xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์ลดเป้าจีดีพีปี 66 เป็นโต 3.6% แนะเพิ่มศักยภาพทางการคลัง-ใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ธนาคารโลกได้เปิดตัวรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือนธันวาคม 2565 : นโยบายการคลังเพื่ออนาคตที่พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงและเท่าเทียม โดยคาดการณ์เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.4% ในปี 2565 และ 3.6% ในปี 2566 ซึ่งได้มีการปรับลดประมาณการการเติบโตลง 0.7% เทียบกับประมาณการเดิมในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เป็นผลจากการชะลอตัวของอุปสงค์โลก ขณะที่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนยังคงเป็นปัจจัยหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการฟื้นตัวจากผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา โดยเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการบริโภคหลังจากเปิดประเทศในเดือนพฤษภาคม และมาตรการภาครัฐเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านค่าครองชีพ อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดการณ์การส่งออกจะหดตัว 2.1% ในปี 66 จากปีนี้ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 8.1% สะท้อนให้เห็นถึงอุปสงค์ที่ลดลงจากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุว่า หลังจากการระบาดของโควิด การเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอสำหรับความต้องการการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและเพื่อรองรับด้านลบอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องดำเนินการ

นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก กล่าวว่า วิกฤตในปัจจุบันเป็นแรงผลักดันที่สำคัญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง โดยการปรับปรุงคุณภาพและการจัดสรรการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ที่ต่ำตามโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการการใช้จ่าย รวมทั้งยังมีความจำเป็นต้องปรับปรุงผลกระทบของนโยบายการคลังในด้านการกระจายความเท่าเทียม และการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ดังนั้น การใช้จ่ายภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและตรงตามกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งความพยายามในการเพิ่มการจัดเก็บรายได้จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการ

โดยรายงานฉบับนี้ได้เสนอให้มีการพัฒนาอาชีพและเพิ่มโอกาสในการหารายได้สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกัน เพิ่มพื้นที่ทางการคลังเพื่อให้มีการใช้จ่ายอย่างเพียงพอในการช่วยเหลือสำหรับกลุ่มที่เปราะบางที่สุด ซึ่งรวมถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มที่ยากจนสุดขั้ว โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล และทุนมนุษย์เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนามนุษย์ในระยะยาวจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในการลดความยากจนอย่างยั่งยืน

นายเกียรติพงศ์ กล่าวอีกว่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ดีโดยไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เติบโตได้ 4.5% ซึ่งเป็นระดับก่อนเกิดโควิด แต่เราได้ปรับประมาณการจีดีพีปี 66 ลงเหลือ 3.6% จากเดิมที่จากเดิมที่ 4.3% โดยมองความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยปีหน้าใน 3 ด้าน ได้แก่ หนึ่ง ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น การปรับอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ซึ่งส่งผลต่อตลาดเงิน สอง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อภาคการค้า และภาระหนี้ ทั้งหนี้ภาคเอกชน หนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะ แต่ตรงนี้จะถูกชดเชยด้วยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะกลับมาขาดดุลในปีหน้า และเข้าสู่ระดับเดิมในอีก 2 ปี (2024) และสาม อัตราเงินเฟ้อ-ราคาพลังงานที่ยังสูงจะกระทบต่อค่าครองชีพให้ยังสูงอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น