xs
xsm
sm
md
lg

อินเดียเปรมปรีดิ์กับน้ำมันราคาลดแหลกของรัสเซีย จนไม่ใส่ใจแรงบีบคั้นโน้มน้าวของฝ่ายตะวันตก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โจชี เอ็ม พอล ***


นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย จับมือแตะแขนประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ก่อนหน้าการหารือของผู้นำทั้งสอง ที่กรุงนิวเดลี, อินเดีย เมื่อ 6 ธ.ค. 2021
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

India basking in cut-rate Russian oil
By JOSHY M PAUL
20/01/2023

อินเดียยังคงท้าทายมาตรการแซงก์ชันของฝ่ายตะวันตกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการซื้อหาน้ำมันรัสเซียที่ได้ลดราคาลงมาอย่างแรง จนทำให้ในปีที่แล้วน้ำมันแดนหมีขาวมีสัดส่วนในน้ำมันนำเข้าทั้งหมดของนิวเดลี จาก 2% พุ่งพรวดขึ้นเป็น 23%

ในการไปเยือนกรุงมอสโก [1] ของเขาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศ สุพรหมณยัม ชัยศังกร ของอินเดีย กล่าวย้ำว่า “อินเดียจะซื้อน้ำมันรัสเซียอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมันเป็นผลดีสำหรับประเทศของเรา”

การซื้อน้ำมันรัสเซียเป็นผลดีทั้งทางเศรษฐกิจและทางยุทธศาสตร์สำหรับอินเดีย น้ำมันรัสเซียขายกันด้วยราคาที่ให้ส่วนลด ซึ่งเป็นประโยชน์แก่อินเดีย เนื่องจากแดนภารตะต้องนำเข้าน้ำมันถึง 85% ของที่ตนเองบริโภค

การซื้อน้ำมันของอินเดียยังเป็นการช่วยเหลือให้เศรษฐกิจของรัสเซียมีความมั่นคงท่ามกลางการแซงก์ชันของฝ่ายตะวันตกสืบเนื่องจากสงครามในยูเครน อินเดียนั้นมองรัสเซียว่าเป็น “หุ้นส่วนที่มีความสม่ำเสมอและผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน” และยินดีต้อนรับระเบียบโลกแบบหลายขั้ว [2] ที่รวมเอารัสเซียเข้าไปด้วย จุดยืนเช่นนี้มีความขัดแย้งตรงกันข้าม [3] กับพวกประเทศตะวันตกจำนวนมากซึ่งต้องการเห็นรัสเซียประสบความปราชัยพ่ายแพ้

เมื่อตอนที่มาตรการแซงก์ชันของฝ่ายตะวันตกเริ่มทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียกลายเป็นอัมพาตในเดือนเมษายนปีที่แล้ว มอสโกได้เสนอลดราคาน้ำมัน [4] ที่จะขายให้แก่อินเดียลงมาอย่างมากมายถึง 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจากราคาก่อนเกิดสงคราม รัสเซียยังเป็นฝ่ายริเริ่มในการตกลงเห็นชอบให้รื้อฟื้นกลไกการค้าใช้สกุลเงิน “รูปี-รูเบิล” ในยุคสงครามเย็นขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะช่วยให้แดนหมีขาวสามารถข้ามลอดการถูกแซงก์ชันได้

จากนั้นรัสเซียมีส่วนแบ่งในน้ำมันนำเข้าของอินเดียพุ่งพรวดพราด [5] จากระดับแค่ 2% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 กลายเป็น 23% ในเดือนพฤศจิกายน และขึ้นเป็นแชมป์อันดับ 1 ของประเทศที่ขายน้ำมันให้แดนภารตะ แซงหน้าทั้งอิรัก และซาอุดีอาระเบีย อันที่จริงอินเดียแทบไม่มีทางเลือกอื่น เนื่องจากน้ำมันจากเอเชียตะวันตกหันเหออกไปหาตลาดยุโรปกันเป็นแถว เพื่อช่วยคลายผลกระทบจากการที่บรรดาเศรษฐกิจของยุโรปกำลังหย่าร้างแยกขาดจากรัสเซีย

