(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Ukraine war: a question of territory
By STEPHEN BRYEN
18/02/2023
ขณะที่รัสเซียกำลังตระเตรียมเพื่อเปิดการรุกใหญ่ในยูเครน ส่วนสหรัฐฯ ก็คัดค้านวีโต้ความริเริ่มทุกๆ อย่างเพื่อเดินหน้าไปสู่สันติภาพ ดังนั้น โอกาสที่จะทำความตกลงรอมชอมเพื่อยุติสงครามกันจึงห่างไกลออกไปทุกที
ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน บอกว่า ยูเครนจะไม่ยอมสละดินแดนแม้แต่เมตรเดียวให้แก่รัสเซีย ดูเหมือนว่าความต้องการเช่นนี้ของเขาทำให้หนทางคลี่คลายสงครามคราวนี้ด้วยวิธีทางการทูตใดๆ ล้วนแต่เป็นไปไม่ได้เอาเลย ในเมื่อรัสเซียนั้น อย่างไรเสียก็ได้ประกาศรับรองฐานะเอกราชของแคว้นโดเนตสก์และแคว้นลูฮันสก์ รวมทั้งได้ผนวกแหลมไครเมียเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนแล้ว
ดังนั้น ขณะที่ เซเลนสกี พิจารณาความมุ่งหมายในสงครามของเขาไปทางหนึ่ง จุดยืนของฝ่ายรัสเซียก็กลับอยู่ในทางตรงกันข้ามอย่างชัดเจน ดังนั้น ขณะที่ฝ่ายรัสเซียบอกว่าพวกเขายังคงมีความปรารถนาที่จะเจรจาทำความตกลงกัน บางสิ่งบางอย่างซึ่งพวกเขากล่าวย้ำอยู่บ่อยครั้งก็คือว่า จุดยืนของฝ่ายรัสเซียที่จะไม่ยอมอ่อนข้อ ได้แก่ การที่ยูเครนจะต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงทางดินแดนที่มอสโกกระทำไปแล้ว หรือในกรณีของโดเนตสก์ และลูฮันสก์ ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงทางดินแดนที่มอสโกให้ความสนับสนุน
ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า จะมีหนทางอะไรหรือไม่เพื่อออกจากปัญหาชนิดกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้มาได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่สถานการณ์กลับยิ่งเพิ่มความยุ่งยากซับซ้อนขึ้นอีก ทั้งจากตัวสงครามเอง และจากการที่วอชิงตันดูเหมือนวีโต้คัดค้านการเจรจาไม่ว่าอยู่ในรูปแบบใดๆ
อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล นาฟตาลี เบนเนตต์ (Naftali Bennett) ผู้ซึ่งมีอยู่ช่วงหนึ่ง ได้แสดงบทบาทเป็นคนกลางระหว่างรัสเซียกับยูเครน บอกเล่าให้ทราบกันว่าเขาเคยบรรลุส่วนแรกของการทำความตกลงกันระหว่างยูเครนกับรัสเซียเอาไว้ในมือเรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ ทว่าวอชิงตันปฏิเสธไม่เอาด้วยและสกัดขัดขวาง จึงนำไปสู่การที่ยูเครนเดินผละออกไปจากการเจรจาสันติภาพกับรัสเซีย
เวลานี้รัสเซียกำลังเพิ่มทวีการรุกโจมตีครั้งใหญ่ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายคืออะไรยังไม่เป็นที่ชัดเจน ขณะที่ฝ่ายยูเครนก็กำลังอดทนยืนหยัดด้วยการป้องกันรักษาแนวเส้นปะทะกัน (line of contact) เอาไว้อย่างเข้มแข็ง และในบางกรณีกระทั่งมีการรุกคืบหน้าไปได้เล็กน้อยด้วยซ้ำ แต่ทางฝ่ายรัสเซียก็กำลังชิงพื้นที่ได้เพิ่มมากขึ้นเหมือนกัน และกำลังใกล้ที่จะสามารถโอบล้อมเมืองบัคมุต (Bakhmut) ที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์เอาไว้ได้ การสู้รบที่ตรงนี้จะส่งผลลัพธ์ทำให้ฝ่ายรัสเซียมีชัยชนะหรือไม่ยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตามกันต่อไป
