xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของจีนเวลานี้อยู่ในระดับแนวหน้าของโลกแล้ว และกำลังส่งผลต่อเรื่องดุลแห่งอำนาจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แคโรไลน์ แวกเนอร์ ***


ปัจจุบันนักวิชาการชาวจีนตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุดระดับท็อป 1% ของทั่วโลก เป็นปริมาณมากยิ่งกว่านักวิทยาศาสตร์จากประเทศอื่นๆ โดยที่ช่วงหลังๆ มานี้ พวกเขาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (AI) มากเป็น 3 เท่าตัวของนักวิจัยสหรัฐฯ
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

China’s scientific supremacy shifting balance of power
By CAROLINE WAGNER
11/01/2023

ประเทศจีนเวลานี้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพสูงในปริมาณที่มากกว่าประเทศอื่นใดในโลก และเรื่องนี้ทำให้สหรัฐฯ เกิดความวิตกกังวล อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯสมควรที่จะพิจารณาว่า ขณะที่สภาวการณ์เช่นนี้เป็นภัยคุกคาม มันก็สามารถเป็นโอกาสได้ด้วย

จีนเวลานี้เป็นผู้นำหน้ากว่าใครๆ ในโลก ในเรื่องการผลิตวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพสูงๆ [1] อย่างน้อยที่สุดเมื่อวัดกันโดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่ง ทั้งนี้ งานวิจัยของดิฉันแสดงให้เห็นว่า เวลานี้พวกนักวิชาการชาวจีนตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุดระดับท็อป 1% ของทั่วโลก ในสัดส่วนมากยิ่งกว่านักวิทยาศาสตร์จากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าประเทศไหน [2]

ดิฉันเป็นผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ด้านนโยบาย [3] ซึ่งศึกษาเรื่องการลงทุนของภาครัฐบาลในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สามารถปรับปรุงยกระดับเรื่องสวัสดิการสังคมได้อย่างไร [4] ขณะที่เรื่องความสามารถยอดเยี่ยมทางวิทยาศาสตร์ของประเทศหนึ่งๆ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากลำบากในการแจกแจงให้เห็นในเชิงปริมาณ แต่ดิฉันขอเสนอความเห็นว่า ปริมาณเงินที่ใช้ไปในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จำนวนผลงานการศึกษาวิจัยทางวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ และคุณภาพของผลงานเหล่านี้ คือหลักเกณฑ์ที่ดีซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นมาตรวัดได้

จีนไม่ได้เป็นเพียงชาติเดียวซึ่งปรับปรุงยกระดับศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ของตนขึ้นมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจในระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้ แต่การผงาดขึ้นมาของจีนต้องถือว่ามีความน่าตื่นตาตื่นใจเป็นพิเศษ สภาพเช่นนี้ทำให้พวกผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายของสหรัฐฯ และพวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีความวิตกกังวล [5] กันว่า ฐานะความเหนือล้ำในทางวิทยาศาสตร์ของจีนจะปรับเปลี่ยนดุลอำนาจของโลกไปอย่างไรบ้าง [6]

การที่จีนสามารถก้าวขึ้นสู่แท่นผู้นำในช่วงหลังๆ มานี้ เป็นผลลัพธ์ของระยะเวลาหลายๆ ปีที่มีการดำเนินนโยบายของภาครัฐซึ่งตั้งจุดมุ่งหมายที่จะให้แดนมังกรติดอันดับท็อปในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศนี้ได้ใช้จังหวะก้าวเดินที่กระจ่างชัดเจนเพื่อไปสู่จุดที่พวกเขาเป็นอยู่ในทุกวันนี้ และมาถึงเวลานี้สหรัฐฯ ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะทำอย่างไรเป็นการตอบโต้กับจีนซึ่งอยู่ในฐานะมีความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมาแล้ว

การเติบโตที่ใช้เวลาหลายๆ ทศวรรษ

ในปี 1977 เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนเวลานั้นได้ประกาศนโยบายสร้าง “4 ทันสมัย” [7] ขึ้นมา หนึ่งในนั้นคือการสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ความก้าวหน้าในภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้เองนั่นคือปี 2000 สหรัฐฯ ยังคงเป็นผู้ผลิตผลงานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในแต่ละปี เป็นจำนวนหลายเท่าตัวของที่จีนผลิตได้ [8]

