xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : 1 ปีสงครามยูเครน! ‘ไบเดน’ ลั่น ‘เคียฟ’ ไม่มีวันแพ้ ‘ปูติน’ ฉีกสัญญานิวเคลียร์-ซัดตะวันตก ‘ต้นเหตุสงคราม’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กล่าวสุนทรพจน์ที่พระราชวังหลวงในกรุงวอร์ซอของโปแลนด์ เมื่อวันที่ 21 ก.พ. โดยยืนยันว่าอเมริกาพร้อมให้การสนับสนุนยูเครนอย่าง “ไม่มีวันสั่นคลอน”  ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ก็กล่าวแถลงนโยบายประจำปีที่ศูนย์การประชุม Gostiny Dvor ใจกลางกรุงมอสโกในวันเดียวกัน (21) โดยกล่าวหาชาติตะวันตกเป็นต้นเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ทำเซอร์ไพรส์คนทั่วโลกด้วยการเดินทางเยือนกรุงเคียฟหนแรกในช่วงใกล้ครบวาระ 1 ปีที่รัสเซียรุกรานยูเครน ก่อนประกาศกร้าวที่โปแลนด์ว่าจะไม่ปล่อยให้เคียฟพ่ายแพ้ต่อรัสเซียอย่างเด็ดขาด ขณะที่ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียแถลงนโยบายประจำปีกล่าวโทษตะวันตกว่าเป็นตัวจุดชนวนสงคราม พร้อมประกาศฉีกสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ที่ทำร่วมกับสหรัฐฯ

ผู้นำสหรัฐฯ และรัสเซียเปิดสงครามน้ำลายโต้เถียงกันด้วยมุมมองคนละขั้วเกี่ยวกับสงครามยูเครน โดย ไบเดน สัญญาว่าสหรัฐฯ จะยืนหยัดปกป้องระบอบประชาธิปไตย และพร้อมให้การสนับสนุนยูเครนไปอีกนานเท่าที่จำเป็น ขณะที่ ปูติน ชี้หน้ากล่าวโทษตะวันตกว่าดำเนินนโยบายที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัสเซีย

“ตอนที่รัสเซียส่งทหารรุกรานมันไม่เพียงเป็นบททดสอบสำหรับยูเครนเท่านั้น แต่ยังเป็นบททดสอบสำคัญแห่งยุคสมัยสำหรับทั่วโลกด้วย” ไบเดน กล่าวสุนทรพจน์ที่พระราชวังหลวงในกรุงวอร์ซอ เพียง 1 วันหลังทำ “เซอร์ไพรส์” ด้วยการไปพบประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ถึงเมืองหลวงยูเครน

การเดินทางเข้ากรุงเคียฟของผู้นำสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (20) สร้างความตื่นตะลึงให้หลายฝ่าย ขณะที่สื่อรัสเซียและตะวันตกหลายสำนักระบุตรงกันว่า สหรัฐฯ ได้แจ้งให้รัสเซียทราบล่วงหน้า และขอให้มอสโก “รับประกันความปลอดภัย” แก่ ไบเดน ด้วย

ผู้นำสหรัฐฯ ให้สัญญามอบความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครนเพิ่มอีก 500 ล้านดอลลาร์ พร้อมเอ่ยถึงยุทโธปกรณ์สำคัญๆ ที่จะส่งให้เพิ่มเติม เช่น จรวด กระสุนปืนใหญ่ ระบบต่อต้านยานเกราะ และเรดาร์ตรวจการณ์ทางอากาศ

ไบเดน ระบุว่า สหรัฐฯ และองค์การสนธิสัญญาแอนแลนติกเหนือ (นาโต) “จะยืนหยัดปกป้องอธิปไตย และเราได้ทำแล้ว เราจะยืนหยัดเพื่อสิทธิของผู้คนที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างอิสระปลอดจากการรุกราน ซึ่งเราได้ทำแล้ว และเราจะยืนหยัดปกป้องระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเราก็ได้ทำแล้ว”

“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการสนับสนุนที่เรามอบให้ยูเครนจะไม่สั่นคลอน นาโตจะไม่แตกแยก และเราจะไม่ท้อถอยหมดกำลัง”

