xs
xsm
sm
md
lg

หรือนอร์เวย์ ‘ไถ่โทษ’ สำหรับการร่วมก่อวินาศกรรมสายท่อส่งก๊าซนอร์ดสตรีม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร ***


ภาพถ่ายโดยเครื่องบินของหน่วยยามฝั่งสวีเดน ซึ่งนำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2022 แสดงให้เห็นก๊าซที่ผุดขึ้นมาจากรอยรั่วบนสายท่อส่งก๊าซ “นอร์ด สตรีม 1” ภายหลังเกิดการระเบิดในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะของสวีเดน ในทะเลบอลติก
Norway’s atonement for Nord Stream sabotage
BY M. K. BHADRAKUMAR
17/02/2023

เราได้เห็นอะไรบ้างหลังจากภารกิจก่อวินาศกรรมวางระเบิดสายท่อส่งก๊าซ “นอร์ด สตรีม” สำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้ว? นอร์เวย์สามารถเข้าแทนที่รัสเซียในการเป็นแหล่งที่มาแหล่งหลักของก๊าซธรรมชาติส่งมาตามสายท่อไปยังเยอรมนี ประมาณการกันว่านับถึงเวลานี้ “การปล้น” คราวนี้มีมูลค่าสูงเกินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว

การพบปะหารือของบรรดารัฐมนตรีกลาโหม แห่งกลุ่มติดต่อเพื่อการป้องกันยูเครน (Ukraine Defence Contact Group) ของเพนตากอน (กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ) ในฟอร์แมต “รัมสไตน์” (Ramstein) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประสบความล้มเหลวโดยไม่สามารถออกประกาศข่าวใหญ่ใดๆ เกี่ยวกับการจัดส่งอาวุธเพื่อการรุกไปให้แก่ทางการเคียฟ
(รัมสไตน์ คือฐานทัพอากาศรัมสไตน์ ของกองทัพสหรัฐฯ ในเยอรมนี สหรัฐฯ ใช้สถานที่แห่งนี้จัดการประชุมระหว่างประเทศ ซึ่งมีทั้งพวกสมาชิกองค์การนาโต้ และพวกที่อยู่นอกนาโต้เข้าร่วม ที่เรียกชื่อกันว่า กลุ่มติดต่อเพื่อการป้องกันยูเครน เพื่อหารือเรื่องการช่วยเหลือสนับสนุนยูเครนในการต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย โดยการประชุมครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2022 จากนั้นก็มีประชุมกันอีกเกือบจะเดือนละครั้ง มีทั้งที่ประชุมแบบเจอะเจอพบหน้ากัน และแบบเสมือนจริง มีทั้งที่ประชุมกัน ณ รัมสไตน์ และที่องค์การนาโต้ ในกรุงบรัสเซลส์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/2022_Ramstein_Air_Base_meeting -ผู้แปล)

แต่เป็นที่คาดหมายกันว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ จะเดินทางไปโปแลนด์ในต้นสัปดาห์นี้ รวมทั้งอาจจะมีการพบปะหารือแบบเจอะเจอกันตัวเป็นๆ กับประธานาธิบดีวลาดีมีร์ เซเลนสกี อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ บางที ไบเดน อาจจะมีเจตนาสร้างข่าวใหญ่เกรียวกราวขึ้นมาก่อนที่เขาจะประกาศลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยหนึ่งในปี 2024 ก็เป็นได้
(ไบเดนเดินทางจากโปแลนด์ด้วยรถไฟ ไปเยือนกรุงเคียฟเป็นเวลา 5 ชั่วโมง รวมทั้งพบปะกับเซเลนสกี เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ก.พ. จากนั้นกลับมาเยือนโปแลนด์ต่ออีก 2 วัน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://apnews.com/article/russia-ukraine-zelenskyy-biden-f00af220669457d5ba07127c7e57a27b - ผู้แปล)

คณะบริหารไบเดนนั้นวาดหวังที่จะผลักดันเยอรมนีให้ย่างเท้าเข้าสู่แนวรบของสงครามยูเครนเพิ่มมากขึ้นอีก ทว่าการหารือในบรัสเซลส์คราวนี้จบลงโดยยังคงไร้ข้อสรุปที่ชัดเจน จากนั้นในการจัดประชุมแถลงข่าวภายหลังการหารือ โดยมีรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน เป็นตัวชูโรง บรรยากาศก็เป็นไปอย่างว่างเปล่า ทีบๆ ทึมๆ ปราศจากเนื้อหา

