ฝูงโดรนปริศนาถูกส่งเข้าไปโจมตีอาคารทั้งในและรอบๆ กรุงมอสโกเมื่อวันอังคาร (30 พ.ค.) นับเป็นครั้งแรกที่เมืองหลวงรัสเซียตกเป็นเป้าโจมตีลักษณะนี้ตั้งแต่รัสเซียเริ่มเปิดสงครามรุกรานยูเครนเมื่อต้นปีที่แล้ว ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ประณามสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นการ “ก่อการร้าย” ที่มีเจตนาสร้างความหวาดกลัวต่อพลเรือนหมีขาว และยั่วยุให้มอสโกต้องตอบโต้
เหตุโจมตีครั้งนี้ทำให้สงครามที่ยืดเยื้อมานาน 15 เดือน ลุกลามเข้าไปถึงศูนย์กลางการปกครองของแดนหมีขาว และเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ายูเครนกำลังเร่งเครื่องสำหรับปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ (counter-offensive) เพื่อทวงคืนดินแดนจากรัสเซีย
เหตุโดรนถล่มตึกในมอสโกซึ่งทำให้มีผู้บาดเจ็บไป 2 รายนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัสเซียเปิดปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มกรุงเคียฟถึง 3 ครั้งในรอบ 24 ชั่วโมง และถือเป็นครั้งที่ 17 ในเดือนนี้ ซึ่งทำให้ฝ่ายยูเครนมีผู้เสียชีวิตไป 2 ราย อีกทั้งยังสร้างความเสียหายและความหวาดกลัวแก่พลเรือน
กระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า มีโดรนทั้งหมด 8 ลำถูกใช้ในการโจมตีที่พักอาศัยในมอสโก ทว่าทั้งหมดถูกยิงตกหรือไม่ก็ถูกเปลี่ยนเส้นทางด้วยเครื่อง electronic jammers อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากช่องเทเลแกรม Baza ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานความมั่นคงรัสเซียระบุว่า มีโดรนถูกส่งเข้ามามากกว่า 25 ลำ
ด้านนายกเทศมนตรีกรุงมอสโกระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้สั่งอพยพประชาชนออกจากอพาร์ตเมนต์หลายแห่งชั่วคราว ขณะที่ชาวบ้านบางคนเล่าว่า ได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว ตามมาด้วยกลิ่นน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่บางคนสามารถถ่ายคลิปบันทึกเหตุการณ์ขณะโดรนถูกยิงตกและมีกลุ่มควันลอยขึ้นมา
โดรน 2 ลำตกใส่อาคารสูงระฟ้าในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมอสโก และอีกลำก่อความเสียหายแก่ที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในแถบชานเมือง ส่วนลำอื่นๆ ถูกสอยร่วงนอกกรุงมอสโก และเศษซากบางส่วนถูกพบห่างจากคฤหาสน์ Novo-Ogaryovo ของประธานาธิบดี ปูติน แค่ราวๆ 15 กิโลเมตร
เมื่อต้นเดือนนี้ รัสเซียสามารถสกัดโดรน 2 ลำที่ถูกส่งเข้ามาเหนือทำเนียบเครมลิน ทว่าเหตุการณ์เมื่อวันอังคาร (30) ถือเป็นครั้งแรกที่มีการใช้โดรนเพื่อถล่มย่านที่พักอาศัยของพลเรือนในกรุงมอสโก ซึ่งอยู่ห่างจากแนวหน้าในยูเครนหลายร้อยกิโลเมตร
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุโจมตีครั้งนี้สร้างความอับอายขายหน้าไม่น้อยแก่ทำเนียบเครมลิน ซึ่งเคยออกมารับประกันว่าสงครามที่ยืดเยื้อในยูเครนไม่เป็นภัยคุกคามต่อประชาชนชาวรัสเซีย
ผู้นำรัสเซียออกมากล่าวโทษยูเครนว่าอยู่เบื้องหลังปฏิบัติการโดรนโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นในกรุงมอสโก โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้คนรัสเซียหวาดกลัว และยั่วยุให้รัสเซียต้องตอบโต้ พร้อมกันนั้น ยังได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกระดับมาตรการป้องกันภัยทางอากาศทั้งในเมืองหลวงและพื้นที่โดยรอบ
สหรัฐฯ รีบออกตัวปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ทันที โดย คารีน ฌ็อง-ปิแอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยืนยันว่าอเมริกาไม่สนับสนุนการโจมตีภายในดินแดนของรัสเซีย และกำลังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯ เน้นจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และมอบการฝึกฝนที่จำเป็นสำหรับยูเครนในการที่จะทวงคืนดินแดนของตนเองเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม อนาโตลี อันโตนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ ออกมากล่าวหาท่าทีไม่รู้ไม่เห็นของวอชิงตันว่าเป็นการให้ท้ายยูเครนอย่างชัดเจน