เครื่องขุดเจาะน้ำมันเครื่องหนึ่งในแหล่งน้ำมันและก๊าซ ที่แคว้นครัสโนดาร์ (Krasnodar) ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคคอเคซัสเหนือ ทางภาคใต้ของรัสเซีย ครัสโนดาร์ถือเป็นแคว้นผลิตน้ำมันเก่าแก่ที่สุดของแดนหมีขาว (ภาพจากสำนักข่าวสปุตนิก)
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว รัสเซียยังคงมีความลังเลที่จะใช้ประโยชน์จากกลไกรูปี-รูเบิล สำหรับการซื้อขายน้ำมัน สืบเนื่องจากความไม่สมดุลทางค้าที่มีกับอินเดียซึ่งกำลังเริ่มปรากฏให้เห็น ดังนั้น รัสเซียจึงขอให้อินเดียชำระเป็นเงินสกุลยูโร หรือเงินสกุลเดอร์แฮมสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ข้อพิพาทไม่ลงรอยกันข้อนี้ยังคงไม่ได้รับการแก้ไขคลี่คลาย [6] ดังนั้น จึงยังคงมีการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกรรมน้ำมันรัสเซีย

อินเดียมีฐานะเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก การที่น้ำมันจากแหล่งที่มาแต่เดิมทั้งหลายของอินเดีย เกิดหันเหไปยังพวกประเทศยุโรปซึ่งมีเศรษฐกิจที่ก้าวหน้ากว่า ย่อมอาจนำไปสู่การแข่งขันแย่งชิงกันและทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีศักยภาพที่จะสร้างความหายนะให้แก่เศรษฐกิจของอินเดียที่อยู่ในสภาพยากลำบากอยู่แล้ว

พวกประเทศยุโรปสามารถแบกรับไหวเมื่อต้องจ่ายเงินเพิ่มสูงขึ้นสำหรับการซื้อน้ำมันจากเอเชียตะวันตก โดยที่อินเดียนั้นไม่สามารถเข้าร่วมแข่งขันด้วย ทั้งนี้ในปีงบประมาณ 2021-2022 อินเดียต้องชำระค่าน้ำมันดิบนำเข้า [7] เป็นจำนวนสูงถึง 119,000 ล้านดอลลาร์อยู่แล้ว ซึ่งเป็นรายการที่สูงที่สุดในบรรดาสินค้านำเข้าทั้งหลาย

นอกจากนั้น อินเดียยังกำลังพยายามที่จะลดการพึ่งพาอาศัยน้ำมันจากภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องประสบกับผลสะท้อนกลับทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ถ้าหากพวกรัฐริมอ่าวเปอร์เซียทั้งหลาย [8] ตัดสินใจที่จะใช้น้ำมันเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ ทั้งสถานการณ์ในช่องแคบฮอร์มุซที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนอย่างรุนแรง ตลอดจนการที่ปากีสถานมีความใกล้ชิดกับพวกรัฐริมอ่าวเปอร์เซีย เหล่านี้เป็นสิ่งที่สร้างความกังวลใจให้แก่นิวเดลีเช่นกัน

ในยุคสมัยของการแพร่กระจายแนวความคิดให้หวนกลับมาเน้นการลงทุนที่บ้านของตนเอง หรือที่เรียกกันว่า “ออนชอริ่ง” (onshoring) ตลอดจนให้เน้นการลงทุนเฉพาะในประเทศที่เป็นเพื่อนมิตรกันมายาวนานเท่านั้น หรือ “เฟรนด์ชอริ่ง” (friendshoring) รัฐต่างๆ มุ่งเน้นหนักทำการค้าพวกสินค้าโภคภัณฑ์ทางยุทธศาสตร์กับเพื่อนบ้านและพันธมิตรของพวกเขา [9] เพื่อทำให้พวกเขามีความมั่นคงปลอดภัยไม่เกิดจุดอ่อนเปราะทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ขึ้นมา

อินเดียเองก็ใช้ยุทธศาสตร์เช่นนี้มาเป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษแล้ว นับตั้งแต่เกิดการสู้รบขัดแย้งกันที่คาร์กิล (Kargil conflict) ในปี 1999 ตอนที่อินเดียกับปากีสถานเข้าปะทะกันทางการทหารกันแบบประปราย เพื่อช่วงชิงอำนาจในการควบคุมธารน้ำแข็งเซียเชน (Siachen Glacier) โดยในระหว่างที่เกิดการสู้รบขัดแย้งกันอยู่นั้น ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นผู้จัดส่งน้ำมันรายใหญ่รายหนึ่งให้แก่อินเดีย ได้ขายน้ำมันชนิดที่มีการอุดหนุนเอื้อประโยชน์ ให้แก่ปากีสถาน

