Waiting for Biden’s definition of victory in Ukraine
BY M. K. BHADRAKUMAR
09/02/2023
รายงานเมื่อเร็วๆ นี้ของ แรนด์ คอร์เปอเรชั่น หน่วยงานคลังสมองที่ใกล้ชิดอย่างยิ่งกับเพนตากอน ระบุตรงๆ อย่างน่าพิศวงว่า ประการแรก สหรัฐฯไม่ได้มีแรงขับดันร่วมกับยูเครนในเรื่องการหาทางช่วงชิงดินแดนที่ “สูญเสีย” ไปกลับคืนมา และประการที่สอง ถือเป็นผลประโยชน์ของอเมริกันที่จะต้องพยายามทำให้รัสเซียยังคงเป็นอิสระจากจีน
มันมีกลิ่นอายของสัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) เปล่งประกายออกมา ในระหว่างการไปเยือนกรุงเคียฟเป็นเวลา 1 วันเมื่อวันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ที่แล้วของคณะกรรมาธิการทางด้านนโยบายของสหภาพยุโรป ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายบริหารของอียู –หรืออย่างที่พวกเขานิยมเรียกขานตัวเองว่า คณะ “คอลเลจ” (College) – นำโดยประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission President) อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน (Ursula von der Leyen)
(สัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ magical realism เป็นสไตล์หนึ่งของงานแต่งเชิงวรรณศิลป์และของงานศิลปะ ที่แสดงภาพโลกแห่งความเป็นจริง ขณะเดียวกัน ก็เติมส่วนประกอบของสิ่งมหัศจรรย์ต่างๆ เข้าไปด้วย บ่อยครั้งอยู่ในลักษณะทำให้เกิดความพร่ามัวในเส้นแบ่งระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Magic_realism --ผู้แปล)
(รายละเอียดคณะผู้บริหารอียูไปเยือนกรุงเคียฟครั้งนี้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_23_461)
ในตอนท้ายของช่วงวันที่อยู่ในเคียฟเมื่อวันศุกร์ดังกล่าว ระหว่างการแถลงข่าวร่วมกันกับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี พวกข้ารัฐการระดับซูเปอร์ของอียูเหล่านี้ได้ออกมาให้สัญญิงสัญญาว่า “อนาคตของยูเครนคืออยู่ในสหภาพยุโรป”
อย่างไรก็ตาม ดังที่ บีบีซี รายงานเอาไว้นั่นแหละ “ตามแบบแผนที่เป็นมา มันต้องใช้เวลาแรมปีกว่าที่ประเทศหนึ่งๆ จะสามารถเข้าร่วม –และอียู ก็ไม่ได้มีการกำหนดเป็นตารางเวลาออกมาอย่างชัดเจน แต่พูดถึงกระบวนการในการลงนามเป็นสมาชิกว่าเป็น กระบวนการที่ “ยึดโยงอยู่กับเป้าหมาย” ดังนั้น ทั้งหลายทั้งปวงในเวลานี้มันขึ้นอยู่กับว่า ยูเครนที่ผ่านพ้นออกมาจากสงครามคราวนี้จะเป็นยูเครนชนิดไหน
แน่นอนทีเดียว ในสื่อมวลชนฝ่ายตะวันตก ระยะหลังๆ มานี้มีการเอ่ยอ้างถึงม่านมืดทะมึนของพายุร้ายแห่งสงครามระลอกใหม่ที่กำลังก่อตัวให้เห็นเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ เหนือเส้นขอบฟ้า นายทหารยูเครนผู้หนึ่งเคยบอกกับบีบีซี ว่า กองกำลังฝ่ายรัสเซียได้ยึดครองพื้นที่เมืองบัคมุต (Bakhmut) ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างสูงไปได้ราวหนึ่งในสามแล้ว ทั้งนี้ บัคมุต ซึ่งตั้งอยู่ในแคว้นโดเนตสก์ ถือเป็นศูนย์กลางสำคัญมากของแนวรบฝ่ายยูเครนในภูมิภาคดอนบาสส์ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น แนวเส้นเซเลนสกี (Zelensky Line) หลังจากนั้นมา ก็มีรายงานข่าวหลายกระแสเกี่ยวกับความสำเร็จที่เพิ่มมากขึ้นของฝ่ายรัสเซีย แนวป้องกันของฝ่ายยูเครนนั้นกำลังแตกร้าวเป็นช่องใหญ่จนกระทั่งพูดเป็นสำนวนได้ว่า ช้างทั้งตัวยังสามารถลอดข้ามไปได้ เพื่อบุกต่อไปสู่อาณาบริเวณซึ่งเป็นท้องทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ (The steppes) แล้วต่อไปอีกจนถึงฝั่งแม่น้ำดนีเปอร์ (Dnieper River)
