ผู้ว่าแคว้นเคียร์ซอนของฝ่ายเคียฟระบุ น้ำจากเขื่อนโนวาคาคอฟกาที่แตกได้ทะลักท่วมพื้นที่ราว 600 ตารางกิโลเมตร โดยส่วนใหญ่อยู่ในเขตยึดครองของมอสโก ด้าน “เซเลนสกี” กล่าวหารัสเซียไม่ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ควบคุมของตน ขณะ “ปูติน” โวยยูเครนทำลายเขื่อนตามคำชี้แนะของพันธมิตรตะวันตก ถือเป็นสงครามป่าเถื่อนที่ทำให้ความขัดแย้งยิ่งลุกลาม
โอเลคซานดร์ โปรคูดิน ผู้ว่าการแคว้นเคียร์ซอน ของฝ่ายเคียฟ แถลงข่าววันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) เกี่ยวกับอุทกภัยอันเป็นผลจากการที่เขื่อนคาคอฟกาแตกว่า น้ำจากเขื่อนไหลทะลักท่วมพื้นที่ของแคว้นไปราว 600 ตารางกิโลเมตร และระดับน้ำเฉลี่ยเมื่อเช้าวันพฤหัสฯ อยู่ที่ 5.61 เมตร โดย 68% ของพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมขังอยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำดนิโปร ที่เป็นพื้นที่ยึดครองของรัสเซีย และอีก 32% อยู่ทางฝั่งขวาซึ่งยูเครนยึดครองอยู่
โปรคูดินเสริมว่า กำลังเร่งดำเนินการช่วยเหลือและให้สัญญาว่า จะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทุกคนและอพยพประชาชนจากพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม แม้มีอันตรายใหญ่หลวงจากการระดมโจมตีด้วยปืนใหญ่ของรัสเซียก็ตาม
เขาบอกว่าจนถึงเช้าวันพฤหัสฯ สามารถอพยพประชาชนออกมาแล้วเกือบ 2,000 คน
วันเดียวกันนั้น สำนักข่าวทาสส์ของทางการรัสเซียรายงานโดยอ้างอิงหน่วยงานความมั่นคงของรัสเซียว่า มีบ้านเรือนราว 14,000 หลังถูกน้ำท่วมหลังเขื่อนแตก และได้อพยพประชาชนออกมาแล้ว 4,300 คน
ทั้งนี้ ยูเครนระบุว่า เหตุการณ์เขื่อนแตกที่ทำให้มวลน้ำทะลักท่วมเมืองส่งผลให้ประชาชนเรือนแสนไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาด อีกทั้งยังทำให้พื้นที่เกษตรหลายหมื่นเฮกตาร์จมน้ำ และพื้นที่อย่างน้อย 500,000 เฮกตาร์ที่เคยได้รับน้ำจากเขื่อนคาคอฟกาเสี่ยงกลายเป็นทะเลทราย (1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6 ไร่ 1 งาน)
ด้านประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ระบุในคลิปที่เผยแพร่เมื่อคืนวันพุธ (7 ) ว่า ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมมากน้อยเพียงใดในพื้นที่แคว้นเคียร์ซอนส่วนที่อยู่ในการยึดครองของรัสเซีย ซึ่งเป็นที่ตั้งเขื่อนคาคอฟกาที่แตกเมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.) พร้อมเรียกร้องให้นานาชาติให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างชัดเจนและรวดเร็ว
ประมุขยูเครนอ้างโดยมิได้แสดงหลักฐานว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยึดครองในเคียร์ซอนเลวร้ายอย่างที่สุด เนื่องจากผู้ยึดครองทอดทิ้งประชาชนที่ต้องหนีขึ้นไปอยู่บนหลังคาโดยปราศจากความช่วยเหลือ
ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีโอเลคซานดร์ คูบราคอฟ ของยูเครน กล่าวภายหลังเดินทางไปเมืองเคียร์ซอน ซึ่งกำลังเป็นจุดปลายทางของน้ำทะลักจากเขื่อน ว่าพื้นที่พักอาศัยกว่า 80 แห่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัตินี้ และน้ำที่ท่วมปนเปื้อนทั้งสารเคมีและแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ
เคียฟกล่าวหามาตั้งแต่เมื่อหลายเดือนก่อนว่า กองทัพรัสเซียที่ยึดเขื่อนคาคอฟกาตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม ติดตั้งทุ่นระเบิดที่เขื่อน และกล่าวหาว่า มอสโกระเบิดเขื่อนเพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพยูเครนเคลื่อนพลข้ามแม่น้ำดนิโปร ที่เขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ในปฏิบัติการตอบโต้ครั้งใหญ่
ทว่า เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวหายูเครนทำลายเขื่อนตามคำชี้แนะของพันธมิตรตะวันตก และสำทับว่า นี่เป็นสงครามป่าเถื่อนที่ทำให้ความขัดแย้งยิ่งลุกลาม
ประมุขวังเครมลินยังระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นมหันตภัยด้านสิ่งแวดล้อมและมนุษยธรรม
อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายไม่ได้แสดงหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตนเอง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายตะวันตกบางคนระบุว่า เขื่อนอาจแตกเพราะความเสียหายก่อนหน้านี้ที่เกิดจากสงคราม และการปล่อยปละละเลยไม่ดูแลรักษาของรัสเซีย
รัสเซียประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในหลายพื้นที่ในแคว้นเคียร์ซอนที่ตนเองยึดครองอยู่ ขณะที่สำนักข่าวทาสส์รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของวลาดิมีร์ ลีออนทิฟ นายกเทศมนตรีเมืองโนวาคาคอฟกา ว่า ทุกๆ วินาทีจะมีน้ำกว่า 30,000 ลูกบาศก์เมตรทะลักออกจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อน และเมืองเสี่ยงปนเปื้อนจากของเสียซึ่งมากับน้ำที่เอ่อท่วม
ขณะเดียวกัน เซเลนสกีบอกว่า “ช็อก” กับการที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) และกาชาดยังไม่เข้าไปให้ความช่วยเหลือเหยื่อภัยพิบัติ
หลังจากนั้นไม่นาน ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ทวีตว่า ฝรั่งเศสจะส่งความช่วยเหลือเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะหน้าภายใน 2-3 ชั่วโมง
สำนักงานด้านมนุษยธรรมของยูเอ็นเผยว่า มีทีมช่วยเหลืออยู่ในเคียร์ซอนเพื่อประสานงานการบรรเทาทุกข์ โดยการเข้าถึงน้ำสะอาดเป็นข้อกังวลสำคัญ และได้แจกจ่ายน้ำดื่ม 12,000 ขวด และยาเม็ดเพื่อทำให้น้ำสะอาด 10,000 เม็ดแล้ว
(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์)