xs
xsm
sm
md
lg

ดับฝันเซเลนสกี! เยอรมนียันไม่ส่งเครื่องบินรบให้ยูเครน ขอเลี่ยงสงครามนาโต้-รัสเซีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ย้ำเมื่อวันอาทิตย์ (29 ม.ค.) ว่าเยอรมนีจะไม่ส่งเครื่องบินขับไล่ไปให้ยูเครน แม้เคียฟส่งเสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ สำหรับขออาวุธล้ำสมัยกว่าเดิมจากตะวันตก เพื่อสกัดการรุกรานของรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ โชลซ์ เพิ่งตอบตกลงในวันพุธ (25 ม.ค.) สำหรับส่งมอบรถถังลีโอพาร์ด 2 จำนวน 14 คันไปให้เคียฟ และอนุญาตให้ประเทศยุโรปอื่นๆ ส่งออกรถถังที่ผลิตโดยเยอรมนีรุ่นนี้ไปยังยูเครนเช่นกัน หลังจากเรื่องนี้ตกเป็นประเด็นโต้เถียงเร่าร้อน และถูกพันธมิตรกดดันหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ มานานหลายสัปดาห์

"ผมแนะนำได้แค่ว่า อย่าเข้าสู่สงครามการประมูล เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับระบบอาวุธ" โชลซ์ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Tagesspiegel "ทันทีที่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องรถถัง ประเด็นถกเถียงถัดไปได้เริ่มขึ้นทันทีในเยอรมนี มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มันจะบ่อนทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อการตัดสินใจต่างๆ ของรัฐบาล"

การตัดสินใจของโชลซ์ ในการให้ไฟเขียวจัดหารถถังให้แก่ยูเครน มีขึ้นพร้อมๆ กับที่รัฐบาลสหรัฐฯ แถลงว่าพวกเขาจะส่งรถถังเอบรามส์ 31 คัน ไปให้เคียฟเช่นกัน

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ขอบคุณเบอร์ลินและวอชิงตัน สำหรับความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยมองว่ามันเป็นการผ่าทางตันในความพยายามสนับสนุนประเทศที่ถูกฉีดขาดไปด้วยสงครามแห่งนี้

อย่างไรก็ตาม เซเลนสกี เน้นย้ำในทันทีว่า ยูเครนต้องการอาวุธหนักเพิ่มเติมจากพันธมิตรนาโต้ เพื่อขับไล่ทหารรัสเซีย ในนั้นรวมถึงเครื่องบินรบ และขีปนาวุธพิสัยไกล

โชลซ์ ให้สัมภาษณ์เตือนเกี่ยวกับ "ความเสี่ยงสถานการณ์ลุกลามบานปลาย" ท่ามกลางเสียงประณามอย่างดุเดือดของรัสเซีย ต่อคำสัญญามอบรถถังแก่ยูเครนของทางตะวันตก "จะไม่มีสงครามระหว่างนาโต้กับรัสเซีย เราจะไม่ปล่อยให้มันลุกลามบานปลายเช่นนั้น"

นายกรัฐมนตรีรายนี้ระบุเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเดินหน้าพูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ซึ่งการสนทนาทางโทรศัพท์หนล่าสุดระหว่างพวกผู้นำต้องย้อนไปถึงช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

"ผมจะคุยโทรศัพท์กับปูตินอีกครั้ง" โชลซ์กล่าว "แต่แน่นอน มันชัดเจนว่าตราบใดที่รัสเซียเดินหน้าทำสงครามด้วยความก้าวร้าวเช่นเดิม สถานการณ์ปัจจุบันจะไม่เปลี่ยนแปลง"

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น