(ตัวอย่างของรายงานในสื่อตะวันตก ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://edition.cnn.com/2023/02/01/europe/russia-maximum-escalation-ukraine-intl/index.html)
(ดอนบาสส์ Donbass หรือดอนบาส Donbas เป็นเขตอุตสาหกรรมสำคัญทางภาคตะวันออกของยูเครนที่ประกอบด้วยแคว้นโดเนตสก์ กับแคว้นลูฮันสก์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Donbas -ผู้แปล)
ขณะที่สำนักข่าวเอพี รายงานโดยอ้างพวกเจ้าหน้าที่ยูเครนในกรุงเคียฟที่บอกว่า “กองกำลังฝ่ายรัสเซียกำลังตรึงกองทหารยูเครนเอาไว้จนไปไหนไม่ได้ ด้วยการโจมตีภูมิภาคดอนบาสทางภาคตะวันออก ขณะเดียวกับที่มอสโกก็ชุมนุมพลังสู้รบเพิ่มเติมขึ้นอีกเอาไว้ที่นั่นเพื่อการรุกซึ่งคาดหมายกันว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า” สำนักข่าวรอยเตอร์ก็เช่นเดียวกันรายงานว่า กองกำลังรัสเซียกำลังรุกคืบหน้าไป “ในสนามรบต่างๆ ในภาคตะวันออกอย่างไม่มีการย่นระย่อ โดยผู้ว่าการแคว้น (ของฝ่ายเคียฟ) ผู้หนึ่งในภูมิภาคนี้กล่าวว่า มอสโกทุ่มเทกำลังหนุนเพื่อทำการรุกครั้งใหญ่ซึ่งอาจเริ่มต้นขึ้นมาในสัปดาห์หน้า”
(รายงานข่าวของเอพี ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/article/russia-ukraine-politics-business-b34d8a533e88f1b8c67b841a9b18e5d8)
สำหรับ ฮัล แบรนด์ส (Hal Brands) แห่ง สถาบันอเมริกัน เอนเตอร์ไพรซ์ (American Enterprises Institute) หน่วยงานคลังสมองชื่อดัง เขาเขียนบทความให้แก่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก โดยระบุว่าคณะบริหารไบเดนได้ปรับเปลี่ยนลดระดับความสำคัญเกี่ยวกับยูเครนลงมาอย่างฮวบฮาบ เนื่องจาก “ลังเลใจที่จะโหมกระพือความโกรธเกรี้ยวของ ปูติน ให้เพิ่มมากขึ้นอีก” ทั้งนี้ ฮัล สรุปเอาไว้ดังนี้ “เป้าหมายของวอชิงตัน คือ ยูเครนที่สามารถพิทักษ์ป้องกันได้ในทางการทหาร มีอิสรภาพในทางการเมือง และอยู่ได้ในทางเศรษฐกิจ เหล่านี้ไม่ได้มีความจำเป็นต้องรวมไปถึงการยึดเอาพวกพื้นที่ยากๆ อย่างเช่น ดอนบาส ในภาคตะวันออก หรือไครเมีย กลับคืนมา”
ไม่มีการพูดถึงอีกต่อไปแล้วในเรื่องเกี่ยวกับการทำลาย “กลไกสงคราม” ของฝ่ายรัสเซีย หรือการลุกฮือก่อกบฏต่อต้านเครมลิน และการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในรัสเซีย
เมื่อเดือนที่แล้ว มีรายงานการศึกษาของพวกสำนักคลังสมองเผยแพร่ออกมาในสหรัฐฯ 2 ฉบับ ได้แก่เรื่อง Avoiding a Long War (หลีกเลี่ยงสงครามยาวๆ) โดยบริษัทแรนด์ คอร์เปอเรชั่น (Rand Corporation) ซึ่งเป็นกิจการในเครือของเพนตากอน และเรื่อง Empty Bins (ถังขยะที่ว่างเปล่า) โดยศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (Center for Strategic and International Studies หรือ CSIS) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ทั้ง 2 เรื่องนี้ถือเป็นการเขย่าตัวปลุกให้ตื่นขึ้นมาแบบโหดๆ ทีเดียว