อย่างไรก็ดี ราวๆ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้ทุ่มเทงบประมาณไปในการลงทุนเพื่อทำให้สมรรถนะความสามารถทางด้านการวิจัยภายในประเทศเติบโตขยายตัว รวมทั้งในการจัดส่งนักศึกษาและนักวิจัยไปศึกษาในต่างประเทศ และในการส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจต่างๆ ของจีนให้ปรับเปลี่ยนยกระดับสู่การผลิตพวกผลิตภัณฑ์ไฮเทค

นักศึกษาชาวจีนในพิธีมอบปริญญาบัตร ณ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในนิวยอร์ก, สหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2019  นับตั้งแต่ปี 2000 จีนจัดส่งนักศึกษาและนักวิชาการประมาณ 5.2 ล้านคนไปศึกษายังต่างประเทศ ส่วนมากไปเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์
ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา จีนจัดส่งนักศึกษาและนักวิชาการประมาณ 5.2 ล้านคนไปศึกษายังต่างประเทศ [9] ส่วนข้างมากของพวกเขาศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ นักศึกษาเหล่านี้จำนวนมากทีเดียวยังคงพำนักอาศัยอยู่ในสถานที่ซึ่งพวกเขาไปศึกษา แต่ก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เดินทางกลับประเทศจีน [10] เพื่อทำงานในห้องแล็บต่างๆ ที่มีทรัพยากรระดับอุ่นหนาฝาคั่งใช้ได้ และตามบริษัทไฮเทคทั้งหลาย

ทุกวันนี้ จีนอยู่ในอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐฯ เท่านั้นในเรื่องงบประมาณที่ใช้จ่ายไปทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี [11] พวกมหาวิทยาลัยของจีนเวลานี้ผลิตผู้สำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาเอก PhD. ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เป็นจำนวนมากที่สุดในโลก [12] ขณะที่คุณภาพของพวกมหาวิทยาลัยจีนเหล่านี้ก็ปรับปรุงยกระดับขึ้นมาอย่างน่าตื่นใจในระยะไม่กี่ปีหลังๆ นี้ [13]

ผลิตผลงานวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้นและดีขึ้น

ต้องขอบคุณการลงทุนทั้งหมดเหล่านี้ และกำลังแรงงานที่มีศักยภาพซึ่งกำลังเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลงานด้านวิทยาศาสตร์ของจีน -เมื่อวัดกันด้วยจำนวนของผลงานการศึกษาวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั้งหมด— เพิ่มขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอตลอดหลายๆ ปีที่ผ่านมา พอถึงปี 2017 พวกนักวิชาการชาวจีนตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มากกว่าพวกนักวิจัยสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก [14]

แน่นอนว่าปริมาณไม่จำเป็นต้องหมายถึงคุณภาพ เป็นเวลาหลายปีทีเดียว พวกนักวิจัยในโลกตะวันตกพากันมองเมินงานวิจัยของจีนโดยเห็นว่ามีคุณภาพต่ำและบ่อยครั้งเป็นเพียงการลอกเลียนแบบการวิจัยจากสหรัฐฯ และยุโรปเท่านั้น [15] ระหว่างทศวรรษ 2000 และ ทศวรรษ 2010 ผลงานจำนวนมากที่มาจากจีนไม่ได้รับความใส่ใจให้ความสลักสำคัญอะไรจากประชาคมวิทยาศาสตร์ระดับโลก

แต่ขณะที่จีนยังคงลงทุนในด้านวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ดิฉันก็เริ่มรู้สึกสนใจใคร่รู้ว่าปริมาณงานวิจัยที่พุ่งพรวดขึ้นมาอย่างระเบิดระเบ้อเช่นนี้ ติดตามมาด้วยคุณภาพที่ปรับปรุงยกระดับขึ้นด้วยหรือไม่

