใช่กรุงลอนดอนหรอกซึ่งจะตกเป็นเป้าหมายแรกของขีปนาวุธของรัสเซีย ดังนั้น รอยแตกร้าวในกลุ่มพันธมิตรนาโตจึงกำลังปรากฏขึ้นมาให้เห็นอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์กันเอาไว้ และพวกรัฐบาลที่มีฐานะอ่อนแอทั้งหลายในยุโรปต่างต้องประสบความยากลำบาก

เป็นเรื่องน่าสนใจมากที่จะเฝ้าติดตามว่าการประชุมซัมมิตที่วิลนิอุสจะมีผลออกมาอย่างไร แน่นอนทีเดียวว่ามันจะต้องกลายเป็นการโชว์โอ้อวดในรูปแบบของการโฆษณาชวนเชื่อ กระนั้นมันก็มีโอกาสอยู่มากทีเดียวที่ซัมมิตวิลนิอุสจะส่งสัญญาณแสดงถึงความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า

สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ทีแรกสุดอยู่ในบล็อก Substack, Weapons and Strategy ของผู้เขียน
กำลังโหลดความคิดเห็น