xs
xsm
sm
md
lg

‘รัสเซีย’ ดูเหมือนระงับการเปิดรุกใหญ่ใส่ ‘ยูเครน’ เอาไว้ก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***


ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ (กลาง) พบปะกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน (ขวา) และโอเลนา ภรรยาของเขา ระหว่างไปเยือนกรุงเคียฟ ในวันที่ 20 ก.พ.2023
Russia’s Ukraine offensive in suspended animation
BY M. K. BHADRAKUMAR
24/02/2023

พวกทหารรัสเซียหลายแสนคนที่เกณฑ์เข้ามาใหม่ตามแผนการเรียกระดมกำลังกองหนุนบางส่วนของ “ปูติน” มีกำหนดเสร็จสิ้นการฝึกอย่างสมบูรณ์แบบในเดือนมีนาคมนี้ ดังนั้น ทหารที่เพิ่มขึ้นมาเหล่านี้ นอกเหนือจากการเพิ่มน้ำหนักให้แก่ “กระบวนการปลดกำลังทหาร” ของฝ่ายเคียฟในดอนบาสส์ (แคว้นโดเนตส์และแคว้นลูฮันสก์) แล้ว แคว้นคาร์คอฟ (คาร์คิฟ) แคว้นซาโปรอซยา (ซาโปริซเซีย) และแคว้นเคียร์ซอน ก็ตกอยู่ในสายตาของฝ่ายรัสเซียเช่นเดียวกัน รวมไปถึงเมืองท่าสำคัญมากอย่างโอเดสซา

ความคาดหมายกันโดยทั่วไปที่ว่า วาระครบรอบ 1 ปีแรกของการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียในยูเครน จะได้รับการรำลึกถึงด้วยการประกาศเปิดรุกทางทหารครั้งใหญ่ ปรากฏว่ากลายเป็นเพียงความเชื่อที่ผิดๆ โดยที่มีแค่การกล่าวปราศรัยแยกต่างหากจากกันของประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่กรุงมอสโก และที่กรุงวอร์ซอ ตามลำดับ ในช่วงเวลาห่างกันไม่กี่ชั่วโมง

เนื้อหาของคำปราศรัยทั้ง 2 ครั้งนี้ไม่ได้มีอะไรที่ใหม่ๆ จริงๆ สักเท่าใด ปูตินนั้นสร้างความเอะอะเกรียวกราวในตอนท้ายๆ ของการปราศรัยของเขา ด้วยการทิ้งระเบิดตูมว่า รัสเซียกำลังจะระงับการเข้าร่วมสนธิสัญญา นิว สตาร์ท (New START treaty) ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างแดนหมีขาวกับสหรัฐฯ ฉบับสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ในเวลานี้ แต่ว่าหลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศในมอสโก ได้อธิบายเพิ่มเติมแล้วว่า รัสเซียจะยังคงปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ของสนธิสัญญานี้ต่อไปจนกระทั่งถึงปี 2026

สำหรับไบเดนนั้น จากการที่เรตติ้งความนิยมของเขากำลังร่วงลงเรื่อยๆ กระทั่งภายในพรรคเดโมแครตเอง การสนับสนุนของมติมหาชนสหรัฐฯ ต่อสงครามในยูเครนซึ่งลดต่ำไม่หยุดหย่อน จึงกำลังเป็นเครื่องตอกย้ำว่า ถ้อยคำโวหารขึงขังของเขาที่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในยูเครนคือการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตย VS เผด็จการ ไม่ได้รับความใส่ใจอย่างจริงจังแม้กระทั่งในความคิดเห็นของชาวอเมริกันซึ่งอยู่นอกแวดวงพวกนักอนุรักษนิยมใหม่ แน่นอนทีเดียว ไบเดนย่อมไม่ต้องการให้พิธีฝังศพสนธิสัญญานิว สตาร์ท นี้ กลายเป็นมรดกแห่งสมัยการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา

