(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Maybe the Ukrainians blew up the Kakhovka Dam?
By STEPHEN BRYEN
07/06/2023
ถ้าหากว่าเป็นยูเครนที่ทำเรื่องนี้ พวกเขากระทำด้วยตัวเอง หรือว่าได้รับอนุญาตจากภายนอก? ถ้าหากว่ามันเป็นฝีมือของรัสเซีย ถ้าเช่นนั้นใครสักคนที่คิดเห็นเช่นนี้ควรที่จะออกมาเสนอเหตุผลเพื่อเป็นการรองรับสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวนี้
สำหรับฝ่ายรัสเซียแล้ว การที่พวกเขาจะระเบิดทำลายเขื่อนคาคอฟกาได้ พวกเขาจำเป็นต้องลำเลียงวัตถุระเบิดน้ำหนักเป็นตันๆ เข้ามาโดยใช้พวกเรือหรือพวกอุปกรณ์ใต้น้ำ ติดตั้งวัตถุระเบิดเหล่านี้ไว้ที่เขื่อนในตำแหน่งหันหน้าไปทางอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน แล้วจึงจุดชนวนให้เกิดการระเบิดขนาดมหึมายิ่ง จากคลิปวิดีโอที่โพสต์โดยรัฐบาลยูเครน มันดูเหมือนกับว่าการระเบิดเกิดขึ้นตรงบริเวณข้างใต้แนวเส้นระดับน้ำ ไม่ใช่ลึกลงไปกว่านั้น
เขื่อนคาคอฟกา ทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ ขณะที่มันทำงาน เขื่อนนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 357 เมกะวัตต์ รวมทั้งเป็นผู้จัดส่งน้ำหล่อเย็น 5.7 กิกะวัตต์สำหรับใช้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย นอกจากนั้น มันยังจ่ายน้ำเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ภาคใต้ของยูเครนและภาคเหนือของคาบสมุทรไครเมียอีกด้วย
ตอนที่สะพานข้ามช่องแคบเคิร์ช (Kerch Strait) ของไครเมียถูกโจมตีด้วยระเบิด (เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2022) มีรถบรรทุกคันหนึ่งซึ่งระบิดตูมขึ้นมาบนสะพานแห่งนั้น และยังมีความพยายามที่จะระเบิดทำลายพวกเสาตอม่อรองรับสะพานโดยใช้ยานใต้น้ำลำหนึ่งด้วย ปรากฏว่าตอม่อหลักของสะพานไม่ได้หักโค่นลงมา ซึ่งหมายความว่าอำนาจการระเบิดจากแรงระเบิดใต้น้ำยังไม่เพียงพอที่จะทำงานนี้ให้สำเร็จ สะพานแห่งนั้นไม่ได้ถูกโจมตีทิ้งระเบิดโดยเครื่องบิน อาวุธปล่อยนำวิถี หรือขีปนาวุธ
ถ้าหากมีอาวุธใดๆ ที่จะสามารถทำลายเขื่อนแห่งนี้ได้ มันก็คงมีอยู่ไม่กี่อย่างหรอก ยิ่งไปกว่านั้น มันยังไม่น่าที่จะเป็นระเบิดขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดความเสียหายชนิดที่เราเห็นได้จากวิดีโอ
ควรที่จะตั้งตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนนี้ ฝ่ายยูเครนมีการยิงขีปนาวุธและปืนใหญ่ใส่เขื่อนแห่งนี้ มีการอ้างกันด้วยว่าการโจมตีเหล่านี้เป็นเหตุทำให้เกิดรอยร้าวบางแห่งขึ้นกับตัวเขื่อน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://twitter.com/Sprinter99880/status/1666085592118235147)
