xs
xsm
sm
md
lg

‘สงครามโลกครั้งที่สาม’ กำลังเกิดขึ้นมาต่อหน้าต่อตาเราแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: แบรนดอน เจ ไวเชิร์ต ***


หรือว่าด้วยความยะโสโอหังและด้วยความเขลาผสมผสานกัน? ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย จึงกำลังเดินหน้าสะเปะสะปะเข้าสู่สงครามโลกครั้งใหม่
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)

World War III is already here
By BRANDON J WEICHERT

พวกนักประวัติศาสตร์จะต้องพากันมองย้อนหลังกลับมาด้วยความรู้สึกสับสนว่าทำไมเหล่าผู้นำของยุคสมัยนี้จึงสามารถงี่เง่าได้ถึงขนาดนี้

สัปดาห์ที่ผ่านมา จักเป็นที่จดจำของพวกนักประวัติศาสตร์ส่วนข้างมาก –ถ้าหากยังมีใครโชคดีเพียงพอที่จะมีชีวิตอยู่รอดผ่านพ้นยุคสมัยแห่งการทำลายตัวเองนี้ไปได้— ในฐานะที่เป็นช่วงระยะแห่งการไม่มีทางแก้ไขหวนกลับได้อีกแล้ว ของสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ โลกของเราประสบกับ (หรือควรที่เรียกให้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้นว่า เผชิญหน้ากับการถูกทรมานจาก) การดวลกันด้วยคำปราศรัยของประธานาธิบดี 2 คน หนึ่งนั้นคือจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ผู้แก่หง่อมจนยากที่จะปรับตัว ซึ่งเดินทางไปเยือนกรุงเคียฟเพื่อย้ำยืนยันความสนับสนุนอย่างชนิดไม่มีวันตายที่ให้แก่ยูเครน ส่วนอีกหนึ่งคือจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ผู้บูดบึ้งเย่อหยิ่ง

ทั้งสองคำปราศรัยนี้ไม่มีอันไหนชวนให้รู้สึกกลับมีความมั่นอกมั่นใจขึ้นมาใหม่เอาเสียเลย ไบเดน ให้สัญญากับพวกเด็กยูเครนในปกครองของเขาว่า จะนำเอาเงินของผู้เสียภาษีชาวสหรัฐฯ เพิ่มเติมขึ้นอีก 500 ล้านดอลลาร์ มาสนับสนุนชาวยูเครนผู้กำลังถูกปิดล้อม
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/world/europe/us-president-biden-visits-war-time-kyiv-ahead-invasion-anniversary-2023-02-20/)

ไม่นานหลังจากการกล่าวปราศรัยของเขา เพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ก็แสดงท่าทีเป็นนัยๆ ว่า ทางกระทรวงอาจจะเลิกเตะถ่วงในการกระทำตามคำมั่นสัญญาเรื่องการจัดส่งรถถังหลัก (main battle tank หรือ MBT) เอ็ม1 เอ2 อะบรามส์ (M1A2 Abrams) ให้แก่กองทหารยูเครนซึ่งตกอยู่ในฐานะเป็นฝ่ายป้องกัน และกำลังเฝ้ารอคอยด้วยความอยากได้อาวุธเช่นนี้เป็นที่สุด ทั้งนี้เพนตากอนจะดำเนินการแบบง่ายๆ ด้วยการนำเอารถถังหลักซึ่งมีเก็บเอาไว้อยู่แล้วตามโกดังต่างๆ ของอมริกาไปจัดส่งให้ (ถึงแม้ก่อนหน้านี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีท่าทีต่อต้านไม่ยินยอมทำเช่นนี้มาโดยตลอด นับแต่ตอนแรกๆ ที่คณะบริหารไบเดนออกมาประกาศว่า จะจัดส่ง เอ็ม1 เอ2 อะบรามส์ ซึ่งเป็นรถถังหลักที่ได้รับการโฆษณาอวดสรรพคุณใหญ่โตมาช้านานนี้ไปให้แก่เคียฟ)
(ท่าทีของเพนตากอน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://breakingdefense.com/2023/02/evolving-plans-ukraines-m1-abrams-tanks-could-come-from-us-stockpiles-official-says/?utm_campaign=BD%20Daily&utm_medium=email&_hsmi=246920932&_hsenc=p2ANqtz-8jQgPX40xPqNNwBprpGrff0d00ygcFRsk3MGQ1YoHA8Owk-fv7EAbgLUBh85IJX1Uv8zSROvMUl6G2aW0jnAYK33f5bw&utm_content=246920932&utm_source=hs_email)

