(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
How Putin has shrugged off Western sanctions
By PETER RUTLAND
ด้วยความปวดใจที่มาตรการแซงก์ชันซึ่งคุยว่าโหดนักหนาของฝ่ายตะวันตก ถึงแม้มีผลอะไรอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียสั่นคลอนพังครืนลงแต่อย่างใด นักวิชาการอเมริกันจึงพยายามหาคำตอบและรวบรวมหาเหตุผล จำนวน 4 ข้อมาอธิบาย
สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ อีกกว่า 40 ประเทศ [1] ได้บังคับใช้มาตรการแซงก์ชันคว่ำบาตรรัสเซีย [2] เพื่อแสดงปฏิกิริยาคัดค้านการที่แดนหมีขาวรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2022 การแซงก์ชันคราวนี้ถือว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดอย่างชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน [3] ในแง่ของขอบเขตอันมโหฬารและความเข้มงวดรุนแรงซึ่งนำมาใช้กับระบบเศรษฐกิจที่มีขนาดเช่นรัสเซียนี้
มาตรการลงโทษคว่ำบาตรเหล่านี้ ในช่วงแรกๆ มีทั้งการอายัดทรัพย์สินของรัสเซียที่อยู่ต่างแดน [4] และการห้ามส่งออกพวกเทคโนโลยีสำคัญๆ ไปยังรัสเซีย จากนั้นมาในตลอดช่วงระยะปี 2022 การแซงก์ชันได้ถูกขันนอตให้แน่นหนาขึ้นอีกอย่างสำคัญทีเดียว ขณะที่ในท้ายที่สุดสหภาพยุโรปได้ประกาศลดการซื้อหาน้ำมันและก๊าซรัสเซียลงมาอย่างมหาศาล [5] โดยแบ่งทำกันเป็นระยะๆ เป็นขั้นเป็นตอน ส่วนในอีกทางหนึ่ง พวกบริษัทฝ่ายตะวันตกมากกว่า 1,200 แห่งก็ได้ปิดการดำเนินงานของพวกตนในรัสเซีย [6]
ระยะเวลา 1 ปีที่สงครามดำเนินไป การแซงก์ชันเหล่านี้บังเกิดผลอย่างไรหรือไม่?
ถดถอยในตอนแรกๆ แต่ฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว
ก่อนหน้าการรุกราน พวกชาติตะวันตกเคยคาดหวังกันว่าการข่มขู่ที่จะดำเนินการแซงก์ชัน [7] น่าจะมีพลังในการป้องปรามไม่ให้รัสเซียเข้าโจมตียูเครน แต่ทันทีที่การรุกรานเริ่มต้นขึ้นมา เป้าหมายของพวกชาติตะวันตกก็เปลี่ยนไปเป็นการมุ่งป้องปรามประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ไม่ให้กระทำการอย่างบานปลายขยายตัว และส่งเสริมสนับสนุนเขาให้ยอมยุติ –ทั้งนี้ ด้วยการลดทอนความสามารถของเขาในการระดมเงินทองเข้ามาสนับสนุนกลไกเครื่องจักรสงครามของเขา
ตอนแรกทีเดียว พวกนักวิจารณ์ให้ความเห็นผ่านสื่อ (คอมเมนเตเตอร์) ชาวตะวันตกมีความมั่นอกมั่นใจว่า มาตรการแซงก์ชันเหล่านี้กำลังใช้ได้ผล [8]
ในสัปดาห์แรกของสงครามคราวนี้ เงินรูเบิลของรัสเซียมีมูลค่าหล่นฮวบอาบ [9] ขณะที่ชาวรัสเซียพากันแตกตื่นเมื่อพวกธนาคารรัสเซียส่วนใหญ่ถูกตัดออกไปจากระบบ “Swift” ซึ่งเป็นระบบทำธุรกรรมระหว่างประเทศของธนาคารต่างๆ ทั่วโลก และทรัพย์สินต่างๆ ของรัฐบาลแดนหมีขาวที่อยู่ในแบงก์ต่างประเทศทั้งหลายก็ถูกอายัด
อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางของรัสเซียสามารถทำให้อัตราแลกเปลี่ยนกลับมามีเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว [10] โดยกำลังนำค่าเงินรูเบิลกลับคืนสู่ระดับซึ่งเคยอยู่ในช่วงก่อนสงคราม ด้านอัตราเงินเฟ้อของรัสเซียนั้นได้พุ่งปรี๊ดถึงขีดสุดที่ระดับ 18% ในเดือนเมษายน ทว่าคลี่คลายลงมาจนอยู่ที่ 12% ในเดือนธันวาคม [11] ถึงแม้ว่าหลังจากนั้นแล้วยังคงมีผู้สังเกตการณ์ฝ่ายตะวันตกบางราย [12] ยืนกรานต่อไปไม่ยอมเลิกว่า การแซงก์ชันกำลังทำให้เศรษฐกิจรัสเซียกลายเป็นอัมพาต [13]