ท่ามกลางฉากหลังที่มืดมนเช่นนี้ ทั้งหมดที่เลขาธิการนาโต้ เยนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) สามารถจะพูดออกมาได้ก็คือว่า การจัดส่งเครื่องบินทหารให้แก่ยูเครนเป็นเรื่องที่กำลังหารือกันอยู่ แต่นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนอะไรอยู่แล้ว ตามถ้อยคำของเขา การสู้รบขัดแย้งในปัจจุบันคือเรื่องการ “การต่อสู้ในด้านการส่งกำลังบำรุง” และเครื่องกระสุน ดังนั้น ทางกลุ่มพันธมิตรนาโต้ไม่จำเป็นอะไรนักหรอกที่จะต้องจัดหาอาวุธใหม่ๆ ให้แก่ยูเครน แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือการทำให้แน่ใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่จัดส่งให้เรียบร้อยแล้วนั้นใช้การได้ทำงานได้ สโตนเตนเบิร์กย้ำเน้นถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดส่งอาวุธให้แก่เคียฟตามที่ประเทศต่างๆ ให้สัญญิงสัญญาเอาไว้ โดยเฉพาะยานรบทหารราบ “มาร์เดอร์” (Marder infantry fighting vehicle) ของเยอรมนี ยานรบทหารราบ “แบรดลีย์” (Bradley) ของอเมริกัน เช่นเดียวกับรถถังหลัก “ลีโอพาร์ด 2” (Leopard 2) ของเยอรมนี

ข่าวใหญ่ที่สุดเพียงข่าวเดียวที่ประกาศโดยรัฐมนตรีกลาโหมออสติน เมื่อวันอังคาร (14 ก.พ.) ก็คือเรื่องการตัดสินใจของรัฐบาลนอร์เวย์ที่ว่า พวกเขาจะจัดหาความช่วยเหลือทั้งทางทหารและพลเรือนมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครน ในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้านี้ ออสตินเรียกมันว่าเป็น “คำมั่นสัญญาที่สำคัญมาก”
(การประกาศของนอร์เวย์ ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.regjeringen.no/en/aktuelt/broad-political-agreement-on-multi-year-support-programme-for-ukraine/id2963374/)

ออสตินเสแสร้งทำเป็นว่าเขาไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า ทำไมนอร์เวย์จึงกำลังแสดงท่าทีแบบยิ่งใหญ่ถึงขนาดนี้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมันเป็นพฤติการณ์น่าสังเวชของความต้องการที่จะไถ่โทษสำหรับการทำลายสายท่อส่งก๊าซ “นอร์ด สตรีม” เท่านั้น ตรงนี้มันมีเรื่องราวซุกซ่อนอยู่ที่ควรจะได้กล่าวถึง

แน่นอนล่ะ การประชุมในสไตล์รัมสไตน์ครั้งนี้ ไม่ได้มีการหารือถึงเรื่องการวางระเบิดก่อวินาศกรรมที่เพิ่งรายงานออกมาโดย ซีย์มอร์ เฮิร์ช (Seymour Hersh) นักหนังสือพิมพ์แนวสืบสวนสอบสวนที่มีประวัติผลงานในการเปิดโปงเรื่องใหญ่ๆ มาแล้วจำนวนมาก โดยในครั้งนี้ เฮิร์ช รายงานถึงวิธีการที่สหรัฐฯ ทำให้สายท่อก๊าซนอร์ด สตรีม ของเยอรมนีกลายเป็นเพียง “เศษโลหะชิ้นใหญ่จมอยู่ก้นทะเล” –ถ้าหากเราจะหยิบยืมเอาคำพูดที่กลายเป็นอมตะไปแล้วของ วิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ปลัดกระทรวงการต่างประเทาศสหรัฐฯ มาใช้ –ขณะที่การสู้รบขัดแย้งในยูเครนกำลังดำเนินอยู่อย่างดุเดือด
(รายงานเรื่องนี้ของ ซีย์มอร์ เฮิร์ช ดูได้ที่ https://seymourhersh.substack.com/p/how-america-took-out-the-nord-stream)
(วิกตอเรีย นูแลนด์ พูดอย่างยินดีปรีดาต่อข่าว “นอร์ด สตรีม” ถูกวางระเบิดเช่นนี้ระหว่างไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2023 ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.rt.com/news/570572-nuland-celebrates-nord-stream-blast/)

ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวของ เฮิร์ช การวินาศกรรมสายท่อส่งก๊าซคราวนี้เป็นการตัดสินใจตรงมาจากประธานาธิบดีไบเดนทีเดียว และตลอดระยะเวลาประมาณ 9 เดือน ต่อจากนั้น ก็มีการอภิปรายกันแบบลับสุดยอดภายในคณะบริหารสหรัฐฯ ติดตามมา ในเรื่องที่ว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายนี้โดยไม่ให้ถูกจับได้

รายงานของ เฮิร์ช นี้ซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยังเขียนเปิดโปงเอาไว้ว่า กองทัพเรือนอร์เวย์นั่นแหละซึ่งในท้ายที่สุดแล้วเป็นผู้ค้นพบตำแหน่งสำหรับการวางระเบิดสายท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 1 และ นอร์ด สตรีม 2 ที่จะสามารถสร้างความเสียหายได้สูงสุด จากนั้นในวันที่ 26 กันยายน 2022 เครื่องบินตรวจการณ์แบบ P8 ของกองทัพเรือนอร์เวย์ ยังเป็นผู้ที่ทิ้งทุ่นลอยโซนาร์ (sonar buoy) ลูกหนึ่งลงไปในทะเล ในเที่ยวบินซึ่งทำเหมือนกับเป็นเที่ยวบินตามกิจวัตรปกติ ทุ่นลอยโซนาร์ลูกนี้เองคือตัวจุดชนวนระเบิด C4 อานุภาพร้ายแรงที่ได้ถูกวางเอาไว้บนสายท่อส่งก่อนหน้านั้นแล้ว

เฮิร์ช ยังได้อธิบายเพิ่มเติมกับหนังสือพิมพ์ของเยอรมนี แบร์ลิเนอร์ ไซตุง (Berliner Zeitung) ในเวลาต่อมาว่า นอร์เวย์นั้นให้ความสนใจเป็นพิเศษในการดำเนินการตามแผนการร้ายมุ่งเล่นงานสายท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม นี้ให้ประสบความสำเร็จ

ตามคำพูดของ เฮิร์ช เองนั้น เขากล่าวว่า “นอร์เวย์มีความสนใจในเรื่องการขยายรายได้ และดังนั้นจึงมีความสนใจในเรื่องการเพิ่มปริมาณการจัดส่งพลังงานของตนไปอียู เช่นเดียวกับที่ไปเยอรมนี และเราได้เห็นอะไรบ้างล่ะหลังจากภารกิจนี้เสร็จสิ้นไปแล้ว? นอร์เวย์ทำได้สำเร็จ การส่งออก (พลังงาน) ของนอร์เวย์เติบโตขยายตัว ท่ามกลางฉากหลังของความเป็นปรปักษ์อย่างสำคัญที่มีต่อรัสเซีย”

นอร์เวย์ถูกดึงดูดจากโปรเจกต์วินาศกรรมของ ไบเดน นี้ เหมือนกับแมลงวันติดใจหม้อน้ำผึ้งทีเดียว เนื่องจากพวกเขามีหวังได้รับประโยชน์อย่างสุดๆ ในทางการเงิน ถ้าหากพวกเขาช่วยเหลือฝ่ายทหารสหรัฐฯ ทำลายสายท่อส่งนอร์ด สตรีม ในช่วงที่อยู่ใกล้ๆ น่านน้ำของเดนมาร์ก และเข้าแทนที่รัสเซีย ในฐานะเป็นแหล่งที่มาแหล่งหลักของก๊าซธรรมชาติส่งมาตามสายท่อไปเยอรมนี

