(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)
Nord Stream explosions hard to cover up
By GEORGE KOO
15/02/2023
ซีย์มอร์ เฮิร์ช นักหนังสือพิมพ์ผู้ชนะรางวัลทรงเกียรติ ออกมาเปิดโปงบทบาทของคณะบริหารไบเดน ในการก่อวินาศกรรมทำลายสายท่อส่งก๊าซที่ลำเลียงก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากรัสเซียไปยังเยอรมนี
รายงานข่าวเรื่อง “How America Took Out the Nord Stream Pipeline” (อเมริกากำจัดสายท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม ไปอย่างไร) ของ ซีย์มอร์ เฮิร์ช (Seymour Hersh) นักหนังสือพิมพ์ผู้ชนะรางวัลพูลิตเซอร์มาแล้ว คือสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นจริงจนไม่มีข้อสงสัยซึ่งสมเหตุสมผลใดๆ หลงเหลืออยู่ ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้ออกคำสั่งให้ก่อวินาศกรรมระเบิดทำลายสายท่อส่งก๊าซ นอร์ด สตรีม
(อ่านรายงานชิ้นนี้ได้ที่ https://seymourhersh.substack.com/p/how-america-took-out-the-nord-stream)
(ประวัติของ ซีย์มอร์ เฮิร์ช ดูได้ที่ https://www.britannica.com/biography/Seymour-Hersh)
ดังนั้น ถ้าหากก่อนหน้านี้มันยังไม่กระจ่างเพียงพอละก็ ตอนนี้มันก็ชัดแจ้งแดงแจ๋แล้วว่า สหรัฐฯ พร้อมที่จะบังคับใช้ “ระเบียบระหว่างประเทศที่ยึดโยงอยู่กับกฎเกณฑ์” ในเวอร์ชันที่ตนเองเป็นเจ้าของระเบียบดังกล่าว และพร้อมที่จะใช้วิธีการใดๆ ก็ตามเพื่อให้มันเป็นประโยชน์แก่ตนเอง รวมทั้งด้วยการประกอบอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติด้วย
สายท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 1 และนอร์ด สตรีม 2 นี้ ผู้เป็นเจ้าของร่วมกันคือ กาซปรอม (Gazprom) บริษัทด้านพลังงานของรัสเซีย และบริษัทพลังงานของยุโรปอีก 4 ราย นอร์ด สตรีม 1 นั้นได้ทำหน้าที่จัดส่งก๊าซธรรมชาติราคาต่ำจากรัสเซียไปยังเยอรมนี ซึ่งจากนั้นก็จัดสรรแบ่งปันก๊าซเหล่านี้บางส่วนไปส่วนอื่นๆ ของยุโรปอีกด้วย ส่วนนอร์ด สตรีม 2 อยู่ในกระบวนการที่กำลังจะเริ่มดำเนินงาน โดยน่าที่จะทำให้สามารถจัดส่งก๊าซแก่ยุโรปเพิ่มขึ้นมาอีกเท่าตัว
การระเบิดทำลายคราวนี้ซึ่งบังเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2022 เป็นการปิดฉากไม่ให้ก๊าซรัสเซียไหลไปตามสายท่อส่งเหล่านี้ได้ และปล่อยให้ชาวยุโรปหลายร้อยล้านคนเผชิญกับโอกาสความเป็นไปได้ที่จะต้องประสบความลำบากจากอากาศเย็นยะเยือกในฤดูหนาว
ผลต่อเนื่องทางเศรษฐกิจจากการก่อวินาศกรรมนอร์ด สตรีม คือ กำลังทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นเป็น 4 เท่าตัว และจุดชนวนให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งดุเดือดในยุโรป อย่างชนิดที่ไม่เคยพบเห็นกันมาหลายสิบปีแล้ว