ในความคิดของฝ่ายรัสเซียนั้น ยุทธการเมืองบัคมุต อาจเปรียบเทียบได้กับยุทธการชิงเมืองสตาลินกราด (Stalingrad) ในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยในยุทธการเมื่อครั้งอดีต กองกำลังของเยอรมัน และฝ่ายอักษะมีจำนวนรวม 220,000 คน แต่จากการสู้รบอย่างนองเลือดและการที่ต้องเผชิญกับอากาศที่หนาวยะเยือก ก็ได้ลดจำนวนลงเหลือเพียงแค่ 91,000 คน หรือมีความสูญเสียในระดับเกือบๆ 60% ของกำลังพลของพวกเขาทีเดียว และยังสูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์ตลอดจนเครื่องกระสุนอย่างมหาศาลยิ่งกว่านั้นอีก
ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 1943 จอมพลฟรีดริช เพาลุส (Friedrich Paulus) ผู้บัญชาการทหารของเยอรมนีซึ่งรับผิดชอบการรุกที่สตาลินกราด ตัดสินใจนำกองทหารที่ยังเหลืออยู่ของเขาออกมายอมจำนน เป็นการขัดคำสั่งของฮิตเลอร์ที่ให้สู้รบต่อไปจนกระทั่งถึงทหารคนสุดท้าย (ฮิตเลอร์เลื่อนตำแหน่งให้เขาขึ้นเป็นจอมพลในนาทีสุดท้าย ด้วยความคาดหวังว่า เพาลุส จะตัดสินใจยอมฆ่าตัวตายมากกว่ายอมแพ้)
สตาลิน และนายพลโซเวียต จอร์จี ซูคอฟ (Georgy Zhukov) ถือว่ายุทธการสตาลินกราด เป็นก้าวใหญ่ก้าวแรกในการกลืนกินกองทัพเยอรมัน ซึ่งในที่สุดแล้วนำไปสู่ความปราชัยของนาซีเยอรมันในการสู้รบครั้งสุดท้ายของสงครามในกรุงเบอร์ลิน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ก็เฉกเช่นเดียวกับ โจเซฟ สตาลิน ผู้ดำรงตำแหน่งนี้คนก่อนๆ หน้าเขา ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีความคิดเห็นเกี่ยวกับเมืองบัคมุตในทำนองเดียวกัน
ขณะที่ยุทธการกำลังเดินหน้าเผยโฉมออกมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ไม่มีใครทราบหรอกว่าก้าวต่อไปของรัสเซียจะเป็นเช่นไร แน่นอนทีเดียว กองกำลังฝ่ายรัสเซีย ซึ่งก็รวมไปถึงกลุ่มวากเนอร์กรุ๊ป (Wagner group) ที่มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ กำลังดำเนินการเพื่อโอบล้อมบัคมุต และบีบให้กองกำลังป้องกันของยูเครนต้องติดกับ
เกี่ยวกับภาคส่วนดังกล่าวนี้ มีรายงานความคืบหน้าบางอย่างบางประการปรากฏออกมา ทั้งนี้ สามารถคาดหมายได้ว่าการรุกของฝ่ายรัสเซียที่เก็งกันว่ากำลังจะเกิดขึ้นมาแล้วนั้น จะโฟกัสหนักที่บัคมุต รวมทั้งเส้นทางติดต่อและส่งกำลังบำรุงของฝ่ายยูเครน สามารถคาดหมายได้ว่าฝ่ายรัสเซียจะมีการใช้แสนยานุภาพทางอากาศอย่างหนักหน่วงมาก เนื่องจากมาถึงเวลานี้มอสโกสามารถควบคุมน่านฟ้าเหนือยูเครนเอาไว้ได้แล้ว
เป็นการฉลาดสำหรับสหรัฐฯ ที่จะพิจารณาใช้ความพยายามเพื่อทำข้อตกลงกับรัสเซีย ถ้าหากว่ามันยังเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ทว่าคณะบริหารไบเดนนั้น ก็อย่างที่ได้ชี้เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว วีโต้คัดค้านความริเริ่มเพื่อสันติภาพทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่ามันจะมาจากกลุ่มนอร์มังดี (Normandy Group) ในยุโรป (ที่มีฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็นหัวเรือใหญ่) จากฝ่ายที่อยู่ภายนอก (อิสราเอล และตุรกี) หรือกระทั่งจากผู้ที่อยู่ในการสู้รบเอง (ยูเครน และรัสเซีย)
แน่นอนทีเดียว การรุกของฝ่ายรัสเซียอาจจะประสบความล้มเหลวได้ กระนั้น รัสเซียก็ไม่น่าที่จะหันหลังกลับและยุติการสู้รบ ในทางตรงกันข้าม หากฝ่ายรัสเซียสามารถยึดบัคมุตเอาไว้ได้และดำเนินการผลักดันกองกำลังฝ่ายยูเครนให้ถอยไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้นว่า ยูเครนจะต้องร้องขอรัสเซียให้มาเจรจาสันติภาพกัน