ทำความเข้าใจคำปราศรัยของปูติน

สำหรับคำปราศรัยอีกชิ้นหนึ่งนั้น อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้วมาจาก ปูติน ผู้ซึ่งพูดอย่างยาวเหยียดถึง 2 ชั่วโมงเมื่อคืนวันอังคาร (21 ก.พ.) โดยที่เขาเน้นย้ำถึงพันธะผูกพันของเขาที่จะต้องประสบชัยชนะเหนือยูเครนอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งวิพากษ์โจมตีสหรัฐฯ ว่าถูกปกครองโดยพวก “นักลัทธิซาตาน” และ “พวกใคร่เด็ก” อย่างไรบ้าง

ไม่น่าประหลาดใจอะไรนัก พวกสื่อมวลชนตะวันตกส่วนใหญ่ต่างปฏิเสธไม่ยอมรายงานข่าวคำปราศรัยครั้งนี้ของผู้นำรัสเซีย ส่วนอีกไม่กี่รายที่รายงานก็แสดงท่าทีเยาะเย้ยดูหมิ่นอย่างเปิดเผย แน่นอนล่ะ คำปราศรัยนี้มีกลิ่นอายแบบสปีชของฟิเดล คาสโตร อดีตผู้นำคิวบาซึ่งขึ้นชื่อลือชาในเรื่องการปราศรัยอย่างยาวเหยียดเป็นชั่วโมงๆ นอกจากนั้น สิ่งที่ ปูติน พูดก็แต่งแต้มระบายสีด้วยข้อกล่าวหาต่อต้านฝ่ายตะวันตกในลักษณะเป็นข้อกล่าวหากึ่งๆ เชิงศาสนาที่อาจทำให้พวกนักการศาสนาชาวอิหร่านส่วนใหญ่ต้องอายม้วนต้วนกันเลยทีเดียว กระนั้นมันก็มีเนื้อหาสาระสำคัญอยู่ในคำพูดของ ปูติน คราวนี้ที่จะต้องพินิจพิเคราะห์กัน

เขาไม่เพียงแค่ส่งสัญญาณออกมาว่า ความมุ่งมั่นผูกพันของเขากับการสู้รบขัดแย้งคราวนี้ไม่ใช่ยังคงแข็งแกร่งอย่างที่เคยเป็นมาเท่านั้น แต่เขากำลังขยายและยกระดับพันธะกรณีของเขาอีกด้วย เพื่อตอบโต้กับสิ่งที่เขามองเห็นว่า เป็นการทำให้สถานการณ์บานปลายขยายตัวของฝ่ายอเมริกัน

ในความเป็นจริงแล้ว ปูติน ได้ประกาศคำข่มขู่อย่างสำคัญต่อองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนกติกเหนือ (นาโต้) เป็นครั้งแรกของเขา กล่าวคือ เขาบอกกับพวกปรปักษ์ชาวอเมริกันของเขาว่า พวกเขาจะต้องโยกย้ายบรรดาระบบอาวุธเชิงรุกที่มีพิสัยทำการไกลๆ ของพวกเขาออกมาจากยูเครน ไม่เช่นนั้นกองกำลังฝ่ายรัสเซียก็จะเริ่มต้นพุ่งเป้าเล่นงานโดยตรงใส่ระบบอาวุธเหล่านี้

ตรงนี้แหละคือเส้นสีแดงอันตรายที่ ปูติน ขีดขึ้นมาอย่างชัดเจน และบอกกับนาโต้ตลอดจนฝ่ายอเมริกันว่า ควรกลับไปคิดไตร่ตรองให้ดีซ้ำสอง ก่อนที่จะตัดสินใจล่วงละเมิดก้าวข้ามเส้นสีแดงเหล่านี้