“การที่สหรัฐฯ ออกมาแถลงว่ากำลังรวบรวมข้อมูลอยู่ พวกเขามีเจตนาปกปิดอะไรกันแน่?” อันโตนอฟ โพสต์ข้อความผ่านแอป Telegram เมื่อวันพุธ (31) พร้อมย้ำว่าท่าทีนิ่งเฉยของอเมริกา “เป็นการยุยงส่งเสริมพวกผู้ก่อการร้ายยูเครน”
มีไคโล โปลโดยัค ผู้ช่วยของประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ยืนยันว่า เคียฟไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับปฏิบัติการของโดรนปริศนาเหล่านี้ แต่ยอมรับว่ายูเครนมองความสูญเสียของรัสเซียด้วยความ "สะใจ" และเชื่อว่าเหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้นอีก
ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ออกมาตั้งข้อสังเกตในวันพุธ (31) ว่า ทั้งสหรัฐฯ และอังกฤษยังคงเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่ออกมาประณามเหตุโดรนโจมตีมอสโกเลยแม้แต่น้อย ขณะที่ แม็กซิม อิวานอฟ สมาชิกรัฐสภารัสเซีย ชี้ว่าเหตุการณ์นี้ถือเป็นการพุ่งเป้าโจมตีมอสโกครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่การรุกรานของพวกนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมเตือนว่าคนรัสเซีย “ไม่อาจหลีกเลี่ยงความจริงใหม่” นี้ได้อีกต่อไป
สถานีโทรทัศน์แห่งชาติรัสเซียรายงานเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างไม่พยายามสร้างความตื่นตระหนกมากนัก ขณะที่ชาวมอสโกหลายคนก็ยอมรับว่า มันเป็นสิ่งที่พวกเขาคาดการณ์อยู่แล้วว่าจะต้องเกิดขึ้นสักวันหนึ่ง
โอลกา (Olga) หนึ่งในชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับถนน Prosoyuznaya ที่เกิดเหตุโดรนพุ่งชนอาคาร บอกว่าการโจมตีครั้งนี้เป็นสิ่งที่คาดเดาได้อยู่แล้ว “เราจะคาดหวังอย่างอื่นไปได้อีกหรือ?”
ด้าน เยฟเกนี พริโกจิน ผู้บัญชาการกองกำลังทหารรับจ้างวากเนอร์ (Wagner) ฉวยโอกาสนี้ออกมาตำหนิกองทัพและกระทรวงกลาโหมรัสเซียว่าไม่มีมาตรการปกป้องเมืองหลวงที่ดีพอ
พริโกจิน โพสต์ข้อความผ่านแอปเทเลแกรมเมื่อวันอังคาร (30) ว่า “พวกคุณในกระทรวงกลาโหมไม่ทำอะไรสักอย่างเพื่อตอบโต้มัน... พวกคุณกล้าดียังไงถึงปล่อยให้โดรนเข้าไปถึงมอสโกได้? แล้วจะให้ประชาชนทำยังไงเมื่อมีโดรนติดระเบิดพุ่งเข้าไปชนหน้าต่างบ้านของพวกเขา?”
ด้าน รัมซาน คาดีรอฟ ผู้นำสาธารณรัฐเชเชนหรือเชชเนีย ออกมาเรียกร้องให้เครมลินประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ และระดมทรัพยากรทั้งหมดที่มีในยูเครน “กวาดล้างพวกแก๊งก่อการร้ายให้สิ้นซาก”
ด้าน ISW ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ยังอ้างคำขู่ของ คาดีรอฟ ซึ่งฝากไปถึงบรรดาชาติยุโรปที่ส่งอาวุธป้อนยูเครนว่า “ระวังจะไม่เหลืออาวุธป้องกันตนเอง หากรัสเซียบุกเข้าไปถึงประตูบ้าน”
รัสเซียกล่าวหามานานว่ากลุ่มชาติตะวันตก (collective West) กำลังทำ “สงครามตัวแทน” กับรัสเซียด้วยการอัดฉีดทั้งอาวุธและเงินทองให้ยูเครนอย่างไม่หยุดหย่อน
ดมิตรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย ออกมาตราหน้าอังกฤษในวันพุธ (31) ว่าเป็น “ศัตรูตลอดกาล” ของมอสโก และเจ้าหน้าที่อังกฤษคนใดก็ตามที่มีส่วนช่วยเคียฟในการทำสงครามอาจถูกรัสเซียพิจารณาว่าเป็น “เป้าหมายทางทหารอันชอบธรรม”
คำพูดของ เมดเวเดฟ นั้นมีเจตนาตอบโต้เรื่องที่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ เจมส์ เคลเวอร์ลีย์ ออกมาแถลงก่อนหน้าว่ายูเครนมีสิทธิที่จะสำแดงกำลังรบ “นอกเขตแดน” ของตัวเองได้
“อังกฤษประกาศตัวเป็นพันธมิตรยูเครน โดยจัดส่งทั้งอาวุธและผู้เชี่ยวชาญให้ ในทางปฏิบัติจึงถือว่าพวกเขาเป็นผู้นำในการทำสงครามเงียบ (undeclared war) กับรัสเซีย” เมดเวเดฟ ทวีตข้อความ
