xs
xsm
sm
md
lg

ปธน.เซเลนสกีซดแห้ว! ไบเดนเมินเสียงวิงวอน บอกสั้นๆ สหรัฐฯ ไม่ส่งเครื่องบินรบ F-16 ให้ยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ระบุในวันจันทร์ (30 ม.ค.) จะไม่ส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ไปยูเครน เพื่อช่วยเคียฟทำสงครามกับรัสเซียผู้รุกราน เมินคำร้องขอของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ที่บอกว่ามันเป็นหนึ่งในอาวุธที่พวกเขาปรารถนามากที่สุด

"ไม่" ไบเดนตอบ หลังถูกพวกผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบขาวถามว่าเขาจะส่งเครื่องบินรบไปให้ยูเครนหรือไม่ ในขณะที่พวกผู้นำยูเครน ในนั้นรวมถึงเซเลนสกี บอกว่ามันอยู่ในลำดับต้นๆ ของรายชื่ออาวุธล่าสุดที่พวกเขาต้องการเป็นอย่างมาก

หลังจากมีความเห็นแตกแยกกัน ในท้ายที่สุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บรรดาประเทศตะวันตกก็ตกลงส่งมอบรถถังล้ำสมัยตามมาตรฐานของนาโต้ให้แก่ยูเครน หนึ่งในอาวุธทรงอานุภาพที่สุดในกองกำลังหลักของพวกเขา

การยกระดับสนับสนุน จุดประกายความหวังในเคียฟว่าเร็วๆ นี้พวกเขาจะได้รับฝูงบินรบ F-16 สำหรับเสริมแสนยานุภาพของกองทัพอากาศของพวกเขา หลังประสบปัญหาขาดแคลนเครื่องบินรบ อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในตะวันตก

ในขณะที่วาระครบรอบ 1 ปี รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ใกล้เข้ามาแล้ว มีความคาดหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ไบเดน จะเดินทางเยือนยุโรปเพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนบรรดาพันธมิตรที่ร่วมหัวจมท้ายในการสนับสนุนยูเครน ซึ่งมี โปแลนด์ เป็นแก่นกลางความพยายาม ในฐานะศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ ผู้จัดหาอาวุธและะพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ ในยุโรปตะวันออก

"ผมกำลังเดินทางไปโปแลนด์ แต่ผมยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่" ไบเดน บอกกับผู้สื่อข่าว เมื่อถูกสอบถามเกี่ยวกับการเดินทางเยือนยุโรป

ความเห็นสั้นๆ ของ ไบเดน มีความเป็นไปได้ที่จะก่อคลื่นความช็อกข้ามแอตแลนติก หลังจากช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีแนวโน้มในแง่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับการส่งเครื่องบินรบไปให้ยูเครน นอกจากนี้ มันอาจบั่นทอนความสัมพันธ์กับเคียฟ ทั้งที่บรรดาเจ้าหน้าที่เพิ่งจะมีความรู้สึกในแง่บวกเกี่ยวกับการตัดสินใจสอดประสานกันระหว่างสหรัฐฯ กับเยอรมนีเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำหรับส่งมอบรถถังประจัญบานหลักให้แก่ยูเครน

อย่างไรก็ตาม เมื่อถูกถามเกี่ยวกับความเห็นของไบเดน เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ รายหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนาม เนื่องจากมันเป็นประเด็นภายใน ตอบว่า "ไม่มีอะไรร้ายแรง มีการพูดคุยระดับสูงเกี่ยวกับ F-16 และในอีกด้านหนึ่ง มันดูเหมือนว่าความเห็นของไบเดน ไม่ได้เป็นผลลัพธ์ของการทบทวนนโยบายภายใน แต่เป็นท่าทีปัจจุบันของผู้ตัดสินใจในขั้นท้ายที่สุดเท่านั้น"

นอกจากนี้ มันยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าคำตอบ "ไม่" ของประธานาธิบดี หมายความถึง "ไม่อย่างเด็ดขาด" หรือ "ไม่เฉพาะตอนนี้" ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯ เน้นย้ำหลายรอบว่าการตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านความมั่นคงขึ้นอยู่กับสภาพความเป็นจริงในสนามรบในยูเครน

สอดคล้องกับความเห็นของ จอน ไฟเนอร์ รองที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ที่ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอ็มเอสเอ็นบีซีเมื่อวันพฤหัสบดี (26 ม.ค.) ว่าสหรัฐฯ จะพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับเครื่องบินรบร่วมกับเคียฟ และพันธมิตรด้วยความระมัดระวังอย่างมาก "เราไม่ปฏิเสธหรือตัดความเป็นไปได้เกี่ยวกับระบบอาวุธใดๆ อย่างเฉพาะเจาะจง"

อีกหนึ่งความเป็นไปได้คือ สหรัฐฯ อาจอนุมัติให้ประเทศที่ 3 ที่มี F-16 ในประจำการส่งออกมันต่ออีกทอด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการถ่ายโอนเครื่องบินรบต่างๆ ที่ผลิตโดยอเมริกา

การพูดคุยเกี่ยวกับการส่งมอบเครื่องบิน F-16 แก่ยูเครน ทวีความเข้มข้นขึ้นในเพนตากอน โดยเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ รายหนึ่งให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวโพลิติโคเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า "ผมไม่คิดว่าเราจะคัดค้าน"

อันดรีย์ เยอร์มัค ผู้ช่วยระดับสูงของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี บอกในวันจันทร์ (30 ม.ค.) ว่าโปแลนด์มีความตั้งใจส่งมอบ F-16 ให้แก่ยูเครน ภายใต้ความร่วมมือกับนาโต้ สวนทางกับ โอลาฟ โชลซ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ที่ปฏิเสธซ้ำๆ ต่อเสียงร้องขอใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบิน F-16 ที่เล็ดลอดออกมาจากเคียฟ

(ที่มา : รอยเตอร์/โพลิติโค)


กำลังโหลดความคิดเห็น