เป็นความจริงที่ว่ามาตรการลงโทษคว่ำบาตรได้สร้างความเสียหายหนัก [14] ให้แก่ภาคเศรษฐกิจของรัสเซียบางภาค โดยที่ชัดเจนคือ ภาคการบิน [15] และการผลิตรถยนต์ [16] ซึ่งได้เห็นผลผลิตลดถอยลงมาถึง 80% เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนต่างๆ ที่จะต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม รัสเซียโดยรวมแล้วปิดฉากปี 2022 ด้วยการมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หดตัวลงเพียงแค่ 3% [17] ขณะที่ยอดขายปลีกหล่นลง 9% [18] ในปีดังกล่าว โดยที่มีพวกแบรนด์ท้องถิ่นของรัสเซียเอง –เช่นเดียวกับพวกบริษัทจีนและบริษัทตุรกีบางแห่ง [19] –เข้าแทนที่พวกบริษัทตะวันตกในตลาดภายในประเทศของแดนหมีขาว
ถึงแม้เผชิญกับมาตรการแซงก์ชัน อีกทั้งประสบความเพลี่ยงพล้ำในสมรภูมิ แต่ ปูติน ก็ไม่ได้แสดงสัญญาณใดๆ ให้เห็นเลยว่ากำลังจะยอมถอยหลังกลับ [20] ในเดือนกันยายน เขาสั่งระดมกองหนุนจำนวนราว 300,000 คน [21] เข้ามาเสริมกำลังพลของกองทัพรัสเซีย รวมทั้งเริ่มต้นการรณรงค์เพื่อทำให้ระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าของยูเครนกลายเป็นอัมพาต [22] ด้วยการใช้ขีปนาวุธและโดรนถล่มโจมตีอย่างหนักหน่วง
มีเหตุผลสำคัญอยู่ 4 ประการด้วยกัน ที่ทำให้ “ฟ้ายังไม่ถล่มลงมาใส่” ระบบเศรษฐกิจของรัสเซีย
1.เส้นชีวิตด้านพลังงานของรัสเซีย
รัสเซียอาจจะกำลังใช้จ่ายเงินทองมากกว่าวันละ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการสู้รบทำสงคราม [23] ทว่าสำหรับช่วงเวลาจำนวนมากของปี 2022 ที่ผ่านมา แดนหมีขาวสามารถหารายได้วันละ 800 ล้านดอลลาร์ทุกๆ วันจากการส่งออกพลังงาน [24] กระแสรายรับขนาดนี้มากเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้มาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของคนรัสเซียเสื่อมทรุดพังครืน และทำให้คลังแสงอาวุธและเครื่องกระสุนของรัสเซียเหือดแห้งเหลือแต่โกดังเปล่า
สงครามครั้งนี้ บวกกับการที่รัสเซียตัดลดการส่งก๊าซไปให้ยุโรปในปี 2021 เป็นสาเหตุทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซพุ่งลิ่วๆ ในช่วงเดือนแรกของสงคราม ราคาน้ำมันโลก [25] ทะยานแรงจัด 50% ไปถึงขีดสูงสุดที่ 139 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนเมษายน เวลาเดียวกัน ราคาก๊าซแบบขายส่ง [26] ในยุโรปบินลิ่วๆ ขึ้นไปถึง 500% สู่จุดสูงสุดที่ 300 ยูโร (320 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อเมกะวัตต์-ชั่วโมง สภาพเช่นนี้ทำให้รัสเซียได้กำไรแบบลาภลอยเป็นจำนวนมหาศาล
ถึงแม้ปริมาณน้ำมันและก๊าซรัสเซียที่ส่งออกไปยังยุโรปลดต่ำลงมาในปี 2022 [27] แต่รายรับด้านพลังงานของแดนหมีขาวยังคงทะยานขึ้นไปสู่ระดับ 168,000 ล้านดอลลาร์ [28] ในปีนั้น ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา รัสเซียจบปีดังกล่าวโดยมีตัวเลขการได้เปรียบดุลบัญชีเดินสะพัด 227,000 ล้านดอลลาร์ [29] สูงสุดเป็นประวัติการณ์
2.รัสเซียมีลูกค้ารายอื่นๆ จำนวนมากมาย
