แผนการของเคียฟที่รุกคืบขอเครื่องบินขับไล่ทันสมัยอย่างเช่น เอฟ-16 จากฝ่ายตะวันตก หลังจากแบมือเรียกร้องอยากได้รถถังหลักจนสำเร็จมาแล้ว ทำท่าไปไม่รอดอย่างน้อยก็ในระยะใกล้ๆ นี้ เมื่อ “ไบเดน” ปฏิเสธลั่นในวันจันทร์ (30 ม.ค.) แล้วอังกฤษก็เดินตาม กระทั่งโปแลนด์ซึ่งตอนแรกทำท่าเอออวยไปพร้อมๆ กับฝรั่งเศส ก็ยังรีบออกตัวถอยฉาก
ที่ปรึกษาของโอเล็คซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ (27) ว่า เคียฟมีแผนเรียกร้องขอเครื่องบินขับไล่เจเนอเรชันที่ 4 ซึ่งค่อนข้างทันสมัย อย่างเช่น เอฟ-16 หลังได้รับคำมั่นจากตะวันตกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะจัดส่งรถถังหลักอย่างเช่น ลีโอพาร์ด และเอบรามส์ไปให้
ทว่า ในวันจันทร์ (30) เมื่อถูกผู้สื่อข่าวในทำเนียบขาวซักถามเรื่องนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตอบชัดเจนว่า อเมริกาจะไม่ส่งเอฟ-16 ให้ยูเครน
ในวันเดียวกัน ก่อนที่ไบเดนจะแสดงจุดยืนเรื่องนี้ ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ว่า ตามคำจำกัดความแล้ว การให้ความช่วยเหลือทางทหารไม่ควรตัดสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกไป
ถึงแม้มาครง บอกด้วยว่าการดำเนินการในเรื่องนี้จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบให้แน่ใจว่า การจัดส่งเครื่องบินขับไล่ให้ยูเครนจะไม่ทำให้ศักยภาพของกองทัพอากาศฝรั่งเศสลดลง ไม่ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งลุกลาม และเครื่องบินที่ส่งมอบให้จะต้องไม่นำไปใช้รุกล้ำน่านฟ้าของรัสเซีย
ผู้นำฝรั่งเศสเสริมว่า รัฐมนตรีกลาโหมยูเครนจะพบกับเซบาสเตียน เลอกอร์นู รัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศสที่ปารีสในวันอังคาร (31)
ส่วนที่โปแลนด์ นายกรัฐมนตรีมาเตอุซ โมราเวียกกี้ ก็แถลงว่าไม่ตัดความเป็นไปได้ในการจัดหาเอฟ-16 ให้ยูเครนเช่นเดียวกัน โดยระบุบนเว็บไซต์ว่า การส่งมอบเครื่องบินขับไล่จะดำเนินการร่วมกับประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ทั้งหมด
ด้านแอนดริว เยอร์แมค หัวหน้าคณะบริหารของประธานาธิบดียูเครน โพสต์บนเทเลแกรมว่า โปแลนด์ส่งสัญญาณบวก ขณะที่ฝรั่งเศสไม่ตัดความเป็นไปได้ในการส่งเครื่องบินขับไล่ที่ยูเครนต้องการ
อย่างไรก็ตาม หลังการแถลงของไบเดน ปรากฏว่า รัฐมนตรีช่วยกลาโหม วอจซีค สกูร์กีวิช ของโปแลนด์ ออกมาบอกว่า ประเทศของเขาไม่ได้อยู่กำลังพูดจาเรื่องจัดส่งเอฟ-16 ใหแกยูเครน โดยที่ไม่มีการหารืออย่างเป็นทางการใดๆ ในเรื่องนี้ในขณะนี้
ทางด้านอังกฤษ ผู้ทำหน้าที่โฆษกคนหนึ่งให้แก่นายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก แถลงในวันอังคารว่า อังกฤษไม่เชื่อว่าการจัดส่งเครื่องบินขับไล่ของตนไปให้ยูเครนจะเป็นเรื่องที่สามารถปฏิบัติได้จริง
โฆษกผู้นี้กล่าวกับพวกผู้สื่อข่าวว่า เครื่องขับขับไล่ของอังกฤษนั้นมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง และต้องใช้เวลาแรมเดือนในการเรียนรู้วิธีใช้เครื่อง
ทั้งนี้ การแสดงความคิดเห็นของไบเดนเกิดขึ้นไม่นานหลังจากประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน ระบุว่า รัสเซียเริ่มแก้แค้นที่ยูเครนต้านทานการรุกรานด้วยการโจมตีพื้นที่ด้านภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง
เซเลนสกีเตือนมาหลายสัปดาห์แล้วว่า มอสโกเล็งยกระดับการโจมตีหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายคุมเชิงกันมานาน 2 เดือนตลอดแนวรบด้านใต้และด้านตะวันออก
เอเอฟพีรายงานว่า ขณะนี้ยังคงมีการสู้รบในพื้นที่สำคัญขณะที่รัสเซียพยายามขยายเขตยึดครองในแคว้นโดเนตสก์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคดอนบาส ทางภาคตะวันออกของยูเครน
เดนนิส พุชชิลิน ผู้นำแคว้นโดเนตสก์ที่ได้รับการแต่งตั้งจากเครมลิน อ้างว่า กองกำลังรัสเซียรุกคืบเข้าใกล้เมืองวูเกลดาร์ ซึ่งเป็นเมืองสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองโดเนตสก์
ทว่า เซเลนสกีปฏิเสธข้อกล่าวอ้างดังกล่าว แต่ยอมรับว่า มีการสู้รบดุเดือดในบริเวณนั้น
ผู้นำยูเครนพยายามเร่งเร้าให้ตะวันตกจัดส่งอาวุธให้เร็วขึ้น แต่ดูเหมือนรถถังส่วนใหญ่จากนับร้อยคันที่พันธมิตรตะวันตกรับปากจัดหาให้ยังต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าที่จะถึงมือเคียฟ
เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมอังกฤษ แถลงว่า รถถังชาเลนเจอร์ 14 คันจะส่งถึงยูเครนราวเดือนเมษายนหรือพฤษภาคม แต่ไม่ได้ระบุวันเวลาที่แน่นอน
ด้านดมิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลิน วิจารณ์ว่า ชาติตะวันตกที่ส่งอาวุธให้ยูเครนกำลังนำสมาชิกนาโต้เข้าสู่ความขัดแย้งโดยตรงมากขึ้น แต่สำทับว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่มีแนวโน้มทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน สถาบันเพื่อการศึกษาสงครามซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมองในอเมริกา ระบุว่า การที่ตะวันตกล้มเหลวในการจัดส่งอาวุธที่จำเป็นเมื่อปีที่แล้วเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้การรุกคืบของยูเครนหยุดชะงักลงนับจากเดือนพฤศจิกายน และทำนายว่า ยูเครนอาจชิงดินแดนคืนได้เพิ่มขึ้นหลังจากได้รับอาวุธที่ตะวันตกสัญญาไว้
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)