(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Breaking Russia? More like breaking ourselves
By BRANDON J WEICHERT
11/02/2023
วอชิงตันทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ในการให้ความสนับสนุนยูเครนในสงครามรัสเซีย-ยูเครนเวลานี้ ด้วยความวาดหวังว่า นี่คือทางเลือก “ราคาถูก” สำหรับที่ฝ่ายตะวันตกจะยุติภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ของ วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งมีต่อสหรัฐฯ และต่อพวกชาติหุ้นส่วนนาโต้ของสหรัฐฯ
“เรากำลังจะทำให้ชาวรัสเซียต้องหลั่งเลือดในสนามรบ!” นั่นเป็นสิ่งที่นายทหารอากาศสหรัฐฯ ระดับอาวุโสผู้หนึ่งกล่าวอ้างอย่างภาคภูมิใจ ในงานประชุมซึ่งผมกำลังขึ้นพูดงานหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว
มันเป็นคำพูดที่สมเหตุสมผลนะครับ ในขณะนั้น รัสเซียได้เข้ารุกรานอย่างผิดกฎหมายต่อยูเครน ผู้เป็นเพื่อนบ้านที่เป็นประเทศเอกราช และทั่วโลกต่างอยู่ในอาการเคว้งคว้างทำอะไรไม่ค่อยถูก จากความรู้สึกตระหนกตกใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
แต่แน่นอนล่ะครับ ผมยังคงมีข้อสงวนไม่เห็นด้วยบางประการเกี่ยวกับการกล่าวอ้างเช่นนี้
ถึงยังไงรัสเซียก็เป็นมหาอำนาจนิวเคลียร์ยิ่งใหญ่รายหนึ่ง อันที่จริงแล้วพวกเขาเป็นผู้ครอบครองคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และพวกเขากำลังรุกรานชาติๆ หนึ่งซึ่งตั้งอยู่ติดชายแดนของพวกเขาเอง ขณะที่ฝ่ายอเมริกันนั้นอยู่ทางอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทร และอีกทวีปหนึ่งห่างไกลออกไป –โดยที่สหรัฐฯ ยังมีความห่วงกังวลทางยุทธศาสตร์อย่างอื่นๆ ที่จะต้องรับมืออีกด้วย ทั้งในตะวันออกกลาง และในเอเชีย
วางเดิมพันร่วมเล่นด้วยอย่างเสี่ยงๆ ขณะกำลังเมา
เป็นเวลายาวนานเกินไปแล้วที่วอชิงตันเอาแต่ปฏิเสธไม่ยอมขบคิดในทางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับประเด็นปัญหาด้านนโยบายการต่างประเทศสำคัญๆ บางปัญหาในยุคสมัยของเรา และในกรณีที่พวกผู้วางนโยบายของวอชิงตันมีการขบคิดในทางยุทธศาสตร์ขึ้นมาจริงๆ ซึ่งต้องถือว่าเป็นเคสที่หาได้ยากยิ่งนั้น พวกยุทธศาสตร์ที่พวกเขาจัดทำขึ้นมาก็ดูไม่ค่อยจะเป็นการมุ่งประยุกต์ใช้อำนาจรัฐอย่างพยายามให้สอดคล้องกับความเป็นจริง หากแต่ดูเหมือนกับการวางเดิมพันเข้าเล่นเกมพนันซึ่งมีความเสี่ยง ในเวลาที่พวกเขาตกอยู่ใต้อิทธิพลมึนเมาหนักหน่วงของแอลกอฮอล์
การที่อเมริกันสาละวนวุ่นวายในยูเครนในปัจจุบันก็ตกอยูในข่ายดังกล่าวนี้เหมือนกัน
ฝ่ายรัสเซียเข้ารุกรานยูเครน พวกเขากำลังนำเอาทั่วทั้งสังคมของพวกเขาเข้าผูกติดพัวพันกับสงครามคราวนี้ ปีเตอร์ ไซฮาน (Peter Zeihan) นักวิเคราะห์ในแนวทางภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีผู้หนึ่ง กล่าวเอาไว้ว่า นี่คือ “สงครามครั้งสุดท้ายของรัสเซีย” พร้อมกับบอกว่าสังคมของพวกเขาจะไม่อาจมีชีวิตรอดยืนยาวไปเกินกว่าทศวรรษนี้ และระบบเศรษฐกิจตลอดจนระบบการเมืองของรัสเซียจะพังทลาย เนื่องจาก วลาดิมีร์ ปูติน บุรุษเหล็กของรัสเซีย พยายามทำอะไรใหญ่โตจนสุดเหยียดเกินกำลังไปเสียแล้วในยูเครน