เซเลนสกี อาจจะพยายามนำเอาการระเบิดเขื่อนแห่งนี้ลากโยงเชื่อมไปถึงข้อมูลอะไรบางอย่าง เมื่อเขากล่าวว่า มันเป็นฝีมือของคนข้างใน (an inside job) ทั้งนี้เขาย่อมหมายถึงฝ่ายรัสเซีย –และอันที่จริงแล้วในอดีตที่ผ่านมามันก็เคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้ว นั่นคือ กองทหารของสตาลิน ได้ระเบิดทำลายสิ่งที่เวลานั้นเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกซึ่งสร้างบนแม่น้ำดนีโปร สายเดียวกันนี้เมื่อปี 1941 ในความพยายามที่จะชะลอการเคลื่อนทัพของฝ่ายเยอรมันที่กำลังบุกตะลุยผ่านยูเครน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rferl.org/a/european-remembrance-day-ukraine-little-known-ww2-tragedy/25083847.html)
ทว่ามันเป็นเรื่องลำบากที่จะสามารถมองเห็นได้ว่า ถ้าหากฝ่ายรัสเซียเป็นผู้ทำเช่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง พวกเขาคาดหวังจะได้รับผลอะไรในคราวนี้ นอกจากนั้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าจะจับตามองกันให้มาก ได้แก่ การที่ข่าวชิ้นแรกๆ ชิ้นหนึ่งซึ่งปรากฏออกมาจากเหตุการณ์การระเบิดเขื่อนคาคอฟกาคราวนี้ คือการที่ฝ่ายยูเครนจัดส่งเรือจำนวนหลายสิบลำไปลำเลียงบุคลากรออกมาจากเกาะแก่งต่างๆ ที่อยู่บริเวณข้างใต้เขื่อน ซึ่งกำลังถูกน้ำทะลักเข้าท่วมท้นอย่างรวดเร็ว
การจัดองค์กรจนสามารถเข้าดำเนินการกู้ภัยได้อย่างรวดเร็วถึงขนาดนี้ บ่งชี้ให้เห็นว่าทรัพย์สินบรรเทาความเสียหายเหล่านี้ได้ถูกตระเตรียมเอาไว้ก่อนและพรักพร้อมอยู่แล้วสำหรับการปฏิบัติการ –แล้วที่จริงแล้วฝ่ายยูเครนก็บอกเองว่าพวกเขาได้มีการเตรียมพร้อมเอาไว้แล้วสำหรับรับกับผลบั้นปลายในลักษณะเช่นนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.kyivpost.com/post/17942)
ฝ่ายไหนคือผู้มีมูลเหตุจูงใจให้ทำเรื่องอย่างนี้ขึ้นมา?
สามารถที่จะตั้งข้อหาได้ว่าฝ่ายยูเครนนั่นแหละ คือฝ่ายที่มีมูลเหตุจูงใจให้กระทำเรื่องแบบนี้ กล่าวคือ ระเบิดเขื่อนเพื่อที่ทำให้ระดับน้ำที่อยู่เหนือเขื่อนลดลงมา และเปิดทางให้พวกเขาข้ามแม่น้ำที่จุดตรงนั้นด้วยความสะดวกง่ายดายขึ้นอย่างมากมายในระหว่างการดำเนินการปฏิบัติการรุกตอบโต้ของพวกเขา แท้ที่จริงแล้ว มวลน้ำที่ทะลักจากเขื่อนและไหลบ่าอยู่ในแคว้นเคียร์ซอน ส่วนใหญ่แล้วจะไหลไปสิ้นสุดลงในดินแดนยึดครองของฝ่ายรัสเซีย ดังนั้น ฝ่ายยูเครนก็สามารถที่จะพิทักษ์รักษาด้านปีกของพวกเขา ตลอดจนตัวเมืองเคียร์ซอนได้ง่ายขึ้น
เรื่องนี้ยังสอดคล้องเข้ากันได้กับรายงานหลายๆ ชิ้นที่ระบุว่า ฝ่ายยูเครนสามารถที่จะโยกย้ายหน่วยทหารหลายหน่วยจากพื้นที่เคียร์ซอนไปยังด้านตะวันออก เพราะการรุกของพวกเขากำลังประสบความล้มเหลว
ฝ่ายรัสเซียนั้นบอกว่าพวกเขาไม่ได้ระเบิดเขื่อนแห่งนี้ และก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ทำให้ต้องการกระทำเช่นนั้นด้วย