เครื่องยิงของระบบจรวดหลายลำกล้อง HIMARS ขณะยิงลูกจรวด การที่ยูเครนได้รับระบบอาวุธทันสมัยเช่นนี้จากฝ่ายตะวันตก ซึ่งผสมผสานข้อมูลผ่านเครือข่ายกับลูกจรวดที่มีความแม่นยำสูง บังคับให้รัสเซียต้องลดทอนอำนาจการรุกของฝ่ายตนลง และจัดกำลังมารับมือ ขณะเดียวกัน ก็ทำให้มีข่าวลือแพร่สะพัดว่ามีทีมบุคลากรทางทหารของสหรัฐฯ ได้รับมอบหมายให้มาดูแลระบบอาวุธเหล่านี้ด้วย จนเกิดความวิตกกันว่าสถานการณ์จะยิ่งบานปลายขยายตัว หากฝ่ายรัสเซียถล่มทำลายระบบอาวุธของยูเครนเหล่านี้ แล้วมีทหารอเมริกันบาดเจ็บล้มตายไปด้วย
เห็นกันได้อยู่แล้วว่า ระบบอาวุธเหล่านี้จะต้องถูกยูเครนใช้เพื่อโจมตีลึกเข้าไปภายในรัสเซีย และขณะที่ฝ่ายยูเครนนั้นย่อมมีสิทธิอย่างแน่นอนอยู่แล้วที่จะพิทักษ์ปกป้องตนเอง แต่ข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่า ยูเครนกำลังกระทำเช่นนั้นได้ก็โดยต้องอาศัยพวกสมรรถนะสู้รบที่พวกเขาต้องขอบคุณฝ่ายอเมริกันเท่านั้น ดังนั้น มันจึงหมายความว่าสหรัฐฯ และนาโต้ในเวลานี้ –ในสายตาของ ปูติน— กำลังกลายเป็นผู้เข้าร่วมในการสู้รบโดยตรง
(เรื่องยูเครนอาจใช้ระบบอาวุธใหม่ๆ โจมตีลึกเข้าไปในรัสเซีย ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.reuters.com/world/europe/ukraine-denies-report-it-intends-get-24-jets-allies-media-2023-01-28/)

เขาพูดเอาไว้เช่นนี้แหละในคำปราศรัยของเขา ตอนที่เขาบอกว่าฝ่ายอเมริกันจะต้องแบกรับความรับผิดชอบสำหรับการปฏิบัติการต่างๆ เหล่านี้ ถ้าหากรัสเซียถูกโจมตีด้วยระบบอาวุธดังกล่าว

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ถ้าหากระบบอาวุธเหล่านี้ถูกฝ่ายรัสเซียถือเป็นเป้าหมายที่จะต้องถูกโจมตีแล้ว เราก็สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะต้องมีคนอเมริกันล้มตาย ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เฉกเช่นเดียวกับการที่รัสเซียติดตั้งประจำการระบบขีปนาวุธเอส-400 อันล้ำสมัยเอาไว้ในซีเรียนั่นแหละ ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ระบบอาวุธพิสัยทำการไกลๆ ของฝ่ายอเมริกันก็จะต้องมีคนอเมริกันคอยทำหน้าที่เป็นผู้ใช้งาน หรือเป็นผู้บำรุงรักษา หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของทีมซึ่งทำหน้าที่เหล่านี้
(เรื่องรัสเซียนำเอาระบบเอส-400 เข้าประจำการในซีเรีย ดูเพิ่มเติมได้ที่https://www.bbc.com/news/world-europe-34976537)

นอกจากนั้นแล้ว มีความเป็นไปได้อย่างมากที่กองกำลังฝ่ายอเมริกันกำลังปฏิบัติการอย่างปิดลับทั้งข้างในและรอบๆ ระบบอาวุธพิสัยทำการไกลๆ เหล่านี้ ดังนั้นเราจึงสามารถคาดหมายได้ว่าการที่ฝ่ายรัสเซียพุ่งเป้ามุ่งเล่นงานระบบอาวุธเหล่านี้ตลอดจนสภาพแวดล้อมรอบๆ ว่ามันจะส่งผลทำให้มีชาวอเมริกันบาดเจ็บล้มตายจำนวนหนึ่ง