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rand.org/pubs/perspectives/PEA2510-1.html และ https://www.csis.org/analysis/empty-bins-wartime-environment-challenge-us-defense-industrial-base)
รายงานของแรนด์ คอร์เปอรชั่น กล่าวเตือนอย่างตรงไปตรงมาว่า เมื่อพิจารณาจากการที่พวกประเทศนาโต้มีการเข้าร่วมโดยทางอ้อมในสงครามครั้งนี้ – “ในขนาดขอบเขตที่น่ากลัวเอามากๆ” – การที่จะประคับประคองให้สงครามระหว่างรัสเซีย-นาโต้ ถ้าจะเกิดขึ้นมา ก็ให้ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าสงครามนิวเคลียร์ กำลังจะเป็นเรื่องที่ “ยากลำบากอย่างยิ่ง”
นอกจากนั้น รายงานนี้ยังนำเสนอความคิดเห็นที่ชวนให้หนาวสะท้านอีกเรื่องหนึ่ง โดยบอกว่าการทำให้เกิดสงครามยืดเยื้อในยูเครน ซึ่งพวกชนชั้นนำของสหรัฐฯ “เป็นจำนวนมาก” มีความรับรู้ความเข้าใจว่ามันจะเป็นหนทางหนึ่งสำหรับการลดเกรดการทหารของรัสเซียและทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอลงนั้น “ยังจะส่งผลต่อเนื่องหลายๆ ประการให้แก่นโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน” เนื่องจากความสามารถของสหรัฐฯ ในการโฟกัสที่เรื่องซึ่งมีลำดับความสำคัญระดับโลกเรื่องอื่นๆ –โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันกับจีน— จะยังคงถูกบีบรัดจำกัดต่อไป
รายงานของ แรนด์ เสนอแนะด้วยว่า “วอชิงตันนั้นมีผลประโยชน์ในระยะยาวอยู่จริงๆ ที่จะต้องทำให้มั่นใจว่ามอสโกไม่ได้กลายเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพาขึ้นต่อปักกิ่งอย่างสมบูรณ์แบบ” รายงานสรุปว่าผลประโยชน์อย่างมหาศาลของสหรัฐฯ นั้นยึดโยงอยู่กับการที่ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามยาวๆ เนื่องจาก “ผลพวงต่อเนื่องต่างๆ ของสงครามยาวๆ –ไล่ตั้งแต่เป็นการยกระดับเพิ่มความเสี่ยงขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอ ไปจนถึงเป็นการสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ— มีน้ำหนักเกินกว่าผลประโยชน์ต่างๆ ที่อาจเป็นไปได้มากมายนัก”
รายงานนี้เสนอการประเมินสถานการณ์อย่างตรงๆ ไม่อ้อมค้อมว่า “มันเป็นการเพ้อฝันที่จะจินตนาการว่า เคียฟสามารถทำลายความสามารถในการทำสงครามของรัสเซีย” บางทีความน่าพิศวงสุดๆ ที่รายงานนี้กำลังค้นพบ จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ อย่างแรกคือ สหรัฐฯ ไม่ได้แม้กระทั่งมีแรงขับดันร่วมกันกับยูเครน ในเรื่องการหาทางช่วงชิงดินแดนต่างๆ ที่ “สูญเสีย” ไปกลับคืนมา และอย่างที่สอง มันเป็นผลประโยชน์ของอเมริกันที่รัสเซียจะยังคงเป็นอิสระจากจีน โดยมีความเป็นเสรีทางด้านยุทธศาสตร์ในระดับหนึ่งในเวลาเผชิญกับการแข่งขันอย่างเป็นปรปักษ์กันระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