พวกเขาทราบดีว่าการถล่มเขื่อนแห่งนี้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาสาหัสร้ายแรงขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย ซึ่งจำเป็นต้องใช้น้ำหล่อเย็นปริมาณมโหฬาร โรงไฟฟ้าแห่งนี้คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป และเวลานี้อยู่ใต้การควบคุมของรัสเซีย ตอนนี้ยังคงไม่มีความชัดเจนว่าโรงไฟฟ้าแห่งนี้จะยังมีความปลอดภัยไปได้อีกนานแค่ไหน
การที่เขื่อนคาคอฟกาแตก ยังเป็นภัยคุกคามต่องานด้านการป้องกันของฝ่ายรัสเซีย ในบริเวณพื้นที่ซึ่งพวกเขายึดครองอยู่ใกล้ๆ กับแม่น้ำตรงใต้เขื่อนลงมา อันเป็นบริเวณซึ่งฝ่ายยูเครนกำลังพยายามที่จะช่วงชิงกลับไปสักพักใหญ่แล้ว
สปุตนิก โกลบอล (Sputnik Global) สื่อมวลชนด้านข่าวของรัสเซีย ได้เผยแพร่ข้อเขียนยาวๆ ชิ้นหนึ่งที่อยู่ในรูปแบบ “ตรวจสอบข้อเท็จจริง” (fact check) เพื่อหยิบยกข้อเท็จจริงทั้งหลายมาสรุปว่า เขื่อนแห่งนี้ถูกโจมตีทำลายโดยฝีมือฝ่ายยูเครน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://sputnikglobe.com/20230606/fact-check-who-attacked-novaya-kakhovka-dam-1110946820.html)
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ฝ่ายรัสเซียรู้สึกถูกบีบบังคับให้ต้องแถลงตอบโต้ผลักไสกลับไป ขณะที่สื่อมวลชนตะวันตกทั้งหลายรีบคว้าเอาข้อกล่าวหาของ เซเลนสกี ที่ว่ารัสเซียคือผู้กระทำเรื่องนี้มากลืนกินแบบแทบไม่มีความยั้งคิด และพากันพาดหัวการกล่าวอ้างนี้ในสำนักข่าวออนไลน์และหนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ของพวกเขาแทบจะเรียกได้ว่าทุกๆ เจ้า และภายหลังจากเผยแพร่รายงานข่าวออกมาเป็นโขยงในเบื้องต้นที่มีเนื้อหามุ่งประณามรัสเซียในเรื่องเขื่อนคาคอฟกาไปแล้ว หนังสือพิมพ์อย่างเช่น นิวยอร์กโพสต์ ยังกำลังบอกอีกว่า ปูตินกำลังพยายามที่จะทำลายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย
“ ‘ผู้ก่อการร้าย’ ปูติน กำลังเปลี่ยนโรงไฟฟ้าให้กลายเป็นระเบิด “นุก” แบบแสวงเครื่อง -อดีตนายทหารเตือน”
นิวยอร์กโพสต์พาดหัวตัวใหญ่เอาไว้เช่นนี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://nypost.com/2023/06/06/terrorist-vladimir-putin-is-turning-plant-into-improvised-nuke-ex-military-official-warns/)
เป็นเรื่องลำบากที่จะมองเห็นได้ว่าการระเบิดเขื่อนแห่งนี้จะให้ประโยชน์อะไรแก่รัสเซีย
เป็นความจริงที่มีทหารยูเครนเข้าไปยึดพวกเกาะแก่งเล็กๆ ในแม่น้ำเอาไว้ ซึ่งเวลานี้พวกเขาจะต้องรีบอพยพถอยออกไป ทว่าเมื่อน้ำลดลง พวกเขาก็จะกลับเข้าไปอยู่ดี
ผลลัพธ์เพียงประการเดียวที่ดูเหมือนเกิดขึ้นอย่างไม่มีการคาดหมายมาก่อน ได้แก่ การที่ส่วนบนสุดของเขื่อนเท่านั้นที่ถูกทำลาย ขณะที่ส่วนล่างลงมายังคงอยู่ตรงที่ตรงทางของมัน ซึ่งหมายความว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำด้านหลังเขื่อนไม่ใช่จะเททะลักหนีหายไปทั้งหมด อันจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมหนักหนาสาหัสยิ่งไปกว่าที่เป็นอยู่ มีความเป็นไปได้ว่าเรื่องนี้ถูกวางแผนเอาไว้ให้มันเป็นแบบนี้อยู่แล้ว กระนั้นการจุดชนวนวัตถุระเบิดน้ำหนักเป็นตันๆ ย่อมไม่ใช่หนทางที่สุดในการทดสอบข้อสมมติฐานทางวิศวกรรมเช่นนี้หรอก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/world/2023/06/06/nova-kakhovka-dam-explosion-explained/)
มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการดูแลรักษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริซเซีย ขณะเดียวกันนั้น พวกแนวป้องกันต่างๆ ของรัสเซียส่วนใหญ่ก็อาจยังคงอยู่รอดปลอดภัย ทั้งนี้ฝ่ายรัสเซียยังไม่มีการแถลงออกมาเป็นอย่างอื่น
คงจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งกว่าที่จะได้ทราบเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแบบเต็มพิกัด ทั้งนี้ถ้าหากเราจะมีโอกาสได้เห็นได้ทราบกันในท้ายที่สุด อย่าลืมว่าจวบจนถึงเวลานี้เราก็ยังไม่รู้ไม่ทราบเรื่องราวสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ กับสายท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม หรือสะพานข้ามช่องแคบเคิร์ชของไครเมีย อยู่ดี
ถ้าหากว่าความคิดที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ คือเพื่อทำให้เกิดอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งใหญ่โตมโหฬารขึ้นมาซึ่งจะสามารถนำมาประณามกล่าวโทษฝ่ายรัสเซียได้ การกระทำเช่นนั้นก็เข้าข่ายพฤติการณ์สร้างความเคียดแค้นชิงชังที่ถึงขั้นบานปลายกลายเป็นการคุกคามทั้งยูเครนและยุโรปไปด้วย กระทั่งอาจคุกคามทั่วโลกด้วยซ้ำไป
ถ้าหากว่าเป็นยูเครนนั่นแหละที่กระทำเรื่องนี้ คำถามต่อไปคือพวกเขาทำเรื่องอย่างนี้ด้วยตัวเอง หรือว่าพวกเขาได้รับอนุญาตได้รับการเปิดไฟเขียวจากภายนอก? ถ้าหากว่ามันเป็นฝีมือของรัสเซีย ถ้าเช่นนั้นใครสักคนที่คิดเห็นเช่นนี้ควรที่จะออกมาเสนอเหตุผลข้อโต้แย้งต่างๆ เพื่อเป็นการสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวนี้ของพวกเขา
สตีเฟน ไบรเอน เป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ Center for Security Policy และ Yorktown Institute ข้อเขียนนี้หนแรกสุดเผยแพร่อยู่ในบล็อก Substack, Weapons and Strategy ของผู้เขียน
หมายเหตุผู้แปล
สื่อตะวันตกที่ยังคงมีอิทธิพลครอบงำการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารส่วนใหญ่ของโลกเวลานี้ พากันเผยแพร่ข้อกล่าวหาแบบรวบรัดสรุปดื้อๆ ของเคียฟและของเมืองหลวงต่างๆ ในโลกตะวันตก ว่า รัสเซียเป็นตัวการในการทำลายเขื่อนคาคอฟกา แล้วฝ่ายรัสเซียล่ะมีความคิดเห็นอย่างไร? ผู้แปลจึงขอเก็บความจากรายงานข่าวของอาร์ที สื่อทางการรัสเซีย เรื่องคำกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ของเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของรัสเซียประจำยูเอ็น มาเสนอในที่นี้
‘รัสเซีย’ ถือว่า ‘ฝ่ายตะวันตก’ ต้องรับผิดชอบสำหรับความหายนะของ ‘เขื่อนคาคอฟกา’ คราวนี้