ประธานาธิบดีไบเดน นั้นต้องการทำให้แน่ใจว่า เยอรมนีจะให้ความสนับสนุนอย่างแข็งขันแก่ยูเครนในการสู้รบขัดแย้งซึ่งมีอยู่กับรัสเซีย การระเบิดทำลายสายท่อส่งนี้จะทำให้เกิดความแน่ใจขึ้นมาได้ว่า รัสเซียไม่สามารถที่จะจัดส่งพลังงานราคาถูกให้แก่ยุโรปได้อีกต่อไป และเยอรมน็จะไม่ถูกก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย มาเป็นตัวการคอยรบกวนให้หันเหออกไปจากการให้ความสนับสนุนแก่ยูเครน
ไบเดนนั้นไม่มีเหตุผลความชอบธรรมใดๆ โดยเด็ดขาดสิ้นเชิงสำหรับการเข้าไปทำลายทรัพย์สินซึ่งมิได้เป็นของสหรัฐฯ เช่นนี้ การกระทำดังกล่าวจึงต้องถือเป็นการก้าวร้าวรุกรานอย่างเปิดเผยล่อนจ้อน เป็นพฤติการณ์ของการก่อสงคราม โดยปราศจากความห่วงกังวลว่าประชาชนและเศรษฐกิจของพวกชาติพันธมิตรที่เป็นเพื่อนๆ กันจะได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง เขาไม่ได้สนใจไยดีเลยว่าการกระทำของเขาเพื่อมุ่งหน้าทำให้สหรัฐฯ บรรลุถึงความรู้สึกสำนึกแห่งความมั่นคงปลอดภัยเช่นนี้ กำลังกลายเป็นการประกอบอาชญากรรมสงครามขึ้นมา
ก่อนหน้านี้ พวกเราชาวอเมริกันกำลังเที่ยวบอกกล่าวแก่โลกว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาคือป้อมปราการที่ตั้งผงาดเด่นเป็นสง่าอยู่เหนือยอดเขา เป็นประภาคารส่องสว่างอันซื่อสัตย์ไว้วางใจได้ และเป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่อุดมด้วยความรักในเสรีภาพนั้นควรจะเป็นอย่างไร ชาติอื่นๆ ได้รับการทึกทักสันนิษฐานเอาว่าควรต้องยกย่องชมเชยจุดยืนของเรา และมีความมุ่งมาดปรารถนาที่จะเป็นเหมือนกับเรา
ไม่ใช่ประภาคารส่องแสงสว่างอีกต่อไปแล้ว
เวลานี้โลกกลับมองว่าอเมริกาที่มีสภาพเป็นป้อมปราการอันแข็งแกร่งในปัจจุบัน คือความทุจริตฉ้อฉล ความไม่ซื่อสัตย์ และการขาดไร้ยางอาย สหรัฐฯ กำลังเที่ยวกดขี่ปราบปรามประเทศอื่นๆ ด้วยการใช้กำลังบังคับ การข่มขู่คุกคาม หรือการแซงก์ชันคว่ำบาตร หรือสิ่งต่างๆ เหล่านี้ผสมผสานกัน ชาติอื่นๆ ยินยอมกระทำตามความต้องการของเราไม่ได้เนื่องจากพวกเขาเคารพยกย่องเราเลย แต่เนื่องจากพวกเขากลัวเราต่างหาก
ถ้าสหรัฐฯ เป็นผู้ทำลายสายท่อส่งก๊าซดังกล่าวตามที่ เฮิร์ช รายงานนี้แล้ว บุคคลบางคนในระดับวงในของคณะบริหารไบเดน ก็อาจจะกำลังพยายามปกป้องแก้ต่างให้แก่การกระทำของตน ด้วยการกล่าวอ้างว่ามันเป็นการตอบโต้แก้เผ็ดต่อการที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้ว ตามรายงานของ เฮิร์ช ระบุว่า มีการวางแผนเพื่อระเบิดสายท่อส่งเหล่านี้ตั้งแต่ช่วงหลายๆ เดือนก่อนหน้าการรุกรานของรัสเซียจะเริ่มต้นขึ้นมาเสียอีก
เขาอธิบายต่อไปว่า รัฐบาลของประเทศนอร์เวย์ได้รับการติดต่อไหว้วานให้มาช่วยเหลือในการปฏิบัติการบ่อนทำลายคราวนี้ด้วย หนึ่งในหลายๆ เหตุผลที่เลือกนอร์เวย์ให้มาช่วยก็คือ ประเทศนั้นมีความรู้เป็นอย่างดียิ่งกว่าใครๆ เกี่ยวกับร่องน้ำตื้นต่างๆ ในทะเลบอลติก