(คำกล่าวของ ไซฮาน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://zeihan.com/a-ukraine-war-and-the-end-of-russia-repost/)
คำพูดทั้งหลายเหล่านี้อาจจะเป็นความจริงก็ได้ และคณะผู้นำของวอชิงตันได้ตัดสินใจที่จะทำการทดสอบสมมติฐานเหล่านี้จนกระทั่งถึงขีดจำกัดของมัน ด้วยการโยนทุกสิ่งทุกอย่างเข้าไปในการให้ความสนับสนุนยูเครน ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นแม้กระทั่งสมาชิกขององค์การนาโต้ –แม้ว่ามันมีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดสงครามโลกครั้งใหม่ขึ้นมาก็ตาม
ถ้าหากสิ่งต่างๆ ไม่ได้ดำเนินไปตามแผนการที่วางกันเอาไว้นี้ อะไรจะเกิดขึ้นมา? แล้วมันก็แน่นอนทีเดียวว่า ในสงครามนั้น แผนการต่างๆ ยากยิ่งที่จะอยู่รอดยืนยงต่อไปได้ นับตั้งแต่เกิดการปะทะครั้งแรกกับฝ่ายศัตรูขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม หลักเหตุผลที่พิจารณากันในวอชิงตัน ดูจะออกมาในลักษณะนี้ กล่าวคือ ด้วยชีวิตของชาวยูเครน และด้วยเงินดอลลาร์จากผู้เสียภาษีชาวอเมริกัน ซึ่งถือได้ว่าเป็น “ค่าใช้จ่ายระดับราคาถูก” ฝ่ายตะวันตกอาจจะสามารถยุติภัยคุกคามทางยุทธศาสตร์ของ ปูติน ที่มีต่อสหรัฐฯ และต่อพวกชาติหุ้นส่วนนาโต้ของสหรัฐฯ ได้สำเร็จ
ในระหว่างนั้น ด้วยการโปรยปรายถ้อยคำโวหารยกย่องสรรเสริญอย่างใจกว้างออกไปบ้างว่านี่คือการพิทักษ์รักษาประชาธิปไตย และเวลาเดียวกันก็คอยกล่าวหาพวกที่ข้องใจสงสัยแผนการนี้ว่ากำลังทำตัวเป็น เนวิลล์ แชมเบอร์เลนส์ (Neville Chamberlains) คนใหม่ คุณก็จะพบว่าตัวเองกำลังเข้าสู่พลวัตแห่งชัยชนะ นอกจากนั้นแล้ว แผนการเช่นนี้ไม่ได้ทำให้มีชาวอเมริกันต้องเสียชีวิต มันจึงไม่เหมือนกับในอิรัก หรืออัฟกานิสถาน นี่จึงเป็นสงครามของมหาอำนาจยิ่งใหญ่ที่ “ใสสะอาด” แห่งยุคโพสต์โมเดิร์นโดยแท้ --โดยที่ฝ่ายรัสเซียก็ไม่สามารถทำอะไรเพื่อหยุดยั้งเราได้ด้วย
(เนวิลล์ แชมเบอร์เลนส์ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามัวแต่ใช้นโยบายเอาอกเอาใจนาซีเยอรมัน ทำให้ฮิตเลอร์ได้ใจและบุกยึดครองดินแดนต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน จนกระทั่งสุดท้ายนโยบายนี้ก็ไปไม่รอด สหราชอาณาจักรต้องประกาศสงครามกับนาซีเยอรมันอยู่ดี ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Neville_Chamberlain --ผู้แปล)
นี่คือวิธีคิดที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้ แต่เพื่อนมิตรทั้งหลายครับ ผมมาอยู่ตรงนี้ก็เพื่อที่จะบอกกับพวกคุณว่า นี่คือแนวทางการวิเคราะห์ปัญหาแบบ 2 มิติชนิดเดียวกันกับที่เคยทำให้เราต้องติดหล่มจมโคลนในสงครามครั้งต่างๆ ในตะวันออกกลางที่ประสบความล้มเหลวมาแล้วตลอดระยะเวลา 20 ปีหลังมานี้นั่นแหละ ขณะที่เวลานี้อาจจะ (ยัง) ไม่มีกองทัพสหรัฐฯ ขนาดใหญ่ๆ เข้าไปอยู่ในยูเครน กระนั้นข้อเท็จจริงยังคงมีอยู่ว่า วิธีคิดแบบฝันเฟื่องชนิดเดียวกับที่ทำให้เราต้องติดหล่มอยู่ในอิรัก เวลานี้ก็กำลังวางกับดักซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ต้องติดหนึบอยู่ในสงครามที่ไม่ทางชนะได้ในยูเครน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=KtQPJuTHi4o)