ข้อความสำคัญมากๆ จากคำปราศรัย 2 ครั้งเหล่านี้ก็คือว่า มันถูกพูดออกมาในระยะเวลาห่างกันไม่กี่ชั่วโมง นี่จึงหมายความว่า มาถึงเวลานี้มันไม่มีความหวังอะไรเหลืออยู่อีกแล้วสำหรับการทำข้อตกลงสันติภาพกัน

ร่งความเร็วมุ่งสู่สงครามนิวเคลียร์

ในตอนท้ายๆ ของคำปราศรัยครั้งนี้ของเขา ปูติน ประกาศสิ่งที่สร้างความตื่นตะลึงไปทั่ว นั่นคือ เขาบอกว่ารัสเซียกำลังถอนตัวออกจากสนธิสัญญานิวสตาร์ท (New START Treaty) ซึ่งมอสโกกับวอชิงตันจัดทำกันขึ้นในยุคของโอบามา โดยมีสาระสำคัญมุ่งจำกัดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีที่สหรัฐฯ และรัสเซีย แต่ละฝ่ายสามารถมีในครอบครองได้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.state.gov/new-start/)

แน่นอนทีเดียว สนธิสัญญานิว สตาร์ท ฉบับนี้ อันที่จริงได้มอบความได้เปรียบอย่างเด็ดขาดหลายอย่างหลายประการให้แก่ฝ่ายรัสเซีย เมื่อตอนที่มีการลงนามข้อตกลงนี้โดยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ และอดีตประธานาธิบดีดมิตริ เมดเวเดฟ ของรัสเซีย (โดยที่ ปูติน ก็เห็นชอบสนับสนุนอย่างเต็มที่)
(ดูเพิ่มเติมเรื่องที่วิจารณ์กันว่ารัสเซียเป็นฝ่ายได้เปรียบได้ที่ https://www.heritage.org/missile-defense/commentary/russias-small-nukes-are-big-problem)

กระนั้น รัสเซียก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการให้ความสนับสนุนพวกข้อตกลงควบคุมอาวุธที่ได้ทำไว้กับฝ่ายอเมริกันมาโดยตลอด แม้กระทั่งเมื่อย้อนหลังกลับไปถึงวันเวลาซึ่งเต็มไปด้วยความมุทะลุดุดันของสงครามเย็น

สำหรับ ปูติน แล้ว การที่เขาดึงลากรัสเซียออกมาจากข้อตกลงฉบับซึ่งเขาเคยเป็นผู้ปกป้องอย่างแข็งขันเรื่อยมาเช่นนี้ ควรที่จะทำให้พวกผู้วางนโยบายของวอชิงตันรู้สึกขนหัวลุกด้วยวามหวั่นผวากันบ้าง กระนั้นทั้งหมดทั้งสิ้นที่คำแถลงของปูตินเหล่านี้สามารถกระทำได้ก็คือทำให้วอชิงตันเพิ่มความกระเหี้ยนกระหือรือในการให้ความสนับสนุนอย่างมืดบอดแก่ฝ่ายยูเครน ผู้กำลังทำหน้าที่เป็นตัวแทนให้แก่สหรัฐฯ ในการเข้าสู้รบทำศึกกับแดนหมีขาว

การตัดสินใจของ ปูติน ที่จะถอนตัวออกจากสนธิสัญญาฉบับนี้ คือการประกาศออกมาแบบลึกล้ำว่า เขามีความตั้งใจอย่างสุดๆ ขนาดไหนที่จะทำให้เกิดความแน่ใจขึ้นมาว่าเขาจะต้องชนะในสงครามคราวนี้ ด้วยเหตุนี้ การประนีประนอมจึงเป็นไปไม่ได้เลย ณ อัตรารุนแรงเช่นนี้ของสถานการณ์ สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะสามารถทำให้ข้อตกลงสันติภาพกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้สำหรับรัสเซีย ก็คือถ้าหากกำลังทหารของพวกเขาตกอยู่ในสภาพพ่ายแพ้อย่างเด็ดขาดเท่านั้นเอง