ประการที่ 2 พวก 49 ประเทศที่ประกาศแซงก์ชันรัสเซีย [30] อยู่นั้น เอาเข้าจริงก็คิดเป็นเพียงแค่ 60% ของเศรษฐกิจโลก [31] นี่ทำให้ยังคงมีอีก 40% ซึ่งยินดีที่จะทำธุรกิจกับมอสโกต่อไป
พวกประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตกส่วนใหญ่ ต่างปฏิเสธไม่ยอมเข้าร่วมการแซงก์ชัน โดยหลายๆ รายมองสงครามยูเครนว่าเป็นผลลัพธ์ของการแข่งขันชิงอำนาจกันระหว่างพวกมหาอำนาจรายใหญ่ๆ [32] และไม่ได้ประณามกล่าวโทษรัสเซีย อินเดียและจีนนั้นกระทั่งกำลังซื้อหาน้ำมันและก๊าซรัสเซียเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ –ถึงแม้พวกเขาพยายามโน้มน้าวรัสเซียให้ยอมลดราคาขาย [33] แก่พวกเขาลงมามากๆ ระดับ 20 ถึง 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลทีเดียว สำหรับตุรกีก็เป็นหุ้นส่วนที่สำคัญยิ่งยวดอีกรายหนึ่งของแดนหมีขาว โดยที่การค้าระหว่างตุรกีกับรัสเซียสูงขึ้น [34] มา 45% ในปี 2022
นอกจากนั้น ถึงแม้พวกประเทศยุโรปมีความพยายามที่จะลดการซื้อหาจากแดนหมีขาว ทว่าชาติเหล่านี้ยังคงซื้อน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย [35] คิดเป็นมูลค่า 125,000 ล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ที่การรุกรานเริ่มต้นขึ้น เปรียบเทียบกับจีนซึ่งซื้อหาไว้ 50,000 ล้านดอลลาร์ ตุรกี 20,000 ล้านดอลลาร์ และอินเดีย 18,000 ล้านดอลลาร์
3.เศรษฐกิจของรัสเซียมีความทนทานแข็งแกร่งในการเผชิญสถานการณ์สู้รบ
ปัจจัยประการที่ 3 คือว่า พวกผู้สังเกตการณ์ที่กำลังทำนายว่าแดนหมีขาวกำลังจะต้องเผชิญภาวะโลกาวินาศนั้น บกพร่องล้มเหลวไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเพียงพอเกี่ยวกับคุณสมบัติพิเศษเฉพาะต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจรัสเซีย
รัฐบาลรัสเซียนั้นมีการเตรียมตัวและการวางแผนสำหรับสงครามครั้งนี้ [36] มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว และมีการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับการถูกแซงก์ชัน รวมทั้งการทำงานซิกแซ็กข้ามและลอดมาตรการแซงก์ชันต่างๆ ตั้งแต่ตอนที่ฝ่ายตะวันตกประกาศลงโทษคว่ำบาตรรัสเซียภายหลังแดนหมีขาวเข้าผนวกแหลมไครเมียเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนเมื่อปี 2014 แล้ว
ก่อนหน้านั้นไปอีก ในยุคทศวรรษ 1990 ซึ่งแดนหมีขาวเผชิญภาวะสุดสับสนอลหม่านทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ระยะเวลาดังกล่าวได้สอนภาคธุรกิจรัสเซีย ตลอดจนผู้บริโภคและคนงานรัสเซียให้มีความคล่องแคล่วสามารถปรับตัวเข้ากับภาวะช็อกรูปแบบต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นมา [37] – เป็นต้นว่า อัตราเงินเฟ้อสูงลิบลิ่วที่กวาดเอาเงินออมของผู้คนจำนวนมากให้สูญสิ้นไปอย่างรวดเร็ว หรือพฤติการณ์ของพวกนักไล่ล่าซื้อหากิจการราคาถูก ตลอดจนพวกตำรวจภาษี ซึ่งเที่ยวโจรกรรมปล้นชิงธุรกิจต่างๆ ผู้คนจำนวนมากจึงมีบทสรุปว่าควรต้องคาดหมายสิ่งเลวร้ายที่สุดเอาไว้ก่อน และเตรียมตัวพร้อมรับมือกับมัน กล่าวโดยองค์รวมแล้ว พวกเขาจึงทั้งมีความหยุ่นตัวสูงในการเผชิญกับความท้าทายต่างๆ และยอมรับที่จะมีความคาดหมายให้ต่ำๆ เข้าไว้