ในกรณีดังที่ว่ามานี้ สหรัฐฯ และพวกชาติพันธมิตรนาโต้ของสหรัฐฯ ก็จะถูกตัดออกจากเกม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ จะพบว่าตัวเองต้องอยู่นอกวงและได้แต่ชะแง้มองเข้าไปข้างใน แล้วถ้าหากว่านี่เป็นการเล่นเพื่อปิดเกม การทดลองของนาโต้ในยูเครน –และมากยิ่งกว่านั้นคือวิสัยทัศน์โดยรวมๆ ในเรื่องการขยายองค์การนาโต้— ก็จะสูญสลายไป ขณะที่ความสนับสนุนของเหล่าชาติสมาชิกนาโต้จะแตกออกเป็นเสี่ยงๆ
หน้าต่างแห่งโอกาสที่จะเกิดหนทางแก้ไขปัญหาโดยทางการเมือง แทนที่จะเป็นการที่ฝ่ายยูเครนต้องวอนขอรัสเซียให้มาเจรจาสันติภาพกันนั้นดูเหมือนกำลังปิดลงแล้ว กระนั้นมันก็เป็นที่ชัดเจนว่า มันจะไม่ได้เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ หรือของนาโต้เลย สำหรับการที่ผลลัพธ์สุดท้ายทำท่าจะออกมาว่า ต้องประสบกับความพ่ายแพ้
มีสัญญาณหลายๆ อย่างปรากฏออกมาให้เห็นแล้วทั้งในวอชิงตันและในนาโต้ว่า สถานการณ์กำลังเลวร้ายลงไปเรื่อยๆ การยอมรับต่อสาธารณชนว่านาโต้ไม่สามารถจัดส่งเครื่องกระสุนไปให้ยูเครนได้อย่างเพียงพอสม่ำเสมอ และการที่นาโต้มีข้อเสนอแนะต่อฝ่ายป้องกันชาวยูเครน ให้ถนอมรักษาอาวุธเครื่องกระสุนที่พวกเขามีอยู่ คือเครื่องบ่งชี้ที่มีนัยมากมาย ยิ่งกว่าแค่เป็นการยอมรับว่ามันมีปัญหา
เวลาเดียวกันนั้น พวกถ้อยแถลงของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน และประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ พล.อ.มาร์ก มิลลีย์ ซึ่งพูดกับกลุ่มติดต่อเพื่อการป้องกันยูเครน (Ukraine Defense Contact Group) ในกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ยังคงเสนอแนะว่ายูเครนจะชนะสงครามคราวนี้ และรัสเซียกำลังประสบความพ่ายแพ้นั้นเป็นสิ่งที่ยากจะได้รับความเชื่อถือ
ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังพยายามปลุกขวัญให้ฝ่ายยุโรปเกิดกำลังใจขึ้นมา ทว่ามันก็อาจจะประสบความสำเร็จในทางสร้างความแปลกแยกให้แก่พวกพันธมิตรที่กระวนกระวายใจของพวกเขามากยิ่งขึ้นไปอีกเท่านั้น (อาจจะมียกเว้นก็เพียงแค่สหราชอาณาจักร ผู้ซึ่งกระทั่งกำลังมีความมุ่งมั่นตั้งใจมากขึ้นด้วยซ้ำ ที่จะทำการสู้รบต่อไปจวบจนกระทั่งถึงชาวยูเครนคนสุดท้าย)
ถ้าหากหนทางแก้ไขปัญหาด้วยวิถีทางการเมืองยังมีความเป็นไปได้แล้ว หนทางหนึ่งเดียวที่มีอยู่ซึ่งอาจสร้างความพึงพอใจ เมื่อมองจากจุดยืนและทัศนะของสหรัฐฯ นาโต้ ตลอดจนยูเครน ก็น่าจะเป็นการที่ยูเครนยังคงสามารถรักษาดินแดนที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันเอาไว้ภายในยูเครนเองต่อไป ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง แน่นอนทีเดียว อันที่จริงแล้วนี่ก็คือหนึ่งในหลักการข้อสำคัญของข้อตกลงกรุงมินสก์ 2 ปี 2015 (Minsk II agreement of 2015) นั่นเอง