ลองขบคิดพิจารณากันให้ดีนะครับ : พวกเราได้รับคำบอกเล่ากล่าวขานกันว่า โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำของยูเครนในปัจจุบันนั้นมีคุณสมบัติดีๆ เทียบเคียงได้กับ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ทีเดียว แน่นอน เซเลนสกีกำลังกระทำสิ่งต่างๆ อย่างดีที่สุดเท่าที่เขาทำได้เพื่อรักษาประเทศชาติของเขาให้ปลอดภัย และนั่นคือพฤติกรรมที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องชมเชย อย่างไรก็ดี ถึงแม้เขาทำงานได้ดีกับพวกสื่อมวลชนในโลกตะวันตก แต่เขายังมีคุณสมบัติของความเป็น เชอร์ชิล น้อยกว่าความเป็น อาเหม็ด ชาลาบี (Ahmed Chalabi) นะครับ
แบรนด์ของเรากำลังประสบความล้มเหลว
สำหรับผู้ที่จดจำไม่ได้ว่า ชาลาบี เป็นใคร ผมก็ขอให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลผู้นี้เพื่อกระตุ้นความจำนะครับ ชาลาบี คือชาวอิรักลี้ภัยไปอยู่ต่างแดนซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นคนทุจริตฉ้อฉล และได้รับการหนุนหลังจากอิหร่าน เขาวาดฝันที่จะได้เข้าแทนที่ ซัดดัม ฮุสเซน ในอิรักภายหลังจากการรุกรานที่นำโดยสหรัฐฯ แล้ว ปรากฏว่าตัวเขาและคนในก๊วนชาวอิรักลี้ภัยคนอื่นๆ ได้เข้าร่วมมืออย่างลับๆ กับพวกนักอนุรักษนิยมใหม่ (neoconservatives) ที่แวดล้อมอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช อยู่ในตอนนั้น และปรากฏว่าพวกนักอนุรักษนิยมใหม่เหล่านี้เป็นพวกที่หลอกต้มกันได้อย่างไม่ยากเย็น ดังนั้นแล้วสหรัฐฯ ก็ทำการรุกรานอิรักโดยอิงอาศัยข่าวกรองที่ขาดความน่าเชื่อถือ
(เรื่อง ชาลาบี ทุจริตฉ้อฉล ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://www.cnn.com/2004/WORLD/meast/05/21/iraq.chalabi/)
(เรื่อง ชาลาบีและพรรคพวกหลอกต้มพวกอนุรักษนิยมใหม่ที่แวดล้อมประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.salon.com/2004/05/04/chalabi_4/)
แต่แล้วภายหลังจากโค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน ลงไปได้ แผนการนี้ก็เผยให้เห็นข้อผิดพลาดจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปอีก ทั้งนี้ กลุ่มของ ชาลาบี ซึ่งใช้ชื่อว่า สมัชชาแห่งชาติชาวอิรัก (Iraqi National Congress หรือ INC) พิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าล้มเหลวไร้ความสามารถในการรวบรวมความสนับสนุนจากประชาชนชาวอิรัก ในอิรักยุคหลังจากซัดดัม รวมทั้งไม่สามารถทำตัวเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ของฝ่ายอเมริกันในอิรัก
แต่ว่าเจ้าสิ่งที่เรียกขานกันว่ายุทธศาสตร์ ซึ่งพวกอัจฉริยะแห่งวอชิงตันจัดทำขึ้นมาในตอนนั้น มันช่างแลดูมหัศจรรย์อะไรอย่างนั้น เมื่อมันยังคงอยู่บนแผ่นกระดาษ!