กลุ่มนักเคลื่อนไหวเรียกร้องสันติภาพ สวมหน้ากากใบหน้าของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พร้อมกับถือขีปนาวุธนิวเคลียร์หลอกๆ ออกมาประท้วงที่บริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2021 เพื่อเรียกร้องให้ชาติมหาอำนาจทั้งสองเร่งจัดการปลดอาวุธนิวเคลียร์ให้คืบหน้าไปมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ขณะที่ฝ่ายรัสเซียนั้น แน่นอนอยู่แล้วว่าต้องประสบความสูญเสียอย่างหนักหน่วงยิ่ง ทว่ายูเครนก็ต้องประสบความสูญเสียอย่างสำคัญเช่นกัน แต่ไม่เหมือนกับฝ่ายยูเครนตรงที่ว่า ฝ่ายรัสเซียยังคงมีความสามารถในการจัดส่งประชาชนของพวกเขาจำนวนเป็นแสนๆ คนเพิ่มเข้าไปในสมรภูมิ สมรภูมิที่การต่อสู้กำลังอยู่ในสภาพยันกันอย่างประสบความเสียหายหนักหน่วงด้วยกันทั้งสองฝ่าย เปรียบประดุจได้กับเครื่องบดเนื้อขนาดยักษ์ซึ่งกำลังกลืนกินรี้พลของแต่ละฝ่ายไปเรื่อยๆ อย่างน่าสยดสยอง

ด้วยความได้เปรียบอย่างมากมายทางด้านกำลังพล ฝ่ายรัสเซียเพียงแต่ต้องยืนหยัดไปจนกว่าจะบดบี้ฝ่ายยูเครนได้สำเร็จ จวบจนกระทั่งกองกำลังที่มีขนาดใหญ่กว่ามากของตน ทำให้กองกำลังฝ่ายยูเครนต้องหลั่งเลือดไม่ขาดสาย กระทั่งโลหิตแห้งเหือดไปคาสนามรบ --แล้วจากนั้นก็ก้าวข้ามศพเหล่านี้ไป

นี่อย่างน้อยที่สุดก็ดูเหมือนเป็นแผนการโดยรวมของฝ่ายรัสเซีย

ถ้าหากเห็นว่ามีความจำเป็น ปูตินก็จะนำเอาพวกอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีมาใช้ เพื่อให้แน่ใจว่ากองกำลังของเขาสามารถบรรลุภารกิจที่ลำบากยากยิ่งนี้ได้สำเร็จ

ไม่มีการหวนกลับอีกแล้ว

ฝ่ายยูเครนได้ประกาศเจตนารมณ์ของพวกเขาอย่างชัดเจนตั้งแต่ก่อนที่การสู้รบขัดแย้งคราวนี้จะปะทุขึ้นมาเมื่อ 1 ปีก่อน นั่นคือ เคียฟต้องการที่จะรื้อฟื้นช่วงชิงดินแดนแหลมไครเมียกลับคืนมาอย่างสมบูรณ์ และกระทั่งดินแดนยูเครนตะวันออกด้วยในท้ายที่สุด

แต่ดินแดนเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเส้นสีแดง ซึ่งหากก้าวข้ามก็น่าที่จะจุดชนวนให้มอสโกพร้อมเสี่ยงเข้าสู่สงครามนิวเคลียร์ รัสเซียไม่สามารถสูญเสียฐานทัพเรือของตนในเซวาสโตโปล (Sevastopol) เมืองท่าริมทะเลดำในไครเมีย เพราะถ้าหากยินยอมปล่อยให้เรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นมา รัสเซียก็จะจบสิ้นฐานะความเป็นมหาอำนาจสำคัญรายหนึ่ง เนื่องจากจะถูกโดดเดี่ยวและต้องถอยห่างออกไปจากภูมิภาคทะเลดำซึ่งทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวด

ฝ่ายตะวันตกกำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางแฟนตาซีฝันเฟื่องอย่างใสซื่อบริสุทธิ์โดยแท้ ถ้าหากพวกที่เรียกขานกันว่าคณะผู้นำของฝ่ายตะวันตก ยังคงคิดว่า ปูติน จะเพียงแค่นั่งเฉยๆ และเฝ้ามองให้สิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้นมา