“ในวันที่ 26 กันยายน 2022 เครื่องบินตรวจการณ์แบบ P8 ลำหนึ่งของกองทัพเรือนอร์เวย์ ได้ออกปฏิบัติการในเที่ยวบินที่แลดูเหมือนกับเป็นเที่ยวบินตามกิจวัตรปกติ ทว่าเครื่องบินลำนี้ได้ทิ้งลูกลอยโซนาร์ลงไปในทะเล” รายงานของเฮิร์ชเขียนเอาไว้เช่นนี้ ลูกลอยโซนาร์นี้ได้ส่ง “สัญญาณกระจายออกไปใต้น้ำ โดยแรกทีเดียวไปที่สายท่อส่งนอร์ด สตรีม 2 แล้วจากนั้นก็ไปที่ นอร์ด สตรีม 1 อีก 2-3 ชั่วโมงต่อมา ก็มีการจุดชนวนวัตถุระเบิด C4 ที่มีอานุภาพรุนแรง และสายท่อส่ง 3 ท่อจากจำนวนทั้งสิ้น 4 ท่อก็ถูกทำลายจนไม่สามารถใช้งานได้”
การที่นอร์เวย์เข้าร่วมเช่นนี้ต้องถือว่าช่างเต็มไปด้วยความย้อนแย้งอย่างเหลือเกิน ผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่ประกาศกันออกมาทุกๆ ปีนั้น คัดเลือกโดยคณะกรรมการชุดหนึ่งซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภานอร์เวย์ มีอยู่ปีหนึ่ง พวกเขารีบร้อนประกาศให้รางวัลสันติภาพที่ขึ้นชื่อว่ายิ่งใหญ่นี้แก่ บารัค โอบามา ผู้กำลังจะเป็นประธานาธิบดีอเมริกันคนต่อไป ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ด้วยซ้ำ
ประวัติศาสตร์จะต้องจารึกเอาไว้ว่า โอบามา คือประธานาธิบดีอเมริกันคนแรกที่นำเอาโดรนมาใช้อย่างแพร่หลายในฐานะที่เป็นเครื่องจักรสังหาร ซึ่งทั้งเข่นฆ่าผู้คนได้อย่างเลือดเย็นและไม่มีการจำแนกแยกแยะ โดรนเหล่านี้ถูกนำไปใช้ทั้งในอัฟกานิสถานและในอิรัก เมื่อขบคิดย้อนหลังกลับไปมันย่อมไม่ใช่เกียรติประวัติประเภทที่สอดคล้องกับพฤติการณ์ซึ่งผู้ชนะรางวัลทางด้านสันติภาพพึงปฏิบัติอย่างแน่นอน
ในการให้สัมภาษณ์ทางพอดแคสต์ในเวลาต่อมา สืบเนื่องจากการเปิดโปงเรื่องการระเบิดสายท่อส่งนอร์ด สตรีม ของเขา เฮิร์ช บอกว่าการปะติดปะต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นมานี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ลำบากยากเย็นอะไรเลย นักข่าวแนวสืบสวนสอบสวนที่มีความรู้ความสามารถอย่างสมเหตุสมผลคนไหนๆ ก็สามารถติดตามร่องรอยชี้บ่งเรื่องราวต่างๆ ตามเส้นทางซึ่งชี้นำตรงไปที่ทำเนียบขาว
(พอดแคสต์สัมภาษณ์เฮิร์ช ดูได้ที่ https://www.patreon.com/posts/radio-war-nerd-78596220)
หลายๆ เดือนทีเดียวก่อนหน้าการรุกรานยูเครน และการระเบิดสายท่อส่งก๊าซ ประธานาธิบดีไบเดน และทีมนโยบายการต่างประเทศของเขา –ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติ เจค ซัลลิแวน (Jake Sullivan) รัฐมนตรีต่างประเทศ โทนี บลิงเคน (Blinken) และวิกตอเรีย นูแลนด์ (Victoria Nuland) ปลัดกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายนโยบาย (undersecretary of state for policy) – ต่างส่งเสียงสอดประสานกันอย่างเหนียวแน่นในการแสดงความเป็นปรปักษ์ของพวกเขาต่อสายท่อส่งก๊าซทั้ง 2 สายนี้
ไบเดนแบไต๋มาตั้งหลายเดือนแล้ว
ทั้ง ไบเดน และนูแลนด์ กระทั่งเคยพูดเป็นนัยๆ ต่อสาธารณชนผ่านทางสื่อมวลชนว่า สายท่อส่งนี้จะต้อง “จากไป” โดยในการประชุมแถลงข่าวภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี เดินทางเยือนกรุงวอชิงตันในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ไบเดนออกมากล่าวว่า “ถ้ารัสเซียรุกราน ... มันก็จะไม่มีนอร์ด สตรีม 2 อีกต่อไป เราจะทำให้มันไปสู่จุดจบ”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=OS4O8rGRLf8)