ข้อตกลงฉบับดังกล่าวเสนอให้ทำดินแดนแคว้นโดเนตสก์ และแคว้นลูฮันสก์ กลายเป็นดินแดนปกครองตนเอง ทว่ายังคงเป็นส่วนหนึ่งของยูเครนที่ต้องขึ้นกับกฎหมายของยูเครน โดยที่แคว้นเหล่านี้จะจัดส่งคณะผู้แทนไปเข้าร่วมรัฐสภายูเครน ที่เรียกชื่อกันว่า Verkhovna Rada หรือสภาสูงสุดแห่งยูเครน (Supreme Council of Ukraine) ข้อตกลงมินสก์ 2 ไม่มีการแตะต้องเอ่ยถึงไครเมีย โดยที่นั่นจำเป็นต้องมีหนทางแก้ไขแบบลูกผสมอะไรสักอย่างหนึ่งขึ้นมา ถึงแม้นี่ย่อมเป็นสิ่งที่ฝ่ายรัสเซียจะไม่ให้ความสนใจเลยแม้แต่น้อย
ข้อตกลงมินสก์ 2 นั้น ไม่ได้เคยถูกนำมาใช้ปฏิบัติกันเลย ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกงลา แมร์เคล ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครง และเซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนคนปัจจุบัน ทั้งหมดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การลงนามในข้อตกลงฉบับนี้ในตอนนั้นก็เพียงเพื่อซื้อเวลาสำหรับให้ยูเครนสร้างสมสมรรถนะทางทหาร เพื่อที่จะได้ผลักดันฝ่ายรัสเซียให้ออกไปจากดินแดนของพวกเขา
ฝ่ายรัสเซียผู้ซึ่งยังไม่เคยประกาศยกเลิกข้อตกลงมินสก์ 2 เลยนั้น เวลานี้บอกว่าพวกเขาถูกมหาอำนาจตะวันตกและยูเครนหลอกลวงเล่นเล่ห์ และพวกเขาจะไม่ยอมกลายเป็นคนโง่อีกคำรบหนึ่งหรอก
นอกเหนือจากการทำความตกลงเรื่องดินแดนแล้ว อีกครึ่งหนึ่งของข้อตกลงทางการทูตใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นมาจะต้องกำหนดให้มียูเครนที่วางตัวเป็นกลางและถอยห่างออกจากนาโต้อย่างเต็มที่ นี่ย่อมหมายความว่าข้อตกลงการร่วมสมาคมในทางกฎหมายใดๆ ที่นาโต้ทำเอาไว้กับยูเครน และข้อตกลงอื่นๆ ใดๆ ที่มีอยู่ระหว่างยูเครนกับสหรัฐฯ จำเป็นที่จะต้องถูกยกเลิกไป
ดูเหมือนว่า ปูติน กำลังจะกล่าวคำปราศรัยครั้งสำคัญในอีกสองสามวันข้างหน้านี้ เกี่ยวกับเรื่องยูเครนและวัตถุประสงค์ทางยุทธศาสตร์ของรัสเซีย บางทีมันอาจจะมีการเปิดประตูสำหรับการพูดจากันก็ได้ ทว่าไม่มีใครสามารถพูดยืนยันออกมาอย่างมั่นอกมั่นใจหรอก ทั้งนี้ลงท้ายมันอาจจะเป็นเพียงการปราศรัยเพื่อปลุกเร้าประชาชนชาวรัสเซีย ผู้ซึ่งกำลังเสียสละอย่างใหญ่หลวงในสงครามยูเครนคราวนี้
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า โอกาสใดๆ สำหรับหนทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติกำลังห่างไกลออกไปยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา
ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเพจ “สงครามและยุทธศาสตร์” (War and Strategy) ของ สตีเฟน ไบรเอน ทางเว็บไซต์ Substack และได้รับอนุญาตให้นำมาเผยแพร่ซ้ำทางเอเชียไทมส์
สตีเฟน ไบรเอน เป็นผู้เชี่ยวชาญชั้นนำเรื่องยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคง โดยปัจจุบันเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ศูนย์เพื่อนโยบายความมั่นคง (Center for Security Policy) และสถาบันยอร์กทาวน์ (Yorktown Institute) เขาเคยดำรงตำแหน่งระดับอาวุโสในกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เคยเป็นรองผู้ช่วยรัฐมนตรีกลาโหมระหว่างปี 1981-1988) ในรัฐสภาสหรัฐฯ ตลอดจนเป็นประธานกรรมการบริหารของบริษัทด้านกลาโหมและเทคโนโลยีนานาชาติขนาดใหญ่ เวลานี้เขาเขียนเรื่องให้แก่เอเชียไทมส์, American Thinker, Jewish Policy Center ตลอดจนหนังสือพิมพ์และนิตยสารอื่นๆ จำนวนมาก ทั้งนี้ เขาเขียนหนังสือในหัวข้อความมั่นคงที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วรวม 4 เล่ม