โดย สำนักข่าวอาร์ที
Russia holds West responsible for dam disaster – UN envoy
By RT
การที่ยูเครนประกอบ “อาชญากรรมอย่างชนิดนึกไม่ถึง” ด้วยการทำลายเขื่อนคาคอฟกา ก็เนื่องจากพวกเขาตั้งใจที่จะทำร้ายไครเมีย ซึ่งในปี 2014 ได้ตัดสินใจเลือกอยู่กับรัสเซีย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของรัสเซียประจำสหประชาชาติ วาสซิลี เนเบนเซีย (Vassily Nebenzia) บอกกับคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ในวันอังคาร (6 มิ.ย.) ที่ผ่านมา
นักการทูตชาวรัสเซียผู้นี้ได้หยิบยกรายงานหลายชิ้นของพวกสื่อสหรัฐฯ ซึ่งบันทึกหลักฐานเอาไว้ว่า ฝ่ายยูเครนเคยโจมตีใส่เขื่อนคาคอฟกา เมื่อเดือนธันวาคม 2022 โดยใช้ลูกจรวดของระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS ที่สหรัฐฯ จัดหาจัดส่งให้
“ด้วยความรู้สึกว่าตนเองสามารถรอดพ้นไม่ต้องถูกลงโทษใดๆ ทั้งนั้น รวมทั้งกำลังได้รับการกระตุ้นส่งเสริมจากพวกผู้อุปถัมภ์ชาวตะวันตก ระบอบปกครองเคียฟจึงตัดสินใจที่จะดำเนินกลอุบายแบบผู้ก่อการร้ายในคราวนี้” เนเบนเซีย กล่าวหา เขายังชี้ด้วยว่า ฝ่ายยูเครนยังได้ปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำดเนโปรเปตรอฟสก์ (Dnepropetrovsk hydroelectric power station) เพิ่มขึ้นมาก กระทั่งกำลังนำไปสู่การมีมวลน้ำมหาศาลยิ่งขึ้นอีกทะลักท่วมท้นลงสู่ด้านล่างของแม่น้ำ “ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าการก่อวินาศกรรมคราวนี้มีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า”
(ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำดเนโปรเปตรอฟสก์ ก็คือเขื่อนดนิโปร Dnipro Dam หรือเขื่อนดนีเปอร์ DnieperDam ในพื้นที่เมืองซาริซโปเซีย ของแคว้นซาริซโปเซีย ซึ่งตั้งอยู่เหนือขึ้นไปจากเขื่อนคาคอฟกา ที่อยู่ในแคว้นเคียร์ซอน เขื่อนดนิโปร เคยถูกทหารสหภาพโซเวียตทำลายเสียหายระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยความมุ่งหมายที่จะสกัดขัดขวางการบุกตะลุยเข้ามาของกองทัพนาซีเยอรมนี จากนั้นก็มีการสร้างเขื่อนนี้ขึ้นมาใหม่ในช่วงหลังสงคราม ดูเพิ่มเติม ได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Dnieper_Hydroelectric_Station -ผู้แปล)
“พฤติการณ์แบบผู้ก่อการร้ายเช่นนี้” มีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้กองกำลังฝ่ายยูเครนมีอิสระ สำหรับ “การรุกตอบโต้” ซึ่งเวลานี้กำลังถูก (ฝ่ายรัสเซีย) สกัดขัดขวางเอาไว้ในซาโปรอซเย (Zaporozhye ชื่อเรียกในภาษารัสเซีย โดยที่ภาษายูเครนรียกว่า ซาโปริซเซีย) แต่เวลาเดียวกันนี้ก็ก่อให้เกิดความเสียหายทางมนุษยธรรมอย่างใหญ่หลวงกับประชาชนของแคว้นเคียร์ซอน เนเบนเซีย กล่าวต่อ