แน่นอนอยู่แล้ว นอร์เวย์ประสบความสำเร็จทางการเงินอย่างมโหฬาร ประมาณการกันว่านับถึงเวลานี้การปล้นคราวนี้มีมูลค่าสูงเกินกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ไปแล้ว! ทั้งนี้ นอร์เวย์กลายเป็นผู้ส่งออกก๊าซถึง 33% ของที่เยอรมนีจำเป็นต้องใช้ในปี 2022 ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่ที่สุด

พวกผู้เชี่ยวชาญประมาณการว่า “ฐานะของนอร์เวย์ในการเป็นผู้จัดส่งพลังงานรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งให้แก่เยอรมนี ยังทำท่าจะเพิ่มความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีกในช่วงเวลาหลายๆ ปีต่อจากนี้ไป โดยรวมไปถึงก๊าซและน้ำมันจากแหล่งน้ำมันใหม่ๆ ในแถบอาร์กติกซึ่งกำลังลำเลียงมาตามสายท่อส่งกันแล้ว นอกจากนั้น ยังมีการค้นพบแหล่งใหม่ๆ เหนือบริเวณวงกลมอาร์กติกเซอร์เคิล ... ผลผลิตที่เพิ่มพูนขึ้นมาจากเหนือวงกลมอาร์ติกเซอร์เคิล กำลังออกมาจากแหล่งอีร์พา (Irpa field) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองโบเดอ (Bodø) ไปทางตะวันตกราวๆ 340 กิโลเมตร โดยมีกำหนดเข้าสู่สายท่อส่งได้ในปี 2026 เช่นเดียวกับการค้นพบแหล่งใหม่ๆ ในทะเลแบเร็นต์ส รวมทั้งแหล่งหนึ่งที่เพิ่งพบในปี 2022 บริเวณติดต่อกับแหล่งโกเลียต (Goliat) ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการประคองรักษาการผลิตให้อยู่ในระดับสูงสุดได้ต่อไป
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.highnorthnews.com/en/norway-now-germanys-largest-gas-supplier-future-supply-arctic-support-exports)

“จากการที่เยอรมนีอยู่ในสภาพตัดขาดไม่ได้เชื่อมโยงกับก๊าซจากสายท่อส่งของรัสเซียไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว ประตูสำหรับนอร์เวย์ในการขยายส่วนแบ่งตลาดของตนให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้นไปอีก และในการสถาปนาตนเองให้กลายเป็นผู้จัดส่งก๊าซรายสำคัญที่สุดให้แก่เยอรมนีจึงยังคงเปิดกว้าง”

สิ่งที่ดูย้อนแย้งมากก็คือว่า ณ การประชุมแถลงข่าวร่วมกันกับนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วนั้น นายกรัฐมนตรี โจนาส การ์ สเตอร์ (Jonas Gahr Støre) ของนอร์เวย์ได้กล่าวอวดอ้างว่า “นอร์เวย์จะดำเนินการจัดส่งก๊าซแก่เยอรมนีให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้” แน่นอนล่ะ สิ่งที่เขาไม่ได้แจ้งแก่ ชอลซ์ ก็คือว่า นอร์เวย์กำลังจะลงมือดำเนินโปรเจกต์ที่จะเปลี่ยนแปลงเยอรมนี ผู้เป็นลูกค้าซื้อหาก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในยุโรป ให้กลายเป็นตลาดที่ต้องตกเป็นเชลยของนอร์เวย์ไปในเร็ววัน อันที่จริงแล้ว นอร์เวย์ได้ระเบิดสายท่อส่งนอร์ด สตรีม หลังจากนั้นเพียงแค่ 1 เดือน นั่นคือในวันที่ 22 กันยายน

นอร์เวย์เวลานี้กำลังพยายามขัดสีฉวีวรรณภาพลักษณ์ของตนเองให้อยู่ในฐานะของประเทศร่ำรวยผู้มีศักยภาพที่จะเอื้อเฟื้อเจือจานแสดงออกซึ่งความเมตตากรุณาของมนุษย์ ด้วยการตัดแบ่งเงินทองก้อนโตอย่างใจดีจำนวน 7,500 ล้านยูโร (ออกมาจากกองเงินกองทอง 100,000 ล้านดอลลาร์ที่ปล้นสะดมมาได้จากชาวเยอรมัน) มาบริจาคให้แก่ยูเครน และรัฐมนตรีกลาโหม ออสติน ของสหรัฐฯ ก็รีบประกาศว่า นี่คือการแสดงออกซึ่งท่าทีอันยิ่งใหญ่ในการยังความพ่ายแพ้ให้แก่ “การรุกราน” ของรัสเซีย”!