ตลาดแรงงานของรัสเซีย [38]โดยทั่วไปแล้ว สามารถดูดซับภาวะช็อกต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นมา ไม่ใช่ด้วยการที่พวกบริษัทไล่คนงานออกจากงาน แต่โดยวิธีจ่ายค่าแรงให้พวกเขาน้อยลงจนกว่าสิ่งต่างๆ จะกลับกระเตื้องขึ้น นอกจากนั้น ประมาณ 15% ของกำลังแรงงานจะเป็นพวกผู้อพยพ [39] ส่วนใหญ่จากทางเอเชียกลาง –และคนเหล่านี้สามารถที่จะถูกไล่ออกจากงานและส่งกลับบ้านไป จากนั้นก็ว่าจ้างกลับเข้ามาใหม่เมื่อต้องการ
4.ทั้งพวกนายทุนทรงอิทธิพลและพวกผู้วางนโยบายยังคงมีความจงรักภักดี
หนึ่งในข้อสมมติฐานทางการเมืองข้อหลักๆ ที่เป็นตัวสร้างแรงบันดาลใจให้มีการจัดวางยุทธศาสตร์การแซงก์ชันเช่นนี้ขึ้นมาตั้งแต่แรกเลยนั้น ปรากฏว่ากลายเป็นข้อสมมติฐานที่ผิดพลาดไม่ตรงความเป็นจริง
ทฤษฎีที่เชื่อถือกันและทำให้คิดสร้างมาตรการแซงก์ชันเช่นนี้ขึ้นมา ระบุว่าการลงโทษคว่ำบาตรจะสร้างความเสียหายให้แก่พวก “ออลิการ์ช” (oligarch พวกนายทุนทรงอิทธิพลทางการเมืองในสังคมรัสเซียยุคปัจจุบัน) [40] ทั้งในรูปของการสูญเสียเงินทองผลประโยชน์เป็นสิบๆ ล้านดอลลาร์ ตลอดจนการถูกตัดขาดไม่อาจเข้าถึงความหรูหราฟุ่มเฟือยในโลกตะวันตก ดังนั้น คนเหล่านี้จะโน้มน้าว ปูติน ให้ยอมเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเหล่าออลิการ์ช
ครับ ผมเองเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งที่ว่า รัสเซียนั้นถึงยังไงก็เป็นระบอบเผด็จการ [41] แต่ไม่ใช่เป็นระบอบโจราธิปไตย (kleptocracy) [42] และปูตินนั้นให้คุณค่าแก่อำนาจแห่งชาติเหนือกว่าความร่ำรวยส่วนบุคคล พวกออลิการ์ชอาจจะสูญเสียความมั่งคั่งร่ำรวยสุทธิของพวกตนไปราวครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้น [43] แต่ก็แทบไม่มีรายใดเลยที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สงครามครั้งนี้อย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน [44] พวกเขาต่างทราบดีว่าการท้าทาย ปูติน อย่างน้อยที่สุดมันย่อมจะหมายถึงการที่พวกเขาต้องสูญเสียธุรกิจของพวกเขาในรัสเซีย
เวลาเดียวกัน พวกนักเศรษฐศาสตร์ “เสรีนิยม” ที่กำลังเป็นผู้บริหารธนาคารกลาง [45] และกระทรวงการคลัง –พวกที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือรัสเซียให้สามารถยืนหยัดต่อสู้กับการแซงก์ชัน— ยังคงมีความจงรักภักดี อย่างที่หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ [46] พูดเอาไว้นั่นแหละ “พวกเทคโนแครตของ ปูติน รักษาเศรษฐกิจรัสเซียให้อยู่รอดปลอดภัย จนยังคงมีความสามารถในการสู้รบทำสงคราม ซึ่งอันที่จริงแล้วพวกเทคโนแครตเหล่านี้คัดค้านสงครามดังกล่าวนี้”
ผู้สังเกตการณ์บางรายตั้งความหวัง [47] เอาไว้ว่า การแซงก์ชันจะเป็นสาเหตุทำให้สามัญชนชาวรัสเซียลุกฮือขึ้นมาประท้วงต่อต้าน แต่สิ่งนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมา มีการประท้วงอยู่เหมือนกัน แต่พวกเขามีจำนวนน้อยเมื่อเผชิญหน้าการปราบปรามของตำรวจ โดยที่มีคนถูกจับกุมตัวไปแล้วมากกว่า 19,500 คน [48] และมีผู้นำบางคนถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 8 ปี