ก่อนการรุกรานอิรักในปี 2003 ทางฝ่ายอเมริกันเชื่อสนิทว่า พวกเขาจะสามารถกำจัดความน่ารำคาญใจไม่หยุดหย่อนที่ ซัดดัม ฮุสเซน ก่อให้เกิดขึ้นแก่ประเทศของเราจนหมดสิ้นไปได้อย่างสะดวกง่ายดาย –เนื่องจากตามปากคำของพวกลี้ภัยกระหายอำนาจเหล่านี้นั้น ซัดดัม ฮุสเซน ทั้งกำลังสร้างระเบิดนิวเคลียร์ และทั้งมีการแบ่งปันสมรรถนะเช่นนี้กับพวกอัลกออิดะห์ นอกจากนั้นแล้ว แผนการนี้ยังจะทำให้อเมริกันสามารถจัดวางกองทหารสหรัฐฯ เอาไว้ตรงบริเวณศูนย์กลางของตะวันออกกลาง เพื่อทำให้ทั่วทั้งภูมิภาคแถบนี้ “มีเสถียรภาพ” ขึ้นมาอีกด้วย
(เรื่องพวกผู้ลี้ภัยกระหายอำนาจปล่อยข่าวผิดๆ เรื่องซัดดัม ฮุสเซน ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtonpost.com/politics/2019/03/22/iraq-war-wmds-an-intelligence-failure-or-white-house-spin/)
(เรื่องความคิดที่จะมีกำลังทหารสหรัฐฯ อยู่ตรงศูนย์กลางของตะวันออกกลาง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.jstor.org/stable/48602627)
เวลาเดียวกันนั้น ฝ่ายอเมริกันก็จะสถาปนาระบอบปกครองประชาธิปไตยที่โปรอเมริกันขึ้นมาภายใต้การควบคุมของ ชาลาบี รวมทั้งจะหักกลบลบหนี้ เรียกคืนความสูญเสียทางเศรษฐกิจใดๆ ก็ตามซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้ารุกราน ด้วยการเข้าฉวยใช้หาประโยชน์จากความมั่งคั่งร่ำรวยน้ำมันอย่างมหาศาลของอิรัก ยิ่งกว่านั้น ฝ่ายอเมริกันยังจะสามารถสอดแทรกตัวเองเข้าไปอยู่ในบริเวณหัวใจของการค้าน้ำมันระดับโลก จากการเข้ายึดครองซัปพลายน้ำมันที่ดีเลิศงดงามของอิรักเอาไว้ในกำมือ
มันช่างเป็นแผนการสุดแสนจะสมบูรณ์แบบ แต่แล้วผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่ค่อยสมบูรณ์แบบอย่างที่คาดหมายกันไว้ จนแล้วจนรอดระบอบประชาธิปไตยก็ไม่ได้ผงาดขึ้นมาในอิรัก ขณะที่ความมั่งคั่งร่ำรวยจากน้ำมันก็ไม่ได้ถูกใช้เพื่อให้อเมริกาสามารถหักกลบลบหนี้ และเรียกคืนความสูญเสียทางการเงิน ทุกวันนี้ ฝ่ายอเมริกันยังต้องผละออกมาจากอิรัก และไม่ได้มีฐานะเป็นผู้นั่งอยู่เหนือการไหลเวียนของน้ำมันในทางยุทธศาสตร์ ณ ที่นั้นอีกต่อไปแล้ว
แต่จริงๆ นะ แผนการนี้มันช่างสามารถนำมาจัดทำเป็นเอกสารสมุดปกขาวที่ดูยิ่งใหญ่เอามากๆ เมื่อปี 2002
แต่แน่นอนทีเดียวว่า มันห่างไกลเหลือเกินจากการสร้างเสถียรภาพขึ้นมาในภูมิภาค การที่อเมริกาส่งกองทหารสอดแทรกเข้าไปในภูมิภาคนี้อย่างถาวร กลับกลายเป็นการเปลี่ยนพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรแห่งนี้ให้เป็นแหล่งบ่มเพาะลัทธิต่อต้านอเมริกันขึ้นมา เวลาเดียวกัน การที่สหรัฐฯ เข้าแทรกแซงในอิรักยังทำให้ภัยคุกคามของพวกอิสลามิสต์ที่มีต่อสหรัฐฯ เองยิ่งเลวร้ายหนักข้อขึ้นไปอีกเช่นกัน