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นูแลนด์ ก็ไปพูดในการแถลงข่าวของกระทรวง อย่างชนิดแทบไม่มีการปิดบังอะไรต่อสื่อมวลชนว่า “ดิฉันต้องการเรียนให้พวกคุณทราบอย่างชัดเจนมากๆ ในวันนี้ ถ้ารัสเซียรุกรานยูเครนล่ะก็ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นอร์ด สตรีม 2 จะไม่มีทางคืบหน้าต่อไป”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=ild-PsPD_Uw)
เหตุผลที่พวกสื่อมวลชนกระแสหลักพากันไม่สนใจไยดีที่จะตั้งคำถามกันอย่างจริงๆ จังๆ ว่าใครคือผู้ระบิดสายท่อส่งก๊าซนี้และทำไมจึงกระทำนั้น ถ้าหากไม่เป็นเพราะความขี้เกียจและการขาดไร้ความกระตือรือร้นไม่อยากรู้อยากเห็นแล้ว ก็น่าจะเนื่องจากพวกเขาทราบคำตอบกันดีอยู่แล้วและไม่ต้องการที่จะทำให้ทำเนียบขาวของไบเดนต้องอับอายขายหน้า
กระทั่งหลังจากรายงานของเฮิร์ชได้รับการเผยแพร่แล้ว พวกสื่อมวลชนกระแสหลักอย่างเช่น วอชิงตันโพสต์ และนิวยอร์กไทมส์ ก็ยังคงไม่แยแสสนใจที่จะติดต่อและขอสัมภาษณ์เขา ด้วยการเพิกเฉยข่าวเรื่องนี้อย่างจงใจเช่นนี้ พวกเขาจึงไม่ได้กระทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเขาในฐานะฐานันดรที่สี่ และพิทักษ์รักษาความซื่อสัตย์ของพวกเขา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาได้ทรยศต่อความไว้วางใจของสาธารณชนเสียแล้ว และขายตัวให้แก่ทำเนียบขาว
สหรัฐฯ นั้นมักประพฤติปฏิบัติตนอยู่เหนือกฎเกณฑ์ของชาติอธิปไตยอื่นๆ เรื่อยมา กระทั่งมองเมินกฎเกณฑ์ของสหประชาชาติเสียด้วยซ้ำ แล้วเมื่อมีสื่อมวลชนที่ว่านอนสอนง่ายพร้อมที่จะสยบยอมตามเช่นนี้ด้วย ทีมไบเดนจึงสามารถทำอะไรตามใจชอบ และปฏิบัติต่อใครๆ อย่างเลวร้ายชนิดไม่ต้องคำนึงถึงสิทธิหรือความรู้สึกของพวกเขาเลยแม้แต่น้อย
ความดูถูกดูหมิ่นสหรัฐฯ ในทั่วโลกจึงมีแต่จะต้องยิ่งขยายตัวออกไปอีก ในไม่ช้าก็เร็ว สหรัฐฯ จะพบว่าตัวเองต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวและปราศจากเพื่อนมิตรใดๆ ในโลกที่มีขั้วอำนาจอยู่ขั้วเดียวซึ่งเกิดจากการกระทำของสหรัฐฯ เอง
จอร์จ คู เกษียณอายุจากสำนักงานให้บริการด้านคำปรึกษาระดับโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งเขาได้ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเกี่ยวกับยุทธศาสตร์และการดำเนินการทางธุรกิจของพวกเขาในประเทศจีน เขาสำเร็จการศึกษาจาก MIT, Stevens Institute และ Santa Clara University และเป็นผู้ก่อตั้งตลอดจนเป็นอดีตกรรมการผู้จัดการของ International Strategic Alliances ปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการของเฟรชฟิลด์ (Freschfield) แพลตฟอร์มการก่อสร้างล้ำยุคแบบสีเขียว
หมายเหตุผู้แปล
[1] ซีย์มอร์ เฮิร์ช คือใคร? เป็นนักหนังสือพิมพ์ชื่อดังขนาดไหน?