เพื่อวัดปริมาณความเข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศจีน เพื่อนๆ ร่วมงานและดิฉันดูไปที่ปัจจัยการได้รับการอ้างอิง การได้รับการอ้างอิงที่ว่านี้ก็คือเมื่อผลงานการศึกษาวิจัยทางวิชาการชิ้นหนึ่งได้รับการอ้างอิงถึงจากผลงานการศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง พวกเราพิจารณาว่ายิ่งผลงานการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งๆ ได้รับการอ้างอิงมากครั้งเท่าใด ผลงานชิ้นนั้นก็ยิ่งมีคุณภาพสูงและมีอิทธิพลมากขึ้นเท่านั้น เมื่อใช้หลักเหตุผลเช่นนี้ ผลงานการศึกษาวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุดระดับท็อป 1% ก็ควรสามารถใช้เป็นตัวแทนแสดงถึงคุณภาพทางวิทยาศาสตร์ที่มีระดับสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง

เพื่อนร่วมงานของดิฉัน และดิฉันนับจำนวนว่า ประเทศหนึ่งๆ มีผลงานการศึกษาวิจัยที่อยู่ในระดับท็อป 1% ทางวิทยาศาสตร์อยู่มากมายเพียงใด โดยวัดจากจำนวนการอ้างอิงที่ปรากฏอยู่ในแขนงวิชาหลายหลาก พวกเราทำเช่นนี้กับผลงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาในปีต่างๆ จากปี 2015 จนถึงปี 2019 จากนั้นพวกเราก็นำเอาผลงานของประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบกัน

พวกเรารู้สึกเซอร์ไพรส์ที่ค้นพบว่า ในปี 2019 ผู้เขียนที่เป็นชาวจีนตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยที่มีอิทธิพลมากที่สุดในทางวิทยาศาสตร์ เป็นเปอร์เซ็นต์สูงยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ [16] โดยที่จีนสามารถอ้างได้ว่ามีบทความรวม 8,422 ชิ้นที่จัดอยู่ในระดับท็อปสุด ขณะที่สหรัฐฯ มี 7,959 ชิ้น และสหภาพยุโรปมี 6,074 ชิ้น

ในตัวอย่างหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลังๆ มานี้เอง พวกเราพบว่าพวกนักวิจัยชาวจีนตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานการศึกษาวิจัยว่าด้วยเรื่องปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) ในปริมาณ 3 เท่าตัวของพวกนักวิจัยสหรัฐฯ โดยที่ในผลงานการวิจัยด้าน AI ซึ่งได้รับการอ้างอิงสูงที่สุดระดับท็อป 1% นั้น ผลงานการศึกษาวิจัยของจีนนำหน้าผลงานการศึกษาวิจัยของสหรัฐฯ ในอัตราส่วน 2 ต่อ 1 ทีเดียว แบบแผนทำนองเดียวกันนี้ยังปรากฏให้เห็นในแขนงวิชาอื่นๆ อีก โดยสามารถเห็นได้เช่นกันว่า จีนกำลังนำหน้าสหรัฐฯ ในเรื่องผลงานการศึกษาวิจัยที่ได้รับการอ้างอิงสูงที่สุดท็อป 1% ทั้งทางด้านนาโนวิทยา (nanoscience) เคมี และการขนส่ง

การวิจัยของพวกเรายังพบอีกว่า งานวิจัยของจีนนั้นมีความสดใหม่และสร้างสรรค์อย่างน่าประหลาดใจ [17] –และไม่ใช่เป็นเพียงแค่การก๊อบปี้ผลงานของพวกนักวิจัยตะวันตก เพื่อวัดปริมาณในเรื่องนี้ พวกเราพิจารณาไปในจุดที่ว่าการอ้างอิงผลงานการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชิ้นนั้นๆ มาจากวิชาการแขนงต่างๆ อย่างไรบ้าง

ยิ่งผลงานการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งได้รับการอ้างอิงจากงานวิจัยอื่นๆ ในแขนงวิชาต่างๆ อย่างหลากหลายและกระจายตัวออกไปมากเพียงใด พวกเราก็พิจารณาว่าผลงานชิ้นนั้นมีความเป็นสหวิทยาการและมีความใหม่สดมากขึ้นเท่านั้น และพวกเราพบว่างานวิจัยของจีนมีความเป็นนวัตกรรมพอๆ กับพวกประเทศที่ทำได้ดีเยี่ยมในระดับท็อปรายอื่นๆ

