สหรัฐฯ คาดหมายว่าอาจมีผู้เสียชีวิตในจำนวนมาก แต่บอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าเป็นฝีมือใคร ในเหตุโจมตีเขื่อนหลักแห่งหนึ่งที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย ทางภาคใต้ของยูเครน เมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.) ปลดปล่อยกระแสน้ำไหลบ่าเข้าท่วมหมู่บ้านหลายสิบแห่ง บีบให้ต้องเร่งอพยพชาวบ้านกว่า 17,000 คน และโหมกระพือความกังวลเกี่ยวกับหายนะด้านมนุษยธรรม
ในขณะที่วอชิงตันกล่าวเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทางรัสเซียและยูเครนต่างกล่าวโทษกันไปมาต่อเหตุโจมตีที่ทำให้เขื่อนโนวาคาคอฟกา ได้รับความเสียหายยับเยินแตกเป็นบริเวณกว้าง ขณะที่เขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ในแนวหน้าและทำหน้าที่ป้อนน้ำเย็นหล่อเลี้ยงโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรป
เคียฟกล่าวหาว่าการทำลายเขื่อนซึ่งถูกยึดโดยรัสเซียตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของสงคราม เป็นฝีมือของมอสโกในความพยายามสกัดปฏิบัติการโจมตีตอบโต้ที่เฝ้ารอมานาน แต่ผู้นำยูเครนเน้นย้ำว่าปฏิบัติการดังกล่าวจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีกำหนดประชุมฉุกเฉินกันในช่วงค่ำวันอังคาร (6 มิ.ย.) หลังมีคำร้องขอมาจากทั้งรัสเซียและยูเครน
สหประชาชาติเตือนว่าอาจมีหลายแสนชีวิตที่ได้รับผลกระทบใน 2 ฟากฝั่งของแนวหน้า ขณะที่ผู้คนในแคว้นเคียร์ซอน ศูนย์กลางเรือนขนาดใหญ่ที่สุดที่อยู่ใกล้เขื่อนแห่งนี้ พากันอพยพมุ่งหน้าขึ้นสู่ที่สูง หลบหนีกระแสน้ำที่ไหลบ่าลงสู่แม่น้ำดนิโปร
เจ้าหน้าที่ยูเครนเผยว่า มีประชาชนอพยพแล้ว 17,000 คน และรวมแล้วมี 24 หมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วม "ประชาชนกว่า 40,000 คนตกอยู่ในอันตรายจากอุทกภัย" อันดรีย์ คอสติน อัยการสูงสุดระบุ พร้อมบอกต่อว่าประชาชนอีกราว 25,000 คน ที่อยู่ตามริมแม่น้ำดนิโปร ฝั่งที่อยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซีย ควรอพยพออกมา
วลาดิมีร์ ลีโอนท์เยฟ นายกเทศมนตรีเมืองโนวาคาคอฟกา เมืองที่ตั้งของเขื่อนแห่งนี้ ระบุเมืองจมอยู่ใต้บาดาลและประชาชนหลายร้อยคนอพยพออกมาแล้ว
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน กล่าวหารัสเซียเป็นคนระเบิดเขื่อนและบอกว่าเจ้าหน้าที่คาดหมายว่ามีถิ่นพักอาศัยสูงสุดราว 80 แห่งที่ถูกน้ำท่วม พร้อมเรียกร้องให้โลกแสดงปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
"นี่คืออาชญากรรมที่แพร่กระจายภัยคุกคามอย่างชั่วร้าย และจะก่อผลลัพธ์เลวร้ายแก่ชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม" เซเลนสกี กล่ากับ มัตเตโอ ซุปปิ พระคาร์ดินัลชาวอิตาลี ทูตสันติภาพของวาติกัน ที่เดินทางเยือนกรุงเคียฟ
ในเวลาต่อมา เซเลนสกี กล่าวผ่านเทเลแกรม ระบุว่าเหตุระบิดเขื่อน "จะไม่ส่งผลกระทบต่อศักยภาพของยูเครนในการทวงคืนดินแดนของเรา"
เคียฟยังเรียกร้องให้มีการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และเตือนถึงความเป็นไปได้ของสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย หลังน้ำมันเครื่องยนต์กว่า 150 ตัน รั่วไหลลงสู่แม่น้ำ
มหาอำนาจตะวันตกกล่าวโทษรัสเซียสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเขื่อน โดยที่ ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป เรียกมันว่าเป็น "อาชญากรรมสงคราม" ส่วน เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ระบุว่า การโจมตีเขื่อนเป็นการกระทำที่อุกอาจ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ บอกว่ายังเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าใครอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีเขื่อนโนวาคาคอฟกา "สหรัฐฯ ยังไม่อาจพูดถึงข้อสรุปเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้" จอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติบอกกับผู้สื่อข่าว
ด้าน ริซี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร บอกว่าทางกองทัพและบรรดาหน่วยข่าวกรองของประเทศกำลังตรวจสอบว่ารัสเซียเป็นผู้ลงมือระเบิดเขื่อนหร่อไม่ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปชี้ขาด
ในส่วนของรัสเซีย กล่าวอ้างว่าเขื่อนได้รับความเสียหายบางส่วนจากการโจมตีเป็นชุดๆมาจากกองกำลังของยูเครน และเรียกร้องให้ทั่วโลกประณามพฤติกรรมก่ออาชญากรรมของเคียฟ
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกวังเครมลิน บอกว่าการทำลายเขื่อนเป็นผลจากการลอบก่อวินาศกรรมโดยตั้งใจของฝ่ายยูเครน
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เหนือเขื่อนโนวาคาคอฟกาจัดสรรน้ำให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งรวมถึงบนคาบสมุทรไครเมียที่รัสเซียเข้าผนวกในปี 2014 รวมทั้งยังจัดสรรน้ำให้ระบบหล่อเย็นในโรงไฟฟ้าซาโปริซเซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ใหญ่ที่สุดในยุโรป ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ในดินแดนยึดครองของรัสเซีย ห่างจากตัวเขื่อนราวๆ 150 กิโลเมตร
ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ทวีตว่า กำลังจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แต่ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีความเสี่ยงเฉพาะหน้าเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ในโรงไฟฟ้าซาโปริซเซีย
(ที่มา : เอเอฟพี)