ในอีกด้านหนึ่ง รายงานของ CSIS ที่เขียนโดย เซธ โจนส์ (Seth Jones) นักคิดเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี (เขาก็เคยอยู่กับบริษัทแรนด์มาก่อน) คือเสียงปลุกให้ตื่นโดยมองจากแง่มุมที่ว่า ฐานทางอุตสาหกรรมกลาโหมของสหรัฐฯ เวลานี้อยู่ในสภาพไม่พรักพร้อมอย่างเลวร้ายยิ่ง สำหรับ “สภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงที่กำลังแข่งขันชิงชัยกันอยู่ดังที่ปรากฏให้เห็นในเวลานี้” รายงานนี้มีบทหนึ่งที่ใช้ชื่อเรื่องว่า ยูเครนและการถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมาครั้งใหญ่ (Ukraine and the Great Awakening) ซึ่งเน้นย้ำว่าการที่สหรัฐฯ จัดหาจัดส่งอาวุธไปให้แก่ยูเครน “ได้ทำให้ฐานทางอุตสาหกรรมกลาโหม (ของสหรัฐฯ) ต้องทำงานหนักเกินกำลังในการผลิตเครื่องกระสุนและระบบอาวุธบางอย่างบางประการให้อยู่ในปริมาณที่เพียงพอ” ทั้งนี้ โจนส์กำลังทำหน้าที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ในทั้งสองด้านของกลุ่มการทหาร-กลุ่มอุตสาหกรรมการทหารที่เกาะกลุ่มรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นของสหรัฐฯ (US military-industrial complex) โดยเฉพาะในฝ่ายซึ่งไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับวัตถุประสงค์ของสงครามในยูเครน
การตำหนิบ่นว่าของเขาอยู่ตรงที่ว่า ฐานทางอุตสาหกรรมกลาโหมของสหรัฐฯ –ซึ่งครอบคลุมถึงฐานทางอุตสาหกรรมเครื่องกระสุนด้วย— เวลานี้ไม่มีการเตรียมพร้อมสำหรับการให้ความสนับสนุนแก่สงครามแบบแผนที่สู้รบกันอย่างยืดเยื้อ ถึงแม้ว่า ก็อย่างที่หนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ (Sunday Times) ของสหราชอาณาจักรเขียนเอาไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั่นแหละ “สงครามทุกๆ สงครามก่อให้เกิดพวกนักเก็งกำไร และการสู้รบขัดแย้งในยูเครนก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น ... อาวุธฝ่ายตะวันตกจำนวนมหาศาลที่ถูกจัดหาจัดส่งไปให้ยูเครน เป็นสิ่งที่คอยค้ำจุนเสริมส่งพวกผู้ผลิตอาวุธทุกๆ ราย โดยการค้ำจุนสนับสนุนหลักๆ อยู่ในรูปของการจัดส่งอาวุธไปเติมเต็มคลังแสงต่างๆ ของนาโต้เองขึ้นมาใหม่ และในรูปของการผลิตตามใบสั่งซื้อมูลค่าสูงๆ จากพวกประเทศต่างๆ ซึ่งเวลานี้ใช้จ่ายในด้านกลาโหมเพิ่มขึ้นมาก ... ในสหรัฐฯ นั้น ล็อกฮีด (Lockheed) เรย์ธีออน (Raytheon) และนอร์ทธรอป (Northrop) คือบริษัทซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ผลิตอาวุธและผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่รายบิ๊กที่ได้รับใบสั่งซื้ออย่างเป็นกอบเป็นกำ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.thetimes.co.uk/article/ukraine-war-is-fuelling-energy-and-arms-trade-worldwide-gcg6lpqpg)