ละครใบ้เอออวยกันเองอย่างแสนสกปรกเลวทรามเรื่องนี้ ทำให้เราต้องตกตะลึงอ้าปากค้างอย่างไม่อยากจะเชื่อว่าจะมีผู้กระทำขึ้นมาได้ และเราย่อมต้องรู้สึกสงสารประเทศชาติของชาวเยอรมัน ซึ่งต้องผ่านพ้นระยะเวลาแห่งความอลหม่านครึกโครมนี้ในสภาพที่กุมบังเหียนโดยรัฐบาลที่ไร้ประสบการณ์ และอุดมไปด้วยพวกนักการเมืองซึ่งน่าสงสัยเคลือบแคลงใจ ผู้ไม่กล้าเข้าพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์แกนหลักของประเทศชาติตนเองจากการถูกข่มเหงรังแกโดยพวกอเมริกัน

รัฐมนตรีต่างประเทศ เซียร์เก ลาฟรอฟ ของรัสเซีย เจาะเข้าประเด็นตรงเผ็งทีเดียว ตอนที่เขาพูดอย่างยาวๆ เป็นครั้งแรกเกี่ยวกับสายท่อส่งนอร์ด สตรีม และรายงานข่าวของซีย์มอร์ เฮิร์ช ในระหว่างการประชุมหารือเชิงปฏิบัติการเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ กับพวกหัวหน้าของสำนักสื่อมวลชนของต่างประเทศที่ได้รับการรับรองในรัสเซีย ลาฟรอฟพูดเอาไว้ ดังนี้ :

“เป้าหมายสำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เยอรมนีรู้สึกสบายอกสบายใจเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน และรู้สึกสบายอกสบายใจจากการที่สามารถได้รับก๊าซโดยผ่านสายท่อส่ง 2 สายเหล่านี้ ซึ่งออกเงินทุนโดยพวกบริษัทในรัสเซีย เยอรมนี ออสเตรีย และอิตาลี ... เยอรมนีไม่ใช่เพียงแค่ถูกดูหมิ่นเหยียดหยามเฉยๆ เท่านั้น หากแต่พวกเขายังถูกบรรจุเอาไว้ในตำแหน่งแห่งที่ซึ่งมีฐานะเป็นเพียงบริวารรายหนึ่งของสหรัฐฯ เท่านั้นอีกด้วย ...”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mid.ru/en/foreign_policy/news/1854408/)

นอร์เวย์นั้นไม่ได้รู้สึกใจเสาะจนกระทั่งต้องยินยอมนำเอาส่วนน้อยนิดที่พวกเขาปล้นชิงได้จากเยอรมนีออกมาบริจาคหรอก ถึงแม้เยอรมนีก็เป็นหุ้นส่วนนาโต้รายหนึ่ง บางทีนอร์เวย์อาจจะรู้สึกเหมือนกับต้องการแสดงออกซึ่งพฤติการณ์ไถ่โทษสำหรับอาชญากรรมอันชั่วร้ายอำมหิตที่เที่ยวก่อกรรมทำเข็ญเอากับเพื่อนบ้านและพันธมิตรรายหนึ่ง หรือไม่บางทีอาจจะเป็นทีมไบเดนนั่นแหละ เป็นผู้รบเร้านอร์เวย์ให้ขัดสีฉวีวรรณเครดิตความน่าเชื่อถือของตนด้วยการทำตัวเป็นผู้มีจิตใจเมตตากรุณา แล้ว ออสติน ก็สามารถหยิบยกขึ้นมายกย่องสรรเสริญว่า นี่เป็นผลลัพธ์อันหนักแน่นที่ออกมาจากการประชุมสไตล์รัมสไตน์ ณ กรุงบรัสเซลส์

เอ็ม.เค.ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline)

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) ดูต้นฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ https://www.indianpunchline.com/norways-atonement-for-nord-stream-sabotage/



กำลังโหลดความคิดเห็น