ในปี 1998 ตอนที่ นาวาซ ชาริฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถานในขณะนั้น กำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการทดลองอาวุธนิวเคลียร์เพื่อเป็นการตอบโต้การทดลองนิวเคลียร์ โปกรัน 2 (Pokhran II) ของอินเดียอยู่นั้น มีรายงานว่าซาอุดีอาระเบียได้สัญญาส่งน้ำมันให้ 50,000 บาร์เรลต่อวัน [10] เพื่อช่วยเหลือปากีสถานในการรับมือกับการถูกแซงก์ชันที่อาจจะเกิดขึ้นมาหากทดสอบ “นุก” เรื่องนี้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นมาว่า พวกรัฐริมอ่าวเปอร์เซียอาจสกัดกั้นการจัดส่งน้ำมันให้แก่อินเดีย ในเวลาที่เกิดการทำสงครามโดยตรงกับปากีสถาน

ช่วงแรกๆ ที่นิวเดลีหันมาใช้ยุทธศาสตร์กระจายแหล่งน้ำมันที่ตนเองต้องพึ่งพาอาศัย ปรากฏว่าต้องเผชิญกับอุปสรรค โดยที่จีนเสนอราคาสูงกว่าอินเดียในเวลาประมูลแหล่งน้ำมันที่มีศักยภาพสูง เป็นต้นว่า บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของอินเดีย (India’s Oil and Natural Gas Corporation หรือ ONGC) พ่ายแพ้ให้แก่กิจการร่วมค้าของฝ่ายจีนในการประมูลสัมปทานแหล่งน้ำมันอังโกลา [11] เมื่อปี 2006 และในการประมูลแหล่งน้ำมันขนาดยักษ์ “คาชากัน” (Kashagan) [12] ในคาซัคสถานในปี 2013

แต่สำหรับยุทธศาสตร์ “เฟรนด์ชอริ่ง” ของอินเดียนั้นไปได้ดีทีเดียว โดยเมื่อปี 2006 บริษัท โอเอ็นจีซีวิเทศ จำกัด (ONGC Videsh Limited) ได้ซื้อหุ้นสำหรับการสำรวจน้ำมันบริเวณแปลงที่ 127 และ 128 ในแอ่งฟู้คั้ญ (Phu Khanh basin) ของเวียดนาม ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ที่ยังมีกรณีพิพาทช่วงชิงกันอยู่ ถึงแม้การสำรวจต้องหยุดชะงักไปสืบเนื่องจากการต่อต้านขัดขวางของจีน แต่อินเดียก็ได้เพิ่มหุ้น [13] ของตนในแปลงสำรวจเหล่านี้อยู่หลายครั้ง

สำหรับรัสเซียนั้นเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานของอินเดียมายาวนานแล้ว บริษัท โอเอ็นจีซีวิเทศ จำกัด ได้ลงทุน [14] เป็นจำนวน 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี 2001 เพื่อซื้อหุ้น 20% ในแหล่งน้ำมันซาฮาลิน-1 (Sakhalin-1) ที่มีขนาดใหญ่โตมากในดินแดนภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย โดยที่เริ่มต้นดำเนินการผลิตได้ในปี 2006

ก่อนหน้าเกิดวิกฤตการณ์ยูเครน แหล่งซาฮาลิน-1 ผลิตน้ำมันได้ 220,000 บาร์เรลต่อวัน โดยที่โอเอ็นจีซี ขายน้ำมันในส่วนแบ่งของตนในตลาดระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

โครงการน้ำมันและก๊าซ ซาฮาลิน-1 มุ่งผลิตน้ำมันและก๊าซบนเกาะซาฮาลิน และพื้นที่นอกชายฝั่งซึ่งอยู่ติดกัน  จนถึงกลางปี 2022 ถือหุ้นโดย เอ็กซอนโมบิล ของอเมริกา 30%, กลุ่มร่วมค้า SODECO ของญี่ปุ่น 30%, ONGC ของอินเดีย 20%, และรัฐวิสาหกิจรอสเนฟต์ (Rosneft) ของรัสเซีย 20%  แต่ในเดือนมีนาคม 2022 เอ็กซอนโมบิลแสดงความจำนงขอถอนตัว สืบเนื่องจากรัสเซียรุกรานยูเครน  ต่อมาในวันที่ 7 ตุลาคมปีเดียวกัน ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน ลงนามกฤษฎีกาสั่งตั้งบริษัทใหม่เพื่อเข้ารับผิดชอบโครงการนี้ และเป็นผู้ดำเนินงานโครงการสืบแทนเอ็กซอนโมบิล (ภาพจากรอสเนฟต์)
อินเดียยังมีการลงทุนอื่นๆ เป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ในภาคน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย โดยได้เข้าซื้อหุ้น 100% เต็มในบริษัท อิมพีเรียล เอนเนอจี (Imperial Energy Corporation) ของรัสเซีย นอกจากนั้น ยังซื้อหุ้น 26% ในแหล่งน้ำมันวันคอร์เนฟต์ (Vankorneft) ในภาคเหนือของรัสเซีย และหุ้น 29.9% ในแหล่งน้ำมันทาส-ยูรีอัค (Taas-Yuryakh) ในไซบีเรีย