รายงานของ แรนด์ และของ CSIS ปรากฏออกมาในเวลาที่สงครามยูเครนมาถึงจุดหักเหอันสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ในเดือนที่แล้วเดือนเดียว สหรัฐฯได้ประกาศแพกเกจให้ความช่วยเหลือขนาดใหญ่ที่สุดแก่ยูเครนถึง 3 แพกเกจ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณที่จะให้ความสนับสนุนอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกขณะที่สงครามคราวนี้ดำเนินมาใกล้ 1 ปีเต็มๆ นอกจากนั้น เมื่อวันศุกร์ (3 ก.พ.) คณะบริหารไบเดนยังประกาศแพกเกจช่วยเหลือเพื่อความมั่นคงของยูเครนฉบับใหม่อีกฉบับหนึ่งซึ่งมีมูลค่าราวๆ 2,200 ล้านดอลลาร์ โดยในนี้มีทั้งคำสัญญาที่จะจัดส่งขีปนาวุธซึ่งมีพิสัยทำการไกลยิ่งขึ้น นั่นคือยิงได้ไกล 90 ไมล์เป็นครั้งแรก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/article/russia-ukraine-politics-military-and-defense-0f550a262fb6178a7d91b8be6e2c601b)
ตรงนี้แหละที่เกิดความขัดแย้งพิกลๆ ขึ้นมา กล่าวคือ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ มีรายงานข่าวว่าพวกเจ้าหน้าที่อาวุโส 4 คนของกระทรวงกลาโหมได้บอกกับเหล่า ส.ส.ที่นั่งอยู่ในคณะกรรมาธิการการทหารของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระหว่างการบรรยายสรุปแบบปิดลับว่า เพนตากอนไม่เชื่อหรอกว่ายูเครนมีความสามารถที่จะกดดันบังคับให้กองทหารรัสเซียถอยออกมาจากแหลมไครเมีย หลังจากรับฟังการบรรยายสรุปแล้ว ไมค์ โรเจอร์ส (Mike Rogers) ส.ส.จากรัฐอะแลสกา สังกัดพรรครีพับลิกัน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ ได้กล่าวยืนยันในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า สงครามนี้ “จำเป็นจะต้องยุติลงในฤดูร้อนนี้”
(ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบรรยายสรุปคราวนี้ได้ที่ https://www.politico.com/news/2023/02/01/ukraine-crimea-russia-pentagon-00080799)
ส.ส.โรเจอร์ส พูดเอาไว้ดังนี้ “มีสำนักความคิดอยู่สำนักหนึ่ง ... ที่บอกว่า ไครเมีย จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย รัสเซียไม่มีทางที่จะยอมยกเลิกที่จะยอมทิ้งไครเมีย ... อะไรคือสิ่งที่สามารถจะกระทำได้บ้าง? ผมยังไม่คิดว่ามีการเห็นดีเห็นงามกับเรื่องนี้แล้วนะ ดังนั้น ผมคิดว่าจะต้องมีแรงกดดันบางอย่างบางประการจากรัฐบาลของเราและจากพวกผู้นำนาโต้ต่อเซเลนสกี เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าชัยชนะควรจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และผมคิดว่านั่นจะช่วยเราได้มากยิ่งกว่าอะไรอย่างอื่น ให้สามารถผลักดัน ปูติน และ เซเลนสกี เข้ามาสู่โต๊ะเจรจา เพื่อยุติสิ่งนี้ในฤดูร้อนนี้”
ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีบุคลากรทางการเมืองระดับท็อปของสหรัฐฯ คนใดคนหนึ่งออกมาเรียกร้องให้มีตารางเวลาสำหรับสงครามคราวนี้ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไรเลย ดังจะเห็นได้ว่าวุฒิสมาชิกบ็อบ เมเนนเดซ (Bob Menendez) ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภา ซึ่งนั่งเป็นประธานการทำประชาพิจารณ์เรื่องยูเครนเมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา --ก็ได้หยิบยกประเด็นปัญหาที่ถือเป็นแกนหลักประเด็นนี้ขึ้นมาพูด ในขณะตั้งคำถามเอากับปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ผู้ซึ่งกำลังให้ปากคำ