สำหรับปูตินก็เช่นกัน ถึงแม้เรตติ้งความนิยมในตัวเขายังคงสูงลิ่วอย่างน่าตื่นตะลึงโดยเวลานี้แตะระดับ 80% จนทำให้การได้รับเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่งของเขาในเดือนมีนาคมปีหน้ากลายเป็นความแน่นอนไปแล้ว ถ้าหากเขาตัดสินใจที่จะลงแข่งขันอีกครั้ง แต่ก็ยังมีแรงกดดันภายในประเทศหลายอย่างหลายประการ สาธารณชนชาวรัสเซียเป็นพวกที่มีความรู้ความเข้าใจสูงในเรื่องการเมือง และคำถามจะต้องผุดขึ้นมาเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาถึงก้าวเดินอันเชื่องช้าของการปฏิบัติการในยูเครน ถึงแม้เศรษฐกิจของรัสเซียยังไปได้สวยสดในการยืนหยัดเผชิญหน้ากับการเล่นงานโจมตีของฝ่ายตะวันตก แต่มันยังคงอยู่ในสภาพเป็นการรวมกันของเศรษฐกิจแบบถูกปิดล้อมและเศรษฐกิจแห่งสงคราม ตัวปูตินเองมีความสำนึกอย่างคมกริบในเรื่องความจำเป็นที่จะต้องบรรเทาความกังวลใจของสาธารณชน

ยุทธศาสตร์ของรัสเซียตั้งแต่ต้นจนจบ คือการ “บดบี้” กองทัพยูเครน และบังคับเคียฟให้ยอมเจรจา แต่สหรัฐฯ เพิ่งมาตระหนักในตอนนี้เองว่าสงครามครั้งนี้แท้ที่จริงแล้วคือสงครามพร่ากำลัง (war of attrition) ไบเดนเพิ่งประกาศแพกเกจให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนแพกเกจใหม่ที่มีมูลค่า 460 ล้านดลอลาร์ โดยจะมีทั้งเครื่องกระสุนสำหรับระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS ตลอดจนลูกปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตร และ 120 มิลลิเมตร แต่สิ่งที่สำคัญคือ เขาไม่ได้ให้คำมั่นสัญญาใดๆ เกี่ยวกับขีปนาวุธที่มีพิสัยทำการไกลขึ้น หรือในเรื่องเครื่องบินขับไล่ –ถึงแม้เขาทำนายว่าช่วงเวลาไม่กี่วันข้างหน้านี้จะเป็นช่วงยากลำบากสำหรับยูเครน และให้คำมั่นว่าสหรัฐฯ จะทำทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็น เพื่อทำให้ “รัสเซียต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงลิ่ว”

ถ้าจะอ้างอิงคำพูดของ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการองค์การนาโต้ เขาบอกว่า สงครามในยูเครนที่กำลังคลี่คลายออกมาให้เรามองเห็น คือ “สงครามพร่ากำลัง ... การสู้กันในเรื่องการส่งกำลังบำรุง ในทำนองที่ว่าคุณจะสามารถจัดหาสิ่งของต่างๆ ให้เพียงพอได้ยังไง – ไม่ว่าวัสดุ อะไหล่ชิ้นส่วน เครื่องกระสุน เชื้อเพลิง –ส่งไปยังแนวหน้า” แต่มันก็ยังสามารถที่จะกลายพันธุ์ไปได้เช่นกัน ในเมื่อฝ่ายตะวันตกยังไม่สามารถนิยามได้ว่า อะไรคือเป้าหมายสุดท้ายของพวกเขาในยูเครน

ปูตินเตือนว่า การจัดหาจัดส่งอาวุธของฝ่ายตะวันตกไปยังเคียฟ จะเป็นการจุดชนวนให้เกิดผลต่อเนื่องต่างๆ ติดตามมา “ยิ่งระบบอาวุธของฝ่ายตะวันตกที่กำลังนำเข้าไปในยูเครนมีพิสัยทำการไกลขึ้นเท่าใด เราก็จะถูกบังคับให้ต้องผลักไสภัยคุกคามนี้ให้ออกห่างจากพรมแดนของเราไกลขึ้นไปอีกเท่านั้น” เขากล่าว พูดง่ายๆ ก็คือ กองกำลังฝ่ายรัสเซียอาจจะสร้างพื้นที่กันชนขึ้นในบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำดนีเปอร์ (Dnieper River) ปูตินเรียกร้องพวกชนชั้นนำฝ่ายตะวันตกให้ตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่า “มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่จะทำให้รัสเซียประสบความพ่ายแพ้ในสมรภูมิ”