นี่แหละคือประเด็นในคำปราศรัยยาวเหยียดของ ปูติน คราวนี้ สงครามครั้งนี้ไม่ใช่กำลังจะจบสิ้นลง มันจะไม่มีการรอมชอมโดยผ่านการเจรจาต่อรองใดๆ (อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงเร็วๆ นี้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่การรอมชอมชนิดที่ฝ่ายตะวันตกมุ่งมาดปรารถนา)

สำหรับทางฝ่ายไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ แสดงท่าทีชัดเจนมากว่า เขาไม่เพียงแต่กำลังจะให้ความสนับสนุนแก่คณะรัฐบาลในกรุงเคียฟของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ต่อไปเท่านั้น ไบเดนยังได้โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์ขณะเดินทางออกจากเคียฟว่า เขา “ทิ้งส่วนหนึ่งของหัวใจของเขา” เอาไว้ที่นั่นอีกด้วย

ช่างน่ารักอะไรเช่นนี้

ไบเดน แสดงความมุ่งมั่นผูกพันกับการต่อสู้ของชาวยูเครน กระทั่งจวบจนถึงเวลานี้เขายังคงปฏิเสธไม่ยอมแสดงการตอบสนองอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อกรณีการรั่วไหลของสารเคมีครั้งใหญ่โตมโหฬารที่เกิดขึ้นในเมืองอีสต์ปาเลสไตน์ (East Palestine) รัฐโอไฮโอ ซึ่งถูกพวกนักวิพากษ์วิจารณ์ไบเดน หลายๆ รายขนานนามว่าเป็น “กรณีเชอร์โนบิลของอเมริกา”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://eurasiantimes.com/americas-own-chernobyl-china-labels-ohio-train-crash-a-major-disaster/)

ตรงกันข้าม ไบเดน ยังคงแจกจ่ายแบ่งปันเงินภาษีของสหรัฐฯ ไปให้ประเทศต่างแดนอย่างยูเครนใช้อย่างฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย แทนที่จะนำมาช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติชาวอเมริกันผู้กำลังลำบากเดือดร้อนอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติดังกล่าว ถึงแม้นี่เป็นช่วงเวลาซึ่งเขาจะต้อง
เตรียมตัวอย่างเข้มข้นก่อนเปิดการรณรงค์หาเสียงเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกหนึ่งสมัย

ถ้าหากเรื่องนี้ยังไม่ได้แสดงให้พวกคุณๆ มองเห็นได้อย่างถนัดชัดเจนว่า ไบเดน กำลังมีความปรารถนาที่จะเดินหน้าเพื่อยูเครนกันถึงขนาดไหนแล้ว ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะมีอะไรอย่างอื่นอีกแล้วที่สามารถแสดงให้พวกคุณๆ มองเห็นกันได้

ไม่มีสันติภาพอีกแล้วในยุคสมัยของเรา


ปักกิ่งเวลากำลังเข้าเกี่ยวข้องพัวพันโดยตรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยยืนอยู่ทางข้างมอสโก นี่หมายความว่ารัสเซียจะมีช่องทางสำหรับการเคลื่อนไหวขยับขยายเพิ่มขึ้นอีกอย่างมหาศาล ในจังหวะเวลาที่ฝ่ายตะวันตกต้องการอย่างเหลือเกินที่จะให้ฝ่ายรัสเซียอยู่ในสภาพถูกโดดเดี่ยว
(เรื่องท่าทีของจีน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.aljazeera.com/news/2023/2/23/wang-yi-meets-putin-in-sign-of-deepening-china-russia-ties)

ทำไมรัสเซียจะต้องมุ่งเสาะแสวงหาสันติภาพ ถ้าหากสงครามคราวนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายได้เปรียบ อย่างที่มันเป็นอยู่ในเวลานี้?