ปูติน สั่งให้กองทัพเปิดฉากรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2022 โดยอ้างว่าเป็น “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” เพื่อ “ทำลายความเป็นนาซี” และปกป้องพลเรือนที่ใช้ภาษารัสเซีย ในขณะที่ยูเครนและชาติตะวันตกชี้ว่าสิ่งที่รัสเซียทำเป็นการโจมตีที่ปราศจากการยั่วยุ และมีเจตนาบุกยึดดินแดนของชาติอื่น
สงครามครั้งนี้คร่าชีวิตทหารและพลเรือนไปแล้วหลายหมื่นคน และยังทำให้ชาวยูเครนอีกนับล้านๆ คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นฐาน
หลังเหตุโดรนถล่มตึกสูงในมอสโกผ่านไปเพียงแค่ 1 วัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรัสเซียได้ออกมาอ้างว่ากองทัพยูเครนใช้ระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS ที่ได้จากสหรัฐฯ ยิงถล่มฟาร์มเกษตรที่หมู่บ้านคาร์พาที (Karpaty) ในภูมิภาคลูฮันสก์ ซึ่งเป็นเขตยึดครองของรัสเซียในภาคตะวันออกของยูเครน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 5 ราย
กองทัพยูเครนยังยิงถล่มหมู่บ้านรัสเซียใกล้ชายแดนเป็นครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์ ทำให้อาคารบ้านเรือนและรถยนต์พังเสียหาย และมีผู้บาดเจ็บไปอีก 4 คน
ขณะเดียวกัน ผู้ว่าการภูมิภาคกราสโนดาร์ (Krasnodar) ทางตอนใต้ของรัสเซียระบุว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงกลั่นน้ำมันอาฟิปสกี (Afipsky) โดยคาดว่าน่าจะเป็นฝีมือโดรนที่ถูกส่งมาจากยูเครน แต่เจ้าหน้าที่สามารถดับไฟได้แล้ว และโชคดีที่ไม่มีผู้บาดเจ็บ
โรงกลั่นน้ำมันอาฟิปสกีนั้นตั้งอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือ Novorossiisk ริมทะเลดำ และอยู่ใกล้กับโรงกลั่นน้ำมันอีกแห่งของรัสเซียซึ่งถูกโจมตีมาแล้วหลายระลอกในเดือนนี้
มอสโกฟันธงว่า เหตุโจมตีที่เกิดบ่อยขึ้นภายในดินแดนรัสเซียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นฝีมือของยูเครนอย่างแน่นอน ขณะที่ยูเครนเองแทบไม่เคยออกมายอมรับว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีในรัสเซีย หรือแม้กระทั่งในดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครองอยู่ก็ตาม
ขณะเดียวกัน ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการใหญ่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ก็ออกมาเรียกร้องในวันอังคาร (30) ให้ทั้งยูเครนและรัสเซียปฏิบัติตามหลักการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย
สถานการณ์ความปลอดภัยภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรปแห่งนี้เริ่มเป็นที่วิตกกังวล นับตั้งแต่มันถูกกองกำลังรัสเซียบุกยึดเมื่อกว่า 1 ปีก่อน
กองทัพยูเครนกำลังเตรียมความพร้อมสำหรับปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ครั้งใหญ่ (counter-offensive) เพื่อขับไล่ทหารรัสเซียออกจากดินแดนที่ถูกยึดครอง ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้ยิ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญเกรงว่ากิจกรรมทางทหารที่ยกระดับขึ้นอาจทำให้ยุโรปเสี่ยงเผชิญกับหายนะนิวเคลียร์ในที่สุด
กรอสซี เสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่นครนิวยอร์กว่า จะต้องไม่มีการโจมตีเกิดขึ้นใกล้ๆ โรงไฟฟ้า และห้ามคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายขนอาวุธเข้าไปสะสมในพื้นที่นี้
ปัจจุบัน เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้ง 6 ตัวในโรงไฟฟ้าซาปอริซเซียที่ใช้มาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียตไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว ทว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังคงเชื่อมต่อกับระบบจ่ายไฟของยูเครนเพื่อวัตถุประสงค์จำเป็นบางอย่าง โดยเฉพาะการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์