นี่คือสิ่งที่เขาพูดออกมาอย่างเฉียดใกล้ที่สุดในเรื่องเส้นทางโคจรในอนาคตของการปฏิบัติการพิเศษคราวนี้ แน่นอนอยู่แล้วว่า รัสเซียนั้นเฝ้าจับตามองอย่างกระชั้นชิดในเรื่องที่ความสนับสนุนซึ่งให้แก่สงครามคราวนี้ในสหรัฐฯ กำลังลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ และเรื่องนี้สามารถส่งผลกระทบต่อการคิดคำนวณทางการเมืองของ ไบเดน ขณะที่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งซึ่งย่อมต้องสร้างความแตกแยกขึ้นมาอยู่แล้ว เคลื่อนเข้าเกาะกุมชีวิตทางการเมืองในสหรัฐฯ มากขึ้นๆ แน่นอนทีเดียว คณะบริหารไบเดนได้เที่ยวรวบรวมอำนาจในการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินมาไว้ในมืออย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง จนสามารถที่จะให้ความสนับสนุนในระดับสูงอย่างต่อเนื่องแก่ยูเครนไปจนตลอดอีก 8 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณนี้ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม และพวกชาติพันธมิตรตะวันตกจะลงขันร่วมด้วยอย่างไม่มีปัญหาอะไร

ถึงกระนั้น ไบเดนก็จำต้องพึงพอใจยอมรับแค่การได้เข้าร่วมประชุมกับกลุ่ม “บูคาเรสต์ 9” (Bucharest Nine) ในกรุงวอร์ซอเมื่อวันอังคาร (21 ก.พ.) แม้ว่าถ้าหากสามารถจัดการหารือชนิดที่พวกประเทศยุโรปที่เก่าแก่กว่าและยิ่งใหญ่ทรงเกียรติกว่าแห่งยุโรปตะวันตก พากันเดินทางมาพบปะเข้าร่วมกับเขา ณ กรุงเคียฟ หรือกรุงวอร์ซอ มันก็น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้โรดโชว์คราวนี้ของเขาดูยิ่งใหญ่น่าตื่นตาตื่นใจมากกว่า และสอดคล้องเหมาะสมกับวาระโอกาสยิ่งกว่านี้นักหนา แต่เมื่อมันไม่ได้เกิดขึ้นมา ก็ย่อมกลายเป็นการส่งข้อความเกี่ยวกับ “ความสามัคคีเป็นเอกภาพของฝ่ายตะวันตก” บางอย่างบางประการออกมาในตัว
(กลุ่มบูคาเรสต์ 9 ประกอบด้วย 9 ชาติสมาชิกนาโต้ในยุโรปตะวันออก ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aa.com.tr/en/world/biden-stoltenberg-discuss-nato-strategy-at-bucharest-nine-meeting-in-warsaw/2828211)

ทางด้านปูตินนั้น การที่เขาตัดสินใจเล่นไพ่ “สนธิสัญญานิว สตาร์ท” ในจังหวะเวลานี้ ต้องถือว่าเหมาะเหม็งจริงๆ นี่คือการแสดงให้เห็นถึงการใช้ “อำนาจอย่างฉลาดหลักแหลม” –เป็นการทำสงครามด้วยการใช้เครื่องมือที่อยู่ในรูปแบบอื่นๆ โดยแท้ พิจารณาจากแง่มุมภายนอก ความเคลื่อนไหวเช่นนี้เป็นการกดดันอย่างแข็งกร้าวเพื่อให้วอชิงตันต้องแสดงปฏิสัมพันธ์ทางการทูต และอย่างน้อยที่สุดก็มุ่งหมายที่จะบังคับให้สหรัฐฯ ต้องแสดงความบันยะบันยังตัวเองขณะที่เที่ยวเติมเชื้อเพลิงโหมไฟสงครามครั้งนี้ให้ลุกโชน ทั้งนี้ มิฮาอิล อูลิอานอฟ (Mikhail Ulyanov) ผู้แทนถาวรประจำองค์การระหว่างประเทศทั้งหลายในกรุงเวียนนา ออกมาขยายความในวันพุธ (22 ก.พ.) ว่า “สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้ สามารถที่จะ “หวนกลับ” ได้ ถ้าสหรัฐฯ แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ทางการเมือง และใช้ความพยายามอย่างซื่อสัตย์เพื่อไม่ให้เกิดการบานปลายขยายตัวโดยทั่วไป และเพื่อสร้างเงื่อนไขต่างๆ สำหรับการปฏิบัติตามสนธิสัญญา สตาร์ท ใหม่ อย่างรอบด้าน”