วิธีการตอบโต้หลักๆ ซึ่งพวกที่คัดค้านสงครามคราวนี้เลือกที่จะกระทำ จึงได้แก่การเดินทางออกไปนอกประเทศ โดยที่เวลานี้มีผู้คนราว 500,000 คนเดินทางออกไปแล้ว รวมทั้งพวกคนทำงานด้านเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก --ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะส่งผลทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัสเซียต้องประสบปัญหาชะงักงัน [49]
ความหวังของการใช้มาตรการแซงก์ชัน
ขณะที่สงครามครั้งนี้ย่างเข้าสู่ขวบปีที่สอง มีเหตุผลอยู่หลายประการที่จะเชื่อได้ว่า สถานการณ์เช่นนี้อาจจะเกิดความเปลี่ยนแปลง
เป็นสิ่งสำคัญที่ควรชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลรัสเซียนั้นได้ยุติการเผยแพร่ข้อมูลสถิติทางเศรษฐกิจไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ [50] และดังนั้นข้อมูลทั้งหมดจึงจะต้องนำมาใช้ด้วยความระมัดระวัง [51] โดยที่มีความเป็นไปได้ว่า ความเป็นจริงนั้นอาจเลวร้ายยิ่งกว่าที่ข้อมูลบ่งชี้นักหนา
เวลาเดียวกัน เส้นชีวิตด้านพลังงานของ ปูติน อาจจะกำลังหมดกำลังและแห้งเหือดลงทุกขณะก็เป็นได้ จากการที่ยอดสั่งซื้อของยุโรปมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างฮวบฮาบ [52] ในปี 2023 ยิ่งกว่านั้นเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2022 สหภาพยุโรปได้ประกาศมาตรการที่มุ่งควบคุมราคาน้ำมันดิบของรัสเซียเอาไว้ไม่ให้เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล [53] โดยใช้วิธีสกัดกั้นไม่ให้พวกเรือบรรทุกน้ำมันที่ขนส่งน้ำมันซึ่งซื้อหามาด้วยราคาสูงกว่าระดับดังกล่าว สามารถทำประกันภัยการขนส่งได้ ทั้งนี้ การควบคุมราคาสูงสุดของผลิตภัณฑ์น้ำมันรัสเซียเช่นนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป
เวลานี้งบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลกลางรัสเซีย กำลังตกอยู่ใต้แรงบีบคั้นอย่างรุนแรงยิ่งอยู่แล้ว ในปี 2022 รัสเซียประสบภาวะขาดดุลงบประมาณเป็นจำนวน 47,000 ล้านดอลลาร์ [54] โดยหาเงินมาชดเชยส่วนที่ขาดนี้จากกองทุนสวัสดิการแห่งชาติ (National Welfare Fund) [55] แต่เงินของกองทุนนี้ ซึ่งยังมีเหลืออยู่ 187,000 ล้านดอลลาร์ ณ ช่วงสิ้นปี 2022 นั้นกำลังร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว
ในเดือนมกราคม 2023 การที่รายรับจากน้ำมันและก๊าซได้ลดต่ำลงอย่างแรง ทำให้รัสเซียปรสบภาวะการขาดดุลเป็นจำนวน 38,000 ล้านดอลลาร์ [56] ในระยะเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนมกราคมอาจจะถือเป็นเรื่องผิดปกติ แต่ถ้าหากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปแล้ว รัฐบาลรัสเซียก็จะพบว่าตนประสบความยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ ในการหาเงินทองมาจับจ่ายเพื่อการทำสงคราม
แต่สำหรับเวลานี้ มันชัดเจนว่าการแซงก์ชันไม่ได้ทำให้การกุมอำนาจของ ปูติน หละหลวมหย่อนยานลงไปเลย เช่นเดียวกับที่ไม่ได้ลดทอนความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว –และศักยภาพ— ของเขา ในการเดินหน้าทำสงครามในยูเครนต่อไป
ปีเตอร์ รัตแลนด์ เป็นศาสตราจารย์วิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวสลีอัน (Wesleyan University) เมืองมิดเดิลทาวน์ รัฐคอนเนทิคัต สหรัฐอเมริกา