เมื่อนำเอามาตรวัดเหล่านี้มารวมเข้าด้วยกัน มันก็กลายเป็นการบ่งบอกให้เห็นว่า จีนในเวลานี้ไม่ใช่เป็นเพียงนักลอกเลียนแบบ [18] หรือผู้ผลิตผลงานวิทยาศาสตร์คุณภาพต่ำแค่นั้นอีกต่อไปแล้ว จีนเวลานี้เป็นมหาอำนาจทางวิทยาศาสตร์รายหนึ่งในระดับทัดเทียบกับสหรัฐฯ และยุโรป ทั้งในเชิงปริมาณและในเชิงคุณภาพ

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2022 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามประกาศใช้รัฐบัญญัติ CHIPS and Science Act เพื่อสนับสนุนการเติบโตในด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ  โดยมีจุดมุ่งหมายอย่างเปิดเผยชัดเจนว่าต้องการจำกัดความร่วมมือกับจีนในบางแวดวงของการวิจัยและการผลิตทางอุตสาหกรรม
สหรัฐฯ ควรที่จะหวาดกลัวหรือจะร่วมมือกับจีน?

สมรรถนะความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่ผูกพันอย่างแนบแน่นซับซ้อนกับอำนาจทั้งทางการทหารและทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความสัมพันธ์เช่นนี้ ผู้คนจำนวนมากในสหรัฐฯ –ตั้งแต่พวกนักการเมือง [19] ไปจนถึงพวกผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย [20] — ได้ออกมาแสดงความวิตกกังวลกันว่าการผงาดขึ้นมาในทางวิทยาศาสตร์ของประเทศจีนคือภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ ก็มีการดำเนินก้าวเดินต่างๆ เพื่อชะลอการเติบโตทางด้านนี้ของจีน

รัฐบัญญัติชิปและวิทยาศาสตร์ปี 2022 (Chips and Science Act of 2022) [21] ที่สหรัฐฯ ประกาศใช้เมื่อเร็วๆ นี้ มีจุดมุ่งหมายอย่างเปิดเผยชัดเจนว่าต้องการจำกัดความร่วมมือกับจีนในบางแวดวงของการวิจัยและการผลิตทางอุตสาหกรรม ในเดือนตุลาคม 2022 คณะบริหารไบเดน ได้ประกาศข้อห้ามต่างๆ เพื่อจำกัดไม่ให้จีนเข้าถึงพวกเทคโนโลยีสำคัญๆ ที่อาจนำมาประยุกต์ใช้ทางด้านการทหาร [22]

นักวิชาการจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมทั้งดิฉันด้วย มองดูความหวาดกลัวและการตอบโต้ทางนโยบายเหล่านี้ว่ามีรากเหง้าต้นกำเนิดอยู่ในทัศนะแบบนักชาตินิยม ซึ่งไม่ได้สอดคล้องเอาเสียเลยกับความพากเพียรพยายามในเรื่องวิทยาศาสตร์ในระดับทั่วโลก

การศึกษาวิจัยทางวิชาการในโลกสมัยใหม่นั้น ในส่วนใหญ่ๆ ทีเดียวได้รับแรงขับดันจากการแลกเปลี่ยนแนวความคิดและข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน ผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมาก็ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารซึ่งสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้และใครๆ ก็สามารถอ่านได้ วิทยาศาสตร์ยังกำลังกลายเป็นเรื่องที่มีลักษณะนานาชาติและเป็นผลผลิตของความร่วมมือประสานงานกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ [23] โดยที่พวกนักวิจัยในทั่วโลกกำลังพึ่งพาอาศัยกันและกันเพื่อผลักดันแขนงวิชาของพวกเขาให้ก้าวคืบหน้าไป