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://spectator.org/america-is-losing-the-global-war-on-terrorism/)
ทุกวันนี้ กลุ่มอิสลามิสต์สุดโต่งกลุ่มต่างๆ สามารถแพร่กระจายเลยพ้นไปจากอัฟกานิสถาน และเรียกได้ว่าเข้าไปถึงส่วนต่างๆ ทุกๆ ส่วนของอาณาบริเวณมหาตะวันออกกลาง (Greater Middle East) เวลาเดียวกันนั้นการโค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน ก็กลับกลายเป็นการสร้างสุญญากาศทางอำนาจขึ้นมา ซึ่ง อิหร่าน ที่ต่อต้านอเมริกัน กำลังปรี่เข้าไปเติมเต็ม
(คำว่า “มหาตะวันออกกลาง” ถูกนำมาใช้เพื่อให้หมายถึงภูมิภาคที่เรียกกันว่า “โลกอาหรับ” บวกกับอัฟกานิสถาน อิหร่าน อิสราเอล ตุรกี และพวกประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อีกหลายๆ รายซึ่งมีความผูกพันกันในทางวัฒนธรรม ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/Greater_Middle_East -ผู้แปล)
มาถึงเวลานี้ ขณะที่เรากำลังย่างเข้าสู่วาระครบรอบ 20 ปีของการที่สหรัฐฯ รุกรานอิรัก ชนชั้นนำทางด้านนโยบายการต่างประเทศในวอชิงตันก็กำลังกระทำความผิดพลาดคล้ายๆ กับที่พวกเขาเคยทำมาแล้วย้อนหลังกลับไปในตอนนั้น –เพียงแต่ว่าคราวนี้มันเกิดขึ้นในยูเครน และเป็นการทำผิดพลาดใส่มหาอำนาจนิวเคลียร์รายสำคัญอย่างรัสเซีย
เราผูกพันตัวเราเองเอาไว้กับแผนการซึ่งไม่ได้มีทิศทางสอดคล้องความเป็นจริงเอาเลย แล้วจากนั้นเราก็บอกกับตัวเราเองว่ามันจะใช้ได้ผล แม้กระทั่งตอนที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่ามันจะไม่เป็นไปอย่างที่โฆษณากันเอาไว้
เรากำลังทำให้นาโต้พังพินาศ ไม่ใช่รัสเซียหรอกที่ล้มครืน
คราวนี้จากการออกมาตีข่าวของ ซีย์มอร์ เฮิร์ซ นักหนังสือพิมพ์แนวสืบสวนสอบสวนที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันอย่างอึงคะนึง โดยที่เขาระบุว่า สายท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม ซึ่งเชื่อมโยงก๊าซธรรมชาติรัสเซียที่มีปริมาณมากมายและราคาถูก ไปยังยุโรปโดยผ่านเยอรมนีนั้น อาจถูกสหรัฐฯ ก่อวินาศกรรมระเบิดทิ้งเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เรื่องนี้ถือเป็นองค์ประกอบใหม่เอี่ยมถอดด้ามของความวิบัติหายนะในยุโรปที่กำลังคลี่คลายออกมาให้เห็นกันอย่างช้าๆ
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://seymourhersh.substack.com/p/how-america-took-out-the-nord-stream?utm_source=substack&utm_campaign=post_embed&utm_medium=email&fbclid=IwAR3PIASJQhqiTRElUU55owL8vkXkUEQ_U5HGkhQ7neoQs2MiWXKOR2D_MWA)