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการการเมือง (US Under Secretary of State for Political Affairs) วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ซึ่งเป็นพวกสายเหยี่ยวขึ้นชื่อ แสดงปฏิกิริยาในการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียในวันพฤหัสบดี (23 ก.พ.) ว่า วอชิงตันพร้อมที่จะเริ่มต้นหารือกับรัสเซียเกี่ยวกับสนธิสัญญานิว สตาร์ท ตั้งแต่ “วันพรุ่งนี้” เลย ถ้าฝ่ายมอสโกพรักพร้อมสำหรับเรื่องนี้ “สหรัฐฯ และมอสโกมีความรับผิดชอบต่อโลกที่จะต้องรักษาคลังแสงนิวเคลียร์ของเราให้ปลอดภัยและมีความมั่นคง และเราควรที่จะต้องทำงานของพวกเรา” เธอชี้ออกมาเช่นนี้

ปกติแล้ว นูแลนด์ ไม่ได้รู้สึกสบายอกสบายใจหรอกถ้าหากต้องใช้สำนวนโวหารแบบมุ่งประนีประนอมเช่นนี้ในเรื่องที่เกี่ยวกับรัสเซีย –อันที่จริง แม้กระทั่งต้องเชื่อมโยงผูกพันประเทศของเธอให้เข้ากับมหาอำนาจรายหนึ่ง ซึ่งเธอพิจารณาอย่างดูถูกว่าเป็นรูปแบบชีวิตที่ต่ำชั้นกว่าในความเคลื่อนไหวเชิงอำนาจในระดับโลก มันจึงยิ่งเป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงการดิ้นรนอย่างสุดฤทธิ์ของไบเดน ที่ต้องการกอบกู้ช่วยชีวิตสนธิสัญญานิว สตาร์ท เอาไว้ จวบจนกระทั่งหมดอายุการบังคับใช้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ (ปี 2026)

จริงๆ แล้ว เรื่องนี้มีมิติเกี่ยวกับยุโรปเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ผลกระทบต่างๆ ซึ่งจะมีต่อความมั่นคงของยุโรปนั้นลึกซึ้งมาก อย่างที่ ปูติน กำลังเรียกร้องว่า การเจรจาหารือเรื่องการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ในอนาคต ควรที่จะต้องนำเอาสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสเข้ามาร่วมด้วย การประกาศเช่นนี้ของ ปูติน เท่ากับเป็นการนำเอาภัยคุกคามทางนิวเคลียร์ เข้ามาตั้งเอาไว้ที่ธรณีประตูของยุโรปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจนั่นเอง

สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจะยินยอมนำเอาคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของพวกเขาเข้ามาอยู่ใต้การควบคุมของสนธิสัญญาจำกัดอาวุธระหว่างประเทศหรือไม่? สหรัฐฯ นั้นได้ประกาศถอนตัวออกจากสนธิสัญญา INF ปี 1987 (Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty สนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง) โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงความวิตกกังวลของยุโรปเลย แล้วมาถึงเวลานี้ สนธิสัญญานิว สตาร์ท ยังกำลังกลายเป็นผู้ที่ต้องได้รับความเสียหายจากการเผชิญหน้ากันระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย โดยที่ในยุโรปตอนนี้มีกระแสความไม่พอใจคุกรุ่นอยู่แล้วจากการมองเห็นว่า สหรัฐฯ คือผู้ที่ได้รับประโยชน์แต่เพียงผู้เดียวจากสงครามยูเครน คลื่นใต้น้ำทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถเพิกเฉยละเลยได้หรอก

ทั้งหมดเหล่านี้เมื่อนำมาบรรจบรวมกันแล้วมันจะนำไปสู่อะไร? ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญกระแสหนึ่งระบุว่า เมื่อถึงเดือนมีนาคม พวกทหารรัสเซียที่เกณฑ์เข้ามาใหม่ตามแผนการเรียกระดมกำลังกองหนุนบางส่วนซึ่งบังคับใช้ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว จะเสร็จสิ้นการฝึกอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้น ทหารที่เพิ่มขึ้นมาเหล่านี้ นอกเหนือจากการเพิ่มน้ำหนักให้แก่ “กระบวนการปลดกำลังทหาร” ของฝ่ายเคียฟในดอนบาสส์ (แคว้นโดเนตส์และแคว้นลูฮันสก์) แล้ว แคว้นคาร์คอฟ (คาร์คิฟ) แคว้นซาโปรอซยา (ซาโปริซเซีย) และแคว้นเคียร์ซอน ก็ตกอยู่ในสายตาของฝ่ายรัสเซียเช่นเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น การที่ ไบเดน แถลงยั่วยุอย่างเป็นอันตรายมากในกรณีมอลโดวา เมื่อวันอังคาร (21 ก.พ.) ยังทำให้มอสโกต้องเพิ่มความระมัดระวังในการพิทักษ์รักษาชายแดนติดต่อระหว่างยูเครนกับแคว้นทรานสนิสเตรีย (Transnistria) –และจึงกลายเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกว่า การควบคุมเมืองโอเดสซา (Odessa) เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างที่สุด

กล่าวโดยองค์รวม คณะบริหารไบเดนกำลังอยู่ในอาการลังเลใจ เนื่องจากข้อเท็จจริงต่างๆ จากภาคสนามแสดงให้เห็นว่า การตัดสินใจก่อสงครามขึ้นมากับรัสเซียโดยใช้ตัวแทนของพวกเขานั้น ไม่ได้รับผลอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเอาเสียเลย เวลานี้ยูเครนต้องสูญเสียดินแดนมากขึ้นอีก หลังจากที่โยนทิ้ง (ตามแรงกดดันของสหรัฐฯ) ร่างข้อตกลงสันติภาพตามที่ได้เจรจาไว้กับรัสเซียที่นครอิสตันบูลเมื่อเดือนมีนาคม แคว้น 4 แคว้นของยูเครนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธรัฐรัสเซียไปเรียบร้อยแล้ว และมอสโกไม่น่าที่จะยอมถูกพรากจากดินแดนเหล่านี้อีก

ไบเดน ทราบเป็นอย่างดีเหลือเกินว่า ยูเครน จะพังครืนลงมาภายในชั่วเวลาข้ามคืน ถ้าปราศจากการหนุนหลังทั้งทางการทหารและทางการเงินจากสหรัฐฯ การเสี่ยงภัยราคาแพงเช่นนี้มีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใดเป็นสิ่งที่กำลังมีการถกเถียงกัน เวลาเดียวกัน ถ้าหากระบอบปกครองปัจจุบันในเคียฟเจอกับกระแสตราหน้าว่าขี้แพ้ขึ้นมาเมื่อใด ก็อยู่ต่อไปไม่ได้เหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้แผนการของฝ่ายตะวันตกคือการสนับสนุนให้ยูเครนเปิด “การรุกตอบโต้” ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อชิงดินแดนอะไรตรงไหนบางส่วนกลับคืนมาได้บ้าง ทว่าโอกาสของเคียฟที่จะประกาศอ้างดินแดนภายใต้การควบคุมของรัสเซียกลับคืนไปนั้น ในทางเป็นจริงแล้ว มันเท่ากับศูนย์ เวลาเดียวกันนั้น สงครามก็กำลังสร้างพลวัตขึ้นมาอย่างคึกคักในส่วนของความร่วมมือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กันระหว่างจีนกับรัสเซีย

ปูติน ออกมายืนยันแล้วว่า มอสโกกำลังคาดหมายว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน จะเดินทางไปเยือน ภายหลังวาระการประชุมขององค์กรที่ปรึกษาและองค์กรนิติบัญญัติระดับสูงสูดของจีน –ซึ่งก็คือ การประชุมสภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน (Chinese People’s Political Consultative Conference) และการประชุมเต็มคณะของสมัชชาประชาชนแห่งชาติของจีน (National People’s Congress) ที่จะเริ่มขึ้นในกรุงปักกิ่งวันที่ 4 และ 5 มีนาคมนี้ ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า การเปิดการรุกขนาดใหญ่โตใดๆ ของฝ่ายรัสเซียจะยังคงถูกระงับเอาไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าจะถึงตอนนั้น

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/russias-ukraine-offensive-in-suspended-animation/


กำลังโหลดความคิดเห็น