ในเดือนกันยายน 2019 อินเดียกับรัสเซียได้เปิดระเบียงพลังงานวลาดิวอสต็อก-เจนไน (Vladivostok–Chennai energy corridor) [15] เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง 2 ประเทศ ด้วยน้ำมันที่ได้มาจากแหล่งซาฮาลิน จึงทำให้นิวเดลีอยู่ในฐานะอันหนักแน่นมั่นคงที่จะดำเนินความร่วมมือทางด้านพลังงานอย่างต่อเนื่องกับรัสเซีย ถึงแม้เผชิญแรงบีบคั้นจากฝ่ายตะวันตกที่จะให้อินเดียใช้จุดยืนเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผลประโยชน์ฝ่ายตะวันตกก็ตามที

รัสเซียได้กลายเป็นหุ้นส่วนด้านพลังงานที่อินเดียพึ่งพาอาศัยมากที่สุด ในยุคสมัยซึ่งการค้ากำลังถูกใช้ให้เป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์มากขึ้น และบ่อยครั้งขึ้นทุกที

โจชี เอ็ม พอล เป็นนักวิจัยอยู่ที่ศูนย์เพื่อแสนยานุภาพทางอากาศศึกษา (Center for Airpower Studies หรือ CAPS) ในกรุงนิวเดลี เขามีประสบการณ์ 15 ปีของการทำงานวิจัยบวกกับการทำงานวิชาการในเรื่องความมั่นคงของเอเชีย กิจการเอชียตะวันออก และความมั่นคงทางทะเลของอินโด-แปซิฟิก

ข้อเขียนนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกโดย อีสต์เอเชียฟอรัม (East Asia Forum) ซึ่งตั้งฐานอยู่ที่ สำนักนโยบายสาธารณะครอว์ฟอร์ด (Crawford School of Public Policy) ภายในวิทยาลัยเอเชียและแปซิฟิก (College of Asia and the Pacific) ณ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University)

เชิงอรรถ
[1]https://www.business-standard.com/article/economy-policy/buying-oil-from-russia-is-to-india-s-advantage-says-s-jaishankar-122110801854_1.html
[2]https://www.eastasiaforum.org/2022/09/22/india-goes-its-own-way-on-global-geopolitics/
[3]https://www.brookings.edu/articles/time-for-the-west-to-think-about-how-to-engage-with-defeated-russia/
[4]https://www.livemint.com/news/india/russia-offers-oil-to-india-at-35-bbl-discount-from-pre-war-price-11648704105136.html
[5] https://timesofindia.indiatimes.com/business/india-business/explainer-russia-emerges-to-be-indias-top-oil-supplier-in-november/articleshow/96232074.cms
[6]https://www.business-standard.com/article/current-affairs/payment-for-indian-oil-imports-from-russia-still-taking-place-in-usd-rpt-122110900787_1.html
[7]https://economictimes.indiatimes.com/industry/energy/oil-gas/indias-oil-import-bill-doubles-to-usd-119-bn-in-fy22/articleshow/91049349.cms?from=mdr
[8]https://www.eastasiaforum.org/2022/11/08/islamophobia-tarnishes-indias-image-in-the-gulf/
[9]https://www.eastasiaforum.org/2022/11/28/friendshoring-and-onshoring-protectionism-industrial-policy-and-geopolitical-blocs-by-another-name/
[10]https://www.rand.org/blog/2015/06/what-pakistan-and-saudi-arabia-want-from-each-other.html
[11]https://economictimes.indiatimes.com/industry/energy/oil-gas/ongc-loses-angola-bid-to-chinese-consortium/articleshow/1754587.cms?from=mdr
[12]https://m.economictimes.com/industry/energy/oil-gas/india-loses-5-bn-bid-for-kashagan-oil-field-to-china/articleshow/20879027.cms
[13]https://economictimes.indiatimes.com/industry/energy/oil-gas/ovl-gets-another-2-yr-extension-for-vietnamese-oil-block-in-south-china-sea/articleshow/93832220.cms?from=mdr
[14]https://pib.gov.in/newsite/PrintRelease.aspx?relid=12458
[15]https://timesofindia.indiatimes.com/business/india-business/india-to-open-russian-energy-corridor-to-cut-reliance-on-traditional-suppliers/articleshow/70930463.cms


กำลังโหลดความคิดเห็น