การร่วมมือประสานงานทำการวิจัยในเรื่อง มะเร็ง [24] โควิด 19 [25] และเกษตรกรรม [26] ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นเพียงส่วนน้อยนิดของตัวอย่างซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก งานของดิฉันเองก็แสดงให้เห็นเช่นกันว่าเมื่อใดก็ตามที่พวกนักวิจัยจากจีนและสหรัฐฯ ร่วมมือประสานงานกัน พวกเขาก็สามารถผลิตวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้นกว่าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะทำงานไปเพียงลำพัง [27]

จีนเพิ่งก้าวขึ้นแท่นอยู่ในตำแหน่งประเทศทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับท็อปของโลก และในความเห็นของดิฉันแล้ว ความวิตกกังวลบางอย่างเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในทางอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่มีเหตุผลทีเดียว กระนั้นก็ตาม สหรัฐฯ ก็สามารถที่จะได้รับประโยชน์ด้วยจากการผงาดขึ้นมาในทางวิทยาศาสตร์ของจีน

การที่พิภพของเราเวลานี้กำลังเผชิญหน้ากับประเด็นปัญหาระดับโลกจำนวนมากมาย –อย่างเช่นเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ [28] ถ้าหากจะยกตัวอย่างขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง— มันอาจจะเป็นเรื่องของความเฉลียวฉลาดมีสติปัญญาที่จะพิจารณาสถานการณ์ใหม่นี้ ไม่ใช่เพียงเห็นว่าเป็นภัยคุกคามเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสอีกด้วย

แคโรไลน์ แวกเนอร์ เป็นนักวิจัย Milton & Roslyn Wolf Chair ทางด้านกิจการระหว่างประเทศ อยู่ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตท สหรัฐอเมริกา

(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/china-now-publishes-more-high-quality-science-than-any-other-nation-should-the-us-be-worried-192080

เชิงอรรถ
[1] https://www.science.org/content/article/china-rises-first-place-most-cited-papers
[2] https://doi.org/10.1007/s11192-022-04291-z
[3] https://glenn.osu.edu/caroline-s-wagner
[4] https://scholar.google.com/citations?user=OBu0OHEAAAAJ&hl=en&oi=ao
[5] https://carnegieendowment.org/2022/04/25/maintaining-military-edge-over-china-pub-86901
[6] https://www.brookings.edu/research/china-and-the-challenge-to-global-order/
[7] https://en.wikipedia.org/wiki/Four_Modernizations
[8] https://doi.org/10.1007/s11024-015-9273-6
[9] http://www.xinhuanet.com/english/2018-03/30/c_137077465.htm
[10] https://doi.org/10.1093/scipol/scz056
[11] https://doi.org/10.1126/science.abe5456
[12] https://www.universityworldnews.com/post.php?story=20210910110221730
[13] https://www.shanghairanking.com/
[14] https://doi.org/10.1038/d41586-018-00927-4
[15] https://hbr.org/2014/03/why-china-cant-innovate
[16] https://www.science.org/content/article/china-rises-first-place-most-cited-papers
[17] https://doi.org/10.1007/s11192-020-03579-2
[18] https://www.global-briefing.org/2014/01/the-origins-of-chinas-copycat-culture/
[19] https://www.bis.doc.gov/index.php/documents/about-bis/newsroom/press-releases/3158-2022-10-07-bis-press-release-advanced-computing-and-semiconductor-manufacturing-controls-final/file
[20] https://www.csis.org/analysis/choking-chinas-access-future-ai
[21] https://www.amchamchina.org/us-china-agriculture-and-food-partnership/
[22] https://www.washingtonpost.com/technology/2022/10/07/china-high-tech-chips-restrictions/
[23] http://dx.doi.org/10.1007/s11192-016-2230-9
[24] https://www.nature.com/articles/d41586-022-00570-0
[25] https://doi.org/10.1371/journal.pone.0236307
[26] https://www.amchamchina.org/us-china-agriculture-and-food-partnership/
[27] https://doi.org/10.1038/550032a
[28] https://www.brookings.edu/blog/planetpolicy/2021/10/28/rebuilding-us-chinese-cooperation-on-climate-change-the-science-and-technology-opportunity/


กำลังโหลดความคิดเห็น