ประวัติและผลงานของ ซีย์มอร์ เฮิร์ช ที่สารานุกรมซึ่งมีชื่อเสียงมานานอย่าง เอนไซโคลพีเดีย บริแทนนิกา (Encyclopædia Britannica) เขียนเอาไว้ (https://www.britannica.com/biography/Seymour-Hersh) มีดังนี้:
ซีย์มอร์ เฮิร์ช Seymour Hersh (เกิดวันที่ 8 เมษายน 1937 ที่เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์, สหรัฐฯ) เป็นคนสหรัฐฯ
ซีย์มอร์ เฮิร์ช หรือชื่อเต็มว่า ซีย์มอร์ ไมรอน เฮิร์ช (Seymour Myron Hersh) เป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งโดยทั่วไปแล้วรายงานข่าวที่โฟกัสยังรัฐบาลสหรัฐฯ และการที่รัฐบาลสหรัฐฯ เข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันในต่างแดน เขามีผลงานโดดเด่นเป็นพิเศษจากการสืบสวนสอบสวนของเขาในกรณีสังหารหมู่ที่หมีลาย (My Lai Massacre) และกรณีอื้อฉาวเรือนจำอะบูฆุร็อยบ์ (Abu Ghraib prison scandal)
เฮิร์ช เป็นบุตรชายของผู้อพยพเข้าสหรัฐฯ จากโปแลนด์และลิทัวเนีย ความเชื่อถืออย่างแรงกล้าในประชาธิปไตยอเมริกันได้ดลใจให้เขามีความสนใจแบบอุดมคติในการขุดคุ้ยเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวของบุคคลสาธารณะมาอย่างยาวนาน ภายหลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก (ปี 1958) และละทิ้งการศึกษาต่อที่โรงเรียนกฎหมาย เขาก็เข้าทำงานที่สำนักข่าว City News Bureau of Chicago หลังจากเสร็จสิ้นเรื่องรับราชการทหารแล้ว เฮิร์ช ได้ร่วมเป็นผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ชานเมืองฉบับหนึ่ง จากนั้นก็ทำงานให้แก่สำนักข่าวยูไนเต็ด เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ยูพีไอ) และสำนักข่าวแอสโซซิเอเต็ด เพรส (เอพี) ก่อนที่จะเข้าเป็นเลขานุการฝ่ายสื่อมวลชนให้กับ ยูยีน แมคคาร์ธี (Eugene McCarthy) ผู้สมัครแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นช่วงสั้นๆ ในปี 1967 ต่อมาเมื่อถึงปี 1969 จากการติดตามเบาะแสข่าวที่มีผู้แจ้งให้ทราบ เฮิร์ช ได้สัมภาษณ์ ร้อยโทวิลเลียม แอล. คอลลีย์ (William L. Calley) แห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ซึ่งได้เล่าให้ฟังถึงกรณีการสังหารชาวบ้านเวียดนามใต้หลายร้อยคนในหมู่บ้านหมีลาย โดยฝีมือกองทหารสหรัฐฯ ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของเขาเมื่อเดือนมีนาคม 1968 การรายงานของ เฮิร์ช ร่วมกับคนอื่นๆ มีส่วนช่วยปิดฉากการที่สหรัฐฯ เข้าเกี่ยวข้องพัวพันในสงครามเวียดนาม (1954-75) และเป็นพื้นฐานสำหรับผลงานหนังสือเรื่อง “My Lai 4” ของเขาที่ชนะได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (ปี 1970)
ในปี 1972 เฮิร์ช เข้าร่วมในกองบรรณาธิการของนิวยอร์กไทมส์ เขาเป็นผู้รายงานข่าวขุดคุ้ยเป็นปฐมฤกษ์ เกี่ยวกับกรณีอื้อฉาววอเตอร์เกต (Watergate scandal) ถึงแม้เครดิตส่วนใหญ่สำหรับการเปิดโปงเรื่องนี้ตกเป็นของ คาร์ล เบิร์นสทีน (Carl Bernstein) และคนที่เป็นคู่แข่งของ เฮิร์ช มาอย่างยาวนาน นั่นคือ บ็อบ วูดเวิร์ด (Bob Woodward) กระนั้นก็ตาม งานสืบสวนสอบสวนของ เฮิร์ช ก็นำพาเขาให้เขียนหนังสือเรื่อง The Price of Power: Kissinger in the