xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : โลกระทึก! ระเบิด ‘เขื่อนใหญ่ยูเครน’ ก่อน้ำท่วมใหญ่ในพื้นที่สงคราม ตะวันตกชี้นิ้วโทษรัสเซีย-เตือนหายนะสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เหตุวินาศกรรมเขื่อนกั้นแม่น้ำขนาดใหญ่ทางตอนใต้ของยูเครนในสัปดาห์นี้นับเป็นความเคลื่อนไหวสำคัญที่ทั่วโลกจับตา และทำให้ปฏิบัติการโจมตีตอบโต้รัสเซีย (counter-offensive) ของฝ่ายเคียฟคาดเดาผลลัพธ์ได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญต่างออกมาเตือนถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นต่อพลเรือนซึ่งอาศัยอยู่ในเขตสงคราม

รัสเซียและยูเครนต่างออกมาชี้หน้ากล่าวโทษกันและกันว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีเขื่อนโนวาคาคอฟกา (Nova Kakhovka) เมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.) ซึ่งทำให้มวลน้ำมหาศาลไหลหลากเข้าท่วมเมืองและพื้นที่การเกษตร และทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกหลายหมื่นคนต้องอพยพหนีตายกันจ้าละหวั่น

เขื่อนซึ่งมีความสูง 30 เมตร ยาว 3.2 กิโลเมตร แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกา สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยที่ โจเซฟ สตาลิน เป็นผู้นำสหภาพโซเวียต ก่อนจะเสร็จสมบูรณ์ภายใต้การนำของนีกีตา ครุชชอฟ

เขื่อนแห่งนี้สร้างขวางกั้นแม่น้ำดนีโปร ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติที่กั้นระหว่างพื้นที่ยึดครองของรัสเซียกับกองกำลังเคียฟในภาคใต้ของยูเครน

การสร้างเขื่อนโนวาคาคอฟกายังทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณความจุถึง 18 ลูกบาศก์กิโลเมตร หรือพอๆ กับทะเลสาบ Great Salt Lake ในรัฐยูทาห์ของสหรัฐอเมริกา โดยอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ยังเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้ที่สำคัญของประชาชนบนคาบสมุทรไครเมียซึ่งถูกรัสเซียผนวกเมื่อปี 2014 และยังส่งน้ำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารรัสเซีย

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน รีบออกมากล่าวโทษรัสเซียว่าเป็นผู้ระเบิดทำลายเขื่อนโนวาคาคอฟกาซึ่งอยู่ในการควบคุมของกองทัพหมีขาว และเรียกร้องให้เอาผิดกับมอสโกฐาน “ก่อการร้าย”

“เมื่อเวลา 2.50 น. พวกผู้ก่อการร้ายรัสเซียได้จุดชนวนระเบิดภายในโครงสร้างของโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกา ชุมชน 80 แห่งกำลังเสี่ยงที่จะเผชิญน้ำท่วมใหญ่” เซเลนสกี กล่าวภายหลังประชุมฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง

ผู้นำยูเครนยังโพสต์ข้อความผ่าน Telegram ว่า การระเบิดทำลายเขื่อนโนวาคาคอฟกาเป็นเครื่องยืนยันว่ากองกำลังรัสเซีย “ต้องถูกขับไล่” ออกไปให้พ้นจากดินแดนยูเครน

“พวกผู้ก่อการร้ายรัสเซีย การทำลายเขื่อนของโรงไฟฟ้าพลังน้ำคาคอฟกายืนยันให้ทั่วโลกเห็นแล้วว่า พวกเขาต้องถูกขับไล่ออกไปให้พ้นจากทุกซอกมุมของแผ่นดินยูเครน... จะต้องไม่มีพื้นที่แม้แต่ตารางเมตรเดียวสำหรับพวกเขา เพราะพวกเขาใช้พื้นที่ทุกตารางเมตรในการก่อการร้าย”


โฆษกกองทัพยูเครนอ้างว่า จุดประสงค์ของมอสโกในการทำลายเขื่อนครั้งนี้คือการสกัดกั้นไม่ให้กองทัพยูเครนสามารถข้ามแม่น้ำดนีโปรไปโจมตีกองกำลังรัสเซียได้ ขณะที่รัสเซียออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบ และโทษว่าอยู่เครนก่อวินาศกรรมเขื่อนเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปฏิบัติการโจมตีตอบโต้รัสเซียที่ล้มเหลว รวมถึงต้องการทำลายระบบชลประทานของแหลมไครเมียด้วย