แทนที่ว่ากำลังมีการบ่มเพาะฟูมฟักให้เกิดข้อตกลงสันติภาพกันขึ้นมา มันกลับเป็นสงครามโลกครั้งใหม่อีกครั้งหนึ่งต่างหากที่กำลังก่อหวอดกันอยู่ โดยที่ความยะโสโอหังและความโง่เขลาผสมผสานกันของพวกผู้นำทั้งฝ่ายตะวันตกและฝ่ายรัสเซีย กำลังร่วมด้วยช่วยกันผลักดัน จากการคาดคำนวณอย่างผิดพลาดร้ายแรงตั้งแต่ตอนต้นๆ เกี่ยวกับจุดจบในท้ายที่สุดของการสู้รบขัดแย้งครั้งนี้

แน่นอนทีเดียว เหมือนๆ กับคราวสงครามโลกครั้งที่หนึ่งนั่นแหละ มันจะไม่มีใครเลยกลายเป็นผู้ชนะขึ้นมาหรอก

กระนั้นก็ตาม ถ้าหากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศยจีนสามารถเล่นไพ่ทางยุทธศาสตร์ที่มีอยู่ในมือของตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว พวกเขาก็จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจากการได้เห็นคู่แข่งขันทางยุทธศาสตร์ใหญ่ที่สุดของพวกเขาทั้ง 2 ราย อันได้แก่ รัสเซีย และอเมริกา กำลังพยายามกลืนกินซึ่งกันและกัน ด้วยข้อพิพาททางชายแดนที่ทั้งไร้เหตุผลทั้งไร้ความหมายในยุโรป (ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมปักกิ่งน่าที่จะให้ความสนับสนุนรัสเซียในการสู้รบของพวกเขาในยูเครน)

ภาพของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ปรากฏบนจอขนาดใหญ่ระหว่างการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม โดยเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2021 ที่กรุงปักกิ่ง ทั้งนี้ ฝ่ายตะวันตกมีความพยายามในการประโคมข่าวว่าการสู้รบขัดแย้งกันระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ทำท่าอาจบานปลายกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ-นาโต้นั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือปักกิ่ง
พวกนักประวัติศาสตร์จะต้องพากันมองย้อนหลังกลับมาด้วยความรู้สึกสับสนว่าทำไมเหล่าผู้นำของยุคสมัยนี้จึงสามารถงี่เง่าได้ถึงขนาดนี้ พวกเขาจะตั้งข้อสังเกตว่า 2 คำปราศรัยของประธานาธิบดีรัสเซีย และประธานาธิบดีอเมริกันในวาระครบรอบ 1 ปีของการเริ่มต้นสงครามรัสเซีย-ยูเครน คือชั่วขณะซึ่งการสู้รบขัดแย้งนี้ได้บานปลายกลายเป็นสงครามโลกขึ้นมาอย่างแท้จริงแล้ว

ยิ่งกว่านั้น พวกเขาจะต้องรู้สึกพิศวงสงสัยว่า ผู้คนพากันแสดงความชื่นชมสรรเสริญกันมากมายขนาดนี้ได้อย่างไร ทั้งๆ ที่มันเป็นการแสดงออกซึ่งความไม่รับผิดชอบ เนื่องจากมันคือการโยนทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อเห็แก่ข้อพิพาทที่จริงๆ แล้วเล็กนิดเดียว

ยอมรับความจริงกันเถอะ ในยุคสมัยของเรานี้มันจะไม่มีสันติภาพเกิดขึ้นมาหรอก คำปราศรัยเร็วๆ นี้ของ ไบเดน และ ปูติน รวมทั้งการที่จีนเข้าพัวพันเกี่ยวข้องในการสู้รบขัดแย้งยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ หมายความว่า สงครามคือชะตากรรมที่เราต้องประสบ – และสงครามครั้งนี้ก็ไม่ใช่สงครามที่ฝ่ายตะวันตกสามารถเอาชนะได้อย่างง่ายดายอีกด้วย

แบรนดอน เจ ไวเชิร์ต เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Winning Space : How America Remains a Superpower, เรื่อง The Shadow War : Iran’s Quest for Supremacy (ทั้งสองเล่มจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Republic Book Publishers) และเรื่อง Biohacked : China’s Race to Control Life (สำนักพิมพ์ Encounter Books)
กำลังโหลดความคิดเห็น