แอฟริกาใต้จะไม่บังคับใช้หมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) สำหรับจับตัวประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เมื่อวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ความเคลื่อนไหวซึ่งมีขึ้นตามหลังวังเครมลินออกมาเตือนว่า ใครก็ตามที่รวบตัว ปูติน จะเท่ากับเป็นการประกาศสงครามกับมอสโก
คุมบุดโซ เอ็นชาวเฮนี รัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว อ้างถึงถ้อยแถลงหนึ่งที่เผยแพร่โดย ดมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย ที่กล่าวเมื่อเดือนมีนาคม ว่า "รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย เคยชี้ว่าใครก็ตามที่จับกุมประธานาธิบดีปูติน จะเทียบเท่ากับเป็นการประกาศสงคราม"
ในตอนนั้น เมดเวเดฟ พูดถึงกรณีหากปูตินถูกจับกุม บอกว่า "ถ้าเป็นเยอรมนี ขีปนาวุธของเราทั้งหมดจะพุ่งสู่สภาบุนเดิสทาค สู่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี" ซึ่งในเรื่องนี้ เอ็นชาวเฮนี กล่าวในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ว่า "ฉันไม่คิดว่าประเทศนี้ต้องการให้เราประกาศสงครามกับรัสเซีย"
เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคม ศาลอาญาระหว่างประเทศ ออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และมาเรีย ลโววา-เบโลวา กรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนเด็กแห่งรัสเซีย โดยกล่าวหาทั้ง 2 คน "บังคับขนย้ายพลเรือน" อ้างถึงความพยายามของมอสโกในการอพยพเด็กๆ ออกจากเขตสงคราม ท่ามกลางความขัดแย้งติดอาวุธกับยูเครน
รัฐบาลเคียฟกล่าวอ้างว่าเด็กยูเครนหลายหมื่นคนถูกนำตัวไปรัสเซียนับตั้งแต่เริ่มการสู้รบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว โดยมีข้อมูลว่าเด็กจำนวนมากถูกส่งไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ และบ้านอุปถัมภ์ พร้อมความพยายามล้างสมองเด็กเหล่านั้นให้ฝักใฝ่สหพันธรัฐรัสเซีย
ในฐานะผู้ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม เมื่อปี 2002 แอฟริกาใต้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหมายจับ อย่างไรก็ตาม ประเทศแห่งนี้มีกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตกลุ่ม BRICS ในเดือนสิงหาคม ซึ่งบรรดาผู้นำของชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ มีกำหนดเข้าร่วมประชุม
มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนบ่งชี้ว่า แอฟริกาใต้ ได้ร้องขอให้จีนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแทน แต่ เอ็นชาวเฮนี บอกกับผู้สื่อข่าวว่า "ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง" และการประชุมจะยังคงเดินหน้าในเมืองโยฮันเนสเบิร์ก ตามแผนเดิม ขณะที่มอสโกปฏิเสธรายงานข่าวดังกล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าเป็นข่าวปลอม
ระหว่างให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โอเบด บาเพลา รัฐมนตรีช่วยว่าการ ประจำทำเนียบประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ เผยว่าทางรัฐบาลกำลังหาทางแก้กฎหมายที่จะทำให้กฎหมายของประเทศอยู่ในสถานภาพที่เหนือกว่าของศาลอาญาระหว่างประเทศ ถ้ารัฐสภาผ่านร่างกฎหมายนี้ จากนั้น พริทอเรีย จะมีข้อยกเว้นสำหรับตนเอง "ว่าใครที่ต้องจับกุมและใครที่ไม่ต้องจับกุม"
(ที่มา : อาร์ทีนิวส์)