จนถึงขณะนี้ยังไม่มีฝ่ายไหนออกมาแสดงหลักฐานยืนยันข้ออ้างของตัวเอง

เจ้าหน้าที่ยูเครนประเมินว่าจะมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมราว 42,000 คน รวมถึง 25,000 คนที่อาศัยอยู่ในเขตยึดครองของรัสเซีย โดยคาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มถึงจุดสูงสุดภายในวันพุธ (6) ขณะเดียวกัน ก็มีคำเตือนเกี่ยวกับ “ทุ่นระเบิด” ที่รัสเซียฝังเอาไว้ ซึ่งอาจจะถูกกระแสน้ำพัดพาหลุดลอยมาจนเป็นอันตรายต่อผู้คน

จอห์น เคอร์บี โฆษกทำเนียบขาว ระบุในวันอังคาร (6) ว่าสหรัฐฯ ยังไม่สามารถฟันธงชี้ชัดได้ว่าใครอยู่เบื้องหลังการระเบิดทำลายเขื่อนขนาดใหญ่ในยูเครน แต่อยู่ระหว่างประเมินรายงานที่ว่ารัสเซียอาจเป็นผู้กระทำ

ด้าน ชาร์ลส มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ได้ออกมาแสดงความตื่นตกใจต่อการโจมตีเขื่อนใหญ่ในยูเครน และประกาศกร้าวว่าจะทำให้รัสเซียต้องรับผิดชอบกับการทำลายโครงสร้างพื้นฐานพลเรือน ซึ่งถือเป็น “อาชญากรรมสงคราม”

นิโคไล พาทรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงรัสเซีย แถลงในวันพุธ (7) ว่า สหรัฐฯ อังกฤษ และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) จะต้อง “แบกรับความรับผิดชอบ” เรื่องการทำลายเขื่อนโนวาคาคอฟกาด้วย เนื่องจากประเทศเหล่านี้ “มีส่วนรู้เห็นกับกิจกรรมของยูเครน” และ “เปิดไฟเขียวให้กับการวางระเบิด” ในครั้งนี้

การทำลายเขื่อนยังเสี่ยงที่จะทำให้ระดับน้ำในคลองไครเมียเหนือ (North Crimean Canal) ซึ่งจัดส่งน้ำป้อนความต้องการบริโภคบนแหลมไครเมียถึง 85% ลดลงอย่างมาก โดยน้ำส่วนใหญ่นั้นถูกนำไปใช้เพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม ผลิตน้ำดื่ม และเพื่อการบริโภคด้านอื่นๆ

อ่างเก็บน้ำของเขื่อนโนวาคาคอฟกายังทำหน้าที่ส่งน้ำสำหรับหล่อเย็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย (Zaporizhzhia) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย แต่ล่าสุดทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้ออกมาบรรเทาความตื่นตระหนกเรื่องภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้น โดยยืนยันว่าโรงไฟฟ้ามีแหล่งน้ำทางเลือกที่สามารถใช้ไปได้อีกหลายเดือน หากมีความจำเป็น

ในขณะที่ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่และนักวิเคราะห์ก็เริ่มออกมาประเมิน “ต้นทุนความเสียหาย” ที่จะเกิดกับสภาพแวดล้อมของยูเครนซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผืนดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกมากที่สุดในโลก โดยเตือนว่าทั้งชุมชน ประชากร และสัตว์ป่าหายากอีกบางสายพันธุ์ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และอาจซ้ำเติมห่วงโซ่อุปทานโลกซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นท่าเรือของยูเครนในทะเลดำตั้งแต่ปีที่แล้ว

ดมิตรี คูเลบา รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศยูเครน กล่าวโทษรัสเซียว่าก่ออาชญากรรมฆ่าล้างสิ่งแวดล้อม (ecocide) และสร้างความสูญเสียที่ไม่อาจย้อนกลับได้ พร้อมระบุว่ามีสัตว์ภายในสวนสัตว์โนวาคาคอฟกา เช่น ลิงและเม่น จมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ขณะที่ รัสลัน สไตรเล็ตส์ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมยูเครน แถลงในวันพุธ (7) ว่ามีน้ำมันอย่างน้อย 150 ตันรั่วไหลจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำดนีโปร และคาดว่าผลของการทำลายเขื่อนในครั้งนี้จะก่อหายนะด้านสิ่งแวดล้อมคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50 ล้านยูโร


โมฮัมหมัด ไฮดาร์ซาเดห์ วิศวกรพลเรือนจากมหาวิทยาลัยบาธ (University of Bath) ในอังกฤษ ให้ความเห็นว่า “นี่คือเขื่อนขนาดใหญ่และเป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก หากเราดูจากเหตุการณ์คล้ายๆ กันที่เคยเกิดขึ้นทั่วโลก พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจะกว้างขวางมาก และสารพิษที่แพร่กระจายไปกับน้ำจะส่งผลต่อผลิตภาพทางการเกษตรไปอีกนานทีเดียว”