วอชิงตันประกาศต่อโลกว่าพวกเขากำลังสนับสนุนยูเครน เพื่อ “สงวนรักษา” นาโต้เอาไว้ (ถึงแม้โดยข้อเท็จจริงแล้ว ยูเครนยังไม่ได้เป็นสมาชิกของนาโต้เลย) กระนั้นก็ตาม เพื่อดึงรั้งเยอรมนี –สมาชิกรายสำคัญรายหนึ่งของนาโต้— ให้ยังคงอยู่ข้างเดียวกับตนในสงครามรัสเซีย-ยูเครน วอชิงตันกำลังถูกตั้งข้อหาว่าดำเนินการโจมตีแบบลับๆ ใส่โครงสร้างพื้นฐานทางพลเรือนที่สำคัญยิ่งยวดของเยอรมนี ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องในทางลบอย่างยาวไกลต่อเศรษฐกิจเยอรมนี
ในเมื่อข่าวนี้เวลานี้ได้ถูกเปิดเผยออกไปจนทั่วแล้วเช่นนี้ วอชิงตันคิดว่าประชาชนชาวเยอรมันจะมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง?
อันที่จริงในเยอรมนีทุกวันนี้ มีกลุ่มต่อต้านนาโต้ และกลุ่มโปรรัสเซียทั้งที่มาจากพวกขวาจัดและพวกซ้ายจัดอยู่แล้ว กลุ่มเหล่านี้กำลังมีขนาดใหญ่และเติบโตยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ข่าวเรื่องนอร์ด สตรีม นี้ เมื่อผสมผสานกับสภาพทางเศรษฐกิจอันย่ำแย่ที่สงครามในยูเครนทำให้เกิดขึ้นมาแล้ว มันน่าจะนำไปสู่การสิ้นสุดของรํฐบาลโปรนาโต้ในประเทศนั้น และการผงาดขึ้นมาของรัฐบาลซึ่งจะยังความอ่อนแอให้แก่นาโต้ ยิ่งกว่าที่พฤติการณ์ซึ่งไร้ประสิทธิภาพของอเมริกาก่อให้เกิดขึ้นมาเสียอีก
ขณะที่สิ่งต่างๆ เหล่านี้อุบัติขึ้นมา รัสเซียก็ยังคงเดินหน้าลงมือจัดการกับยูเครนอย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง ทำให้ประเทศนั้นต้องหลั่งเลือดอย่างไม่หยุดหย่อนจนกระทั่งเหือดแห้ง และทำให้ผู้เสียภาษีสหรัฐฯ ต้องสูญเสียเงินทองของพวกเขาไม่ขาดสาย การที่อเมริกาเข้าแทรกแซงในยูเครนทั้งหลายทั้งปวง จวบจนถึงเวลานี้ที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จก็คือเพียงแค่บรรเทาผ่อนเพลาการโจมตีที่รัสเซียประเคนใส่ยูเครนและฝ่ายตะวันตกเท่านั้น –นี่หมายความว่าจะยังไม่มีการทำความตกลงเพื่อช่วยชาวยูเครนให้อยู่รอดปลอดภัยเกิดขึ้นมาในเร็วๆ นี้
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.washingtontimes.com/news/2023/feb/6/risk-of-uncontrolled-escalation-inches-nearer-in-u/)
กองกำลังฝ่ายรัสเซียจะอยู่ใกล้เข้ามาอีกกับบริเวณปีกตะวันออกของนาโต้ และกระทั่งมอสโกอาจตัดสินใจดำเนินการต่อต้านนาโต้ในลักษณะทำให้สถานการณ์ยิ่งบานปลายขยายตัวมากขึ้นอีกด้วย เพื่อตอบโต้ความพยายามอย่างงุ่มง่ามของนาโต้ที่อ้างว่าจะสามารถ “ทำลายกองทัพรัสเซียในสมรภูมิ”
วอชิงตันไม่ได้กำลังทำลายกองทัพรัสเซียอะไรทั้งสิ้น วอชิงตันกำลังทำลายอำนาจของตนเอง—และนาโต้—ต่างหาก จากการไล่ล่าอย่างไร้ความคิดเพื่อหมายสร้างความปราชัยให้แก่ปรปักษ์ที่เป็นมหาอำนาจยิ่งใหญ่รายหนึ่งอย่างรัสเซีย โดยที่ยังไม่ได้สู้รบอะไรจริงจังกับเขาเลย จากการกระทำเช่นนั้น มันอาจจบลงด้วยการที่สหรัฐฯ ต้องสู้รบกับรัสเซียจากฐานะซึ่งอ่อนแอลงมานักหนา เมื่อเทียบกับในตอนเริ่มต้นสงครามรัสเซีย-ยูเครน