Nixon White House (ราคาของอำนาจ : คิสซิงเจอร์ในทำเนียบขาวของนิกสัน) (ปี 1983) ผลงานที่วาดภาพอันเลวร้ายของ เฮนรี คิสซิงเจอร์ ซึ่งชนะรางวัล National Book Critics Circle Award สำหรับหัวข้ออื่นๆ ซึ่ง เฮิร์ช นำมาเขียนไว้ในหนังสือเล่มอื่นๆ ของเขา ยังมีอาทิ เหตุการณ์สหภาพโซเวียตยิงเครื่องบินโดยสารของสายการบินโคเรียน แอร์ไลนส์ การเข้าครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของอิสราเอล และสภาพเบื้องหลังฉากของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี ซึ่งเป็นผลงานที่ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างหนักหน่วง
ในปี 1993 เฮิร์ช กลายเป็นผู้เขียนประจำให้แก่นิตยสารเดอะ นิวยอร์กเกอร์ โดยเขาได้เขียนชุดบทความต่างๆ ว่าด้วยสงครามต่อสู้การก่อการร้าย และสงครามในอิรักที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ (ปี 2003-11) ข้อเขียนเหล่านี้ –ซึ่งต่อมาได้รวบรวมมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อเรื่องว่า Chain of Command : The Road from 9/11 to Abu Ghraib (สายการบังคับบัญชา: เส้นทางจากเหตุการณ์ 9/11 สู่ อะบูฆุร็อยบ์) (ปี 2004) –มาถึงจุดสูงสุดที่การเปิดโปงอย่างชนิดทำให้โลกสะท้านสะเทือนของ เฮิร์ช เกี่ยวกับการล่วงละเมิดนักโทษที่เรือนจำอะบูฆุร็อยบ์ โดยที่เขาได้สืบสาวย้อนหลังต่อไปจากพวกทหารสหรัฐฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดเหล่านี้ ไปจนกระทั่งถึงการกำหนดจัดวางนโยบายในระดับสูงสุดของคณะบริหารประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ทั้งนี้ เฮิร์ช พูดถึงลักษณะการฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับสงครามคราวนี้ของ บุช ว่า เป็นผลผลิตของลัทธิอุดมคตินิยมแบบอนุรักษนิยมใหม่ ซึ่งถูกชี้นำไปในทิศทางที่ผิดพลาด (misguided neoconservative idealism) หลังจากสร้างการงานอาชีพของเขาโดยอาศัยความไว้วางใจจากแหล่งข่าวต่างๆ (ปกติแล้วไม่มีการระบุชื่อ) ทั้งในรัฐบาล ฝ่ายทหาร และฝ่ายข่าวกรอง เฮิร์ช บรรยายถึงภารกิจของเขาว่า คือการนำเอาพวกเจ้าหน้าที่ผู้ครองตำแหน่งสาธารณะ เข้าสู่ “มาตรฐานระดับสูงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ของการประพฤติอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม และของเกียรติยศ”
ในเดือนพฤษภาคม 2015 เฮิร์ช กลายเป็นข่าวพาดหัวอีกครั้งหนึ่ง จากการที่เขาตั้งข้อกล่าวหา –ตีพิมพ์อยู่ในข้อเขียนชิ้นหนึ่งทาง ลอนดอน รีวิว ออฟ บุ๊กส์ (London Review of Books) โดยที่อ้างแหล่งข่าวชาวปากีสถานและแหล่งข่าวสหรัฐฯ ที่ไม่มีการระบุชื่อ— ว่า พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลปากีสถาน รวมทั้งตัวประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้โกหกเกี่ยวกับรายละเอียดของการบุกโจมตีอาคารในเมืองอับบอตตาบัด (Abbottabad) ประเทศปากีสถาน เมื่อปี 2011 ซึ่ง อุซามะห์ บิน ลาดิน (Osama bin Laden) ผู้นำของอัลกออิดะห์ (al-Qaeda) ถูกสังหาร ในบรรดาข้อกล่าวหาของ เฮิร์ช เกี่ยวกับกรณีนี้มีดังเช่น หน่วยข่าวกรองปากีสถานควบคุมตัว บิน ลาดิน เอาไว้ในฐานะนักโทษมาตั้งแต่ปี 2006 แล้ว และพวกเจ้าหน้าที่ปากีสถานนั้นทราบดีเกี่ยวกับการบุกโจมตีคราวนี้ตั้งแต่ก่อนที่มันจะเกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ ทางด้านสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) และคณะบริหารโอบามา ต่างปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ว่าไม่เป็นความจริง