(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ เดอะ คอนเวอร์เซชั่น https://theconversation.com/ โดยสามารถติดตามอ่านข้อเขียนดั้งเดิมชิ้นนี้ได้ที่ https://theconversation.com/how-putin-has-shrugged-off-unprecedented-economic-sanctions-over-russias-war-in-ukraine-for-now-199718)
เชิงอรรถ
[1] https://www.reuters.com/graphics/UKRAINE-CRISIS/SANCTIONS/byvrjenzmve/
[2] https://www.piie.com/blogs/realtime-economics/russias-war-ukraine-sanctions-timeline
[3] https://www.nytimes.com/2022/04/01/opinion/ezra-klein-podcast-nicholas-mulder.html
[4] https://www.washingtonpost.com/us-policy/2022/06/30/russia-oligarch-elite-treasury/
[5] https://energyindustryreview.com/oil-gas/eu-embargo-on-russian-oil-implications-and-consequences/
[6] https://leave-russia.org/about-project
[7] https://www.csis.org/analysis/deterrence-first-applying-lessons-sanctions-russia-china
[8] https://www.iif.com/Portals/0/Files/content/IIF20220323_MN.pdf
[9] https://theconversation.com/russian-rubles-recovery-masks-disruptive-impact-of-wests-sanctions-but-it-wont-make-putin-seek-peace-181120
[10] https://www.economist.com/leaders/2022/08/25/are-sanctions-working
[11] https://www.wsj.com/articles/russias-central-bank-warns-of-rate-rises-if-war-fuels-inflation-eec36e42
[12]https://www.theguardian.com/commentisfree/2022/oct/26/sanctions-russia-war-ukraine-putin-oligarchs
[13] https://doi.org/10.2139/ssrn.4167193
[14] https://www.martenscentre.eu/publication/beyond-the-headlines-the-real-impact-of-western-sanctions-on-russia/
[15] https://istories.media/opinions/2022/08/30/ne-letaite-rossiiskimi-samoletami/
[16] https://www.autonews.ru/news/6242e8749a79476479353aa5
[17] https://www.ft.com/content/42b53987-8280-469e-8014-9ddb0c98463b
[18] https://www.ft.com/content/42b53987-8280-469e-8014-9ddb0c98463b
[19] https://au.fashionunited.com/news/retail/russian-shopping-centers-may-replace-western-brands-with-turkish-and-chinese-ones/2022030818283
[20] https://www.npr.org/2023/02/19/1153430731/ukraine-russia-war-one-year-anniversary-how-will-it-end
[21] https://www.reuters.com/world/europe/russias-partial-mobilisation-will-see-300000-drafted-defence-minister-2022-09-21/
[22] https://www.reuters.com/world/europe/kyivs-mayor-says-blasts-hit-kyivs-desnianskiy-district-emergency-services-site-2023-01-01/
[23] https://thebell.io/en/rising-oil-dependency/
[24] https://energyandcleanair.org/publication/russian-fossil-exports-first-100-days
[25] https://oilprice.com/
[26] https://tradingeconomics.com/commodity/eu-natural-gas
[27] https://www.dw.com/ru/eksport-nefti-iz-rf-po-moru-v-dekabre-rezko-sokratilsa/a-64169674
