xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจของจีนกำลังกระเตื้องฟื้นตัว และทำให้ยิ่งมีฐานะเข้มแข็งบนเวทีระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***


รองนายกรัฐมนตรี หลิว เหอ ผู้ได้รับสมญานามว่า “ซาร์เศรษฐกิจ” ของจีน พบหารือกับรัฐมนตรีคลัง เจเน็ต เยลเลน ของสหรัฐฯ ที่เมืองซูริค, สวิตเซอร์แลนด์ ในวันที่ 18 ม.ค. โดยที่สองฝ่ายให้คำมั่นว่าจะใช้ความพยายามเพื่อบริหารจัดการความแตกต่างที่มีอยู่ระหว่างกัน และป้องกันไม่ให้การแข่งขันกลายเป็นอะไรที่ใกล้ๆ กับความขัดแย้งกัน
China’s economy is on a rebound
BY M. K. BHADRAKUMAR
18/01/2023

เมื่อเทียบกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหญ่รายอื่นๆ ณ ปี 2023 จีนอยู่ในฐานะอันดีที่จะสร้างคุณูปการอย่างสำคัญให้แก่อัตราเติบโตของทั่วโลกได้มากกว่า และนี่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะมีความหมายว่าแดนมังกรจะมีชื่อเสียงเกียรติภูมิเพิ่มขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศ และเป็นการเอื้ออำนวยโอกาสที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมากๆ สำหรับจีนที่จะผลักดันให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางนโยบายการต่างประเทศของตน

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของประเทศจีนสำหรับปี 2022 ได้รับการเผยแพร่ออกมาในปักกิ่งเมื่อวันอังคาร (17 ม.ค.) ส่วนที่สร้างความตื่นเต้นก็คือ อัตราการเติบโตของจีดีพีจีนชะลอตัวลงมาที่ระดับ 3%
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://english.www.gov.cn/policies/infographics/202301/17/content_WS63c69f77c6d0a757729e5b81.html)

จากทัศนะมุมมองของคนอินเดีย ในชั่วขณะหนึ่งมันอาจจะดูเหมือนกับว่าเศรษฐกิจของจีนกำลังชะลอตัวลงมา ขณะที่ของอินเดียกลับขยายตัวไปได้เกือบๆ 7% (ตามคำทำนายของธนาคารโลก) อินเดียสามารถที่จะไล่ตามทันจีนหรือไม่ในฉากทัศน์ระยะเวลาระดับปานกลาง?

ตรงนี้แหละที่ถ้าหากไม่พินิจพิจารณารายละเอียดก็จะเข้าใจผิดพลาดกันได้ง่ายๆ หัวใจของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ว่า จีดีพีที่มีอัตราเติบโต 3% นี้ มีความหมายว่า จากการขยายตัวระดับปีต่อปีเช่นนี้ ขนาดเศรษฐกิจของแดนมังกรยังคงกำลังเข้าแตะระดับ 18 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งต้องถือว่าใหญ่โตมโหฬารมาก

เพื่อให้สามารถมองเห็นทัศนียภาพอย่างสอดคล้องความเป็นจริง สมควรต้องบอกด้วยว่าเศรษฐกิจของจีนนั้นมีขนาดเท่ากับ 5 เท่าครึ่งของเศรษฐกิจอินเดีย (จีดีพีมีมูลค่ารวม 3.5 ล้านล้านดอลลาร์)

กระนั้น นี่ยังคงถือกันว่าเป็นผลงานทางเศรษฐกิจของแดนมังกรที่ไม่สดใสเอาเสียเลย โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากอุปสรรคข้อขัดข้องต่างๆ ซึ่งมีต้นตอจากสภาวการณ์ด้านลบทั้งหลายแหล่ที่กลายเป็นบุคลิกภาพประจำปี 2022 ไปแล้ว –ไล่เรียงตั้งแต่โรคระบาดใหญ่โควิด-19 และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ไปจนถึงการที่สหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแล้วครั้งเล่า และการที่อุปสงค์ในต่างประเทศหดตัวลงสืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกกำลังทำท่าจมลงสู่ภาวะถดถอย

การที่เชื้อโรคโควิด-19 แพร่ระบาดขึ้นเป็นระยะๆ ในพื้นที่ซึ่งเป็นฐานสำคัญทางด้านอุตสาหกรรมการผลิต เป็นต้นว่า มหานครเซี่ยงไฮ้ และมณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของจีน มีผลกลายเป็นการสร้างความสะดุดติดขัดให้แก่การผลิตในโรงงานต่างๆ ของท้องถิ่นแถบนั้น ตลอดจนก่อปัญหาด้านโลจิสติกส์ แล้วยังผสมผสานกับเรื่องภาวะความตกต่ำย่ำแย่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกด้วย