การทำเช่นนี้มันไม่ใช่ยุทธศาสตร์ มันเป็นเรื่องการยึดถืออุดมการณ์อย่างไร้เดียงสา และมันกำลังทำให้มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดสงครามโลกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ถ้าเช่นนั้นแล้วควรจะทำอะไรกันต่อไป
สำหรับอเมริกานั้นการที่จะหลุดออกจากสถานการณ์กลืนไม่เข้าคลายไม่ออกในปัจจุบันของตน พวกเขาจะต้องยุติการยึดมั่นในพันธะกรณีที่มีอยู่กับยูเครนอย่างแน่วแน่มั่นคงไม่ยอมโอนอ่อน แล้วหันมาโฟกัสที่การเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่ปีกด้านตะวันออกที่กำลังถูกคุกคามของนาโต้ นาโต้นั้นเป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อการป้องกันระดับพหุภาคี ใม่ใช่เป็นเครื่องมือสำหรับการสำแดงอำนาจตามอำเภอใจฝ่ายเดียวของอเมริกัน
ถ้าหากวอชิงตันสามารถหวนกลับมาพิจารณานาโต้ในลักษณะเช่นนี้แล้ว ความวิบัติหายนะทางภูมิรัฐศาสตร์ก็ยังอาจจะสามารถหลีกเลี่ยงได้ วอชิงตันกับบรัสเซลส์ยังจะต้องทำงานเพื่อฟื้นฟูให้มีรูปร่างหน้าตาของการทำงานทางการทูตกับมอสโกขึ้นมาบ้าง
ถ้าหากวอชิงตันยังคงทุ่มเททั้งทรัพยากร เวลา และเกียรติภูมิของตนเข้าไปในการต่อสู้ที่ไร้ความหวังของยูเครนต่อไปแล้ว ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะเป็นความวิบัติหายนะสำหรับพวกเรา เฉกเช่นที่มันเคยเกิดขึ้นแก่ยุโรปเมื่อปี 1914 –โดยที่ไม่มีความแน่นอนหรอกว่าฝ่ายตะวันตกจะเป็นฝ่ายได้ชัยชนะภายใต้สภาวการณ์ดังกล่าว
รัสเซียจะชนะในยูเครนหรือไม่นั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญเท่ากับเรื่องที่ว่าการสู้รบขัดแย้งซึ่งยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องนี้ จะส่งผลอย่างไรทั้งต่อกลุ่มพันธมิตรนาโต้ และต่อความสามารถของอเมริกาในการอดทนคงอยู่ในยุโรปต่อไป ขณะที่ในปัจจุบัน วันเวลาของอเมริกาในการแสดงตนเป็นเพลเยอร์อันดับหนึ่งในยุโรป กำลังลดน้อยลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ยกเว้นแต่มีการประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายกันใหม่อย่างรุนแรงเท่านั้นจึงจะสามารถสร้างความกระทบกระเทือนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาได้
แบรนดอน เจ ไวเชิร์ต เป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Winning Space : How America Remains a Superpower, เรื่อง The Shadow War : Iran’s Quest for Supremacy (ทั้งสองเล่มจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Republic Book Publishers) และเรื่อง Biohacked : China’s Race to Control Life (สำนักพิมพ์ Encounter Books)