ตลอดเส้นทางการงานอาชีพของเขา เฮิร์ช ได้รับรางวัลได้รับเกียรติยศหลายๆ ครั้ง นอกเหนือจากรางวัลพูลิตเซอร์ 1 ครั้งแล้ว เขายังได้รับรางวัล George Polk Awards 5 ครั้ง ขณะที่หนังสือบันทึกความทรงจำของเขาที่ใช้ชื่อเรื่อง “Reporter” ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในปี 2018
[2] ปฏิกิริยาต่อรายงานข่าวเรื่องสหรัฐฯ วินาศกรรมนอร์ด สตรีม
ในข้อเขียนเรื่อง ซีย์มอร์ เฮิร์ช ของวิกิพีเดีย (https://en.wikipedia.org/wiki/Seymour_Hersh) ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติชีวิตและผลงานของนักหนังสือพิมพ์ผู้นี้อย่างกว้างขวางนั้น มีหัวข้อที่เพิ่งได้รับการบรรจุเพิ่มเข้ามา ซึ่งพูดถึงกรณีวินาศกรรมสายท่อส่งก๊าซ นอร์ด สตรีม โดยกล่าวถึงปฏิกิริยาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากรายงานข่าวนี้ของ เฮิร์ช ผู้แปลจึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้:
การวินาศกรรมนอร์ด สตรีม
ตามข้อเขียนของ อีมานูแอล มิโดโล (Emanuele Midolo) ซึ่งเขียนให้แก่ เดอะ ไทมส์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2023 เฮิร์ช ได้โพสต์ข้อเขียนทางเว็บไซต์ Substack อ้างว่าการวินาศกรรมสายท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม เป็นฝีมือดำเนินการของกองทัพเรือสหรัฐฯ ซีไอเอ และกองทัพเรือนอร์เวย์ ภายใต้คำสั่งการของประธานาธิบดีไบเดน รายงานของ เฮิร์ช พึ่งพาอาศัยแหล่งข่าวที่ไม่มีการเอ่ยชื่อรายหนึ่งที่ระบุว่า ในเดือนมิถุนายน 2022 พวกนักดำน้ำของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้นำเอาวัตถุระเบิด C4 ไปติดตั้งเตรียมเอาไว้บนสายท่อส่งก๊าซนี้ ตรงจุดตำแหน่งยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเลือกสรรให้โดยฝ่ายนอร์เวย์ แหล่งข่าวรายนี้บอกว่า การติดตั้งคราวนี้กระทำขึ้นภายใต้การกำบังอำพรางของการจัดฝึกซ้อมเล่นเกมสงครามที่มีหลายชาติเข้าร่วม ซึ่งรู้จักกันในชื่อว่า BALTOPS 22 แล้วจากนั้นในอีก 3 เดือนถัดมา จึงถูกจุดระเบิดขึ้นด้วยกลไกบังคับทางไกล โดยใช้สัญญาณที่ปล่อยออกจากลูกลอยโซนาร์ลูกหนึ่ง ซึ่งเครื่องบินตรวจการณ์แบบ P8 ของนอร์เวย์เป็นผู้ทิ้งลงมา
มาเรีย ซาโคโรวา โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย แถลงว่า สหรัฐฯ มีคำถามที่จะต้องตอบในเรื่องบทบาทของตนในการระเบิดคราวนี้ ขณะที่โฆษกของสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า รายงานข่าวของ เฮิร์ช “ผิดพลาดทั้งหมด และเป็นเรื่องแต่งทั้งเรื่อง” ด้าน ซีไอเอ บอกว่าการกล่าวหานี้ “ผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง” โดยที่กระทรวงการต่างประเทศนอร์เวย์ก็แสดงปฏิกิริยาในลักษณะเดียวกันนี้