ทางฝั่ง ปูติน ก็ได้เปิดแถลงนโยบายประจำปีที่กรุงมอสโกเมื่อวันอังคาร (21 ก.พ.) โดยกล่าวต่อบรรดานายทหาร และนักการเมืองระดับสูงของรัสเซียว่า สหรัฐฯ นั้นมีเจตนาเปลี่ยนสงครามยูเครนให้กลายเป็นความขัดแย้งระดับโลก พร้อมประกาศระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาลดอาวุธทางยุทธศาสตร์ New START ซึ่งเป็นสัญญาควบคุมอาวุธที่ทำกับอเมริกาฉบับหลักฉบับสุดท้ายที่เหลืออยู่

อย่างไรก็ดี กระทรวงการต่างประเทศรัสเซียได้แถลงในเวลาต่อมาว่า มอสโกจะยังคงปฏิบัติตามเงื่อนไขสนธิสัญญาในส่วนที่ว่าด้วยจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่สามารถประจำการได้

“เจ้าหน้าที่ระดับสูงของตะวันตกไม่อาจเสแสร้งปกปิดจุดประสงค์ที่แท้จริงของพวกเขา ขณะเดียวกัน พวกเขาก็รู้ดีว่า การจะทำให้รัสเซียพ่ายแพ้ในสนามรบนั้นเป็นไปไม่ได้เช่นกัน” ปูติน กล่าว

“พวกเขาต้องการเปลี่ยนความขัดแย้งระดับภูมิภาคให้กลายเป็นการเผชิญหน้าระดับโลก เราเข้าใจดีมาตั้งแต่ต้น และจะตอบโต้ด้วยแนวทางที่เหมาะสม เพราะสิ่งที่เรากำลังพูดกันอยู่นี้คือการดำรงอยู่ของประเทศรัสเซีย”

ไบเดน ปฏิเสธข้อครหาของรัสเซียที่อ้างว่าตะวันตกกำลังจ้องควบคุมและหาทางทำลายรัสเซียผ่านการสนับสนุนยูเครน

"ตะวันตกไม่ได้คิดวางแผนโจมตีรัสเซียอย่างที่ ปูติน พูดในวันนี้ สงครามครั้งนี้ไม่เคยมีความจำเป็น มันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประธานาธิบดี ปูติน เป็นผู้เลือกสงคราม" ไบเดน ระบุ

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ วิจารณ์การระงับสนธิสัญญา New START ของ ปูติน ว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ “น่าเสียดายและขาดความรับผิดชอบ” ในขณะที่ เยน สโตลเตนเบิร์ก เลขาธิการนาโต ชี้ว่ามันจะทำให้โลก “กลายเป็นสถานที่ที่อันตรายกว่าเดิม” และขอให้ ปูติน ทบทวนการตัดสินใจใหม่

ประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ให้การต้อนรับประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ซึ่งเดินทางไปเยือนกรุงเคียฟแบบไม่ประกาศล่วงหน้า เมื่อวันที่ 20 ก.พ.
จาง จวิน (Zhang Jun) เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น ให้สัมภาษณ์สื่อในวันอังคารว่า (21) ว่า จีนเชื่อมั่นเสมอว่า “สงครามนิวเคลียร์คือสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และจะไม่มีฝ่ายใดชนะ” พร้อมเตือนว่าสนธิสัญญา New START และกลไกควบคุมอื่นๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงของโลก

“ในประเด็นที่สำคัญเหล่านี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรมีการเจรจาเพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกัน” จาง กล่าว

สนธิสัญญา New START ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2011 และกำลังจะหมดอายุลงในปี 2026 กำหนดให้ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียประจำการหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ได้ไม่เกินประเทศละ 1,550 หัวรบ รวมถึงจำกัดจำนวนขีปนาวุธภาคพื้นดิน ขีปนาวุธที่ยิงจากเรือดำน้ำ และเครื่องบินทิ้งระเบิดที่จะใช้ส่งหัวรบนิวเคลียร์เหล่านี้ด้วย

สหรัฐฯ นั้นพยายามปกป้องสนธิสัญญาฉบับนี้ไว้ แต่ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ทรุดหนักเนื่องจากสงครามในยูเครนทำให้การตรวจสอบกิจกรรมนิวเคลียร์ระหว่างวอชิงตัน และมอสโกต้องหยุดชะงักลง

