สหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการซ้อมรบร่วมระหว่างแอฟริกาใต้ จีน และรัสเซีย ซึ่งเกิดขึ้นแม้ว่ามอสโกยังคงเดินหน้าปฏิบัติการรุกรานยูเครน ขณะที่นักวิเคราะห์มองมีความเป็นไปได้ที่พริทอเรียอาจใช้ปักกิ่งและมอสโก ในการต่อรองกับวอชิงตัน
การซ้อมรบครั้งนี้ยังถูกมองในฐานะโฆษณาชวนเชื่อส่งเสริมรัสเซีย หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้มอสโกเพิ่งแถลงว่ากองกำลังพวกเขาสามารถยึดโซเลดาร์ เมืองเล็กๆ ของยูเครน ได้สำเร็จ หลังต้องล่าถอยในสมรภูมิแล้วสมรภูมิเล่า และประสบความสูญเสียอย่างหนักในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ปฏิบัติการซ้อมรบร่วมที่ใช้ชื่อว่า "Mosi" หรือหมายถึง "ควัน" ในภาษาซวานา จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึง 27 กุมภาพันธ์ จากการเปิดเผยของกองทัพแอฟริกาใต้เมื่อวันพฤหัสบดี (19 ม.ค.)
ถ้อยแถลงของกองทัพแอฟริกาใต้ ระบุว่ากองทัพเรือของจีนและรัสเซีย จะเข้าร่วมกับกองกำลังแอฟริกาใต้ สำหรับซ้อมรบร่วมนอกชายฝั่งเมืองเดอร์บัน และเมืองริชาร์ดส เบย์ หนึ่งในเส้นทางเดินเรือที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เชื่อมระหว่างยุโรปและเอเชีย
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ของการซ้อมรบลักษณะนี้ หลังจากเคยจัดขึ้นมาแล้วหนหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2019
สหรัฐฯ ซึ่งผลักดันความเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์กับแอฟริกาใต้มานานหลายทศวรรษ แสดงความไม่พอใจในเรื่องนี้ในทันที
เดวิด เฟลด์มันน์ โฆษกสถานทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงพริทอเรีย ระบุอเมริกาขอเน้นด้วยความกังวลต่อแผนซ้อมรบ ซึ่งมีขึ้นแม้ว่ารัสเซียยังคงเดินหน้าปฏิบัติการรุกรานยูเครน ด้วยความโหดเหี้ยมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์ส
Ni Lexiong ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และกฎหมายแห่งเซี่ยงไฮ้ แสดงความคิดเห็นว่า "แอฟริกาใต้กำลังเล่นไพ่รัสเซียและจีน ในความพยายามบรรลุเป้าหมายเบี้ยต่อรอง ครั้งเจรจากับสหรัฐฯ ซึ่งล้มเหลวในความพยายามแสวงหาแรงสนับสนุนจากประเทศแอฟริกาแห่งนี้ เกี่ยวกับสงครามรัสเซียและยูเครน"
แอฟริกาใต้ปฏิเสธร่วมประณามรัสเซีย ต่อปฏิบัติการรุกรานยูเครน สงครามที่โหมกระพือมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ จากตะวันตกที่กำหนดเล่นงานมอสโก และมีการกล่าวหาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่ากองกำลังรัสเซียก่ออาชญากรรมสงคราม
"ทั้งจีนและรัสเซียต่างยินดีตอบรับคำเชิญที่ออกโดยแอฟริกาใต้ แม้ปักกิ่งและมอสโกอยู่ในบัญชีศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐฯ และในขณะเดียวกัน แอฟริกาใต้เองต้องการแรงสนับสนุนทางการเงินจากวอชิงตัน เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจภายในประเทศ" Ni Lexiong
Ni Lexiong มองการซ้อมรบทางทะเลร่วมกันในครั้งนี้ว่า เป็นการแสดงออกทางการเมือง ท่ามกลางสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างจีน รัสเซีย และสหรัฐฯ แต่เขาคิดว่ามันคงไม่ช่วยอะไรจีนและรัสเซียอย่างจริงๆ จังๆ ต่อความพยายามสร้างอิทธิพลทางทหารในมหาสมุทรอินเดีย
แต่กระนั้นผู้สันทัดกรณีรายอื่นๆ มองว่าการซ้อมรบครั้งนี้จะช่วยเสริมคำอวดอ้างของมอสโกเกี่ยวกับความองอาจทางทหารของพวกเขา Liang Guoliang ผู้สันทัดกรณีด้านการทหารในฮ่องกง แสดงความคิดเห็นว่า "การซ้อมรบมีขึ้นในตอนที่สื่อมวลชนตะวันตกพากันกล่าวอ้างว่ากองทัพรัสเซียอ่อนล้าเต็มที หลังจากสู้รบกับคู่อริยูเครนมานานเกือบปี" เขากล่าว "การซ้อมรบไม่ได้แค่ช่วยมอสโกเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่ทหารของพวกเขา แต่มันยังทำลายขวัญกำลังใจของกองทัพยูเครนและพันธมิตรตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ด้วย"
เมื่อเร็วๆ นี้แอฟริกาใต้เพิ่งเข้ารับหน้าที่ประธานหมุนเวียนของกลุ่ม BRICS ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ กลุ่มที่มีเป้าหมายท้าทายโครงสร้างการปกครองโลกที่นำโดยสหรัฐฯ และยุโรป ในขณะที่ Liang มองว่าพวกเขาอาจมีเป้าหมายยกระดับความมั่นคงทางทะเล ด้วยการเปลี่ยนการซ้อม 3 ฝ่าย เข้าสู่การซ้อมรบเป็นประจำ
เขาบอกว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะของแอฟริกาใต้ ยืดยาวถึงหมู่เกาะปรินซ์ เอ็ดเวิร์ด ซึ่งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหย่มากกว่า 2,000 กิโลเมตร ทำให้กองทัพเรือแอฟริกาใต้ ประสบปัญหาในความพยายามจัดการกับพวกโจรสลัดที่ออกอาละวาดในพื้นที่ดังกล่าวหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ
"จีนยินดีที่จะช่วยในภารกิจต่อต้านโจรสลัด ในขณะที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการเดินเรือขนส่งน้ำมันและก๊าซของประเทศเช่นกัน นอกจากนี้ การร่วมกับกองทัพเรือรัสเซีย สำหรับซ้อมรบร่วมเป็นประจำ จะสามารถช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์แก่กองทัพเรือจีนได้อีกด้วย" นักวิเคราะห์รายนี้ระบุ
(ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์)