ข้อเขียนของ เฮิร์ช บอกว่า พวกนักดำน้ำของสหรัฐฯ ซึ่งทำหน้าที่วางวัตถุระเบิด ได้ปฏิบัติการโดยออกมาจากเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Alta ลำหนึ่งของนอร์เวย์ ทางกองกำลังกลาโหมนอร์เวย์ตอบโต้ว่า นอร์เวย์ไม่ได้ส่งเรือกวาดทุ่นระเบิดชั้น Alta ลำไหนเข้าร่วมในการฝึกซ้อม BALTOPS 22 หรือว่าในระหว่างการฝึกซ้อมคราวนี้ มีเรือเช่นนี้ลำใดเข้าไปอยู่ภายในพื้นที่ขอบเขตของการระเบิดเลย
ภายหลังรายงานของ เฮิร์ช เผยแพร่ออกมา วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ไมค์ ลี (Mike Lee) จากรัฐยูทาห์ สังกัดพรรครีพับลิกัน ทวีตว่าถ้าเรื่องราวนี้เป็นความจริง เขาและเพื่อนวุฒิสมาชิกของเขาจำนวนมากก็ไม่ได้รับแจ้งเรื่องการโจมตี นอร์ด สตรีม นี้เลย “ถ้าเรื่องนี้กลายเป็นความจริงขึ้นมา เราก็จะต้องเจอปัญหามหึมาแน่” ลี ทวีตเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ขณะที่ประธานสภาล่างของรัสเซียเรียกร้องให้จัดการสอบสวนระดับนานาชาติ เพื่อ “นำ ไบเดน และพวกผู้สมรู้ร่วมคิดของเขาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม” ส่วนในรัฐสภาของเยอรมนี พวกสมาชิกสภาจากฝ่ายรัฐบาลพากันโต้แย้งแสดงความไม่เชื่อถือเครดิตของ เฮิร์ช และเรียกร้องให้ลดทอนการอภิปรายถกเถียงของสาธารณชนในหัวข้อนี้โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง ขณะที่พวกสมาชิกสภาฝ่ายค้านจากพรรค AfD และ Die Linke ริเริ่มให้จัดการอภิปรายของรัฐสภาเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของ เฮิร์ช ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ โดยที่ เซวิม ดักเดเลน (Sevim Dagdelen) สมาชิกสภาจากพรรค Die Linke โต้แย้งว่า รัฐบาลดูเหมือนไม่สนอกสนใจที่จะสร้างความกระจ่างให้แก่ความจริงเกี่ยวกับการระเบิดคราวนี้
รายงานข่าวของ เฮิร์ช ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักหนังสือพิมพ์คนอื่นๆ อีเลียต ฮิกกินส์ (Eliot Higgins) ผู้ก่อตั้งกลุ่มนักหนังสือพิมพ์สืบสวนสอบสวนที่ใช้ชื่อว่า Bellingcat กล่าวว่า เฮิร์ช ไม่สามารถเสนอให้หนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียงฉบับไหนเลยยอมตีพิมพ์ข้อเขียนนี้ของเขา และรายงานข่าวนี้ของเขามีแต่สร้างความประทับใจให้แก่พวกผู้คนที่สนับสนุน ปูติน และ อัล อัสซาด เท่านั้น คริสโต โกรเซฟ (Christo Grozev) นักหนังสือพิมพ์ของ Bellingcat พูดถึงรายงานข่าวนี้ของ เฮิร์ช ว่า เป็น “เรื่องแต่งขึ้นมาทั้งหมด” และย้ำว่าการรายงานของเขาเป็นการสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงให้วิชาการวารสารศาสตร์ ขณะที่ เคลลี วลาโฮส (Kelly Vlahos) บรรณาธิการอำนวยการของ สถาบันควินซีเพื่อการบริหารรัฐกิจที่มีความรับผิดชอบ (Quincy Institute for Responsible Statecraft) พูดถึงการตอบโต้สาธารณะต่อข้อเขียนของ เฮิร์ช ในโลกตะวันตกว่า มีลักษณะเป็น “การปิดข่าวทางสื่อมวลชน” และโต้แย้งว่า เสียงวิพากษ์วิจารณ์การรายงานของ เฮิร์ช “ไม่ได้อธิบายเลยว่าทำไมพวกสื่อกระแสหลักจึงไม่ได้รายงานข่าว” ข้อกล่าวหาต่างๆ ของ เฮิร์ช สำหรับในรัสเซีย ข้อเขียนของ เฮิร์ช ถูกนำไปรายงานต่อทั้งจาก อาร์ที และจากสำนักข่าวทาสส์