ในการกล่าวสุนทรพจน์ 2 ครั้งเมื่อเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว ปูติน ขู่ว่าเขาพร้อมที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์ปกป้องดินแดนรัสเซียหากว่ามีความจำเป็น และล่าสุดผู้นำรัสเซียได้กล่าวในวันอังคาร (21) ว่าตนเพิ่งจะลงนามกฤษฎีกา “ประจำการระบบขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ภาคพื้นดินรุ่นใหม่” แต่ไม่ได้เอ่ยชัดว่าระบบที่ว่านี้คืออาวุธนิวเคลียร์หรือไม่

นักวิเคราะห์เตือนว่า การที่รัสเซียระงับการมีส่วนร่วมในสนธิสัญญา New START จะทำให้ 2 มหาอำนาจคาดเดาระดับการป้องปรามซึ่งกันและกันได้ยากขึ้น และยังอาจกระตุ้นให้มหาอำนาจรายอื่นๆ อย่างจีน อินเดีย และปากีสถาน หันมายกระดับคลังแสงนิวเคลียร์ของตัวเอง

ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สนธิสัญญา New START ไม่ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสามารถ “ระงับ” การมีส่วนร่วมได้ และการที่ ปูติน ตั้งเงื่อนไขว่าจะยอมกลับไปเจรจากับสหรัฐฯ ก็ต่อเมื่อนำคลังแสงนิวเคลียร์ของ “ฝรั่งเศส” และ “อังกฤษ” มาพิจารณาร่วมด้วยนั้นก็แทบเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากอเมริกาไม่เห็นด้วย และจำเป็นต้องมีการร่างข้อตกลงกันใหม่หมด

หวัง อี้ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกิจการต่างประเทศส่วนกลางของจีน เข้าพบประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซียระหว่างไปเยือนมอสโก เมื่อวันที่ 22 ก.พ.
ข้อมูลจากสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน (Federation of American Scientists) ระบุว่า ปัจจุบันรัสเซียมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ทั้งหมด 5,977 หัวรบ ขณะที่สหรัฐฯ มีอยู่ 5,428 หัวรบ

“ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถที่จะเพิ่มจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ที่ประจำการจาก 1,550 เป็น 4,000 หัวรบได้ในทันที มันสามารถเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน” วิลเลียม อัลเบิร์ก ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ เทคโนโลยี และการควบคุมอาวุธจากสถาบัน International Institute for Strategic Studies (IISS) กล่าวเตือน

ในอีกด้านหนึ่ง นักวิเคราะห์ก็มองว่าความอ่อนแอของสนธิสัญญา New START จะยิ่งทำให้แผนการดึง “จีน” เข้าร่วมข้อตกลงเพื่อควบคุมและจำกัดโครงการพัฒนาอาวุธของแดนมังกรเป็นไปได้ยากขึ้น

ก่อนหน้านี้ นักการทูตและนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงมองว่า จีนเริ่มที่จะ “เปิดใจ” สำหรับการเจรจาเข้าร่วมสนธิสัญญา New START ด้วยเห็นว่าเป็นช่องทางที่จะทำให้นานาชาติลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับศักยภาพกองทัพจีนที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

“เมื่อเทียบกับรัสเซียและสหรัฐฯ แล้ว จีนถือเป็นกล่องดำที่นับวันก็จะยิ่งขยายขนาดใหญ่โตขึ้นทุกๆ ปี” ทูตทหารจากประเทศในเอเชียให้ข้อมูลกับรอยเตอร์เมื่อวันพุธ (21)

“ท่าทีของ ปูติน อาจเป็นอุปสรรคในการดึงจีนเข้าสู่โต๊ะเจรจาที่โปร่งใส ในขณะที่เราเองยังมีอีกหลายเรื่องที่จำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับนโยบายและเจตนาของจีน”

ทหารยูเครนชูธงชาติเหนือรถถัง Challenger 2 ระหว่างเข้ารับการฝึกยุทธวิธีที่ค่ายทหาร Bovington Camp ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ
ถง จ้าว (Tong Zhao) ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จาก Carnegie Endowment for International Peace (CEIP) เห็นตรงกันว่า ความเคลื่อนไหวของ ปูติน ทำให้โอกาสที่สหรัฐฯ และจีนจะร่วมมือกันในด้านนิวเคลียร์ยิ่งน้อยลงไปอีก

