รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า 22 มกราคม 2566
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 160,451 คน ตายเพิ่ม 678 คน รวมแล้วติดไป 672,993,312 คน เสียชีวิตรวม 6,743,006 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.77 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 85.98
การระบาดในจีน
รอยเตอร์รายงานข่าวเมื่อคืนนี้ 21 มกราคม 2566 โดยระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จีนประเมินว่าในอีก 2-3 เดือนถัดจากนี้ จีนอาจมีประชากรมากถึง 80% ที่ติดเชื้อโควิด-19
แม้ตั้งแต่ธันวาคมปีก่อนถึงต้นเดือนมกราคมปีนี้ ทางการจะรายงานว่ามีคนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลไปแล้วถึง 60,000 คน แต่หลายฝ่ายประเมินว่าจำนวนเสียชีวิตจริงจะสูงกว่านั้น เพราะมีคนเสียชีวิตที่บ้าน และการมีโรคอื่นๆ โดยติดเชื้อโควิด-19 ด้วย
ล่าสุด Focosi D จากอิตาลี ได้ติดตามการระบาดในจีน และวิเคราะห์ว่าในช่วงการระบาดที่ผ่านมา มีการตรวจพบสายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้ว 6 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.5.2.48/49/50, BF.7.14, BA.5.1.32, CM.12 ทั้งนี้สายพันธุ์ย่อยล่าสุดที่ได้รับการกำหนดโค้ดเมื่อคืนนี้คือ BA.5.2.50 อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามสถานการณ์กันต่อไปว่าสายพันธุ์ต่างๆ นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติไปจากตัวอื่นๆ ที่ครองการระบาดอยู่หรือไม่
งานวิจัย Long COVID จากฝรั่งเศส
Wambeke EV และคณะจากมหาวิทยาลัย Strasbourg ประเทศฝรั่งเศส เผยแพร่ผลการศึกษาติดตามอาการ Long COVID ในผู้ป่วย 45 คน โดยทำการติดต่อเพื่อประเมินสถานะสุขภาพยาวนานเกือบ 2 ปี
สาระสำคัญที่พบคือ มีราวหนึ่งในสาม ที่ยังคงมีอาการคงค้างอยู่ ณ 22 เดือน หลังจากการติดเชื้อ
ปัญหาที่พบบ่อยคือ อาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อและข้อ รวมถึงปัญหาด้านความคิด/ความจำ/สมาธิ
สมาคมโรคติดเชื้อแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกับ US CDC ทำ Webinar เมื่อคืนนี้ ตั้งแต่ช่วงตีสองครึ่งถึงตีสี่ครึ่งที่ผ่านมา
ทำการทบทวนความรู้ต่างๆ ทั้งสถานการณ์ระบาด รวมถึงอาการทางคลินิก การรักษา และปัญหาท้าทายที่พบในปัจจุบัน เช่น อาการเป็นกลับซ้ำจากปริมาณไวรัสที่กลับสูงขึ้นมาหลังจากที่อาการดีขึ้นในช่วงแรก (viral rebound)
สไลด์และวีดิโอที่บันทึกไว้ จะได้รับการนำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ CDC/IDSA COVID-19 Clinician Calls ในเร็วๆ นี้ ใครที่สนใจสามารถติดตามไปศึกษาดูได้
ตรุษจีนปีนี้คึกคัก มีคนเดินทางท่องเที่ยวกันเยอะ พบปะกันมาก ขอให้ระมัดระวัง ป้องกันตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปหาผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันไม่ดี
หากไม่สบาย ควรหลีกเลี่ยงคลุกคลีกับผู้อื่น ตรวจดูแล้วถ้าติดเชื้อ ควรแยกตัวจากคนอื่นอย่างน้อย 7-10 วัน จนกว่าอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK ซ้ำได้ผลลบ จึงออกไปใช้ชีวิตโดยป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจนครบสองสัปดาห์
แต่หากมีอาการ ตรวจแล้วได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ ควรตรวจซ้ำทุกวันอย่างน้อย 3 วัน เพราะอาจเกิดผลลบปลอมได้มาก
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มากระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน
สวัสดีปีใหม่จีน...ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ สุขภาพแข็งแรง มีความสุข และปลอดภัยทุกคนครับ