[28] https://www.ft.com/content/8a5f4681-9592-469f-b223-a939dcbbf3f3
[29] https://www.4freerussia.org/wp-content/uploads/sites/3/2023/01/frf-sanctions-web.pdf
[30] https://www.castellum.ai/insights/russia-is-now-the-worlds-most-sanctioned-country
[31] https://www.ng.ru/itog/2022-12-24/02_8623_02.html
[32] https://www.ponarseurasia.org/why-the-west-is-losing-the-global-information-war-over-ukraine-and-how-it-can-be-fixed
[33] https://www.wsj.com/articles/russian-economic-optimism-is-based-on-suspect-data-11662111002
[34] https://www.wsj.com/articles/russias-ukraine-war-effort-fueled-by-turkish-exports-11675447477?mod=article_inline
[35] https://energyandcleanair.org/weekly-snapshot-russian-fossil-fuel-exports-26-december-2022-to-01-january-2023/
[36] https://www.newyorker.com/news/daily-comment/putins-preparation-for-ukraine
[37] https://intellinews.com/long-read-is-russia-s-economy-headed-for-economic-oblivion-as-a-report-from-yale-says-252508/
[38] https://russiapost.info/society/cart_creaking
[39] https://finexpertiza.ru/press-service/researches/2022/trud-migr-max/
[40] https://www.cnn.com/2022/01/31/politics/us-russian-elite-sanctions/index.html
[41] https://global.oup.com/academic/product/the-code-of-putinism-9780190867324?cc=us&lang=en&
[42] https://www.simonandschuster.com/books/Putins-Kleptocracy/Karen-Dawisha/9781476795201
[43] https://www.theguardian.com/world/2022/dec/30/russian-oligarchs-lose-95bn-in-2022-amid-sanctions-after-ukraine-war
[44] https://www.washingtonpost.com/world/2022/04/29/russia-oligarchs-ukraine-invasion-dissent/
[45] https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-07-30/meet-the-russian-architect-of-putin-s-economic-counterattack
[46] https://www.ft.com/content/fe5fe0ed-e5d4-474e-bb5a-10c9657285d2
[47] https://theconversation.com/economic-sanctions-may-deal-fatal-blow-to-russias-already-weak-domestic-opposition-178274
[48] https://ovdinfo.org/
[49] https://www.bruegel.org/policy-brief/how-have-sanctions-impacted-russia
[50] https://carnegieendowment.org/eurasiainsight/87404
[51] https://www.state.gov/disarming-disinformation/fact-vs-fiction-kremlin-disinformation-about-international-sanctions/
[52] https://www.cnbc.com/2023/02/16/sanctions-on-russian-oil-are-having-the-intended-effect-iea-says.html
[53] https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/?uri=uriserv%3AOJ.LI.2022.311.01.0001.01.ENG&toc=OJ%3AL%3A2022%3A311I%3ATOC
[54] http://government.ru/news/47509/
[55] https://www.reuters.com/markets/europe/russias-national-wealth-fund-148-bln-jan-1-finance-ministry-2023-01-18/
[56] https://www.rferl.org/a/russia-national-wealth-fund-38-billion-deficit/32229281.html