“สิ่งที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้จีนไม่อยากทำสัญญาด้านความมั่นคงนิวเคลียร์ใดๆ กับสหรัฐฯ เพราะแม้แต่ตัวอย่างความร่วมมือฉบับสุดท้ายที่เหลืออยู่ก็ยังโดนทำลายจนแทบไม่เหลือชิ้นดี” จ้าว บอกกับรอยเตอร์

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็เริ่มส่งสัญญาณขู่จีนกลายๆ ว่าอย่าได้คิดหยิบยื่นความช่วยเหลือด้านอาวุธให้รัสเซีย โดย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่ออเมริกันว่า จีนกำลังพิจารณาอย่างจริงจังที่จะส่งอาวุธและเครื่องกระสุนไปช่วยรัสเซีย ในขณะที่สงครามซึ่งมอสโกเป็นฝ่ายรุกรานยูเครนดำเนินมาใกล้จะครบ 1 ปีเต็ม

“เราเคยเห็นมาแล้วว่า พวกเขาส่งมอบความช่วยเหลือที่ไม่ใช่อาวุธร้ายแรงให้รัสเซียเพื่อใช้ในยูเครน แต่ตอนนี้เรามีข้อมูลว่าพวกเขากำลังพิจารณาส่งอาวุธร้ายแรง (lethal support) ด้วย และเราได้เตือนจีนไปแล้วว่า การทำเช่นนั้นจะสร้างปัญหาใหญ่ต่อความสัมพันธ์ระหว่างเราทั้ง 2 ชาติ” บลิงเคน ระบุ

บลิงเคน อ้างว่าเขามีโอกาสได้พูดคุยซึ่งหน้ากับ หวัง อี้ ในการประชุมความมั่นคงมิวนิกเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่จีนจะต้องเผชิญ หากมีการส่งมอบอาวุธ เครื่องกระสุน หรือความช่วยเหลืออื่นๆ ที่อาจนำไปสู่การเข่นฆ่าชีวิตผู้คนให้แก่มอสโก

จีนเองได้ออกมาปฏิเสธข้อครหาของวอชิงตันแบบทันควัน โดย ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศแดนมังกร กล่าวบนเวทีเสวนาเมื่อวันอังคาร (21) ว่าสิ่งที่อเมริกาอ้างนั้นเป็นการแพร่ข้อมูลเท็จ และปักกิ่งไม่เคยมีแผนที่จะส่งมอบอาวุธให้รัสเซีย ขณะเดียวกัน ก็ยอมรับว่าจีนกังวลอย่างมากว่าความขัดแย้งในยูเครนอาจลุกลามเกินกว่าที่จะควบคุมได้

“จีนกังวลอย่างยิ่งว่าความขัดแย้งในยูเครนอาจจะทวีความรุนแรงขึ้น และลุกลามขยายวงกว้างออกไปจนควบคุมไม่ได้ เราขอเรียกร้องให้บางประเทศจงหยุดสุมไฟในข้อพิพาทครั้งนี้” ฉิน กล่าว ซึ่งบางประเทศที่โดนอ้างถึงนั้นก็คงหนีไม่พ้นสหรัฐฯ

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี ปูติน ได้ให้การต้อนรับ หวัง อี้ (Wang Yi) ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการต่างประเทศส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เดินทางไปเยือนทำเนียบเครมลินในวันพุธ (22) พร้อมประกาศว่าความสัมพันธ์มอสโก-ปักกิ่งได้ยกระดับเข้าสู่ “พรมแดนใหม่” (new frontiers) ขณะที่ หวัง ชี้ว่าความสัมพันธ์จีน-รัสเซียยืนหยัดมั่นคงท่ามกลางมรสุมการเมืองระหว่างประเทศ และแม้การจับมือระหว่าง 2 มหาอำนาจจะไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อใคร “ทว่าก็จะไม่ยอมถูกบีบคั้นจากฝ่ายที่ 3” ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหมายถึงอเมริกา

สหรัฐฯ และชาติตะวันตกจับตาดูท่าทีของจีนต่อสงครามในยูเครนด้วยความกังวลเรื่อยมา โดยเกรงกันว่าชัยชนะของรัสเซียอาจจะเป็นตัวอย่างให้จีนเกิดความฮึกเหิมและตัดสินใจส่งทหารรุกรานไต้หวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น