แน่นอนทีเดียว มีหลักฐานชัดเจนว่านโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” เป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่ฉุดลากเศรษฐกิจจีนให้ย่ำแย่ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้โรงงานจำนวนมากประสบความลำบากเมื่อคนงานถูกมาตรการล็อกดาวน์ ส่วนพวกผู้บริโภคก็ชะลอการใช้จ่ายของพวกเขาขณะที่พวกเขาต้องสูญเสียรายได้และกระทั่งตำแหน่งงาน

พิจารณาจากปัจจัยภายนอก ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังบานปลายขยายตัว สืบเนื่องจากฝ่ายตะวันตกแซงก์ชันเล่นงานรัสเซีย กลายเป็นตัวดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ให้พุ่งพรวด ทำให้จีนต้องเจอแรงบีบคั้นด้านเงินเฟ้อจากราคาสินค้านำเข้า ประการที่สอง ความเป็นจริงที่ดำเนินมาทางประวัติศาสตร์ก็คือว่า เศรษฐกิจจีนกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นมีความใกล้ชิดแนบแน่นกันมากขึ้นๆ ระหว่างระยะเวลาหลายสิบปีนับตั้งแต่ปี 1980 พร้อมๆ กันนั้น นโยบายการเงินของสหรัฐฯ ก็ส่งผลกระทบกระเทือนเศรษฐกิจจีนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งแรงกล้าขึ้นๆ เช่นเดียวกัน

กล่าวได้ว่า อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับเศรษฐกิจจีนมีความสัมพันธ์กันในแบบผกผันเคลื่อนไปในทิศทางตรงกันข้ามกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการนำเข้า การส่งออก และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในเมื่อปี 2022 เป็นประจักษ์พยานของการที่ตลาดการเงินสหรัฐฯ เกิดการผันผวนอย่างรุนแรงเป็นพิเศษยิ่งกว่าธรรมดา มันจึงกลายเป็นข่าวร้ายสำหรับจีนไปด้วย
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.scmp.com/economy/china-economy/article/3190420/us-federal-reserves-interest-rates-pledge-leaves-china-less)

กระนั้นก็ตาม อัตราเติบโตของจีดีพีจีนที่ทำได้ 3% นี้ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วยังคงดีกว่าของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ถือเป็น “เพื่อนคู่แข่งขัน” อยู่เยอะแยะทีเดียว โดยที่ 2 ประเทศหลังนี้จีดีพีขยายตัวเติบโตไม่ถึง 2% (ตามการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ) สำหรับปี 2023 พวกนักวิเคราะห์ต่างทำนายกันว่าจีนจะมีผลงานกระเตื้องดีขึ้นมาก โดยน่าจะมีอัตราเติบโตของจีดีพีเกินกว่าระดับ 5% (เปรียบเทียบกันแล้ว ธนาคารโลกประมาณการเอาไว้ว่าอัตราเติบโตของทั่วโลกจะยังคงชะลอตัวจากระดับ 2.9% ในปี 2022 เหลือแค่ 1.7% ในปี 2023 ขณะที่จีดีพีของสหรัฐฯ ได้รับการคาดหมายว่าจะขยายตัวเพียงแค่ราวๆ 0.5% ถือเป็นตัวเลขพยากรณ์ที่อ่อนปวกเปียกที่สุดในรอบ 30 ปี)

สภาพเช่นนี้มีผลต่อเนื่องไปในทางภูมิรัฐศาสตร์ด้วย เนื่องจากเมื่อเทียบกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจรายใหญ่รายอื่นๆ จีนอยู่ในฐานะอันดีที่จะสร้างคุณูปการอย่างสำคัญให้แก่อัตราเติบโตของทั่วโลกได้มากกว่า และนี่ย่อมหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะมีความหมายว่าแดนมังกรจะมีชื่อเสียงเกียรติภูมิเพิ่มขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศ และเป็นการเอื้ออำนวยโอกาสที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมากๆ สำหรับจีนที่จะผลักดันให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางนโยบายการต่างประเทศของตน