เขายังเตือนด้วยว่า ดินโคลนปริมาณมหาศาลที่มากับน้ำท่วมอาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะกำจัดได้หมด

โมดูป จีโมห์ อาจารย์ด้านวิศวกรรมพลเรือนและมนุษยธรรมจากมหาวิทยาลัยวอร์วิค (University of Warwick) คาดการณ์ว่า การแตกของเขื่อนโนวาคาคอฟกาจะทำให้สารเคมีและน้ำมันหล่อลื่นจากโรงงานอุตสาหกรรมเข้าไปปนเปื้อนอยู่ในดินและน้ำใต้ดิน ซึ่งเป็นการทำลายระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างร้ายแรง

การทำลายเขื่อนโนวาคาคอฟกาเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยูเครนใกล้จะเริ่มปฏิบัติการโจมตีตอบโต้รัสเซีย ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่ามันจะทำให้แผนจู่โจมของยูเครนลำบากขึ้น แม้ว่าเคียฟเองจะยังไม่ได้ประกาศชัดเจนว่าจะรุกคืบทางด้านไหนก็ตาม

“อย่าลืมว่าตอนนี้รัสเซียอยู่ในโหมดของการป้องกันทางยุทธศาสตร์ (strategic defensive) และยูเครนอยู่ในโหมดของการจู่โจมทางยุทธศาสตร์ (strategic offensive) ดังนั้นในระยะสั้นการทำลายเขื่อนจะเป็นผลดีต่อฝ่ายรัสเซียแน่นอน” เบน แบร์รี นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเพื่อยุทธศาสตร์ศึกษาระหว่างประเทศ (International Institute for Strategic Studies – IISS) ให้ความเห็น

“มันทำให้รัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบ อย่างน้อยก็จนกว่าน้ำจะลดลง เพราะฝ่ายยูเครนจะโจมตีข้ามแม่น้ำได้ยากลำบาก”

มาเซียช มาตีซิแอค ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงจาก Stratpoints Foundation และอดีตรองผู้บัญชาการหน่วยต่อต้านข่าวกรองของกองทัพโปแลนด์ ชี้ว่ากระแสน้ำที่หลากท่วมเป็นบริเวณกว้างยังทำให้การลำเลียงอาวุธหนัก เช่น รถถังหรือยานเกราะต้องล่าช้าไปอีกอย่างน้อย 1 เดือน

“นี่เป็นการสร้างแนวป้องกันที่ยอดเยี่ยมสำหรับฝ่ายรัสเซียที่คาดว่ายูเครนจะเปิดปฏิบัติการโจมตีตอบโต้พวกเขาเร็วๆ นี้” มาตีซิแอค ระบุ

มารินา ไมรอน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจในกรุงลอนดอน มองว่าการก่อวินาศกรรมเขื่อนครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่ง “จุดเปลี่ยน” ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน และทั้ง 2 ฝ่ายมีส่วนได้ประโยชน์จากความสูญเสียที่เกิดขึ้นไม่มากก็น้อย

“สำหรับรัสเซียแล้ว การทำลายเขื่อนจะช่วยหยุดยั้งปฏิบัติการโจมตีของยูเครนได้อย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น วิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นในเคียร์ซอนจะทำให้ต้องมีการอพยพคนออก อีกทั้งภาวะน้ำท่วมใหญ่ก็จะทำให้กองพันยานเกราะของยูเครนไม่สามารถเคลื่อนพลได้” ไมรอน ให้ความเห็น

ในส่วนของยูเครน เธอมองว่าเหตุการณ์เขื่อนแตกเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะเบี่ยงเบนความสนใจของชาวรัสเซีย ในช่วงที่เคียฟเปิดปฏิบัติการโจมตีตอบโต้

แพทริเซีย ลูอิส ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านความมั่นคงนานาชาติของสถาบัน Chatham House ในกรุงลอนดอนชี้ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลดีต่อรัสเซียในระยะยาว ต่อให้ยูเครนจะสามารถเดินหน้าปฏิบัติการโจมตีได้หลังจากนี้ก็ตาม

“เห็นได้ชัดว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้าคือรัสเซียสามารถยับยั้งไม่ให้กองกำลังยูเครนยกพลข้ามมาได้ และต่อให้พวกเขาไม่ได้คิดที่ปักหลักจะอยู่ยาว จะด้วยเพราะเล็งเห็นความพ่ายแพ้ หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่อย่างน้อยมันก็จะสร้างความยุ่งยากให้ยูเครนไปอีกนานทีเดียว”






กำลังโหลดความคิดเห็น