xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเศรษฐกิจโลกปี 2023 ปัจจัยลบรุม ข่าวดี!! ตลาดเกิดใหม่เอเชียโตไม่แผ่ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พนักงานลูกจ้างทำงานกันอยู่ในโรงงานบรรจุภัณฑ์แห่งหนึ่งที่นครโฮจิมินห์, เวียดนาม ในภาพซึ่งถ่ายไว้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2022 ทั้งนี้เวียดนามได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในบรรดาชาติตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ด้วยกัน
จากที่ควรเป็นปีแห่งการกลับมาของเศรษฐกิจโลกภายหลังวิกฤตโรคระบาด แต่ปี 2022 กลับแปดเปื้อนไปด้วยสงครามยูเครน อัตราเงินเฟ้อพุ่งทำสถิติ และหายนะจากสภาพภูมิอากาศ กระทั่งนักประวัติศาสตร์ อดัม ทูซ บอกว่า เป็นปีแห่งวิกฤตซ้อนวิกฤต

แต่ข่าวร้ายคือ ปี 2023 จะสาหัสกว่า

โรเอล บีตส์มา ศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์มหภาคของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม บอกว่า จำนวนวิกฤตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับจากเริ่มต้นศตวรรษปัจจุบัน และสำทับว่า ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา โลกไม่เคยเผชิญสถานการณ์ซับซ้อนแบบนี้มาก่อน

หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2020 ที่มีสาเหตุมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด ในปีต่อมา ราคาผู้บริโภคเริ่มขยับขึ้นเนื่องจากประเทศต่างๆ ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์และข้อจำกัดเข้มงวดอื่นๆ

บรรดานายธนาคารกลางยืนกรานว่า อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราวขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ แต่หลังจากรัสเซียยกทัพบุกยูเครนปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ตามมาด้วยการที่ฝ่ายตะวันตกประกาศมาตรการแซงก์ชันอย่างมโหฬารที่สุด ทว่ามันกลับส่งผลทำให้ราคาพลังงานและอาหารทั่วโลกพุ่งติดจรวด

หลายประเทศขณะนี้เผชิญวิกฤตค่าครองชีพเนื่องจากค่าแรงเพิ่มตามอัตราเงินเฟ้อไม่ทัน บีบให้ครัวเรือนต่างๆ ต้องคิดหน้าคิดหลังในการใช้จ่าย

นิโคล ไอเซอร์แมนน์ ที่เปิดบูทขายของในตลาดคริสต์มาสของแฟรงก์เฟิร์ต บอกว่า สินค้าทุกอย่างตั้งแต่ครีม ไวน์ จนถึงค่าไฟแพงขึ้น

ปี 2022 ธนาคารกลางประเทศต่างๆ นำโดยสหรัฐฯ แก้เกมด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อ โดยเดิมพันกับการเผชิญภาวะถดถอยรุนแรง เนื่องจากต้นทุนกู้ยืมที่สูงขึ้นหมายถึงกิจกรรมเศรษฐกิจอาจชะลอลง

เวลานี้อัตราเงินเฟ้อเริ่มขยับลงในอเมริกา ขณะยูโรโซนระวังการใช้จ่าย แต่อะไรๆ ยังไม่มีความแน่นอน

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) คาดว่า ราคาผู้บริโภค (ซึ่งก็คือมาตรวัดเงินเฟ้อตัวสำคัญตัวหนึ่ง) ในกลุ่มจี20 (20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก) จะแตะ 8% ในไตรมาส 4 ปี 2022 ก่อนลดลงอยู่ที่ 5.5% ในปี 2023

โออีซีดียังสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ให้ความช่วยเหลือเพื่อผ่อนเพลาภาระของภาคครัวเรือน

ด้านกลุ่มคลังสมอง บรูเกล ระบุว่า สหภาพยุโรป (อียู) ที่มีสมาชิก 27 ชาติ จัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคจากราคาพลังงานที่แพงขึ้น เป็นจำนวน 704,000 ล้านดอลลาร์ ในนี้ 280,000 ล้านดอลลาร์เป็นของเยอรมนี ประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปและพึ่งพิงซัปพลายพลังงานของรัสเซียมากที่สุด

ผลสำรวจของบริษัทที่ปรึกษา อีวาย ยังพบว่า คนเยอรมนี 1 ใน 2 บอกว่า พวกเขาต้องประหยัดใช้จ่ายเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น

ในอีกด้านหนึ่ง ดอกเบี้ยขาขึ้นก็กำลังส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและภาคธุรกิจ แม้เมื่อกลางเดือนธันวาคมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ชะลอจังหวะการขึ้นดอกเบี้ยลงเหลือแค่ 0.5% จากที่ขึ้นมา 0.75% 4 รอบติดกัน อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด เตือนว่า อาจยังต้องคงนโยบายการเงินคุมเข้มต่อไปอีกระยะเพื่อต่อสู้เงินเฟ้อ ฟื้นเสถียรภาพราคา

สำหรับคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณชัดเจนว่า อีซีบีจะยังใช้นโยบายการเงินคุมเข้มต่อไป และเสริมว่า อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนยังขึ้นไม่สุด

นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ในยุโรปตะวันตกนั้น เยอรมนีและอิตาลี ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของอียูอีกแห่งจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจอังกฤษหดตัวเรียบร้อย และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เอสแอนด์พี คาดว่า ยูโรโซนจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่เงินเฟ้อพุ่ง (stagnation) ในปี 2023

กระนั้น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยังคาดว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2023 จะขยายตัวในอัตรา 2.7% ส่วนโออีซีดีคาดหมายอัตราเติบโตที่ 2.2%

พร้อมกันนั้น โควิดจะยังคงเป็นไพ่ใบสำคัญสำหรับเศรษฐกิจโลกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องจับตาสถานการณ์ในจีนที่เดินหน้าผ่อนคลายนโยบายเศรษฐกิจเป็นศูนย์ ที่เคยปิดกั้นการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลกแห่งนี้

“ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เอเชีย” ยังไปได้ต่อ

ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเผชิญแนวโน้มการเติบโตชะลอตัว ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียกลับได้รับการคาดหมายว่า ในปี 2023 จะสามารถขยายตัวมากกว่าอัตราเติบโตของอเมริกาในปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่าตัว

ระบบเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียซึ่งรวมถึงจีน อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม มีผลงานล้ำหน้าระบบเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาคอื่นๆ มาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และยังคาดว่า จะมีอัตราเติบโตสูงกว่าประเทศชั้นนำตลอดปี 2023 และ 2024

แม้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรงในช่วงวิกฤตโรคระบาด แต่ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียสามารถฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง ตัวอย่างเช่นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของอินเดียฟื้น 8.9% ในปี 2021 จีน 8.1% และจีดีพีรวมของตลาดเกิดใหม่เอเชีย 7.3%

รายงานการคาดการณ์ฉบับล่าสุดของไอเอ็มเอฟคาดว่า อัตราเติบโตต่อปีของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะเพิ่มขึ้นเป็น 5% ในปีหน้า จาก 4.6% ในปี 2022 ในทางกลับกัน อัตราเติบโตของอเมริกาถูกคาดหมายไว้ที่แค่ 2.3% และ 1% ในปี 2022 และ 2023 ตามลำดับ และ 2.6% และ 1.2% สำหรับยูโรโซน

เวียดนามได้รับการคาดหมายว่าจะมีการเติบโตเข้มแข็งที่สุด โดยธนาคารโลกคาดว่า อัตราขยายตัวปี 2022 อยู่ที่ 7.5% เนื่องจากทั้งภาคการผลิตและภาคบริการต่างเดินหน้าฟื้นตัวจากวิกฤตโรคระบาด อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะปราศจากความเสี่ยงหรือมีภูมิคุ้มกันผลกระทบจากปัจจัยภายนอก

หนึ่งในความท้าทายสำคัญที่สุดคือภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวซึ่งอาจส่งผลลบต่อดีมานด์ในตลาดส่งออกของเอเชีย ขณะเดียวกัน ปัญหาห่วงโซ่อุปทานยังไม่ได้รับการแก้ไข เนื่องจากการชะงักงันจากวิกฤตโควิดยังเกิดขึ้นทั่วไปและขัดขวางความสามารถของประเทศต่างๆ ในการป้อนสินค้าเข้าสู่ตลาด

นอกจากนี้ ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียยังต้องรับมือความผันผวนของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยหากราคายังคงสูงขึ้นย่อมส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นและบ่อนทำลายการบริโภคภายในประเทศ

ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียยังไม่มีภูมิคุ้มกันจากผลกระทบของนโยบายคุมเข้มทางการเงินในประเทศชั้นนำ เช่น การที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ ส่งผลให้ค่าเงินของภูมิภาคนี้อ่อนลงเมื่อเทียบดอลลาร์ ซึ่งแม้ช่วยให้สินค้าออกราคาถูกลง แต่อาจกระตุ้นเงินเฟ้อในประเทศให้พุ่งขึ้น กระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคซึ่งเป็นหนึ่งในพลังขับเคลื่อนการเติบโตหลัก

ขณะเดียวกัน ค่าเงินที่อ่อนลงเท่ากับว่าต้องจ่ายหนี้ต่างประเทศแพงขึ้นและกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

จีนนั้นยังคงมีแนวโน้มการเติบโตต่ำกว่าประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ในเอเชีย เนื่องจากเศรษฐกิจจีนถูกกดดันจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการค้าโลกซึมเซา

ธนาคารโลกคาดว่า จีดีพีจีนปี 2022 อยู่ที่เพียง 4.3% เทียบกับ 8.1% ในปี 2021 ภาวะชะลอตัวในจีนอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ในเอเชียที่มีจีนเป็นจุดหมายปลายทางการส่งออกสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย และไทย

(ที่มา : เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอเจนซีส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น