ไม่เพียงน้ำที่ท่วมท้นจากความเสียหายของเขื่อนคาคอฟกา ทำให้เมืองเล็กเมืองน้อยสิบกว่าแห่งที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำดนิเปอร์ ไม่สามารถใช้เป็นที่พำนักอาศัยได้เท่านั้น มันยังลดระดับของน้ำที่อยู่ในคลองไครเมียเหนือ (North Crimea canal) ซึ่งส่งน้ำให้แก่คาบสมุทรของรัสเซียแห่งนี้ (คาบสมุทรไครเมีย) อีกด้วยทั้งนี้ คลองแห่งนี้ได้ถูกยูเครนปิดไป ภายหลังไครเมียออกเสียงต้องการกลับเข้ามารวมอยู่ในรัสเซีย ในการลงประชามติซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2014 และเพิ่งเปิดขึ้นใหม่อีกครั้งในปีที่แล้ว เมื่อกองทหารรัสเซียเข้าควบคุมพื้นที่แถบนี้แล้ว
ตามคำกล่าวของ เนเบนเซีย เคียฟ “ได้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งที่จะแก้แค้นชาวไครเมียจากการที่พวกเขาเลือกที่จะอยู่กับรัสเซีย ด้วยการปล่อยให้ประชากรของไครเมียอยู่ในสภาพปราศจากน้ำ”
เนเบนเซีย เรียกข้ออ้างข้อกล่าวหาทั้งหลายของฝ่ายยูเครน พวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ และอียู ที่ว่า รัสเซียเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการทำลายเขื่อนคาคอฟกา ว่า เป็น “การรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเท็จซึ่งมีการประสานงานกันเป็นอย่างดี” ในลักษณะเดียวกับการแพร่ข้อกล่าวหาอื่นๆ ก่อนหน้านี้ เป็นต้นว่าข่าวที่อ้างว่า มอสโกอยู่เบื้องหลังการยิงถล่มใส่ประชาชนของตนเองที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปรอซเย หรือการทำลายสายท่อส่งก๊าซ นอร์ดสตรีม ซึ่งวางอยู่ใต้ทะเลบอลติก
ตามถ้อยคำของนักการทูตรัสเซียผู้นี้ เคียฟกำลังนำเอายุทธวิธีต่างๆ ของผู้ก่อการร้ายมาใช้อย่างเต็มที่ ตั้งแต่การระเบิดถล่มสะพานข้ามช่องแคบเคิร์ชของไครเมีย ไปจนถึงการก่อเหตุลอบสังหารนักหนังสือพิมพ์ ดารยา ดูกินา (Darya Dugina) และวลาดเลน ตาตาร์สกี (Vladlen Tatarsky) ตลอดจนความพยายามในการลอบสังหารนักหนังสือพิมพ์ ซาคาร์ ปริเลปิน (Zakhar Prilepin) –ซึ่งไม่มีรัฐบาลตะวันตกแห่งใดเลยพูดประณามพฤติการณ์เหล่านี้ออกมาแม้แต่คำเดียว
“ระบอบปกครองเคียฟ มีครูอาจารย์ชั้นดี ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการทำลาย (สายท่อส่งก๊าซ) นอร์ดสตรีม ตลอดจนการพุ่งเป้าจงใจทำลายเขื่อนทับกา (Tabqa dam) ในซีเรีย ฝ่ายตะวันตกนั้นคุ้นเคยกับการทำงานสกปรกโดยอาศัยมือของคนอื่น” นักการทูตรัสเซียผู้นี้บอกกับคณะมนตรีความมั่นคง
“เรายังไม่ได้บอกปัดว่าอาจจะมีความพยายามที่จะยั่วยุด้วยการเล่นงานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปรอซเยขึ้นมาอีก” เนเบนเซีย กล่าว เมื่อพิจารณาจากการที่สหประชาชาติยังคงยืนกรานปฏิเสธไม่ยอมประณามฝ่ายยูเครนสำหรับการโจมตีโรงไฟฟ้าแห่งนั้น “ถึงแม้มันเป็นที่ชัดเจนแก่ทุกๆ คนไม่ว่าพวกเขามาจากข้างไหนก็ตามที”
(ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.rt.com/russia/577601-kakhovka-dam-western-sponsors-nebenzia/)