อียิปต์กำลังมีแผนปลีกตัวออกจากดอลลาร์สหรัฐในการค้าร่วมกับหลายชาติสมาชิกกลุ่มเศรษฐกิจ BRICS จากการเปิดเผยของ อาลี โมเซลฮี รัฐมนตรีกระทรวงอุปทานของอียิปต์เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ตามรายงานของรอยเตอร์
โมเซลฮี เปิดเผยว่า อียิปต์กำลังหาทางใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับชำระสินค้านำเข้าจากอินเดีย จีน และรัสเซีย ชาติสมาชิกหลักของกลุ่ม BRICS ซึ่งนอกเหนือจากชาติที่กล่าวมา ยังรวมไปถึงบราซิล และแอฟริกาใต้
"ยังไม่มีการใช้อะไรแบบนั้น แต่มีการพูดคุยหารือกัน เพื่อที่ว่าเราจะสามารถทำการค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่นของประเทศต่างๆ อย่างเช่น อินเดีย รัสเซีย และจีน" โมเซลฮี บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์
กลุ่ม BRICS มีจำนวนประชากรคิดเป็นสัดส่วน 40% ของประชากรโลก และมีเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก และเมื่อเร็วๆ นี้พบว่าบรรดาชาติสมาชิกของ BRICS ได้แซงหน้ากลุ่มจี7 ในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในวันที่ 19 เมษายน มีหลายประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมกับ BRICS ซึ่งเตรียมจัดประชุมซัมมิตประจำปี ครั้งที่ 15 ในแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคมนี้ ในขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาร์เจนตินา แอลจีเรีย อียิปต์ บาห์เรน อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย และอิหร่าน เป็นบรรดาชาติที่ร้องขอเข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบัน อียิปต์กำลังพยายามกู้ชีพเศรษฐกิจที่ประสบปัญหาของพวกเขา ซึ่งถูกฉุดรั้งจากรายได้จากการท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างมากและการดีดตัวขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ยังกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติดึงเงินทุนออกจากตลาดการเงินของอียิปต์ไปราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศแห่งนี้ประสบกับภาวะเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างมากตลอดปีที่แล้ว ตามด้วยการประกาศลดค่าเงินหลายระลอก ปัญหาขาดแคลนสกุลเงินต่างประเทศเรื้อรัง และการจัดหาโดยการนำเข้ายังคงเป็นไปด้วยความล่าช้า
เมื่อเร็วๆ นี้ อียิปต์เห็นพ้องในข้อตกลงมูลค่า 3,000 ล้านดลอลาร์สหรัฐ กับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในขณะที่บรรดาประเทศอ่าวอาหรับรับปากเช่นกันว่าจะมอบความช่วยเหลือแก่ไคโรหลายพันล้านดอลลาร์ ในรูปแบบของการลงทุน
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างคำสัมภาษณ์ของ โมเซลฮี เผยว่าอินเดียกำลังมอบวงเงินสินเชื่อแก่อียิปต์ ในวงเงินที่ไม่ได้ระบุอย่างเจาะจง อย่างไรก็ตาม ตัวของรัฐมนตรีรายนี้ได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวด้วยตนเอง ระหว่างให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์
(ที่มา : รอยเตอร์/อาร์ทีนิวส์)