วุฒิสมาชิกทรงอิทธิพลผู้นี้ โอดครวญว่าวอชิงตัน “ไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจนเกี่ยวกับชัยชนะ” และพยายามหาคำตอบจาก นูแลนด์ ผู้ซึ่งตกอยู่ในอาการพูดไม่ออก แต่มันจะต้องสร้างความเจ็บปวดขุ่นเคืองให้แก่ตัวเธออย่างแน่นอนเลย เพราะ ณ ตอนท้ายสุดของการให้ปากคำคราวนี้ เธออาสาที่จะให้คำตอบว่า “ถ้าเราให้คำจำกัดความการได้ชัยชนะว่า คือการที่ ยูเครน อยู่รอดได้และเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาในฐานะเป็นรัฐประชาธิปไตยที่สะอาดสะอ้านขึ้นกว่าเดิม พวกเขาสามารถทำได้แน่ พวกเขาจะต้องทำให้ได้ และพวกเขาจะกระทำมัน”
นูแลนด์ พูดอย่างนี้คือการพูดอะไรที่เลื่อนเปื้อนเหลวไหล แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่ประธานาธิบดีไบเดน กระทำเหมือนกันในการกล่าวปราศรัยแถลงนโยบายประจำปีของเขาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. โดยที่ยังคงยึดมั่นเหนียวแน่นอยู่กับมนตราที่เสื่อมความขลังเต็มทีแล้ว –ที่ว่าสหรัฐฯ จะสนับสนุนยูเครน “จนกว่าจะได้ชัยชนะ” และที่สำคัญก็คือคำพูดเช่นนี้เองที่ เซเลนสกี นำเอามาใช้ในเวลาที่เขาออกทัวร์ไปยังเมืองหลวงใหญ่ๆ ในยุโรปเพื่อหารือในเรื่องที่ว่าสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อสถาปนาสันติภาพขึ้นมา
(คำแถลงนโยบายประจำปีของไบเดน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.voanews.com/a/biden-us-will-support-ukraine-as-long-as-it-takes-/6953138.html)
จริงทีเดียว ทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่ห่างไกลเหลือจากการคำพูดถ้อยคำของ ฟอน แดร์ ไลเอิน ขณะที่เธอออกเดินทางไปยังเคียฟเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ โดยเธอกล่าวว่า “จากการที่คณะคอลเลจเดินทางไปเยือนเคียฟ อียูในวันนี้ก็กำลังส่งข้อความที่ชัดเจนมากๆ ไปถึงยูเครนและไกลกว่านั้นอีก เกี่ยวกับความเข้มแข็งแบบรวมหมู่ของเราและความเด็ดเดี่ยวของเราในการเผชิญหน้ากับการรุกรานก้าวร้าวอย่างโหดเหี้ยมของรัสเซีย เราจะยังคงให้ความสนับสนุนยูเครนไปจนกว่าจะได้ชัยชนะ และเราจะยังคงบีบคั้นให้รัสเซียต้องจ่ายในราคาแพงลิ่วจนกว่ารัสเซียจะยุติการรุกรานก้าวร้าวของตน ยูเครนสามารถพึ่งพาอาศัยยุโรปในการช่วยเหลือสร้างประเทศที่มีความหยุ่นตัวมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมขึ้นมาใหม่ ซึ่งก้าวหน้าไปบนเส้นทางแห่งการเข้าร่วมกับอียูของตน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_23_461)
มันยังมีอะไรบางอย่างที่ ฟอน แดร์ ไลเอิน ไม่ทราบเรื่อง หรือไม่ก็ไม่ต้องการที่จะพูดถึง เวลาเดียวกัน ไบเดน ก็ดูเหมือนมีความคิดความเห็นใกล้เคียงกับเธอ มากกว่ากับ แรนด์ และ CSIS หรือวุฒิสมาชิกเมเนนเดซ –โดยยังไม่ต้องพูดถึง ส.ส.รีพับลิกันอย่างโรเจอร์ส
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงภาพมายาทางสายตาอย่างหนึ่งเท่านั้น
เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)
ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/waiting-for-bidens-definition-of-victory-in-ukraine/