การดีดตัวกลับขึ้นมาที่นำโดยผู้บริโภคของประเทศจีน ซึ่งจะช่วยประคับประคองอัตราเติบโตของเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ เป็นการบ่งชี้ว่าศักยภาพของตลาดที่มีขนาดกว้างใหญ่ไพศาลของแดนมังกร จะถูกระบบเศรษฐกิจในที่อื่นๆ มองว่า คือหัวรถจักรที่มาช่วยฉุดลากอัตราการเติบโตของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียน แอฟริกา และละตินอเมริกา

ตรงกันข้ามกับคำทำนายทายทักว่าจะต้องเจอสถานการณ์ที่เลวร้ายชนิดวันสิ้นโลก จีนสามารถเปลี่ยนผ่านออกมาจากการใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ได้อย่างค่อนข้างราบรื่น ขณะที่ระบบป้องกันโรคระบบใหม่ที่นำมาใช้แทนที่มีจุดมุ่งหมายที่จะรับมือกับพวกตัวกลายพันธุ์ในเวลานี้ของไวรัสโคโรนาโรคโควิด ซึ่งมีลักษณะเด่นตรงสามารถแพร่กระจายการติดต่อได้อย่างรวดเร็วกว้างขวาง ทว่ามีฤทธิ์เดชและอันตรายลดน้อยลง เมื่อพิจารณาย้อนหลังไป มันย่อมหมายความว่าชีวิตมนุษย์หลายแสนชีวิตทีเดียวได้รับการปกปักรักษาให้อยู่รอดปลอดภัยในประเทศจีน ไม่เหมือนกับในอินเดีย หรือในอเมริกา

น่าสนใจว่าข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจล่าสุดจากประเทศจีนคราวนี้ยังแสดงให้เห็นว่า ทั้งๆ ที่ในปีที่แล้วอัตราเติบโตอยู่ที่แค่ 3% แต่ตัวเลขจีดีพีเฉลี่ยต่อหัวประชากร (GDP per capita) ของแดนมังกรเวลานี้ขยับขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 12,000 ดอลลาร์ต่อคนแล้ว ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขรายได้ของพวกประเทศรายได้สูงทั้งหลาย ตามคำนิยามของธนาคารโลก

ในทำนองเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ของจีนยังคงคึกคัก มีสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นถึงการมองการณ์ในแง่สดใส จากแง่มุมทางการเมืองแล้ว นี่ย่อมเป็นการแผ้วถางเวทีให้แก่การชุมนุมทางการเมืองประจำปีที่สำคัญที่สุดของจีนที่จะเกิดขึ้นต่อไปในเดือนมีนาคม (หมายถึง การประชุมเต็มคณะของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ หรือรัฐสภาจีน -ผู้แปล) ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อปลดปล่อยเศรษฐกิจให้เป็นอิสระเพิ่มมากขึ้นไปอีก
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.cnbc.com/2023/01/17/chinas-earlier-reopening-means-earlier-recovery.html)

สิ่งที่พวกนักวิเคราะห์ชาวอินเดียขี้อิจฉาและยินดีในความลำบากย่ำแย่ของคนอื่น มีความโน้มเอียงที่จะมองข้ามก็คือว่า ทัศนคติต่อจีนชนิดซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการวาดหวังให้แดนมังกรประสบเคราะห์ร้ายและเพลี่ยงพล้ำนั้น เป็นเส้นทางที่จะไปไม่ถึงไหนหรอก จากข้อมูลว่าด้วยเศรษฐกิจจีนที่เผยแพร่ออกมาในครั้งนี้ เราสามารถที่จะมองเห็นบทสรุปอันลึกซึ้งบางอย่างบางประการ

มีความชัดเจนทีเดียวว่า จากการที่อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกยังน่าที่จะลดต่ำลงอย่างแรง เวลาเดียวกันภาวะเงินเฟ้อของทั่วโลกยังคงกำลังลอยวนเวียนอยู่ในระดับสูงๆ ในปี 2023 นี้ พวกเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วรายใหญ่ๆ จึงน่าที่จะแสดงอาการภาวะเศรษฐกิจถดถอยชะงักงันพร้อมๆ กับที่มีภาวะเงินเฟ้อ (stagflation) สามารถที่จะกล่าวได้ว่า พวกประเทศยุโรปจะมีความโน้มเอียงมองตลาดจีนว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ตั้งแต่เนิ่นๆ ของพวกเขา การเปลี่ยนแปลงจัดวางห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (global supply chains) ด้วยการหย่าร้างแยกขาดจากจีนนั้นกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยาก

ประการที่สอง สหรัฐฯ อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้อีกต่อไปแล้วในการเป็นประเทศอุตสาหกรรมการผลิต ในด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น ช่วงห่างระหว่าง 2 ประเทศนี้ช่างมองเห็นอย่างชัดๆ ถนัดตาเหลือเกิน ยูเครนได้แสดงให้เห็นกันแล้วว่าสหรัฐฯ ขาดไร้ศักยภาพความสามารถที่จะสู้รบกับรัสเซีย และจำเป็นต้องระดมสร้างพันธมิตร เมื่อมาถึงเรื่องของจีน มันก็ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกันเลย

แน่ใจได้ว่า ข้อมูลทางเศรษฐกิจของจีนเหล่านี้จะได้รับการพินิจพิจารณาอย่างจริงจังมากในกรุงวอชิงตัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เจเน็ต เยลเลน มีนัดหมายพบปะหารือกับรองนายกรัฐมนตรีจีน หลิว เหอ (ผู้ได้รับสมญานามว่า เป็น “ซาร์เศรษฐกิจ” economic czar ของจีน) ในเมืองซูริค เมื่อวันพุธ (18 ม.ค.) ข้างเคียงการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (World Economic Forum) ที่ดาวอส (Davos) ด้วยทัศนะที่มุ่งจะ “ขยายการติดต่อสื่อสารกัน” ระหว่าง 2 ประเทศซึ่งเป็นเจ้าของเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอันดับ 1 และอันดับ 2

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ตามรายงานของโปลิติโก (Politico) สื่อออนไลน์ของสหรัฐฯ รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน แอนโทนี บลิงเคน จะไปเยือนปักกิ่งระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ การพูดจาของ บลิงเคน ในการเจรจาคราวนี้จะแสดงให้เห็นว่าการสนทนาระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการหารือข้างเคียงการประชุมซัมมิตกลุ่มจี20 ที่เกาะบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สามารถนำไปสู่ความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่ผลิดอกออกผลเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ ถึงแม้มันยังดูลำบากที่ทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุถึงการตกลงฟื้นสายสัมพันธ์กันขึ้นมาใหม่อย่างจริงจัง หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เพิ่งลงมติเมื่อเร็วๆ นี้ให้ก่อตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ดูแลผลักดันเรื่องการแข่งขันทางยุทธศาสตร์กับจีน

อย่างไรก็ดี เวลานี้มหาอำนาจทั้งสองต่างต้องการที่จะทำให้แนวโน้มความเสื่อมทรามของสายสัมพันธ์หยุดลงเอาไว้ก่อน หรืออย่างน้อยที่สุดก็พยายามควบคุมแนวโน้มนี้ไม่ให้บานปลายไปอีก พวกเขาจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดวิกฤตการณ์ใดๆ ถึงแม้นั่นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับประกันว่าจะทำได้แน่ๆ ทั้งนี้ โดยแบบฉบับที่ผ่านๆ มา เป็นวอชิงตันนั่นแหละที่คอยริเริ่มทำให้ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศเสื่อมทรามลงอย่างสม่ำเสมอ

ระหว่างไปกล่าวปราศรัยกับ CSIS (Center for Strategic and International Studies ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา) ในกรุงวอชิงตันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) ที่ปรึกษาในเรื่องจีนของไบเดน ได้กล่าวถึงซัมมิตระหว่างไบเดน กับสีที่บาหลีว่า เป็น “ความพยายามที่จะสร้างรากฐานสำหรับความสัมพันธ์ใหม่กับจีน” เขาบอกว่าปี 2023 จะเป็นปี “ของการสร้างราวกันตก (guardrails) บางอย่างขึ้นมา” (เพื่อคอยป้องกันไม่ให้ความสัมพันธ์นี้บังเกิดความเลวร้ายอย่างไม่ตั้งใจ -ผู้แปล) ถึงแม้ลักษณะโดดเด่นสำคัญที่สุดของความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนจะยังคงเป็นเรื่องการแข่งขันกัน

แคมป์เบลล์ใช้การปราศรัยนี้ส่งข้อความว่า สหรัฐฯ ต้องการให้มันเป็น “การแข่งขันที่ให้ผลดีและดำเนินไปอย่างสันติ” ซึ่งสามารถที่จะเป็นช่องทางนำไปสู่ชีวิตที่ดียิ่งขึ้นสำหรับประชาชนของทั้งสองฝ่าย

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/chinas-economy-is-on-a-rebound/
กำลังโหลดความคิดเห็น